Volvo “The Hunt” เกมร้อนสร้างแบรนด์

มีหลายองค์กรเคยกังวลว่า การที่พนักงานเขียนบล็อกอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ข้อมูลลับขององค์กรรั่วไหลโดยไม่รู้ตัว แต่กรณีของเกม The Hunt ของวอลโว่ ที่มีผู้ร่วมเล่นเกมนำประสบการณ์ตลอดช่วง 1 เดือนไปเล่าต่อผ่านบล็อกของเขา กลับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ช่วยต่อยอดการตลาดให้กับวอลโว่แบบเกินความคาดหวัง ที่สำคัญการขยายแบรนด์ไปกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นพลังที่เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ

ปกติสินค้าทุกประเภทอยากทำกิจกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างกระแสให้เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ หรือที่ในภาษาเอเยนซี่เรียกกันสั้นๆ ว่า “Talk” ซึ่งไม่ว่าจะคิดวางแผนอย่างไร ก็ไม่สามารถคาดการณ์ผลได้แน่นอนว่าแคมเปญการตลาดแต่ละตัวที่ออกไปจะทอล์กหรือไม่ทอล์ก

วอลโว่ใช้สิทธิ์จากการเป็นผู้สนับสนุนภาพยนตร์เรื่อง The Pirate of the Caribbean III นำธีมของภาพยนตร์มาพัฒนาเป็นเกม ทำเป็นโกลบอลแคมเปญต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 แต่เพิ่งจะนำมาโลคอลไลซ์กับตลาดไทยเป็นปีแรกในปี 2550 นี้

ลักษณะของเกม ที่ให้ชื่อว่า The Hunt ที่ให้เล่นผ่านเว็บไซต์ thehunt.volvocars.net/th/thehunt.htm

เป็นเกมที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจจากทุกประเทศทั่วโลก สามารถลงทะเบียนร่วมเล่นเกมในช่วงเวลาเดียวกันเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยมีรางวัลสูงสุดเป็นรถยนต์วอลโว่ XC90 มูลค่า 4 ล้านบาท และทองคำอีกเกือบ 2 ล้านบาท (5 หมื่นเหรียญสหรัฐ) สำหรับผู้ชนะเลิศเพียงคนเดียว

ขณะที่ผู้ชนะเลิศของแต่ละประเทศซึ่งจะต้องมารวมตัวเพื่อชิงชัยรอบสุดท้าย ที่มอสโก ประเทศรัสเซีย จะได้รับรางวัลเป็นแพ็กเกจล่องทะเลคาริบเบียนกับเรือสำราญเป็นรางวัลปลอบใจ

รูปแบบเกมเป็นเกมปริศนา ซึ่งผู้เล่นจะต้องไขปริศนาในแต่ละด่านให้ออกเพื่อผ่านไปยังด่านต่อๆ ไป
โดยกำหนดให้ 20 คำถามแรก ผู้เล่นจะเข้ามาตอบก่อนหรือหลังก็ได้ เพื่อเป็นการชักชวนให้คนที่รู้ข่าวไม่พร้อมกันมีโอกาสเข้าร่วมโดยไม่รู้สึกได้เปรียบเสียเปรียบ

ในประเทศไทยมีผู้ลงทะเบียนเล่นเกมในรอบแรกทั้งสิ้น 3,000 คน ซึ่งถือว่ามากกว่า จำนวนผู้เล่นในภูมิภาคนี้ทุกประเทศรวมกัน เพราะเกมเป็นรูปแบบการใช้อินเทอร์เน็ตที่คนไทยนิยมเป็นอันดับต้นๆ

จาก 3,000 กว่าคน ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศประมาณ 500 คน เข้าแข่งพร้อมกัน โดยวอลโว่เป็นผู้เปิดปริศนารอบสุดท้าย ซึ่งได้ผู้ชนะของประเทศไทย เป็นบล็อกเกอร์ที่ใช้ชื่อว่า BBT ที่เปิดบล็อกของตัวเองใน Bloggang

บีบีที เริ่มจากแนะนำเกม เชิญชวนคนมาเล่น เพราะเห็นว่าท้าทายและไม่มีอะไรต้องเสียสำหรับผู้สนใจ ถ่ายทอดเรื่องราว การค้นหาคำตอบในปริศนา แปะเฉลยในบล็อก และเล่นประสบการณ์ต่างๆ ที่เขาได้รับจากเกมตั้งแต่ต้นจนไปแข่งรอบชนะเลิศ ผ่านบล็อกของเขาในเว็บ bloggang.com/viewblog.php?id=bbt&group=11

“เราไม่ได้มีส่วนเข้าไปพยายามให้เขาเขียน แต่เป็นความเต็มใจของเขาเอง เล่นกี่ตอนก็โพสต์ลงบล็อก เพราะเขาเล่นแล้วอินกับเกม และเป็นคนที่เล่นเอาจริงกับเกมนี้มาก” ฝ่ายอินเตอร์แอคชั่นของมายด์แชร์ ซึ่งดูแลแคมเปญนี้ในเมืองไทยยืนยัน แม้ว่ารูปแบบที่เขาพูดถึงจะเป็นรูปแบบของบล็อกมาร์เก็ตติ้งที่สินค้าแต่ละแบรนด์อยากให้เกิดขึ้นกับสินค้าตัวเอง

การมีบล็อกเกอร์สนใจเขียนเรื่องเกี่ยวกับเกมในบล็อกของเขา ทำให้เกมเดอะฮันท์ เกิดการบอกต่อ และมีการเชิญชวนเพื่อนๆ ในบล็อกให้มาร่วมเล่นเกม และกลายเป็นสื่ออีกตัวที่ช่วยวอลโว่กระจายข่าวในหมู่นักเล่นเกม

ผลของแคมเปญนี้ วอลโว่ได้การทำแคมเปญที่มากกว่าการเป็นสปอนเซอร์ให้กับภาพยนตร์ มีจำนวนผู้เข้ามาเยี่ยมชมโชว์รูมวอลโว่มากขึ้น เพราะตามกติกาการเล่นเกม บางด่านจะต้องให้ผู้เล่นไปรับแผนที่ลายแทงจากโชว์รูมวอลโว่มาใช้ไขปริศนา มีคนเข้าเว็บทุกวันและต้องใช้เวลาอยู่กับแบรนด์วอลโว่เป็นเวลานาน

ที่มากไปกว่านั้น กลุ่มคนระดับอายุ 20-30 ปี ซึ่งไม่ใช่ฐานลูกค้าวอลโว่โดยตรง แต่กลายเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาเล่นเกมจำนวนมาก เป็นฐานข้อมูลสำคัญในอนาคตที่วอลโว่จะใช้การลงทะเบียนข้อมูลคนกลุ่มนี้ขยายแบรนด์ต่อไปในอนาคต เหมือนว่า ได้สร้างฐานลูกค้าอนาคตได้เป็นอย่างดี

“ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้มีคนเข้าเว็บของลูกค้าทุกวัน และการไขปริศนาในแต่ละด่านต้องใช้เวลาอย่างน้อยตั้งแต่ครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง เว้นแต่เก่งจริงๆ ก็คงใช้เวลาน้อยกว่านั้น”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนไทยจะชอบเล่นเกม แต่ถ้าเป็นเกมที่ยากเกินไปก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าร่วม ทีมงานของมายด์แชร์อินเตอร์แอคทีฟ จึงใช้วิธีบอกใบ้บางในสื่ออื่นเพราะในกติกาที่เล่นบนดิจิตอลเป็นกติกาที่ละเมิดไม่ได้และเป็นกติกาเดียวกันทั่วโลก และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกมนี้สนุกสนานและได้ผลตอบรับตามเป้าหมาย