“ถ้าเปรียบเป็นรถก็เหมือนยังไร้พวงมาลัย” สำหรับโครงการ “อีโคคาร์” หรือรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงาน แม้รัฐบาลจะใส่เกียร์เดินหน้าทั้งการกำหนดเงื่อนไข “โมเดลรถ” แต่เบื้องลึกๆ ของรถยนต์แสนประหยัดราคาถูกประเภทนี้ ยังมีคลื่นใต้น้ำที่ต้องติดตาม ระหว่างคำว่า “ผลประโยชน์” และ “ความถูกต้อง” โดยเฉพาะการขยับตัวของค่ายยักษ์ใหญ่ทั้งฮอนด้าและโตโยต้า
1.
ถกเถียงกันมาหลายยุคหลายสมัยสำหรับโครงการรถอีโคคาร์ ถ้านับดูก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 3 รัฐมนตรีมาแล้ว แต่ทันทีที่กระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลชุดนี้ประกาศเดินหน้าโครงการนี้แน่ชัด มีคำถามมากมายว่า สุดท้ายแล้วเราจะได้รถประหยัดน้ำมันราคาถูกจริงหรือไม่
รถยนต์ประหยัดพลังงานขนาดมาตรฐาน หรืออีโอคาร์ ซึ่งตามความหมายหรือหลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม คือรถยนต์ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเพียง 5 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร หรือ 20 กิโลเมตร/ลิตรโดยมีความกว้างที่ 1.63 เมตร ยาว 3.6 เมตร มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,300 ซีซี สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน และ 1,400 ซีซี สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล รวมทั้งข้อกำหนดมาตรฐานมลพิษ ต้องปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไม่เกิน 120 กรัม/กิโลเมตร
ประเด็นที่น่าสนใจที่สุด คือ เรื่องการตั้งราคาขาย โดยรัฐบาลพยายามเสนอว่าราคาต่อคันน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3 -4 แสนบาท ตามนโยบายกระตุ้นให้เกิดรถยนต์ประหยัดพลังงาน ซึ่งกลายเป็นปมสำคัญที่ค่ายรถต่างไม่อยากยอมรับข้อเสนอนี้ โดยอ้างว่า เทคโนโลยีประหยัดพลังงานมีต้นทุนที่สูง
เท่ากับว่า ค่ายรถยนต์ต่างยังไม่ยอมรับที่จะตั้งราคาถูก เพียงหลักแสนต้นๆ แม้รัฐบาลจะยืนยันว่าการปรับลดจากเดิม 30% มาเหลือเพียง 17% มีผลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 เป็นต้นไป จะทำให้ต้นทุนรถยนต์อีโคคาร์มีราคาถูกลง
อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ของบรรดาค่ายรถ ซึ่งพยายามเรียกร้องให้ปรับภาษีลงอีก ยังเป็นคลื่นใต้น้ำของผลประโยชน์ที่เรียกร้องกันไม่หยุด เพราะแนวโน้มที่ค่ายรถจะต้องสูญเสียกำไรลดลงจากข้อกำหนดราคาขายให้ต่ำเป็นสิ่งที่ไม่ยอมแน่ๆ
ดังนั้น ถ้ามองจากสภาพการณ์นี้ รถอีโคคาร์ถ้าจะให้ต่ำกว่า 3 แสนนั้นคงลำบาก เพราะแรงต่อต้านจากค่ายรถนั้นคงไม่ยอม โดยใช้ข้ออาจของต้นทุนการปรับจูนเครื่อง แต่ถ้ารัฐบาลจะใช้ช่วง 3 แสนจริงเกรงกันว่า รถอีโคคาร์จะหลายเป็นรถที่มีแต่ปัญหา ด้อยคุณภาพ กับความพยามยามที่ผู้ประกอบการรถจะหาวิธีเซฟต้นทุนลง
2.
“อีโคคาร์ยังสรุปไม่ได้ว่าจะตั้งราคาให้ถูกมากๆ เพราะต้นทุนการผลิตตามเงื่อนไขของรัฐบาลนั้นสูง แต่ประเด็นนี้ยังต้องถกเถียงกันต่อไป” คำพูดของ ทัตสึฮิโร่ โอยาม่า ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ซึ่งกล่าวไว้ในงานสรุปการดำเนินงานและวิสัยทัศน์ของฮอนด้า เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมานี้
ข้อที่น่าสังเกต คือ ซีอีโอฮอนด้าพยายามบ่ายเบี่ยงที่จะไม่พยายามตอบเรื่องประเด็นการตั้งราคาขาย แม้จะมีสื่อมวลชนพยายามยิงคำถามเรื่องราคารถอีโคคาร์ แต่สุดท้ายเขาก็ตอบได้เพียงว่า ต้นทุนสูง เพื่อให้ทุกคนคาดการณ์ว่ารถอีโคคาร์จะมีราคาไม่ถูกตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
อย่างไรก็ตาม ค่ายฮอนด้าถือว่าเป็นค่ายรถยนต์ที่เตรียมพร้อมสำหรับการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ในเมืองไทยแล้ว โดยฮอนด้าได้เตรียมสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นโรงงานแห่งที่สอง ถ้าโรงงานแห่งนี้เสร็จจะทำให้ฮอนด้ามีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 120,000 คัน เป็น 240,000 คัน
ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า โรงงานแห่งนี้ ซีอีโอฮอนด้า บอกว่า จะเป็นโรงงานที่ผลิตรถยนต์อีโคคาร์ปีละ 1 แสนคัน โดยเริ่มผลิตได้ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป ส่วนจะเป็นโมเดลรถรูปแบบใดนั้น มีหลายคนจับตาดูว่า น่าจะเป็นรุ่นแจ๊ซ ซึ่งอาจจะนำมาปรับเป็นรถอีคาร์ได้ เพราะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับหลักเกณฑ์ของรัฐบาล
ขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้าพร้อมรบกับอีโคคาร์มาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะมีข่าวว่าจะนำรุ่นวีออส และยาริส รวมทั้งรุ่นอื่นๆ ในตลาดต่างประเทศ มาปรับจูนเครื่องให้ตรงตามสเปกอีโคคาร์ แต่นั่นเป็นการคาดการณ์เท่านั้น
เนื่องจาก ทั้งฮอนด้า แจ๊ซ,โตโยต้า ยารีส, วีออส ล้วนเป็นแบรนด์ที่มีราคาเกิน 5 แสนบาทขึ้นไป ทำให้ถ้าจะนำมาทำอีโคคาร์อาจะทำให้เสียภาพลักษณ์ของแบรนด์ในเมืองไทยไป
ดังนั้น เป็นไปได้ว่า ทั้งโตโยต้าและฮอนด้าอาจจะนำโมเดลรุ่นอื่นๆ ที่ขายในตลาดต่างประเทศเข้ามาผลิตในเมืองไทย
ตัวอย่างของการขยับตัวของค่ายรถยักษ์ใหญ่ในวันนี้ อาจเป็นแสงสว่างที่เห็นได้บ้างว่า โครงการนี้เกิดขึ้นแน่ และน่าจะเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ คือ มีรถดีราคาถูก และประหยัดพลังงาน
…อีโคคาร์จะมีบทสรุปอย่างไรก็ตาม แต่อย่างน้อยๆ ผู้บริโภคควรจะได้รับความหวังกับรถดีๆ ราคาถูกมีคุณภาพและประหยัดพลังงานขับขี่กันบ้าง ไม่ใช่ผลสรุปออกมารถประเภทนี้ก็ยังแพง ไม่ต่างอะไรจากรถในท้องตลาดทั่วไป
โมเดล หรือสเปกรถยนต์อีโคคาร์ของค่ายรถที่ทำตลาด มีความใกล้เคียงกับหลักเกณฑ์ของรัฐบาลไทยกำหนด
โตโยต้า ไฮโก้
ขนาดเครื่องยนต์ 1,000 ซีซี
ขนาดความยาวตัวรถ 3.4 เมตร กว้าง 1.61 เมตร
อัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 4.6 ลิตร /100 กม.
ฮอนด้า เซสต์
ขนาดเครื่องยนต์ 660 ซีซี
อัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 17-19 กม./ลิตร
ราคาในญี่ปุ่นเปรียบเป็นเงินบาท 3.5-5.5 แสนบาท
นิสสัน โมโก
ขนาดตัวรถ ความยาว 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 มิลลิเมตร
ขนาดเครื่องยนต์ 660 ซีซี
อัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 21 กม./ลิตร
ไดฮัทสุ เอสเซ
ขนาดเครื่องยนต์ 658 ซีซี
ขนาด ความยาวตัวรถ 3,395 มิลลิเมตร กว้าง 1,475 มิลลิเมตร
อัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 22-26 กม./ลิตร
ราคาในญี่ปุ่นเปรียบกับเงินบาท 2.2-3.5 แสนบาท