จากไดอารี่แบบไทยๆ สู่ Blog

แปลกแต่จริงที่ว่าเว็บแบบ Blog ซึ่งกำลังโด่งดังไปทั่วโลกนั้น ที่จริงแล้วฮิตในไทยมาตั้งแต่ 3 ปีก่อนที่คำว่า Blog จะแจ้งเกิดด้วยซ้ำ แต่ถูกเรียกด้วยคำว่า “เว็บไดอารี่”

เริ่มต้นในปี 2543 (ค.ศ. 2000) นำขบวนมาด้วย 3 เว็บดังคือ storythai.com, thaidiarist.com และ diaryhub.com ซึ่งแต่ละเว็บต่างก็เต็มไปด้วยเหล่าวัยรุ่นไทยทั้งหญิงชายเข้าไปรำพึงรำพัน ระบายอารมณ์ เหตุการณ์ที่พบมา คนที่แอบชอบ เพลงที่กำลังโดนใจ หรือโชว์รูปที่ไปเที่ยวสังสรรค์กับเพื่อนๆ มา

การบูมของเว็บไดอารี่ในไทยยุคนั้น ทำให้เกิดศัพท์วัยรุ่นใหม่ๆ หลายคำ อย่าง “เม้น”, “เม้นได” หมายถึง คอมเม้นต์ในไดอารี่ เช่น “เม้นไดให้เราด้วยนะ” หรือ “อัพได” หมายถึง อัพเดตส่งเรื่องใหม่ขึ้นไดอารี่

ขณะที่ pantip.com เว็บบอร์ดดังในยุคนั้น ก็มีสมาชิกบางคนที่เขียนกระทู้ลงเป็นประจำแล้วเรียกกระทู้ตัวเองว่าเป็นไดอารี่ ที่โด่งดังสุดๆ ย่อมเป็น “แก้วไดอารี่” บันทึกของสาวปริญญาโทคนหนึ่งที่ติดเชื้อ HIV จากคนรักแล้วมาถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดและการฝ่าฟันอุปสรรคชีวิตได้อย่างกินใจผู้อ่านจำนวนมาก โด่งดังจนถึงกับถูกนำไปรวมเล่มขาย และซื้อลิขสิทธิ์ไปเตรียมทำภาพยนตร์

หลังจากปรากฏการณ์ “แก้วไดอารี่” เว็บไดอารี่ต่างๆ นับสิบก็ถูกนำลงมาตีพิมพ์ขายเป็นพ็อกเกตบุ๊กกันทั่วไปแทบนับไม่ถ้วน นอกจากนี้ยังมีทั้งที่เป็นหนังสือเขียนใหม่ แต่เลียนแบบสไตล์การเขียนแบบเว็บไดอารี่ก็เป็นที่นิยมไม่น้อยในหมู่วัยรุ่นไทยยุคใหม่ที่มีรสนิยมการอ่านแบบที่เริ่มจากจอคอมพิวเตอร์ก่อนหนังสือ

ปี 2546 (ค.ศ. 2003) สามปีหลังไดอารี่บูมในไทย กระแสโลกก็เกิดขึ้นด้วยคำที่ต่างออกไป คือคำว่า Web Log ซึ่งหมายถึงการบันทึก (Log) ไว้ใน Web ก่อนจะย่อกลายเป็นคำว่า Blog ไปในที่สุดด้วยการเกิดขึ้นของ blogger.com ซึ่งดังจนถูกยักษ์ Google ซื้อกิจการไป

คอนเซ็ปต์ของ Blog ในอเมริกาและนานาชาตินั้นกว้างกว่า Diary ของไทย เพราะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประสบการณ์ส่วนตัวของคน แต่มีทั้งบันทึกการทำงานของทีมงานหนึ่งๆ บริษัทองค์กรหนึ่งๆ ทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ การวิจัยค้นคว้า ไปจนถึงบันทึกการเดินทางของวงดนตรี และอื่นๆ อีกหลากหลาย

ปี 2547 pantip.com เปิด bloggang.com ให้บรรดาสมาชิกที่เขียนเรื่องราวขึ้นบ่อยๆ ได้มีที่ประจำให้แฟนๆ ติดตามอ่านกันถูก ส่วนในระดับโลกนั้น ยักษ์ Microsoft ขยับตัวครั้งใหญ่เปิดให้บริการ Blog แก่สมาชิก MSN ทุกคนในชื่อ MSN Space และต่อมาเป็น Live Space ซึ่งในไทยมีผู้ใช้ MSN Messenger ถึงเกือบ 7 ล้านคน และ 30% หรือเกือบ 2 ล้านคนก็มี Live Space ทำให้ครองแชมป์ผู้ให้บริการบล็อกในไทยไปด้วย

ปีนี้เองที่ผู้ให้บริการบล็อกระดับโลกอีกรายเปิดตัวและค่อยๆ ดังมาอย่างเงียบๆ คือ wordpress.com เข้ามาครองใจนักทำบล็อกระดับมืออาชีพในไทยได้ทั้งผู้เชี่ยวชาญอย่าง keng.com หรือสื่อแนวใหม่อย่าง DDTmagazine.com เป็นต้น

ปีต่อมายักษ์สื่อสารไทยอย่าง True ก็ต้องขยับตัวรับกระแสบล็อกบ้างด้วยการเปิด Minihome เป็นบล็อกที่มีหน้าจอเป็นห้องเหมือนให้ตกแต่งได้อย่างกุ๊กกิ๊กหวังเอาใจวัยรุ่นสาวๆ เป็นพิเศษ และยังเชื่อมกับบริการมือถือ Truemove ของตัวเองโดยโยงบริการเสริมต่างๆ ของมือถือกับ Minihome เข้าด้วยกันตามคอนเซ็ปต์ Convergence ของทรู

ทุกวันนี้สมรภูมิผู้ให้บริการ Blog เต็มไปด้วยผู้เล่นรายต่างๆ หลากหลายมากมายทั้งในไทยและระดับโลก ซึ่งผู้ให้บริการระดับโลกอย่าง MSN Space หรือ WordPress ก็ถือเป็นคู่แข่งมาเบียดแย่งผู้ใช้ไทยได้อย่างน่ากลัว เพราะในโลกไซเบอร์ที่ไร้พรมแดนแล้ว เว็บนั้นๆ จะมาจากประเทศไหนก็ไม่สำคัญ

ลำดับการเกิดของ Blog สำคัญๆ ที่มีอิทธิพลกับผู้ใช้ในไทย

2543
Storythai (ไทย)
Thaidiarist (ไทย)

2545
Diaryhub (ไทย)

2546
Blogger (ระดับโลก)
Myspace (ระดับโลก)

2547
Bloggang (ไทย)
Exteen (ไทย)
MSN Space (ระดับโลก)
WordPress (ระดับโลก)

2548
Minihome (ไทย)

2550
Mblog ของค่ายผู้จัดการ
OKNation ของค่ายเนชั่น

ศัพท์ชาว Blog

“Blogosphere”
หาก “Cyberspace” แปลว่าโลกแห่งอินเทอร์เน็ตล่ะก็ “Blogosphere” ก็แปลได้ว่า “โลกแห่งบล็อก” ซึ่งเป็นคำที่เราจะพบได้ทั่วไปในข่าวหรือบทความภาษาอังกฤษเกี่ยวกับบล็อก เช่นในข่าวหนึ่งที่เขียนว่า Blogosphere ของโลกวันนี้ มีบล็อกถึงราว 80 ล้านบล็อกเข้าไปแล้ว

“Blogroll”
เมื่อเราเข้าไปอ่านบล็อกของใครก็ตาม เรามักจะเห็นลิงค์ด้านขวา ไปหาบล็อกของคนอื่นๆอีกหลายแห่ง นั่นคือ Blogroll ที่มีไว้แสดงบล็อกอื่นๆ ที่เจ้าของบล็อกคนนั้นชอบอ่าน

“Ping”
คือการส่ง Blog เรื่องใหม่ล่าสุดวันนี้ของเรา ไปบอกเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของ Search Engine ใหญ่ๆ เช่นกูเกิลให้รู้ว่าเรา Upload เรื่องใหม่ขึ้นแล้ว ฐานข้อมูลของกูเกิลจะได้รับรู้และบรรจุเรื่องใหม่ของเราไว้ให้คนอื่นเสิร์ชได้

Ping เป็นเครื่องมือที่จะพบได้ในผู้ให้บริการบล็อกชั้นนำของต่างประเทศ เช่น wordpress.com, blogger.com

“Tag”
คือการตั้งหมวดหมู่ Categories ด้วยตัวเอง เนื่องจากบล็อกมาจากหลากหลายคนและมีหลากหลายเรื่องจริงๆ หลายๆ บล็อกในระดับโลกจึงไม่กำหนดหมวดหมู่ไว้ตายตัว แต่ให้เจ้าของบล็อกป้อนคำ Tag Line เป็นคำสั้นๆ ระบุเองว่าบล็อกตนเกี่ยวกับอะไร

“Tag Cloud”
ในหน้าเว็บรวมบล็อกหลายๆ แห่ง มักจะมีคำต่างๆ ตัวเล็กบ้างใหญ่บ้าง อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเดียวกัน นั่นคือ “Tag Cloud” หรือคำต่างๆ ที่ผู้เขียนบล็อกระบุไว้ คำไหนถูกเขียนไว้เป็น Tag Line มากก็จะถูกแสดงด้วยตัวใหญ่ ที่ถูกค้นน้อยลงไปก็ตัวเล็กกว่า

รูปแบบ “Tag Cloud” นี้ถูกเอาไปใช้ในเว็บที่เน้นเนื้อหาจาก User หรือ Web 2.0 แบบอื่นๆที่ไม่ใช่บล็อกด้วย เช่น Youtube เว็บรวมคลิปที่โด่งดัง และยังถูกเอาไปใช้ในเว็บ Search Engine ต่างๆ ไว้แสดงผลว่าคำไหนถูกเสิร์ชมากที่สุดและรองๆ ลงไป แทนที่จะแสดงเป็นตาราง

“RSS Feed”
คือเนื้อหาในหน้าเว็บหรือหน้าบล็อก ที่สกัดเอาสีสันและรูปภาพออกไปแล้ว เหลือแต่ข้อมูลและรายละเอียดของข้อมูลล้วนๆ เอาไว้ส่งให้นักท่องเน็ตที่นิยมอ่านด้วยโปรแกรม “Feed Reader” ที่มีไว้อ่านเว็บหลายๆ แห่งพร้อมกันโดยไม่ต้องเปิดหลายหน้า และยังสามารถเอาไปแปะหรือฝัง (Embed) ในเว็บอื่นๆ ได้ โดยที่หากเนื้อหาในเว็บเราเปลี่ยนแปลง เนื้อที่นั่นก็จะเปลี่ยนแปลงตามทันที

“Page Rank”
คือดัชนีแสดง “ค่าความน่าสนใจ” ของหน้าเว็บนั้นๆ ที่ Google มอบให้ ซึ่งจะมีผลกำหนดว่าหน้านั้นถูกแสดงเป็นลำดับแรกๆ หรือท้ายๆ เมื่อถูกเสิร์ช คำนี้ใช้กับทั้งหน้าเว็บทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่บล็อกด้วย