ลืม “ดูพอด” ถือ “HTC” แทน

ต้องเปลี่ยนชื่อแบรนด์ทั้งที ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ลูกค้าลืมชื่อเก่า และจำชื่อใหม่ได้ทันที แต่เมื่อถึงเวลาที่ผู้บริหารเคาะว่าต้องเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน เหมือนอย่าง “ดูพอด” แบรนด์ที่มีชื่อน่ารัก และเป็นที่จดจำสำหรับลูกค้าพีดีเอโฟนของไทย ขณะนี้เลือกเปลี่ยนเป็น “เอชทีซี” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ณัฐวัชร์ วรนพกุล” บิ๊กบอส เอชทีซี ในไทย บอกว่า เพียงแค่สร้างชื่อเอชทีซีให้เป็นที่รู้จักในไทย ภายใน 2 เดือนแรกนี้ต้องใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท สำหรับการแจ้งข่าวสาร โฆษณาประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่การแถลงข่าวการซื้อสื่อวิทยุ โทรทัศน์ โฆษณาในโรงภาพยนตร์ เพื่อออกอากาศทีวีซีที่เป็นสื่อเดียวกับที่ใช้ทั่วโลก และสื่อรถไฟฟ้า Wrab ตัวรถ 1 ขบวนเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นจะประเมินผล และกำหนดงบที่ต้องใช้จนถึงสิ้นปีอีกครั้ง

นอกเหนือจากนี้ได้เตรียมความพร้อมแก่สื่อสำคัญคือพนักงานขายประจำช่องทางจัดจำหน่าย เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องติดต่อกับลูกค้าโดยตรง

ที่สำคัญการเปลี่ยนชื่อไม่ใช่เพียงการแจ้งข่าวสารว่าใช้ชื่อใหม่เท่านั้น แต่ใช้กลยุทธ์เปิดตัวพีดีเอโฟนรุ่นใหม่เข้าทำตลาดพร้อมกันทั่วโลก คือรุ่น HTC Touch ที่โดดเด่นทั้งการดีไซน์ตัวเครื่องเน้นความบาง และหน้าจอสัมผัสพิเศษที่ช่วยให้การทำงานของเครื่องอยู่ภายใต้การควบคุม

สำหรับเป้าหมายการเปลี่ยนมาใช้ชื่อเอชทีซีนั้น “ณัฐวัชร์” บอกว่า เป็นไปตามนโยบายบริษัทแม่ที่ต้องการให้เอชทีซีเป็นแบรนด์เดียวที่ถูกจดจำทั่วโลก ซึ่งที่อเมริกาและในยุโรปไม่รู้จักแบรนด์ดูพอด แต่รู้จักแบรนด์เอชทีซีเป็นอย่างดี เพราะมีชื่อเสียงในการผลิตพ็อกเก็ตพีซี และพีดีเอโฟนให้แบรนด์ดังหลายแบรนด์มาก่อน ส่วนในเอเชียแปซิฟิกรู้จักชื่อดูพอดมากกว่าเอชทีซี เพราะเมื่อ 2 ปีที่แล้วเอชทีซีทำตลาดในภูมิภาคนี้ด้วยการใช้ชื่อดูพอด ซึ่งภายในสิ้นปีนี้จะมีพีดีเอโฟนรุ่นใหม่วางตลาดภายในใต้แบรนด์ HTC 5 รุ่น”

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีแผนสื่อออกไปทุกประเทศกว่า 40 ประเทศในกลุ่มลูกค้าของเอชทีซี ยกเว้นในจีนประเทศเดียวที่ยังคงใช้ชื่อ “ดูพอด” เพราะถือเป็นตลาดใหญ่ และเป็นที่จดจำแล้ว

งานนี้ HTC ถือว่าเจองานหนักที่ต้องโปรโมตชื่อใหม่ให้เป็นที่จดจำ แถมอยู่ในช่วงตลาดพีดีเอโฟนที่แข่งขันอย่างดุเดือด จะอยู่หรือไปคงต้องลุ้นอีกแล้ว

Did you know?

ก่อนหน้านี้มีแบรนด์โทรศัพท์มือถือที่เปลี่ยนชื่อมาแล้วอย่างน้อย 2 แบรนด์ คือเมื่อกลางปี 2003 ซีเมนส์ ประกาศขายส่วนธุรกิจโทรศัพท์มือถือให้เบนคิว พร้อมๆ กับเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น “เบนคิว-ซีเมนส์ และพยายามให้เหลือเพียง “เบนคิว” แต่ 1 ปีต่อมา ช่วงเดือนกันยายน 2549 เบนคิวประกาศปิดกิจการส่วนผลิตและจำหน่ายโทรศัพท์มือถือเพราะขาดทุนอย่างหนัก

ปี 2001 โซนี่และอีริคสัน ควบกิจการโทรศัพท์มือถือกัน และใช้ชื่อแบรนด์ “โซนี่-อีริคสัน” ในการทำตลาด