ชนวัฒน์ อื้อวัฒนะสกุล ดีไซเนอร์ “จิราธิวัฒน์”

หนุ่มมาดดีผู้นี้ แม้จะไม่ได้ใช้นามสกุล “จิราธิวัฒน์” แต่เขาคือ 1 ในทายาทรุ่น 3 ของตระกูลค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตระกูลนี้เช่นกัน

“ชนะวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล”เป็น 1 ใน 2 ของจิราธิวัฒน์ที่ถือครองปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ต่อจากพงศ์ ศกุนตนาค ในวัยเด็ก “โอ” เป็นทายาทผู้ชายไม่กี่คนที่เริ่มชีวิตการเรียนแตกต่างจากคนอื่นในตระกูล

“เรียนที่สาธิตจุฬาฯ เป็นคนแรกๆ ของตระกูลที่ไม่ได้เรียนอัสสัมชัญ ตามระเบียบนิยม ตอนนั้นอาจเป็นเทรนด์ฝรั่ง พอรุ่นผมก็เริ่มนิยมสาธิต ตอนนั้นคุณปู่ท่านก็ทำงานให้จุฬาฯ ด้วย ทางบ้านคุณพ่อจะเป็นศิษย์สาธิตจุฬาฯ กัน”

จากนั้นเป็นธรรมเนียมอีกเช่นกันที่เลือดจิราธิวัฒน์จะต้องโบยบินไปเรียนต่อต่างแดน แต่ทิ่แตกต่างออกไปคือเขาเลือกเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เนื่องจากชื่นชอบวิชาคณิตศาสตร์และชอบคำนวณเป็นชีวิตจิตใจ

“ผู้ใหญ่คงเห็นว่าเหมาะและน่าจะทำได้ มีทีมช่วยดู ที่จริงไม่ได้เรียนทางด้านนี้เลย เรียนด้านวิศวะที่จุฬาฯ เป็นวิศวะคนที่ 2 ในรุ่น 3 นี้ เหมือนกับคุณพงศ์ (ศกุนตนาค) ที่จริงก็เรียนวิศวะโรงงาน แต่ก็ไม่เคยได้เป็นวิศวะ พอจบออกมาก็โดนจับไปทำรีเทลเลย เพราะผู้ใหญ่คงอยากฝึก ตอนนั้นเราจอยท์เวนเจอร์กับคาร์ฟูร์ ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี ได้แนวความคิดค่อนข้างเยอะ”

“เขาส่งไปมาเลเซีย 4 เดือนเข้าไปเทรนตั้งแต่ยกของ จัดเชลฟ์ โชคไม่ดีไปอยู่แผนกเครื่องเขียนก่อน จำนวนชิ้นมันเยอะเลยเหนื่อย ตอนนั้นไม่มีใครรู้เพราะนามสกุลผมไม่ใช่จิราธิวัฒน์ด้วย เขาก็ยิ่งชอบใหญ่ ใช้ใหญ่เลย (หัวเราะ) ก็เหนื่อย ไม่เคยเหนื่อยขนาดนั้น เขาก็โหดนะ ให้เราทำ 12 ชั่วโมงต่อวัน จัดของ สั่งของ รีพีทออร์เดอร์ เรียนรู้เบสิกของรีเทล วางระบบแรกๆ รีครูตเอง ดีลกับซัพพลายเออร์ แมเนจสต็อกเอง ทำบาลานซ์ชีตเอง ตอนนั้นไอทีน้อยมาก ใช้แมนนวลเยอะ ก็เลยเป็นพื้นฐานที่ดี แต่ผอมเลยล่ะครับ (หัวเราะ)”

“กลับมาก็มาอยู่คาร์ฟูที่เมืองไทย สุขาภิบาล 3 ปีหนึ่งได้ โชคดีได้ย้ายไปเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวนชิ้นน้อยกว่า สบายกว่า อยู่ได้ปีเศษๆ ก็เริ่มอยากดูด้านอื่นบ้าง ตอนนั้นเราร่วมทุนกับอาร์โฮลด์ (ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต) ก็เลยขอกับผู้ใหญ่ว่าอยากดูฟู้ดส์บ้าง เขาก็เลยส่งไปทำงานที่อเมริกา เป็น Trainee Program เป็นการเรียนรู้อีกแบบกับเชนซูเปอร์มาร์เก็ตระดับท็อป 5 ของอเมริกา ได้ประสบการณ์ที่ต่าง เราวนแต่ละแผนก แผนกละ 2 อาทิตย์ ทำที่บอสตัน เป็นผู้ช่วยสโตร์แมเนเจอร์ พอ 4 เดือนก็หาเรื่องไม่ยอมกลับ เลยไปเรียนต่อด้าน MBA ยื้อเวลา (หัวเราะ) จริงๆ ก็รู้อยู่แล้วว่าต้องเรียนด้านนี้”

เป็นเส้นทางการศึกษาที่เขาระลึกรู้ได้ตัวเอง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจของครอบครัวใหญ่แห่งนี้ให้รุดหน้าต่อไป

“ผู้ใหญ่จะสนับสนุนให้เรียนที่ตัวเองชอบ แต่ที่เลือกเรียนด้านธุรกิจคล้ายๆ กัน คือเป็นมาตั้งแต่เด็กเลย โตในห้าง วิ่งเล่นในห้องเก็บสต็อก โดนจับมาทำงานซัมเมอร์ ห่อของขวัญ นับสต็อก มันก็อยู่ในสายเลือด ยิ่งตอนนี้ครอบครัวใหญ่ เลยต้องมีเทรนเนอร์ที่เป็นระบบขึ้น จับเด็กรุ่นใหม่ๆ ไปทำ ตั้งแต่สิบขวบก็เริ่มแล้ว แบ่งเจนเนอเรชั่นเป็นอายุ แทนที่จะเป็นรุ่นจริงๆ พวกเขาจะเริ่มมาเรียนรู้”

ทุกวันนี้ Family Council ของตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นระบบระเบียบและเข้มข้นมากขึ้นกว่าในอดีต เพื่อเตรียมกำลังให้พร้อมรบในตลาดค้าปลีกที่วันนี้ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น

“เราไม่มี Structure Training มาก่อน แต่คุณสุทธิชาติที่ดู HR ของกลุ่ม เป็นคนริเริ่ม เป็นแกนนำ พอผมจบปุ๊บก็เรียกมาคุย ว่าเราเป็นยังไงชอบยังไง ควรจะทำอะไร

เขาใช้เวลาเรียนต่อปริญญาโท 2 ปีครึ่ง พร้อมกับคว้ามาถึง 2 ใบ จากนั้นเขาตัดสินใจกลับมาเมืองไทยด้วยเห็นว่าสมควรแก่เวลา และเพื่ออยู่ใกล้ชิดกับมารดาซึ่งอายุมากขึ้น

“พอกลับมาก็เหมือนเดิม คือมาคุยว่า ไปทำอะไรมาบ้าง เราก็มีช้อยส์อยู่ 2-3 ช้อยส์ คุยกับคุณสุทธิชาติ คุณกอบชัย พี่ทศ ก็สนใจ คิดอยู่ว่าจะทำอะไรดี สุดท้ายมาลงตัวที่ CPN เพราะกำลังขยายเยอะ ขาดคน คงอยากได้คนหนุ่มมาช่วยทำงาน ตอนแรกก็ทำทั่วๆ ไป จนตอนนี้เป็น Project Manager”

จากการประลองฝีมือการทำงานกับบริษัทชั้นนำที่ต่างประเทศ ถึงเวลาที่เขาจะต้องพิสูจน์ฝีมือกับอภิมหาโปรเจกต์ที่ว่ากันว่าเป็นจุดปราบเซียนมานักต่อนัก กับโครงการ “เซ็นทรัล เวิลด์” แฟลกชิพ โปรเจกต์ของเซ็นทรัลพัฒนา

“ทำงานใกล้ชิดกับคุณอ้อม (วัลยา จิราธิวัฒน์) คุณอ้อมจะดูภาพรวมเป็นหลัก คือ On Time Budget ส่วนของผมจะสเกลเล็กลงหน่อย และจะเน้นดีไซน์เป็นหลัก”

เป็นการดีไซน์บนพื้นที่โครงการเก่า ซึ่งเป็นงานหินไม่น้อย และภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงของพื้นที่ค้าปลีกแห่งนี้ เป็นบทพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดว่า “เขาทำได้”

“ รีโนเวชั่นจะยาก ถ้าสร้างใหม่ก็สบาย แต่นี่ต้องเอาข้อมูลเก่ามาทำ และนี่เป็นรีโนเวชั่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เราใช้ที่ปรึกษาต่างประเทศเยอะเราใช้บริษัทออกแบบไทย คือ 49 Group และดีไซเนอร์จากต่างประเทศอีกส่วนหนึ่ง อย่างงาน Graphic ที่นี่จะเป็น Environmental Graphic Design พวก Direction จะมีการตกแต่งให้เข้ากับพื้นที่ มันไม่ใช่แค่โลโก้ สำคัญมากเพราะพื้นที่ขนาดใหญ่ ต้องอ่านง่าย และต้องกลมกลืนกับดีไซน์ของศูนย์ ”

เขาบอกอีกว่าการดีไซน์ศูนย์การค้า ต้องสัมพันธ์กับพฤติกรรม และไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้ามากที่สุด

“คนไทยรุ่นใหม่ เวลาทำงานมากขึ้น ครอบครัวเล็กลง ทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น อยู่แอร์เยอะเหลือเกินเริ่มเบื่อแล้ว เปลี่ยนเป็นเอาต์ดอร์บ้าง มืดๆ ทึบๆ ไม่เอา เอาโปร่งๆ เวลาน้อยลง Circulation Flow ก็ต้องประหยัดเวลา เพราะโปรเจกต์เราใหญ่ ทำไงให้เขารู้สึกไม่เหนื่อย บันไดเลื่อนเราก็ทำให้เดินขึ้นลงต่อกันไม่ต้องเดินอ้อม ซึ่งสำคัญสำหรับลูกค้าที่มาช้อป ไม่ต้องเดินอ้อม ทำให้เขารู้สึกเดินไม่ไกลไปถึงได้ง่าย”

จากโซน A-F จะถูกจัดแบ่งตามไลฟ์สไตล์ และมีสัญลักษณ์และการออกแบบเพื่อง่ายแก่การจดจำและแบ่งโซนไปในตัว

“พยายามใช้ศิลปะเข้ามาช่วย อย่างโซน E มีลูกแก้วห้อยเต็มไปหมด ให้คนจำ เป็นจุดนัดพบได้ ป้องกันการหลง และเนื่องจากเป็นศูนย์ใหญ่ ทุกรายต้องเวิร์คหมด ต้องทำให้เวิร์คทุกโซน พอศูนย์สูงชั้น 6-7 คนไม่ค่อยขึ้น เราก็เลยเอาแม่เหล็กไปอยู่ข้างบน ร้านอาหาร 2 ชั้น ซูเปอร์มาร์เก็ต ทีเค ปาร์ค มีไอทีสอดอยู่ตรงกลางเพราะคนต้องการไอทีมาก ทำให้ชั้นตรงกลางคนก็ยังมีคนเดิน ทุกรายก็แฮปปี้หมด”

“ตัว T คว่ำ ข้างหลังจะเป็น Dead Area เราทำให้เป็นร้านค้าขนาดใหญ่ซูเปอร์สปอร์ต เพาเวอร์บาย บีทูเอสให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดคนให้มาเดินเยอะขึ้น” ประสบการณ์จากการทำงานหนักครั้งนี้ เขาบอกว่าคุ้มค่าเหนื่อยและเป็นการเคี่ยวกรำชั้นเยี่ยมสำหรับโปรเจกต์ต่อไป

“ผมก็รู้สึกโตขึ้นเยอะ เราดีลกับคน การประสานกับคนและมี Leadership ในตัวเราเองชัดเจนยิ่งขึ้น ทำเยอะขนาดนี้ใหญ่ขนาดนี้ก็ท้าทาย เหนื่อยและเครียด ออกมาก็เกือบเสร็จสมบูรณ์หมดแล้วก็รู้สึกแฮปปี้”

ไลฟ์สไตล์ของชนะวัฒน์ชอบเดินทางท่องเที่ยวกับอ่านหนังสือ

“มีช่วงที่ไปเรียนแลกเปลี่ยนที่อังกฤษ เทอมหนึ่ง แล้วก็เลยเริ่มชอบยุโรป ที่จริงชอบเที่ยวอยู่แล้ว อเมริกาก็ดีมีธรรมชาติพวกภูเขา แต่ยุโรปแต่ละเมืองจะต่างกัน ซัมเมอร์ก็ไปตลอด ไม่ค่อยกลับเมืองไทย เพราะรู้แน่ๆ อยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องกลับมา”

“ชอบอ่านแมกกาซีน สนใจเยอะเลย ทั้งสถาปัตยกรรม รถยนต์ อาหาร ท่องเที่ยว ผมชอบเข้าไปบีทูเอส ไปอ่าน แต่ไม่ค่อยซื้อ (หัวเราะ) ที่จริงก็ซื้อบ้างแต่จะซื้อเล่มที่ชื่นชอบจริงๆ”

Profile

Name ชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล
Education
– 2543 ปริญญาโทบริหารธุรกิจ ด้านการเงิน มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ
– 2542 ปริญญาโทบริหารธุรกิจ ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ
– 2538 ปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Career Highlights
– 2546-ปัจจุบัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
– 2543-2546 ที่ปรึกษา บริษัท i2 Technoloies Ltd. ลอนดอน อังกฤษ
– 2540-2541 Management Trainee ซีอาร์ซี เอโฮลด์ จำกัด บอสตัน สหรัฐฯ
– 2538-2539 National Department Head, Merchandise Division บริษัท เซ็นคาร์ จำกัด (คาร์ฟูร์)
Family บิดา-มารดา เสรี-มุกดา เอื้อวัฒนะสกุล