อินไซด์เกาะติดเกมแบบสยามสปอร์ตฯ

ไม่ต้องทุ่มเงินซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ไม่ต้องจ้างมืออาชีพมาบรรยายเกม แต่สื่อยักษ์ใหญ่อย่างสยามสปอร์ตฯ สามารถใช้ความเป็นนักสื่อสารมวลชน นำ “คอนเทนต์” ด้านกีฬามาสร้างกระแส หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ คือ การส่งนักข่าวไปรายงานสดถึงขอบสนาม เฉพาะพรีเมียร์ลีกเพียงลีกเดียว อย่างการให้สัมภาษณ์ แจ็คกี้ -อดิสรณ์ พึ่งยา ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในนักข่าวที่เคยบินไปเกาะขอบสนามรายงานสด ได้มาถ่ายทอดเรื่องราวถึงเคล็ดลับและเสน่ห์ของเสียงตามสายจากขอบสนามแข่งขันได้อย่างน่าสนใจ

แมนฯซิตี้ ประเด็นร้อนเจาะข่าว

“ปีนี้แม้ทรูจะควบคุมลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันพรีเมียร์ลีก แต่สยามสปอร์ตผู้ปั้นพรีเมียร์ลีกให้ดังในไทยมานานก็ไม่กระทบ เนื่องจากมีนักข่าวในต่างประเทศส่งภาพขณะการซ้อมมาให้ หรือเกร็ดความน่าสนใจอย่างอื่น เช่น ภาพเหตุการณ์รอบนอกสนาม สัมภาษณ์พิเศษ หรือใช้ภาพนิ่งมาประกอบรายการ ซึ่งทำมาตั้งแต่สมัย ESPN เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์” อดิสรณ์ พึ่งยา เจ้าของนามปากกา “แจ็คกี้” ผู้ควบคุมรายการทีวีแห่งสยามสปอร์ต เปิดเผยถึงการเตรียมพร้อมในฤดูกาลใหม่

ทว่าสิ่งที่จะแตกต่างกว่าทุกปี คือ ปีนี้ทุกสื่อของสยามสปอร์ตจะให้น้ำหนักกับข่าวกับสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของ “ทักษิณ ชินวัตร” ให้เท่ากับ “Big 4” คือ แมนยูฯ, ลิเวอร์พูล, เชลซี และอาร์เซนอล โดยจะเจาะความเคลื่อนไหวในทุกๆ ด้านอดิศรคาดว่าคนไทยทั้งแฟนบอล และไม่ใช่แฟนบอล จะฮือฮาและสนใจ “เรือใบสีฟ้า” แมนฯ ซิตี้นี้มากกว่าทุกสโมสรด้วยอย่างแน่นอน ดังนั้นจุดใหม่ที่จะเป็นนโยบายในการทำข่าวในปีหน้า คือทุกความเคลื่อนไหวของสโมสรแมนฯ ซิตี้

กลยุทธ์ปั้นนักข่าวแบบสยามสปอร์ตฯ

จุดที่น่าสนใจของนอกจากการทำรายการทีวี การรายงานสดผ่านสปอร์ตเรดิโอคลื่น 90 MHz เป็นสื่อที่สยามสปอร์ตฯ กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ต้องยอมรับว่ากลยุทธ์หนึ่งคือการส่งนักข่าวไปอยู่ในประเทศอังกฤษ หมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันในกองบ.ก.ข่าวฟุตบอลต่างประเทศ เพื่อรายงานสดติดขอบสนามในประเทศอังกฤษ ผ่านมือถือมายังห้องส่งสถานีทุกครั้งที่เกมฟุตบอลกำลังโม่แข้ง ถือเป็นเสน่ห์สำคัญที่ทำให้สถานีวิทยุกีฬาแห่งนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก

ระบบรายงานตรงจากต่างประเทศนั้น สยามสปอร์ตจะมีทีมงานประจำอังกฤษอยู่ 4 คน ประกอบด้วยนักข่าวประจำอยู่ 2 คน โดยจะส่งนักข่าวใหม่ไปทุกๆ ปี แต่อยู่คนละสองปี เหลื่อมเวลาเพื่อให้มีคนเก่าที่ลอนดอนอยู่สอนงานคนใหม่ได้ตลอด นอกจากนี้ยังมีผู้จัดการสาขาประจำอยู่กว่า 10 ปีแล้ว 1 คน กับตากล้องทีวีอีก 1 คน

หน้าที่ประจำคือไปเข้า Press Conference ที่ผู้จัดการทีมและนักฟุตบอลจะพบปะนักข่าวในทุกวันศุกร์ ดูเกมการแข่งขันในเกมวันเสาร์ และเข้าแถลงข่าวอีกครั้งหลังเกมจบส่วนเวลาอื่นๆ ที่เหลือไปเดินสายดูสนาม หรือเก็บข้อมูลอื่นๆ มารายงานผู้อ่านผ่านคอลัมน์ “ไดอารี่พรีเมียร์ลีก” ในหนังสือพิมพ์สยามสปอร์ต

ทีมงานนี้นอกจากเขียนลงหนังสือพิมพ์ รายงานออกโทรทัศน์แล้ว ยังต้องโทร Phone in สดออกรายการวิทยุคลื่น FM 90 MHz ทุกคืนวันเสาร์ และปีนี้มีพิเศษที่สยามสปอร์ตฯ ได้ลงทุนจองที่นั่ง “VIP block” 8 ที่นั่ง บนอัฒจันทร์หลังประตูสนาม Old Trafford ของ Manchester United โดยยอมจ่ายถึงปีละ 6 ล้านบาท เพื่อไว้เป็นที่ทำการรายงานสดจากสนามทุกแมตช์รวมถึงผลจากสนามอื่นๆ ด้วย

เหตุผลที่สยามสปอร์ตฯ ส่งนักข่าวไปในสมัยก่อนเพราะไม่ต้องการรับข้อมูลจากรอยเตอร์และเอเอฟพีเพียงอย่างเดียว และยุคนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ตที่จะรับข้อมูลข่าวสารได้หลากหลายรวดเร็วเหมือนทุกวันนี้

“เกมฟุตบอลหลายมิติ กีฬาไม่ใช่แค่การแข่งขันในสนาม แต่มันมีเรื่องของกองเชียร์ ป้ายต่างๆ ที่เขาชูกันมันเขียนว่าอะไร หมายถึงอะไร ตัวสนามเองมีที่มาเฉพาะตัวอย่างไร ลงไปจนถึงประวัตินักบอลแต่ละคน ไม่ว่างานเขียนหรืองานพากย์ต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้ด้วย” อดิสรณ์บอกเล่าความลึกนักข่าวฟุตบอลที่สยามสปอร์ตฯ ต้องมี

แม้ปัจจุบันที่มีอินเทอร์เน็ต บริษัทก็ยังคงนโยบายให้มีนักข่าวประจำในอังกฤษ เยอรมนี และอิตาลี อย่างเดิม เพราะจะสามารถเลือกเจาะเลือกเล่นประเด็นข่าวที่ต้องการได้เต็มที่

คอนเทนต์ฟุตบอลสร้างแบรนด์

ค่ายสยามสปอร์ต ซินดิเคท ถือเป็นสื่อชั้นนำด้านกีฬาของไทย ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เติบโตมาจาก “คอนเทนต์” ด้านกีฬาฟุตบอลอย่างแท้จริง เห็นได้ชัดจาก หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ ทั้งสตาร์ซ้อคเกอร์, สปอร์ตพูล และสปอร์ตแมน เติบโตด้วยแรงส่งของกีฬาฟุตบอลต่างประเทศ โดยเฉพาะพรีเมียร์ลีก ถือเป็นลีกยอดนิยมที่สร้างยอดขายให้กับสยามสปอร์ตฯ อย่างมากมายมหาศาล

ไม่แปลกที่ครั้งหนึ่ง สยามสปอร์ตฯ จะบอกว่า ช่วงลุ้นศึกฟุตบอลต่างประเทศ ยอดจำหน่ายต่อวันของหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ ทั้ง 3 เล่ม เคยมียอดขายสูงสุดมากถึง 5 แสนเล่มต่อวัน

ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แค่สื่อสิ่งพิมพ์ สยามสปอร์ตฯ ยังมีสื่อวิทยุ สื่อออนไลน์ และรายการทีวี ที่สร้างปรากฏการณ์ให้แฟนบอลได้ติดตามฟุตบอลกันชนิดติดขอบสนาม โดยเฉพาะสื่อวิทยุ เอฟเอ็ม 90 MHz สถานีกีฬา 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นสื่อฟังการรายงานสดการแข่งขันฟุตบอลที่นิยมกันมากที่สุด

น่าสนใจตรงที่ว่า สยามสปอร์ตฯ แทบไม่ต้องเสียต้นทุนซื้อลิขสิทธิ์ใดๆ เลย ในการรายงานสดฟุตบอลต่างประเทศ เพราะการรายงานสดทางวิทยุก็เพียงเปิดช่องทีวีดาวเทียม หรือเคเบิลทีวี ก็มีผู้บรรยายเกม และมีรายงานสดจากขอบสนาม เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้รายการวิทยุของสยามสปอร์ตฯ เติบโตขึ้นอย่างมาก

ผู้บรรยายเกม ถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของการรับฟังเกมผ่านคลื่นวิทยุ ซึ่งสยามสปอร์ตฯเองต้องยอมรับว่าได้ผลิตบุคลากรด้านนี้อย่างแข็งแรง และมีนักบรรยายเกมรุ่นใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น คุณฉุย- สมศักดิ์ สงวนทรัพย์, แจ็คกี้-อดิสรณ์ พึ่งยา, ต.โต้ง- อิสรพงษ์ ผลมั่ง เป็นต้น ซึ่งหลายคนได้กลายเป็นนักพากย์มืออาชีพทางช่องฟรีทีวีและเคเบิลทีวี

ด้วยความที่สยามสปอร์ตฯ เป็นองค์กรด้านสื่อสารมวลชน ทำให้มีความชำนาญมากพอที่จะ นำ “คอนเทนต์” ด้านกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลมาทำการตลาด ยิ่งฟุตบอลอังกฤษด้วยแล้ว นับว่ามีกิจกรรมหลายๆ อย่างเกิดขึ้นเพื่อรองรับลีกฟุตบอลยอดนิยมนี้ เช่น ทัวร์ชมฟุตบอลอังกฤษระดับวีไอพี การจัดอีเวนต์ในช่วงบิ๊กแมตช์สำคัญๆ เป็นต้น

การใช้สื่อออนไลน์ขยายฐาน นับอีกช่องทางที่นำคอนเทนต์พรีเมียร์ลีกมาใช้ทางการตลาด เช่น การส่งเอสเอ็มเอส เพื่อรับฟังผลบอล รายงานความเคลื่อนไหวการซื้อขายนักเตะ และการพูดคุยกับผู้จัดรายงานวิทยุผ่านเอสเอ็มเอส ล้วนเป็นอีกกลยุทธ์ที่เติบโตขึ้นตามกระแสกีฬาฟุตบอล

แจ็คกี้ อินเกม

ปี 2535 สยามสปอร์ตฯ ปั้นนักข่าวใหม่อย่างอดิสรณ์ ด้วยหน้าที่แปลข่าวจากรอยเตอร์และเอเอฟพี และควักงบบริษัทส่งไปเรียนภาษาสเปนที่จุฬาฯ เพื่อให้เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับฟุตบอลสเปนอยู่ 4 ปี หลังจากนั้น “แจ็คกี้” จึงได้รับเลือกให้เดินทางไปประจำที่ลอนดอน 2 ปี เพื่อรายงานข่าวพรีเมียร์ลีกหรือ “ดิวิชั่น 1” ในสมัยนั้น

หลังจากนั้นอดิสรณ์ยังต้องกลับไปอังกฤษอีก 1 เดือนเต็มๆ เพื่อทำสารคดีทีวีชุดพิเศษของสยามสปอร์ตฯ ที่พาคนดูตระเวนทัวร์สนามแข่งดังๆ ของอังกฤษและยุโรป

อดิสรณ์ก็เหมือนคนสยามสปอร์ตอีกหลายคน ที่ต้องรับหน้าที่พากย์บอลทั้งที่ช่อง 7 และ UBC Truevision ด้วย โดยอดิศรรับหน้าที่ “นักพากย์ฝ่ายข้อมูล” ให้กับแมตช์ถ่ายทอดสดต่างๆ ทางช่อง 7 และยูบีซี ต่างจาก “ตัวหลัก” ที่จะบอกเล่าจังหวะลีลาของเกมด้วยน้ำเสียงและอารมณ์ต่างๆ ซึ่งหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของอดิศรนี้ ในต่างประเทศอย่างอังกฤษจะใช้อดีตนักฟุตบอลหรือโค้ชดังๆ รับหน้าที่ และแน่นอนว่านักพากย์จากสยามสปอร์ตฯ ได้ช่วยสร้างแบรนด์ที่อยู่ในคนของสยามสปอร์ตฯ ให้หนักแน่นขึ้นอีกในสายตาผู้ชม

อดิสรณ์เผยเคล็ดพากย์บอลว่า“กล้องถ่ายทอดบอลเมืองนอกจะเก็บรายละเอียดมาก เดี๋ยวๆ ก็จับไปที่ป้ายต่างๆ ของกองเชียร์ หลายๆ ป้ายต้องคนที่เคยอยู่ที่นั่นถึงจะพอเข้าใจได้ บางทีก็แพนไปจับแขกวีไอพี จับคนนั้นคนนี้ คนพากย์ต้องอธิบายให้คนดูรู้เรื่องได้ทั้งหมดถึงจะสนุก”

ผังรายการของสยามสปอร์ตฯ ในปีนี้

TV
จันทร์ -ศุกร์ 05:30 – 06:00 ช่อง 9 “โต๊ะข่าวกีฬา”
พุธ 00:00 – 00:30 TITV “Sport Weekly”
พฤหัสฯ 00:00 – 00:30 ช่อง 7 “แฟนซ่า กีฬามันส์”
พฤหัสฯ 00:30 – 01:00 ช่อง 9 “World Soccer & Sport”
โดยทุกรายการมีเรื่องของพรีเมียร์ลีก โดยเฉพาะ “แฟนซ่า กีฬามันส์” จะเน้นเป็นพิเศษ

วิทยุ
FM 90.0 MHz ทุกวัน 24 ชั่วโมง