จะอยู่อย่างไรถ้าอากาศร้อนขึ้น และนานกว่าเดิมในแต่ละปี จะทำอย่างไรถ้าน้ำท่วมหนัก หลาย ๆ เดือน พายุลมแรงพัดพาทุกอย่าง จะทำอย่างไร จะทำอย่างไร ???? นี่คือคำถามที่ก้องอยู่ในความรู้สึกของทุกคนในเวลานี้ เพราะมนุษย์เริ่มตระหนักแล้วถึงภาวะโลกร้อน (Global Warming)
ไม่น่าเชื่อว่าวันหนึ่ง เรื่องของลมฟ้าอากาศจะมีผลต่อภาวะจิตใจได้ขนาดนี้ แต่ก็เป็นไปแล้ว
“ภาวะโลกร้อน” เป็นข้อความที่คนไทยเริ่มคุ้นเคย และเป็น “ประเด็นหลัก” ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ เพราะไม่เช่นนั้นวันที่น้ำท่วมโลก มนุษย์ต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรโลกเพื่อความอยู่รอดจะมาถึงในเร็ววัน
และขณะนี้คนไทยรู้สึกได้ จากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะน้ำท่วมซ้ำซาก โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคกลาง, ภาวะพายุฤดูร้อนที่รุนแรงมากขึ้น, ภาวะภัยแล้ง ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย, การเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เขตชายแดนไทย-เชียงราย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 ส่งให้รู้สึกได้ถึงกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอาคารสูงที่สร้างความตื่นตระหนก และต้องอพยพคนลงจากอาคาร, การเกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิที่ 5 จังหวัดชายฝั่งตะวันตกเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547,
การเกิดเหตุคลื่นสูงถึงเกือบ 5 เมตรในจังหวัดภูเก็ต เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2550 และ,เกิดเหตุการณ์น้ำทะเลหนุนสูง กระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นในช่วง 17-23 พฤษภาคม 2550 และคาดว่าจะสูงอย่างต่อเนื่องจนกัดเซาะชายฝั่ง และทำลายพื้นที่ป่าชายเลนในอนาคต
นี่คือผลภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อคนไทยอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับการที่รับรู้ถึงมหันตภัยของภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างกว้างขวาง ต้องยกเครดิตให้แก่ “อัล กอร์” อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เดินออกจากเส้นทางการเมืองหลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ให้กับจอร์จ ดับเบิลยู บุช เมื่อปี 2000
อัล กอร์ เดินสายไปทั่วโลกบรรยายเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน โดยบังเอิญที่การบรรยายครั้งหนึ่งมีทีมผู้สร้างหนังได้เข้าฟังการบรรยาย และทีมนี้ได้เสนอความเห็นว่าควรสื่อออกไปในวงกว้างให้คนทั่วโลกสนใจ โดยผ่านภาพยนตร์
หลังจากนั้นหนังเรื่อง An Inconvenient Truth โดยผู้กำกับ Davis Guggenheim ก็ออกสู่สายตาชาวโลกเมื่อปี 2006 รวมทั้งประเทศไทย และต่อมายังกลายเป็นหนังสือที่ขายดีติดอันดับไปทั่วโลก
An Inconvenient Truth เป็นหนังที่สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตภาวะโลกร้อนจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาลที่มนุษย์เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น ยิ่งก๊าซเหล่านี้ถูกปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศโลกหนาขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลให้อุณหภูมิของบรรยากาศโลก และน้ำในมหาสมุทรร้อนขึ้น จนเป็นที่มาของภาพเห็นธารน้ำแข็ง และผืนน้ำแข็งบริเวณกว้างละลายอย่างรวดเร็ว ในที่สุดทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น
การเฝ้าติดตาม “ภาวะโลกร้อน” มีอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) สหประชาชาติ ได้จัดทำรายงานภูมิอากาศมาแล้ว 3 ฉบับ
ฉบับล่าสุดเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2550 ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร ระบุประเด็นสำคัญว่าปริมาณการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ทศวรรษหน้า หากไม่มีการกำหนดนโยบายเพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือมีนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 25-90% ในปี ค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยในปี ค.ศ. 2000 และหากการพึ่งพา เชื้อเพลิงฟอสซิล ยังดำเนินต่อไปหลังปี ค.ศ. 2030 มีการคาดว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้น 40-110%
เป็นผลต่อเนื่องจากรายงานฉบับที่สอง ที่เปิดเผยในการประชุมไอพีซีซีที่บราซิล เมื่อเดือนเมษายน 2550 ขณะที่รายงานฉบับที่ 1 เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ว่าสิ้นศตวรรษนี้ หรือปี 2100 อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงขึ้น 1.8-4 องศาเซลเซียส หรือ 3.2-7.2 องศาฟาเรนไฮ และระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 28-43 เซนติเมตร หรือ 5-23 นิ้ว และแผ่นน้ำแข็งฤดูร้อนในทะเลอาร์กติกจะละลายหมดภายในกลางศตวรรษ
แต่ระหว่างเวลาก่อนจะถึงปี 2100 มนุษย์อาจเผชิญกับคลื่นความร้อน พายุไต้ฝุ่นและเฮอริเคนที่รุนแรงมากขึ้นและถี่ขึ้นตลอดศตวรรษนี้
ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เพียงที่ประชุมบอกเล่าให้คนทั่วโลกรับรู้เท่านั้น แต่ยังร่วมกันหามาตรการเพื่อรณรงค์ลดปัญหาภาวะโลกร้อน โดยในที่ประชุมไอพีซีซี ที่กรุงเทพมหานครนั้น ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ ได้เสนอทางเลือดด้านพลังงานให้ประเทศภาคี 189 ประเทศ คือการใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียน หนุนการใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้น้ำมัน พลังงานจากฟอสซิล เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ก๊าซเรือนกระจกเกิดจากการปล่อยก๊าซ 6 ชนิด คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก๊าซไฮโดรฟลูโรคาร์บอน (HFCS) ก๊าซเปอร์ฟลูโรคาร์บอน (CFCS) และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซ่าฟลูโอโรด์ (SF6)
ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด อยู่ที่ 33% รองลงมาคือจีน อินเดีย บราซิล ส่วนประเทศไทยยังก่อก๊าซเรือนกระจกน้อย คืออยู่ที่ 0.6%
ความตื่นตระหนกกับภาวะโลกร้อนในเวลานี้ อาจเป็นข้อดีที่ทำให้มนุษย์เห็นมหันตภัยจากภูมิอากาศ และตื่นตัวให้เร่งแก้ไขเยียวยา ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของใคร แต่คือหน้าที่ของทุกคนในโลก
ภาวะเกี่ยวเนื่องกับ “โลกร้อน”
“เอลนิโน”(ENSO=Elnino Southern Oscillation) คือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่กระแสน้ำเย็นเปลี่ยนเป็นกระแสน้ำอุ่น ไหลผ่านชายฝั่งเปรูทุก 4 ปี เพราะลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้อ่อนกำลัง หรือพัดกลับทิศทาง น้ำทะเลที่อุ่นจึงไหลมาแทนที่กระแสน้ำเย็น ความแปรปรวนเช่นนี้ทำให้ทวีปอเมริกาใต้มีพายุฝนพัดกระหน่ำ, ฝนตกหนักและน้ำท่วม ขณะที่เอเชียอาคเนย์ อินเดีย และแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ เกิดความแห้งแล้ง ไฟป่า และผลิตผลการเกษตรเสียหาย แต่ช่วยลดการเกิดพายุไต้ฝุ่นที่เกิดในทะเลจีนใต้
“เอลนิโน” หรือ El Ninoในภาษาสเปน หมายถึง บุตรพระเจ้า, เด็กชายตัวน้อย
“ลานินญา” หรือ “ลานินา”เกิดกระแสตรงข้ามกับ “เอลนิโน” โดยกระแสน้ำเย็นเปรูจะไหลกลับมาในทิศทางเดิม เพราะลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมาทางเอเชียอาคเนย์ ทำให้มีพายุรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอุทกภัย และทำให้ทวีปอเมริกาเหนือฝั่งตะวันตกมีฝนตกชุก แต่จะช่วยยับยั้งการเกิดพายุในทวีปอเมริกาใต้
ลานินญา หรือ La Nina ในภาษาสเปน หมายถึง เด็กหญิงตัวน้อย
นิตยสาร ไทม์ ฉบับ 9 เมษายน 2550 ให้ความสำคัญรายงานเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน พร้อมเสนอแนะวิธีป้องกันภาวะโลกร้อน 51 วิธี เช่น
1. ใช้พลังงานชีวภาพ เช่น ไบโอดีเซล เอทานอล ให้มากขึ้น
2. ลดการใช้พลังงานในบ้าน เพราะการใช้ไฟฟ้าในที่พักอาศัยมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ถึง16%
3. เปลี่ยนหลอดไฟ หลอดไฟแบบขด Compact Fluorescent Lightbulb (CFL) จะใช้ไฟเพียง 1 ใน 4 ของปกติ
4. การเปลี่ยนไปใช้ไฟแบบหลอด LED จะได้ไฟที่สว่างกว่า และประหยัดไฟฟ้ากว่าหลอดปกติ 40%
5. บ้านหลังใหญ่ กินไฟกว่า การอยู่บ้านหลังใหญ่เกินความจำเป็น ส่งผลให้มีการใช้พลังงานมากกว่าที่ต้องการได้
6. ไม่ซักผ้าในน้ำอุ่น ตากผ้า แทนที่จะใช้เครื่องอบผ้า ผลการวิจัยบอกว่า ตลอดอายุการใช้งานของเสื้อ 1 ตัวจะปล่อย CO2 จากการซัก รีด อบแห้ง ประมาณตัวละ 9 ปอนด์
7. รีไซเคิลเสื้อ ในบางบริษัทมีการรับบริจาคเสื้อที่ใช้แล้ว จะนำไปหลอมมาทำเป็นเส้นใยใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 71%