“Corporate Blog” อาวุธพีอาร์ที่มาแรง

แม้บล็อกจะเกิดมาอย่างไดอารี่ออนไลน์ส่วนตัว แต่หลายองค์กรทั่วโลกกำลังใช้มันเป็นสื่อประชาสัมพันธ์แนวใหม่ที่ง่ายกว่าเดิม เร็วกว่าเดิม ใกล้ชิดกว่าเดิม และที่สำคัญ ประหยัดกว่าเดิม

ในสหรัฐฯ ผู้บริหารระดับสูงบริษัทใหญ่ๆ อย่าง GM, Google, Microsoft เขียนบล็อกพูดคุยกับผู้อ่านอย่างสม่ำเสมอด้วยสำนวนเป็นกันเอง

ที่ญี่ปุ่น ผู้บริหารหลายบริษัทที่เขียนที่อยู่เว็บบล็อกของตัวเองลงบนนามบัตร ซึ่งยอดจำนวนบล็อกรวมในญี่ปุ่นสูงกว่าสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ

ที่จีน สายการบิน Air Newzealand ให้ดาราดังไปเที่ยวนิวซีแลนด์แล้วเขียนบล็อกกลับมาให้คนจีนอ่านจนติดกันประจำ สร้างกระแสฮิตเที่ยวนิวซีแลนด์ขึ้นมาได้

“เก่ง” กติกา สายเสนีย์ เป็นผู้บุกเบิก “เว็บไดอารี่” หรือบล็อกไทยคนแรกๆ ตั้งแต่ปี 2543 ด้วย thaidiarist.com ทุกวันนี้เขากลายเป็นกูรูด้านบล็อกด้วยผลงานเขียนใน keng.com บล็อกส่วนตัวที่สำรวจไปทั่วโลกแห่งบล็อกแล้วมารายงานได้อย่างรอบด้านเจาะลึก หลายๆ องค์กร เชิญไปบรรยายติวเข้มให้ผู้บริหารถึงพนักงานไม่ตกเทรนด์

เก่งเริ่มต้นให้ความรู้ด้วยการแบ่งบล็อกเป็น 3 ยุค ยุคแรกเป็นบล็อกส่วนตัว ยุคที่สองจะเป็นของนักวิชาการและบริษัทขนาดเล็ก ตามมาด้วยยุคที่สามล่าสุดที่องค์กรบริษัทขนาดใหญ่ลงมาเล่นกันอย่างแพร่หลาย เพราะ Blog มีศักยภาพหลายอย่างที่เหมาะกับโลกธุรกิจยุคแข่งกับเวลา

Blog ดีอย่างไร ?

“ข้อแรก ง่าย คือคุณไม่ต้องมีความรู้ทำเว็บอะไรทั้งสิ้น พิมพ์ๆ เซฟๆ หรือจะเอารูปขึ้นก็ได้ทันที คล้ายๆ คุณส่งอีเมลนั่นล่ะ ข้อสอง เร็วสมัครปุ๊บเขียนได้เลย จากที่ไม่เคยมีบล็อกมาก่อน เซ็ต 5 นาทีก็เปิดบล็อกใหม่ได้แล้ว” เก่งเล่าด้วยภาษาสบายๆ สไตล์คนเขียนบล็อก

เก่งยกตัวอย่างความ “ง่ายและเร็ว” ย้อนไปในคืนรัฐประหาร 19 กันยา ที่เขาและเพื่อนบล็อกเกอร์ในไทยอีกบางคน ช่วยกันเปิดบล็อกมาเป็นห้องรายงานสดสถานการณ์และรูปด่วนล่าสุด คืนเดียวยิงหัวข้อใหม่ขึ้นเป็นสิบครั้ง จนเกิดการบอกต่อกันในเน็ตทำเรตติ้งคืนนั้นเป็นหมื่นๆ ซึ่งรูปแบบบล็อกสดนี้เรียกกันทั่วไปว่า “Live Blog”

และแน่นอน ความง่ายและเร็วนี้ ย่อมหมายถึง ความประหยัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องการด้วยเช่นกัน

เขียนให้ต่างจากข่าว PR

แต่ไม่ใช่ว่าแค่ง่ายกับเร็วแล้วจะเวิร์ค เก่งได้ให้เคล็ดวิชา 4 ข้อในการเขียนบล็อกให้ดึงดูดคนมาอ่านอย่างสม่ำเสมอไว้ว่า
– “Informal” ให้ใช้สำนวนไม่เป็นทางการ เพราะข้อมูลข่าวสารที่เขียนแบบทางการนั้นมีท่วมท้นโลกแล้ว ไม่น่าสนใจ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ค่อยมีใครอยากอ่านนัก

– “Conversational Style” ให้เขียนเหมือนเหมือนพูดคุยกัน บอกเล่ากันอย่างกันเอง และใช้สำนวนที่เป็นตัวของตัวเองเพื่อความมีบุคลิก

– “Real Story” ต้องพูดแต่ความจริง ไม่โกหก เสริม เติมแต่ง

– “No PR” ไม่เขียนลักษณะข่าว PR โฆษณาชวนเชื่อ เพราะแทนที่คนจะเชื่อ กลับจะยิ่งเบื่อและขี้เกียจอ่าน

“นั่นคือคนอ่านอยากอ่านความคิดเห็นที่มาจากคนจริงๆ มันน่าอ่านและน่าเชื่อกว่าข่าวหรือข้อมูลประชาสัมพันธ์แบบเดิมๆ” เก่งขมวดหลักทั้ง 4 ข้อออกมาเป็นข้อสรุปสูงสุด และทางที่ดีต้อง “Company DO’T Blog ! ” คืออย่าเขียนบล็อกในนามบริษัทองค์กร แต่ควรหาตัวแทนที่เป็นคนจริงๆ มาเขียนผ่านตัวตนคนๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็น CEO พนักงานเล็กๆ ช่างเทคนิค หรือลูกค้าที่เหนียวแน่น ซึ่งหากบริษัทจะจ้างลูกค้าแฟนคลับไว้เขียนบล็อกก็จะได้มุมมองที่แตกต่างไปจากให้คนในเขียน

บล็อกองค์กร มีไว้เพื่อ… ?

เก่งแบ่งเป้าหมายการเขียนบล็อกขององค์กรไว้เป็น 2 แนวใหญ่ๆ คือ “ใช้ภายใน” กับ “ใช้ภายนอก”

ใช้บล็อกสื่อสารภายในองค์กร เช่น…

– “Knowledge Sharing” แบ่งปันและสะสมความรู้จากทุกคนทุกฝ่ายในองค์กร

– “Project Management” ติดตามและรายงานความคืบหน้าของงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลเอกสารกัน

– “Team Communication” พูดคุยแสดงความคิดเห็นกันภายในและระหว่างทีมต่างๆ

– “Log Book” บันทึกเหตุการณ์ระหว่างทำงาน เช่นโรงแรมบันทึกแขกเข้าออกและการสั่งอาหารเครื่องดื่มต่างๆ พนักงานกะต่อไปก็เข้าไปอ่านบันทึกของกะก่อนนี้ได้

ใช้บล็อกสื่อสารกับภายนอกองค์กร เช่น…

– “Test drive new product & idea” นำเสนอสินค้าใหม่ บริการใหม่ โปรโมชั่นใหม่ ให้กลุ่มเป้าหมายวิจารณ์เสนอแนะ

– “Building a buzz” สร้างกระแสให้กลุ่มเป้าหมายและสังคมบอกต่อๆกันปากต่อปาก

– “Go global” โปรโมตองค์กร สินค้า หรือบริการ ให้คนทั่วโลกได้รู้จัก

– “Informed the press” ส่งข่าว ติดต่อกับสื่อมวลชน นักข่าวสื่อต่างๆ

– “Branding” สร้างแบรนด์ผ่านเรื่องราวในบล็อก

– “Recruit new staff” ประกาศรับสมัครคนใหม่ได้ตรงกลุ่ม โดยที่กลุ่มเป้าหมายรู้จักบริษัทอยู่แล้วจากการอ่านบล็อก

ในการสื่อสารไปสู่ภายนอกองค์กรนี้ บล็อกจะช่วยให้องค์กรสื่อตรงได้ถึงผู้รับที่แท้จริง ไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือสื่ออื่นๆ ให้เปลืองค่าใช้จ่ายและเสียเวลา

วัดผลอย่างไร ? …

เมื่อเป็นเรื่องขององค์กร ก็ต้องมีการวัดประเมินผล ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้ดูก็มีทั้งที่มองเห็นเป็นรูปธรรมอย่าง ตัวเลขยอดคนเข้าอ่าน, จำนวนคอมเมนต์, จำนวนลิงค์ที่ลงในเสิร์ชเอ็นจินดังๆ เช่น Google และที่นับไม่ได้อย่างความใกล้ชิดมากขึ้นกับลูกค้าและองค์กรอื่น และกระแสปากต่อปากที่สร้างขึ้นได้เป็นความดังในโลกไซเบอร์

10 เคล็ดลับเขียนบล็อกให้น่าอ่าน

1. “Be Original” คิดเอง เขียนเอง ไม่ก๊อบปี้ที่ไหนมาลง

2. “Be Specific” หนึ่งหัวข้อมีหนึ่งประเด็น ชัดเจน

3. “Be Friendly” คุยเหมือนเพื่อน เป็นกันเอง

4. “Ask for Feedback” ขอความคิดเห็นตอบรับจากผู้อ่านอยู่เสมอ

5. “Link, Link, & Link” ทำลิงค์ไปบล็อกอื่นเว็บอื่น และพยายามให้เขาลิงค์มาหาเรามากๆ

6. “Write in a Package” จัดเป็นข้อๆ อันดับๆ จะถูกเอาไปอ้างอิงมากกว่า เช่น “แนะนำ 10บล็อกตลกที่สุด”

7. “Write for People” จัดย่อหน้าอ่านง่าย ฟอนต์ไม่เล็ก

8. “Search Engine Optimization” ใส่คีย์เวิร์ดให้เข้าเรื่อง และใส่ถี่ๆ สะกดเหมือนกันหมด จะช่วยให้เสิร์ชเอ็นจินอย่าง Google ให้น้ำหนักบล็อกเรามาก

9. “Blog Frequently” เขียนขึ้นบ่อยๆ อย่างน้อยทุกสัปดาห์

10. “Have Fun” เขียนด้วยความสนุก ความอยากเขียน