ดี แต่ยังไม่ดัง

เบ็นคิว เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างจริงจังเมื่อ 4 ปีก่อน เคยสร้างกระแสฮือฮาด้วยการเข้าไปเทกโอเวอร์ส่วนธุรกิจมือถือของซีเมนส์ จนเกิดเป็นแบรนด์มือถือ เบ็นคิว-ซีเมนส์ ขึ้นในตลาด

แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็เงียบหายไป ทั้งที่ยังคงมีสินค้าหลายประเภทจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด

สินค้าบางประเภทอย่างโทรศัพท์มือถือ เจอกับมรสุมหนัก เมื่อผู้บริโภคถึงขั้นสงสัยว่า ตกลงเบ็นคิว-ซีเมนส์ เลิกทำตลาดแล้วใช่ไหม ทั้งที่แบรนด์นี้เคยเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ทีมให้กับเรียล แมดริด ในยุคที่เดวิด เบคแฮม เพิ่งถูกซื้อตัวไปร่วมทีมใหม่ๆ

ความผิดพลาดของเบ็นคิว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผลิตภัณฑ์มากเกินไป ขณะที่ขาดทีมการตลาดที่เข้าใจตลาดไทยเพียงพอ

ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ ก็เป็นคนหนึ่งที่เห็นจุดอ่อนนี้ และตัดสินใจย้ายงาน จากการเป็นผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจองค์กร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด มารับงานท้าทายและรับผิดชอบดูแลตลาดที่กว้างกว่าเดิมให้กับบริษัท เบ็นคิว (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 เริ่มต้นวางแผนการตลาดและได้รับความเห็นชอบจากบริษัทแม่ในไต้หวันเป็นอย่างดี

“เบ็นคิวมีสินค้าดีๆ หลายตัว แต่ไม่จำเป็นจะต้องมุ่งทำตลาดทุกตัว นโยบายของผมคือจะเลือกสินค้าเด่นๆ มาไฮไลต์ก่อน 3 ตัวหลัก ได้แก่ แอลซีดีมอนิเตอร์ โน้ตบุ๊ก และโปรเจคเตอร์ ส่วนกล้อง มือถือ เอ็มพี3 ก็เป็นตัวรอง เชื่อว่าโฟกัสที่ตัวหลักให้แน่นแล้วค่อยเอาตัวใหม่ๆ เสริมจะดีกว่า” ธีรวุธกล่าว

ดีไซน์กับผลิตภัณฑ์ เป็นกลยุทธ์การตลาดที่ธีรวุธตั้งใจนำมาชูสินค้าเบ็นคิวให้เด่นขึ้น เพราะมองว่าถ้าเป็นเรื่องคุณภาพของสินค้าไอทีผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้แล้วว่าเป็นสิ่งที่พัฒนาได้เท่าเทียมกัน

“สินค้าไอทีส่วนใหญ่จะพูดแค่สเปกกับราคา แต่เราจะสร้างดีไซน์ให้เกิด เพราะเป็นนโยบายที่เกิดมาพร้อมกับเบ็นคิวตั้งแต่ต้นว่าจะเน้นพัฒนาผลิตที่มีดีไซน์และความสนุกสนาน แต่กลับไม่เคยนำมาชี้ชัดในไทย ผลิตภัณฑ์ของเราหลายตัวที่ได้รางวัลสำคัญระดับโลก ทั้ง RedDot ของเยอรมนี GMarkของญี่ปุ่น IS ของยุโรป”

ธีรวุธเชื่อว่า การมีดีไซน์โดดเด่นจะเป็นตัวสร้างแบรนด์ที่ดีไปพร้อมกัน เพราะการเลือกซื้อสินค้าไอทีหากเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภครู้จักจะช่วยเสริมความมั่นใจในการตัดสินใจซื้อ นับจากนี้ทุกกิจกรรมและการประชาสัมพันธ์ในทุกสื่อของเบ็นคิวไปในแนวเดียวกัน คือ มีดีไซน์ เน้นความสนุกสนาน และอินเทรนด์

สัดส่วนรายได้ของเบ็นคิว(ประเทศไทย)
แอลซีดีมอนิเตอร์ 35%
โน้ตบุ๊ก 35%
อื่น ๆ (โปรเจคเตอร์ กล้อง มือถือ ฯลฯ) 30%

เป้าหมายของเบ็นคิว
ผลิตภัณฑ์ สถานะปัจจุบัน เป้าหมายปีนี้ กลยุทธ์
โน้ตบุ๊ก อันดับ8 ขึ้นเป็น 1 ใน 5 เน้นจุดขายด้านดีไซน์
โปรเจคเตอร์ อันดับ2 ขึ้นเป็นอันดับ 1 เน้นจัดช่องทางการขายให้ครอบคลุมมากขึ้น
แอลซีดีมอนิเตอร์ แบรนด์ที่ไม่รู้จัก เป็นแบรนด์ตัวเลือก1ใน3 เน้นสร้างแบรนด์ผ่านกิจกรรมและประชาสัมพันธ์

Did you know?

เรดดอท อวอร์ด เป็นรางวัลด้านแนวคิดการออกแบบของประเทศเยอรมนี เน้นไอเดียที่เป็นเทรนด์ของอนาคต มีการแจกรางวัลนอกเยอรมนีครั้งแรกเมื่อปี 2005 ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้สิทธิ์เปิดพิพิธภัณฑ์เรดดอทดีไซน์แห่งที่ 2 ขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2005