คนต้นน้ำของเคทีซี

มนพร ดวงประเสริฐ (ออม) อายุ 22 ปี ทำงานเป็นพนักงานประจำกับเคทีซีในแผนก Treasury & Investor Relations ในตำแหน่ง Treasury & Investor Relations Officer ทันทีหลังเรียนจบปริญญตรี สาขาอุตสาหการ คณะวิศวกรรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มนพร ยังเคยเป็นหนึ่งในนักศึกษาฝึกงานในโครงการ Learn & Earn@KTC เริ่มจากฝึกในตำแหน่ง KTC Beauty Army ทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวแทนของเคทีซี ในการเป็นผู้ให้ข้อมูลต่างๆ แก่ผู้ใช้บริการ ทั้งที่การฝึกงานและงานที่ทำในตำแหน่งปัจจุบันไม่ได้ตรงกับวุฒิที่จบมาโดยสิ้นเชิง

“ตอนฝึกงานก็ชักชวนกันมาฝึกตอนปี 2548 พอปี 2549 เพื่อนในคณะส่วนใหญ่จะเลือกฝึกตามโรงงาน เพราะวิศวกรอุตสาหการจะเรียนมาด้านการควบคุมสายการผลิตตามโรงงานต่างๆ ส่วนตัวแล้วไม่ชอบทำงานในโรงงาน ประกอบกับที่ทางผู้ใหญ่ (คุณนิวัตต์ จิตตาลาน) แนะนำว่า เรียนมาทางด้านวิศวะคงจะมีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่ดีพอสมควร น่าจะทำงานทางด้านการเงินได้ ท่านจึงให้โอกาสลองมาฝึกงานที่แผนก Treasury & Investor Relations จนกระทั่งเข้ามาเป็นพนักงานประจำ”

ประสบการณ์ที่ได้รับในครั้งนั้น ทำให้มนพรเรียนรู้และเห็นโอกาสว่ายังมีงานอีกหลายด้านที่เธอสามารถทำได้ แม้ไม่ได้เรียนมาโดยตรงและได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากสิ่งที่เรียนจากมหาวิทยาลัย เพียงแต่ต้องรู้จักประยุกต์สิ่งที่เรียนเพื่อนำมาใช้ให้เข้ากับงาน

มนพรไม่ใช่นักศึกษาคนเดียวที่มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์นอกชั้นเรียน แต่ในโครงการเลิร์นแอนด์เอิร์นยังทำให้เคทีซีมีโอกาสได้รับนักศึกษาฝึกงานจากหลายสาขาวิชาที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นตัวเลือกของฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่จะร่วมสร้างความแตกต่างให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากสายการบริหาร การเงิน ที่ตรงกับรูปแบบทั่วไป ยังมีทั้งนักศึกษาวิศวะอากาศยาน (Aero Space Engineering) ทันตแพทย์ โปรกอล์ฟ ดีเจ ที่วนเวียนมาทั้งฝึกงานและทำงานที่เคทีซีแล้วทั้งนั้น

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เพียงแค่ 4 ปี ความนิยมของโครงการ Learn&Earn@KTC ในกลุ่มนักศึกษา มียอดผู้สนใจสมัครเข้าฝึกงานเพิ่มขึ้นจำนวนมากจาก 100 กว่าคนในปี 2546 ที่เปิดเป็นปีแรก เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเกือบครึ่งหมื่นในปี 2550 นี้

ตัวเลขนี้คงจะเป็นคำตอบได้ดีว่า เคทีซีเป็นองค์กรที่คนรุ่นใหม่ต้องการร่วมงานด้วยมากน้อยเพียงใด

ดุสิต รัชตเศรษฐกินันท์ Vice President – Human Resources บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (เคทีซี) ผู้รับผิดชอบโครงการ ก็ให้ข้อมูลที่ย้ำความเชื่อนี้ได้ว่า เคทีซีไม่เคยต้องเปิดรับสมัครพนักงานมานานแล้ว แม้ว่าโดยแผนงานบริษัทแห่งนี้ควรจะมีพนักงานถึง 1,500 คนในปีนี้ ตามแผนงานที่กำหนดไว้เมื่อ 5 ปีก่อน ตั้งแต่ตอนที่เขาเริ่มเข้ามาทำงานกับองค์กรนี้ใหม่ๆ ก็ตาม

การที่มีทรัพยากรบุคคลดีๆ มาให้บริษัทเลือกสรรโดยไม่เรียกร้อง ถือเป็นความสำเร็จของงานทรัพยากรบุคคล (เอชอาร์) ที่เห็นได้ชัดที่สุด

“ตอนนี้มีแต่หนักใจว่าจะทำอย่างไรเด็กได้ฝึกงาน เริ่มมีงอนกันแล้ว จากปีแรกๆ เราต้องทำจดหมายเชิญไปตามสถาบันต่างๆ” ดุสิตเล่าย้อนถึงวันเริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2546

เลิร์นแอนด์เอิร์นเดิมทีมีจุดเริ่มต้นเพื่อช่วยเหลือสังคม ให้นักศึกษาที่ต้องฝึกงานตามหลักสูตรมีที่ฝึกงานตามแผนการเรียน แต่กลับกลายมาเป็นโครงการที่ให้ประโยชน์กับเคทีซีในหลายแง่มุม ตั้งแต่เป็นทางออกที่ทำให้เคทีซีชะลอการเพิ่มพนักงาน แต่สามารถดำเนินธุรกิจได้โดยไม่ขาดกำลังคน

“ตอนเริ่มต้นจริงๆ ไม่ได้คาดหวังในเชิงเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องสังคมจริงๆ เพราะเห็นหลายบริษัทที่รับเด็กฝึกงานแต่เป็นภาระ เด็กที่ต้องฝึกเอาคะแนนก็หาที่ทำไม่ได้ ขณะที่เด็กเมืองนอก 16-17 ปี ก็หาเงินกันได้แล้ว ของเราจบปริญญาตรียังทำไม่ได้ ก็ลองหางานในองค์กรที่เด็กทำได้แล้วได้ประโยชน์ พร้อมกับจัดกิจกรรมเสริมความพร้อมด้วยงบปีละ 2 ล้าน เด็กได้ประสบการณ์กลับไป ขณะที่เคทีซีก็ชะลอการรับคน ลดค่าใช้จ่ายไม่ต้องจ้างคนจบปริญญาตรีเดือนละหมื่นกว่าบาทมาทำงานซ้ำๆ”

นอกจากนี้สิ่งที่เคทีซีได้รับจากนักศึกษา ยังมีตั้งแต่เรื่องทั่วไปที่เกิดจากบรรยากาศการทำงาน อาทิ ความคิดอ่านใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่ ได้โอกาสศึกษากลุ่มเป้าหมายในอนาคตไปในตัว และได้โอกาสคัดเลือกเด็กที่เหมาะสมเข้ามาร่วมงานจริง

ที่จับต้องได้ชัด คือการที่เคทีซีสามารถนำไอเดียที่ได้จากเด็กที่วนเวียนอยู่ในองค์กรกว่า 400 คน มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ อย่าง บัตรเคทีซี 24 ชั่วโมง ซึ่งมีไว้เพื่อรองรับกลุ่มคนที่ยังไม่มีรายได้ที่จะทำบัตร แต่มีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็นลูกค้าบัตรในอนาคตอันใกล้

“ไม่ได้เป็นความตั้งใจแต่แรก แต่เราก็มองว่าเด็กกลุ่มนี้ต่อไปต้องใช้บัตรเครดิต แล้วโดยธรรมชาติเวลาคนทำงานแล้วถ้าเขาจะทำบัตรเครดิตสักใบ เขาก็ต้องหันกลับมาถึงสิ่งที่เขาคุ้นเคย ก่อน เราเลยมีผลิตภัณฑ์ให้เขาซ้อมใช้ไปก่อน”

โครงการเลิร์นแอนด์เอิร์น ยังทำให้เคทีซีมีกำลังสำรองอยู่โดยไม่ต้องประกาศรับสมัครงาน โดยปัจจุบันมีสถิติของเด็กในโครงการที่เข้าไปสู่ระบบงานประจำของเคทีซีปีละประมาณ 10% จากจำนวนเด็กที่ฝึกงานที่จบการศึกษาในแต่ละปีประมาณ 90-190 คน แถมเคทีซียังได้ลูกค้าสำรองในอนาคตอีกไม่น้อยทีเดียว

เลิร์นแอนด์เอิร์นเป็นเพียงบทบาทหนึ่งของความสำเร็จของฝ่ายเอชอาร์ของเคทีซี แต่อีกด้านหนึ่งน่าจะพูดได้ว่าความสำเร็จในการพัฒนาเคทีซีให้มีภาพลักษณ์องค์กรของคนรุ่นใหม่อย่างเต็มตัวและเป็นบริษัทที่มีความแตกต่างจากบริษัทในธุรกิจเดียวกันเช่นที่เห็นในปัจจุบันถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าก็ว่าได้

Learn&Earn@KTC
-เริ่มต้นเมื่อปี 2546
-รับนักศึกษาระดับอุดมศึกษาทุกชั้นปี ทั่วประเทศ ไม่จำกัดสาขาวิชา และสถาบัน
-ไม่จำกัดชั่วโมงทำงาน และให้ค่าตอบแทนชั่วโมงละ 50 บาท
-หน่วยงานที่เปิดให้ฝึกงาน อาทิ ฝ่ายบริการลูกค้า เคทีซีบูติคบรานช์ ฝ่ายการตลาด อีบิสซิเนส แผนกรับชำระเงิน ฯลฯ
-มีงบประมาณปีละ 2 ล้านบาท เพื่อจัดกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ ที่เน้นพัฒนาความคิด และกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาในการปฏิบัติงานจริง เช่น การสร้างจิตสำนึกในการทำงานร่วมกัน การเสริมบุคลิกภาพ การเขียนใบสมัคร วิธีการสัมภาษณ์งาน รวมไปจนถึงการเปิดโลกทัศน์ และการปรับตัวด้านต่างๆ

เป็นคนแบบเคทีซี
5 ปีก่อนหน้านี้ นับแต่บริษัทแยกส่วนธุรกิจบัตรเครดิตออกมาจากธนาคารกรุงไทยและเปลี่ยนใช้ชื่อเรียกแทนตัวเองว่า เคทีซี จนเป็นที่รู้จักมากกว่าชื่ออย่างเป็นทางการ เป็นช่วงเดียวกับที่ดุสิต ถูกดึงตัวจากบริษัทจีอี แคปปิตอล จำกัด มาร่วมงานกับเคทีซี

ในตอนนั้นเคทีซีต้องการการเปลี่ยนภาพองค์กรจากบัตรเครดิตของข้าราชการมาเป็นองค์กรทันสมัย พร้อมกำหนดเป้าหมายไว้ว่า จะเป็นผู้นำในธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีความแตกต่างจากบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งไม่ได้ทำง่ายๆ แค่การเปลี่ยนชื่อ

กระบวนการพัฒนาสู่องค์กรทันสมัยของเคทีซี เลือกใช้เอชอาร์เป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารสำคัญ ซึ่งดุสิตในฐานะหัวหน้าทีมเล่าว่า แม้ทุกวันนี้คนในอุตสาหกรรมการเงินจะแยกได้ทันทีว่าใครคือคนจากเคทีซี โดยเฉพาะเมื่อมีการประชุมในกลุ่มธุรกิจการเงิน แต่กว่าจะได้ภาพลักษณ์เช่นนี้ ไม่ได้แค่การแต่งตัวของคนเคทีซีที่แตกต่าง แต่พนักงานทุกคนถูกปรับและหลอมความเป็นคนเคทีซีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งผ่านความรู้สึกที่ทำให้คนภายนอกรู้สึก

ปัจจุบันเคทีซีมีพนักงานร่วม 1 พันคนนั้น ซึ่งมาจากต่างที่ต่างสไตล์ แต่สามารถรวมกันได้ภายใต้องค์กรที่เน้นความทันสมัยและไม่หยุดนิ่ง สายแรกถือเป็นคนรุ่นแรกประมาณร้อยกว่าคนที่มาจากธนาคารกรุงไทยและธนาคารมหานครตอนที่แยกตัวออกมา สอง-ส่วนของพนักงานที่รับเข้ามาใหม่ และสาม-ส่วนที่ได้จากพันธมิตรต่างๆ ซึ่งทุกสายต้องมีการปรับเข้าหากัน

เคทีซีเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงจากเรื่องใกล้ตัว อย่างการแต่งกาย ปรับภาพพนักงานธนาคารที่ต้องใส่สูทผูกไท มาประกาศเป็นองค์กรแห่งยีนส์ (Jean Organization) ลดความเป็นทางการ ความสบายกว่าเดิมทำให้ไม่มีใครปฏิเสธวิธีง่ายๆ เช่นนี้ อีกทั้งการนุ่งยีนส์ยังเป็นคิดต่างเพื่อทำตัวให้แตกต่าง

“เป็นการเปลี่ยนที่ไม่มีแรงต้าน ค่อยๆ เปลี่ยน และทำให้เกิดความสนุกเกิดสีสันในการทำงาน ส่วนขั้นตอนการทำงานก็ตัดความยุ่งยากซับซ้อน และให้อำนาจการตัดสินใจ อะไรที่จบได้ในคนคนเดียวก็จบ ลดขั้นตอน ลดทรัพยากรด้วย”

จากตัวบุคคลมาเรื่องใกล้ตัว สภาพแวดล้อมในองค์กรมีออกแบบตกแต่งให้เกิดความตื่นตัวและเน้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

“สภาพแวดล้อมเปลี่ยนตัวเราก็ต้องเปลี่ยน เข้าวัด เที่ยวผับก็ต้องทำตัวไปตามสภาพแวดล้อม ถ้าออฟฟิศทึมๆ คนก็เหี่ยว สดใสคนก็สดใส ภายใต้การเปลี่ยนก็มีเรื่องการบริหารที่แทรกเข้าไป ถ้าเราใช้รูปแบบเดิมพนักงาน 1 คน จะต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 6 ตารางเมตร แต่การจัดให้เป็นโมบายออฟฟิศก็เหลือเพียง 4 ตารางเมตร โต๊ะเล็กลง สมบัติส่วนตัวน้อยลง ใช้กระดาษน้อยลง แต่พูดคุยกันได้มากขึ้น ตั้งแต่เรื่องแต่งตัวถึงเรื่องโต๊ะทำงานก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ตลอดเวลา”

จากเรื่องรอบตัว หากลงลึกไปในส่วนของการทำงานซึ่งส่งผลต่อบริษัทโดยตรง เคทีซีเน้นการทำงานเป็นทีม รวมทั้งมีการขับเคลื่อนองค์กรที่ทำให้แต่ละคน แต่ละทีม แต่ละแผนก และคนแต่ละวัย สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างแนบเนียน

“ธรรมชาติของโปรดักส์แต่ละตัวไม่สามารถเกิดได้ด้วยตัวคนคนเดียวอยู่แล้ว การทำงานเป็นทีมที่เราต้องการก็จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ จะออกบัตรสักใบก็ต้องคิดกันหลายคน การตลาดคิดฟีเจอร์บัตร กลุ่มเป้าหมาย ทีมขายจะขายอย่างไรให้ลูกค้าสนใจ ฝ่ายปฏิบัติการจะผลิตบัตรอย่างไร ระบบไอทีจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอย่างไร บัญชีต้องดูว่าจะคิดวิธีเก็บเงินอย่างไร โดยลักษณะงานจึงทำให้เกิดการทำงานเป็นทีม”

ดังนั้นข้อควรระวังสำหรับเคทีซี หากแต่ละหน่วยงานไม่สามารถทำงานเชื่อมกันได้ การพัฒนาจะไม่เกิด แต่หากทำงานคู่กันเช่นนี้ ต่อให้งานเอชอาร์กับการตลาดซึ่งแทบไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ก็สามารถทำงานควบคู่กันไปได้ตลอด

“เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครในเคทีซี ก็สามารถที่จะสื่อถึงแบรนด์ สื่อถึงภาพลักษณ์องค์กรได้ว่าอยากให้คนมองเราอย่างไร พนักงานก็ต้องทำอย่างนั้น เพราะทุกคนต้องไปด้วยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ แล้วความเป็นเคทีซีจะออกมาเป็นความรู้สึกที่คนภายนอกสัมผัสได้”
ฉะนั้นหัวใจสำคัญในการคัดคนร่วมงานของเคทีซี สำหรับดุสิตจึงมีกฎเกณฑ์ง่ายๆ เพียงแค่

“ที่นี่ไม่เน้นคนเก่งเกียรตินิยมเหรียญทองหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะเราถือว่าทุกอย่างฝึกเอาได้ สำคัญที่ว่าเขาต้องเป็นเพลย์เยอร์ที่ดีให้ได้ การคัดคนส่วนใหญ่จะทดสอบโดยการคุย ดูทัศนคิต ดูแบ็กกราวนด์เข้ากันได้ไหม เป็นนักสร้างสรรค์หน่อยๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การทำธุรกิจขององค์กรที่นี่เราเน้นการใช้พันธมิตรเป็นหลักในทุกๆ เรื่อง เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาต้องพร้อมที่จะทำงานเป็นทีมได้ดี”

ดุสิต รัชตเศรษฐกินันท์ตู้ ‘แดง’ แห่ง KTC

ถ้าเป็นเมื่อ 5 ปีก่อน ใครที่เคยรู้จักกับ ดุสิต รัชตเศรษฐกินันท์ คงไม่เห็นเขาในบุคลิกสบายๆ เท่านี้ แว่นตากรอบมีดีไซน์ เสื้อแจ็กเกตที่ดูไม่เป็นทางการ ทีเชิ้ตวัยรุ่น กับยีนส์ และรองเท้าผ้าใบ

ยิ่งไม่รู้จักกันมาก่อนคงจะเดาได้ยากว่าเขามีตำแหน่งเป็นถึง Vice President ของฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่เคทีซี

ดุสิตถอดสูท เลิกผูกไท ตั้งแต่ก้าวเข้ามาเป็นเอชอาร์ที่เคทีซี ทั้งที่ก่อนหน้านี้สมัยอยู่กับจีอี แคปปิตอล ซึ่งเป็นบริษัทการเงินสัญชาติอเมริกาก็ถือว่าแต่งตัวตามสบายมากแล้วก็ยังไม่ถึงขนาดนี้

“การแต่งตัวเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้ความคิดไม่ต้องถูกตีกรอบ เช้ามาก็ต้องคิดแล้วว่าจะใส่อะไร เมื่อก่อนถ้าทำงานแบงก์ไม่ต้องคิด เชิ้ตขาวกางเกงสแลค ช่วงแรกๆ คนเคทีซีเดินไปไหนคนอาจจะนึกว่าเป็นซัปพลายเออร์ แต่วันนี้รูปแบบอิสระกลายเป็นที่รับรู้ว่าเป็นยูนิฟอร์มของคนเคทีซีไปแล้ว”

หนำซ้ำงานเอชอาร์ในอดีตที่ดุสิตทำมาและยังทำอยู่ถึงทุกวันนี้ ก็ถูกเปลี่ยนวิธีการทำงานในแต่ละวันด้วยเช่นกัน จากงานที่วันๆ หมดไปกับตัวเลข เขียนรายงาน มาเป็นการพูด คุย ประชุม เพราะเขาแอบกระซิบว่า “ผมมีสปายทั่วออฟฟิศเลย ไม่ต้องรอให้มีปัญหา ผมเน้นฉีดวัคซีนกันไว้ก่อน”

คำแซวที่น้องๆ ในทีมเอชอาร์เรียกเขาว่าตู้แดง ซึ่งเป็นฉายาที่ได้มาจากชื่อเล่นว่า “แดง” ของเขา และเป็นที่รู้กันในความหมายของตู้รับเรื่องราวร้องทุกข์ จึงไม่มีโอกาสได้ใช้งานหรือรอให้ใครมาส่งเรื่องร้องเรียน เพราะตู้แดงตู้นี้พร้อมที่จะเดินเข้าไปหาทุกหน่วยงานอย่างใกล้ชิดในแบบแนวรุกมากกว่ารับ

คงจะแปลกใจยิ่งขึ้นเมื่อรู้ว่าเขายอมละทิ้งตู้ปลา (ห้องทำงานส่วนตัว) มาเลือกที่นั่งแบบอิสระเช่นเดียวกับพนักงานส่วนใหญ่ในออฟฟิศ เพราะนั่นเป็นอีกวิธีซึ่งไม่ว่าเขาจะเลือกนั่งมุมไหน หรือจะเข้าถึงพนักงานคนใดก็ได้ แบบใกล้ชิดได้ทุกเวลา