พรีเมียร์ลีก ซัลโวทะลุโลก!

ไม่แปลก…หากจะมีแฟนบอลคนไทยคลั่งไคล้ทีมปีศาจแดง ถึงขนาดยอมไม่ได้ที่จะใครมาถากถางทีมสุดรัก คล้ายดั่งตัวเองเป็นประชากรคนหนึ่งในเมืองแมนเชสเตอร์

…และยิ่งไม่น่าแปลกใจ แม้ใครหลายคนจะไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ แต่แค่คุณเคยติดตามข่าว อย่างกรณี “แม้ว แมนฯซิตี้” เคยชอบเดวิด เบคแฮม เพราะความหล่อ เท่ หรือมีสมาชิกในครอบครัวคุณแขวนเสื้อฟุตบอลลิเวอร์พูล เชลซี หรืออาร์เซนอลไว้ในตู้เสื้อผ้าที่บ้าน… ปฏิกิริยาเหล่านี้คุณอาจไม่ทราบได้เลยว่า “โรคฟุตบอลอังกฤษ” ได้สิงสถิตอยู่ในวิถีชีวิตคุณแล้ว

…ศึกฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาลใหม่ 2007-2008 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ ยิ่งมองยิ่งเหมือน “สิ่งมหัศจรรย์” ของโลก เพราะความยิ่งใหญ่ของเกมลูกหนังในวันนี้ไม่ใช่แค่เกม90 นาทีในสนาม หากแปรเปลี่ยนเป็นกระบวนการสร้างแบรนด์ในระดับโลก (Global Brand) ที่ทรงอิทธิพลที่สุด มีมูลค่ามหาศาล ถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่น่าติดตามอย่างยิ่ง

ฟรีคิกแบรนด์สะท้านโลก

เสียงนกหวีดเป่าเริ่มต้นเกม สังเวียนพรีเมียร์ลีกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว 10 คู่ 10 สนามบนเกาะอังกฤษ นึกๆ ดูน่าแปลกไม่น้อยว่า เกมดวลแข้งเกิดขึ้นในซีกโลกยุโรป แต่เหตุไฉนคนในซีกโลกตะวันออก หรือเกือบทุกมุมโลก ต่างเฝ้าติดตามเกมอย่างใกล้ชิด

นั่นเพราะนี่คือกระบวนการตลาดที่แยบยล ถูกคิดขึ้นบนพื้นฐานของเกมการตลาด ซึ่งไม่ใช่แค่เกมแข่งใน 90 นาที หากยังขยายถึงวิธีการสร้างดีมานด์ กลยุทธ์ และกระบวนการสร้างแบรนด์ที่น่าสนใจ

เอฟเอ พรีเมียร์ลีก (FA Premier League) คือ ลีกสโมสรฟุตบอลอาชีพสูงสุดของอังกฤษ ไม่ใช่เป็นลีกฟุตบอลเพิ่งเริ่มต้นขึ้นใหม่ แต่ถือเป็นแบรนด์ยุคใหม่ที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษ เปลี่ยนชื่อและปฏิรูปขึ้นมาใหม่ หรือภาษาตลาดเรียกว่า รีแบรนด์ใหม่ เมื่อ ค.ศ. 1992 จากเดิมที่ใช้ชื่อว่า ฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1888 หรือมีอายุถึง 119 ปีมาแล้ว

การตัดสินใจรีแบรนด์ครั้งใหญ่ของลีกฟุตบอลอังกฤษ พร้อมนำพรีเมียร์ลีกจดทะเบียนขึ้นเป็นรูปแบบของบริษัทจำกัด นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ บนสภาพปัญหาความตกต่ำของลีกฟุตบอลอังกฤษอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในปี 1985-1990 ปัญหาที่บั่นทอนภาพฟุตบอลอังกฤษให้ล้มเหลวลงอย่างเด่นชัดที่สุด คือ ปัญหาเรื่องฮูนิแกน (Hooligans) หรือแฟนฟุตบอลอันธพาลลูกหนังของอังกฤษ ได้ก่อความวุ่นวายทั้งในและนอกสนามฟุตบอลทำให้ลีกฟุตบอลอังกฤษถูกแบนจากในเวทียุโรปถึง 5 ปี

เท่านั้นยังไม่พอ ในช่วงเดียวกันได้เกิดโศกนาฏกรรมอัฒจันทร์ถล่มที่สนามเมืองเชฟฟิลด์ เว้นเดย์ ในศึกเอฟเอคัพ รอบรองชนะเลิศระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ มีผู้เสียชีวิต 96 ราย ด้วยสภาพของสนามที่ไร้มาตรฐาน โดยเฉพาะอัฒจันทร์ที่ตีตั๋วยืนชม ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้ลีกฟุตบอลอังกฤษต้องการลบภาพลักษณ์ที่เสื่อมถอยลง และนำมาด้วยการปฏิรูปฟุตบอลอาชีพครั้งใหญ่

“พรีเมียร์ลีก ก็ไม่ต่างจากแบรนด์สินค้าใหม่ เพราะเมื่อสินค้าเดิมซึ่งหมายถึงลีกดิวิชั่น 1 มีปัญหาเรื้อรังอย่างหนัก ส่งผลต่อแบรนด์เสียหายอย่างรุนแรง สินค้าแบบเดิมขายไม่ได้แล้ว ทำให้เจ้าของสินค้าก็จำเป็นต้องหาทางออกสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมา เพื่อเป้าหมายทางการตลาดครั้งใหญ่” รศ.วิมุต วานิชเจริญธรรม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยชิคาโก-มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ให้เห็นถึงการสร้างพรีเมียร์ลีก

เหตุผลสำคัญของการสร้างแบรนด์พรีเมียร์ลีกขึ้นมาใหม่ จึงเป็นเป้าหมายที่ต้องการสลัดภาพลักษณ์เดิมๆ ของปัญหาฟุตบอลอังกฤษทิ้งไป เพื่อสร้างแบรนด์ใหม่

หากเป้าประสงค์ใหญ่ของการสร้างแบรนด์พรีเมียร์ลีก คือการวางกลยุทธ์ทางการตลาดสู่ตลาดโลก โดยระบบบริษัทจำกัดที่ถูกนำมาใช้ใหม่ (อ่านเรื่อง ถอดรหัสพรีเมียร์ลีกประกอบ) จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการก่อให้เกิดรายได้ใหม่ๆ ซึ่งการบริหารจัดการแบบใหม่ รายได้ที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่แค่ตั๋วเข้าชมในสนาม หากแต่หวังจะเปิดช่องทางรายได้ใหม่ๆ ไปทั่วโลก ทั้งในรูปแบบของสปอนเซอร์ ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอด สินค้าที่ระลึกภายใต้แบรนด์สโมสร ฯลฯ

“ลิขสิทธิ์ถ่ายทอด” ยิงตุงตาข่าย

จุดเริ่มแรกของการรีแบรนด์ใหม่ให้พรีเมียร์ลีกฟรีคิกไปสู่ตลาดโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดขึ้น จากนักธุรกิจสื่อสารรายใหญ่ในอังกฤษ รูเพิร์ธ เมอด็อก เจ้าของสกายทีวี ผู้บุกเบิกเคเบิลทีวีหรือ Pay TV ยื่นข้อเสนอด้วยเงิน 304 ปอนด์ ซึ่งมากกว่า สถานี ITV เจ้าของลิขสิทธิ์เดิม เกือบ 10 เท่า และตกลงทำสัญญาฉบับใหม่ในการเป็นผู้ขาดความเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดตลอด 5 ฤดูกาลแข่งขัน (1992-1997)

นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ลีกพรีเมียร์ลีกขยับขยายสู่ตลาดโลกอย่างจริงจัง ในแง่ของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และแรงกระตุ้นของดีมานด์ที่ทำให้ลีกผู้ดีเริ่มที่นิยมของผู้ชมทั่วโลก

อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้กล่าวถึงกระแสถึงความนิยมลีกฟุตบอลในระดับโลกอย่างน่าสนใจว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการผสมผสานกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งทำให้สามารถถ่ายทอดการแข่งขันจากที่หนึ่งไปสู่ส่วนต่างๆ ของโลกได้ กลายเป็น “ปมเงื่อนสำคัญ” ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ “กระบวนการแปรกีฬาให้เป็นสินค้าขยายตัวในอัตราเร่ง” และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการสากลานุวัตรของกีฬาฟุตบอล

ดังนั้น ดีมานด์การถ่ายทอดมีส่วนสำคัญที่ทำให้แบรนด์พรีเมียร์ลีกเข้าถึงกลุ่มแฟนบอลรุ่นเก่าและใหม่ได้เข้าอย่างรวดเร็วขึ้น

ข้อมูลจาก รศ.วิมุต วานิชเจริญธรรม ให้ตัวเลขที่น่าสนใจว่า รายได้ที่มาจากลิขสิทธิ์การเผยแพร่ภาพการแข่งขันนอกสหราชอาณาจักรในแต่ละสัปดาห์พุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีแฟนบอลถึง 78 ล้านคนในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก เฝ้าติดตามการถ่ายทอดสดการแข่งขัน แฟนบอลเหล่านี้คือที่มาของรายได้จำนวน 1.23 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่พรีเมียร์ลีกได้รับจากการขายสิทธิ์เผยแพร่ภาพการแข่งขันในสามฤดูกาลนับแต่ 2007/2008 เป็นต้นไป (ประมาณ 43.05 พันล้านบาท สำหรับระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะเท่ากับ 14.35 พันล้านบาทต่อปี)

รายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดนี้เอง ได้กลายเป็นทุนส่วนหนึ่งที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษได้นำมาจัดสรรแบ่งให้กับทุกสโมสรพรีเมียร์ลีก นำไปปรับปรุงสนามแข่งขัน ยกเลิกตั๋วยืน ปรับเป็นที่นั่งทั้งหมดในสนาม เปลี่ยนพื้นหญ้า และสร้างระบบการรักษาความปลอดภัยให้ทันสมัยมากขึ้น

แม้รายได้จากการถ่ายทอดสดจะได้ไม่เท่ากันทุกทีม แต่นี่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างคุณภาพของสินค้า ซึ่งหมายถึงมาตรฐานด้านอุปกรณ์ในสนามแข่งขัน เพื่อการยกระดับไปสู่ตลาดโลก

การถ่ายทอดสดฟุตบอลอังกฤษที่แพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว มีส่วนสำคัญที่ทำให้พรีเมียร์ลีก “ก้าวกระโดด” ไปสู่ความนิยมอย่างรวดเร็ว แรงผลักดันส่วนหนึ่งที่แฟนบอลทั่วโลกปฏิเสธไม่ได้ คือลีลาความสนุกของฟุตบอลอังกฤษ มีจุดขายที่เป็นเกมแห่งความตื่นเต้นเร้าใจตลอดเวลา ซึ่งมุ่งเน้นพละกำลัง โยนบอลยาววิ่งใส่คู่แข่งขัน ไม่อุดประตู ซึ่งเป็นสไตล์ฟุตบอลอังกฤษ ทำให้ผู้ชมดูแล้วไม่เบื่อ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลีกผู้ดีขึ้นแท่นเป็นลีกฟุตบอลยอดนิยมของโลกอย่างรวดเร็ว

“ในฐานะผู้อยู่ในวงการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลเคยคิดว่าลีกกัลโชซีรีอาร์ของอิตาลี และลาลีก้า ของสเปน น่าจะเป็นลีกที่ดีที่สุดในโลก เพราะมีดาราดังระดับโลกอย่างคับคั่ง แต่ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า พรีเมียร์ลีก คือลีกที่ได้รับความนิยมสูงสุด นั่นเพราะรูปแบบเกมที่เร้าใจ ไม่เหมือนลีกของอิตาลีที่น่าเบื่อ ทำประตูได้แล้วอุดประตู นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ค่าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกในปัจจุบันแพงกว่าลีกฟุตบอลอื่นๆ ถึง 10 เท่า” สรุพงษ์ เตรียมชาญชัย ประธานกรรมการบริษัท ทราฟฟิกคอร์นเนอร์ ให้ความคิดเห็น

ความนิยมที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ ยักษ์เคเบิลทีวีเมืองไทยอย่าง ทรูวิชั่นส์ ตัดสินใจลงทุนอย่างมหาศาลควักเงินถึง 2 พันล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดติดต่อกัน 3 ฤดูกาล 2007 -2010 ซึ่งตีโจทย์มาแล้วนับสิบๆ ปีแล้วว่า พรีเมียร์ลีก ได้สร้างผลทางธุรกิจให้ทรูมากเพียงใดบ้าง มีพลังต่อการสร้างธุรกิจในอนาคตขนาดไหน ซึ่งพิสูจน์ในกระแสการเติบโตของยอดสมาชิกมาแล้วนับตั้งแต่ยังเป็นไอบีซี มาถึงยูบีซี และทรูวิชั่นส์ในปัจจุบัน

ขุมทรัพย์เบ่งบาน

เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการสร้างแบรนด์พรีเมียร์ลีกให้เกิดกระแสความนิยมไปทั่วโลก ดูเหมือนว่าเหล่าทีมชั้นนำในพรีเมียร์ลีกก็เกิดเปลี่ยนครั้งใหญ่ไปพร้อมๆ กับการปฏิรูปลีก หลายทีมสโมสรได้ใช้มาร์เก็ตติ้งมาเป็นธงนำในการขับเคลื่อนรายได้ให้กับสโมสร

ตัวอย่างที่เห็นชัด การสร้างรายได้จากชุดแข่งขัน หรือการผลิตเสื้อทีมในแต่ละฤดูกาลนั้น ล้วนเป็นช่องทางรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ทำให้ยักษ์ใหญ่ธุรกิจกีฬาอย่างไนกี้และอาดิดาส เปิดศึกแข่งขันแย่งกันเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลิตชุดแข่งอย่างคึกคัก เพื่อขอเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในชุดแข่งขัน

“เสื้อทีมฟุตบอลถือเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญของสโมสรฟุตบอล ราคาของเสื้อทีมโดยเฉลี่ยจะอยู่ในราว 65-70 เหรียญสหรัฐ ทีมที่มีฐานแฟนบอลสนับสนุนมากย่อมมีรายได้จากส่วนนี้มากเป็นเงาตามตัว หากขายเสื้อได้ฤดูกาลหนึ่ง 50,000 ตัว ในราคาตัวละ 70 เหรียญ สโมสรก็จะมีรายได้เข้ามาแล้ว 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 122.5 ล้านบาท บางสโมสรจะทำการ “Outsource” การขายเสื้อทีมให้กับผู้ผลิตเสื้อไปเลย โดยรับเป็นเงินค่าลิขสิทธิ์แทน” รศ.วิมุต วานิชเจริญธรรม ยกตัวอย่างให้เห็น

อย่างเช่น ฤดูกาลที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดขายสิทธิ์การจำหน่ายเสื้อทีมให้กับบริษัท ไนกี้ ในราคากว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 1,400 ล้านบาท จะเห็นว่า นี่แค่เพียงชุดแข่งเท่านั้น ขุมทรัพย์รายได้ที่เกิดขึ้นมากมายถึงระดับพันล้านบาท

ขณะเดียวกัน สปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อ เป็นอีกขุมทรัพย์ที่สโมสรพรีเมียร์ลีกได้รับรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เนื่องจากเป็นที่ปรารถนาของบรรดาสินค้าหลายชนิดจากทั่วโลกที่อยากนำโลโก้สินค้าไปติดไว้บนหน้าอกเสื้อ เพื่อหวังจะโกอินเตอร์สู่สายตาผู้ชมทั่วโลกในขณะถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

อย่างเช่น ซัมซุงยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลี ลงทุนควักกระเป๋าถึง 50 ล้านปอนด์ หรือ 3,750 ล้านบาท เพื่อเป็นสปอนเซอร์คาดที่หน้าอกเสื้อ เป็นระยะเวลา 5 ปี หรือสินค้าไทยอย่าง เบียร์ช้าง ที่ลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเป็นแบรนด์ติดอยู่บนหน้าอกเสื้อของทีมเอฟเวอร์ตัน

ขุมทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สูงสุดของทีมสโมสรพรีเมียร์ลีกแม้ในปัจจุบันจะกระจุกตัวอยู่ที่ทีมชั้นนำ 4 ทีมอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ลิเวอร์พูล อาร์เซนอล และเชลซี เนื่องจากเป็นทีมที่มีแฟนบอลมากที่สุดในโลก แต่ดูเหมือนว่า ทีมในบัลลังก์พรีเมียร์ลีกก็เริ่มขยับขยายรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยผลทางมาร์เก็ตติ้งของทีมเอง และสมาคมฟุตบอลอังกฤษมีส่วนช่วยผลักดัน

กลยุทธ์เจาะสนามเอเชีย

การสร้างตลาดที่เห็นเด่นชัดของพรีเมียร์ลีก คือ การเปิดตลาดเอเชีย ถือเป็นความจงใจของผู้บริหารพรีเมียร์ลีกหวังจะสร้างตลาดภูมิภาคนี้อย่างจริงจัง ด้วยเหตุที่คนเอเชียมีความคลั่งไคล้ฟุตบอลอังกฤษเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่เหมือนประเทศในแถบอเมริกันที่มีกำแพงกั้นความนิยมจาก กีฬายอดฮิตอย่างอเมริกันฟุตบอล บาสเกตบอล

แผนการสร้างตลาดเอเชียถูกวางกลยุทธ์ไว้อย่างน่าสนใจ เห็นได้จากการสร้าง Below the line หรือกิจกรรมมายังประเทศแถบนี้ อย่างกรณีของการนำทีมในพรีเมียร์ลีกมาตระเวนอุ่นเครื่องในแถบเอเชีย ซึ่งดำเนินกิจกรรมนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว ที่กลายเป็นธรรมเนียมของทีมพรีเมียร์ลีกในช่วงปิดฤดูกาลแข่งขัน และเตรียมความพร้อมในฤดูกาลใหม่ จะนำทีมสโมสรฟุตบอลมาทัวร์เตะในแถบเอเชีย ซึ่งที่ผ่านมา ทั้งในไทย มาเลเซีย เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ล้วนเป็นแหล่งตลาดสำคัญที่ทีมพรีเมียร์ลีกแวะเวียนมา

เป้าหมายใหญ่ของโปรแกรมทัวร์เตะครั้งนี้ คือ การสร้างคอมมูนิตี้ของแฟนคลับฟุตบอลอังกฤษขึ้นมา ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เพราะในฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งในไทยเองก็มีแฟนคลับแมนฯ ยู ลิเวอร์พูล เกิดขึ้นอย่างแข็งแรง และไม่นานนักธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าสโมสรฟุตบอลของอังกฤษก็ผุดขึ้นตามมาในแถบเอเชียอย่างมากมาย

แม้ความนิยมของกระแสฟุตบอลต่างประเทศจะถูกวิเคราะห์ว่า กระแสใหญ่เกิดจากด้านมืดของการพนันฟุตบอล โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ถือเป็นแหล่งใหญ่ที่สุด ประเทศไทยเองก็เคยถูกสำนักข่าวเอพีรายงานว่า ครองแชมป์พนันฟุตบอลในระดับภูมิภาคนี้ มีมูลค่าการเล่นถึง 30,000 ล้านบาท แต่เรื่องพนันบอลก็ไม่ได้เป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ฟุตบอลนิยมมากขึ้น

การตลาดที่ถูกคิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในการสร้างความนิยมให้พรีเมียร์ลีก แม้แต่จุดเล็กๆ อย่างช่วงเวลาการแข่งขัน ในแต่ละสัปดาห์ พรีเมียร์ลีกก็ใช้กลยุทธ์หลักการกระจายเวลาถ่ายทอดสดให้เกิดความต่อเนื่องในการติดตาม ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย

เมื่อเวลาอังกฤษห่างจากประเทศในภูมิภาคเอเชียประมาณ 6-7 ชั่วโมง ความจงใจที่จะให้แมตช์การถ่ายทอดเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ประมาณ 6 โมงเย็นกว่า ไล่ยาวไปถึงคู่ที่สองในการถ่ายทอดช่วง 3 ทุ่ม และกำหนดโปรแกรมถ่ายทอดคู่สุดท้ายช่วง 5 ทุ่ม เป็นความจงใจที่เรียกว่าแย่งซีน หรือตลาดอย่างฟุตบอลบุนเดสลีก้าของเยอรมัน และลีกอื่นๆ ได้อย่างน่าสนใจ

เกมใหม่ของเศรษฐีโลก

ผลของการสร้างแบรนด์ และการใช้มาร์เก็ตติ้งทางการตลาดมาตลอดระยะเวลา 15 ปีของพรีเมียร์ลีก ทำให้มูลค่ารายได้ของพรีเมียร์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนได้ชื่อว่าเป็นลีกฟุตบอลที่สร้างรายได้สูงที่สุดในโลก เป็นผลให้เกิด “ต้องตาต้องใจ” บรรดาเศรษฐีจากและนักลงทุนจากทั่วโลก ในการเข้าไปเทกโอเวอร์สโมสรฟุตบอลอังกฤษ

ข้อมูลในปัจจุบันพบว่า มีถึง 10 สโมสรหรือจำนวนครึ่งหนึ่งในพรีเมียร์ลีก ถูกฮุบกิจการจากบรรดาเศรษฐีต่างชาติ นับตั้งแต่ โมฮัมเหม็ด อัล ฟาเยด เจ้าสัวอียิปต์ เจ้าของห้างสรรพสินค้าแฮร์รอด ใช้เงิน 30 ล้านปอนด์เทกโอเวอร์ทีมฟูแล่ม เมื่อปี 1997 ไม่นานนักทีมในพรีเมียร์ก็ถูกเทกโอเวอร์อย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่ทีมชั้นนำอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ถูกตระกูลเลเซอร์ ในอเมริกาเข้าซื้อกิจการด้วยเงิน 790 ล้านปอนด์เมื่อปี 2005 และทีมลิเวอร์พูลเองก็ถูกจอร์จ จิลเล็ตต์ ฮุบกิจการไปเมื่อไม่นานมานี้

ขณะที่ทีมสโมสรพรีเมียร์ลีกที่ฮือฮาที่สุดเมื่อเร็วๆนี้ คือ ทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งถูกอดีตผู้นำไทย ทักษิณ ชินวัตร ซื้อกิจการด้วยเงิน 81.6 ล้านปอนด์

แม้กระแสข่าวด้านลบที่ออกมาจะโยงใยว่ากลุ่มเศรษฐีเหล่านี้ต้องการฟอกเงิน หรือ ต้องการแก้ภาพลักษณ์ใหม่ในวังวนมลทินที่ติดตัวมา แต่มองในแง่ของวิถีการลงทุน ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือธุรกิจเทรนด์ใหม่ของโลกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

…ความยิ่งใหญ่ของเกมฟุตบอลหลายคนอาจคิดว่าสิ้นเสียงนกหวีดจบ 90 นาทีนั้นหมายถึงการสิ้นสุดของเกม แต่ความจริงแล้ว เกมแข่งขันยังขับเคลื่อนอย่างไม่สิ้นสุด เพราะนี่เกมธุรกิจ ซึ่งซ่อนเร้นพลังความน่าสนใจอยู่ตลอดเวลา

สรุป ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรีเมียร์ลีกสู่ความยิ่งใหญ่ของโลก

พรีเมียร์ลีก

ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด
ถือเป็นลีกฟุตบอลที่มีมูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดสูงที่สุดในโลก ทำให้เกิดกระแสดีมานด์จากธุรกิจทีวีทั่วโลก เพื่อจะอยากจะครอบครองลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก จึงกลายสินค้าระดับโลกที่สื่อทีวีต้องการมากที่สุด

ดาราฟุตบอลชั้นนำ
แม่เหล็กดึงดูดสำคัญ นับตั้งแต่ปรากฏการณ์เดวิด เบคแฮม สมัยเป็นนักเตะแมนฯยู มาถึง ดารานักเตะรุ่นใหม่ๆ ได้สร้างตลาดคนดูกลุ่มใหม่ๆ ขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีสถิติสูงขึ้นถึง 20% ในปัจจุบัน

สื่อ
ข่าวสารด้านฟุตบอลพรีเมียร์ลีกติดอยู่หนึ่งในสามอันดับข่าวยอดนิยมของคนอังกฤษที่เฝ้าติดตามในวงการข่าวมากที่สุด และเป็นจุดกระตุ้นให้สื่อมวลชนด้านกีฬาทั่วโลกนำข่าวสารดังกล่าวไปนำเสนอในประเทศของตนเอง

พนันฟุตบอล
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้านมืดที่ก่อกระแสฟุตบอลฟีเว่อร์มาจากการพนันฟุตบอล โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียนิยมเล่นพนันไปพร้อมการเชียร์ฟุตบอลในช่วงถ่ายทอดสด

เวลาแข่งที่เหมาะสม
โปรแกรมการแข่งขันและการถ่ายทอดสด ที่เริ่มต้นคู่แรกตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ หลังกินข้าวเย็นเสร็จไปจนถึงเวลา 5 ทุ่ม ทุกๆ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้คนในเอเชียได้เชียร์ฟุตบอลอย่างเต็มที่ในช่วงวันพักผ่อน

ความสำเร็จของทีม
การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งแชมป์สโมสรยุโรปไม่ว่าจะเป็น แมนฯยู ลิเวอร์พูล มีส่วนทำให้เกิดความนิยม และความชื่นชอบมากขึ้น