เชลซี เจ้าบุญทุ่มแห่งเกาะอังกฤษ

ความสำเร็จแบบก้าวกระโดดของเชลซี จนกลายเป็นทีมระดับชั้นนำในเกาะอังกฤษ ปัจจัยสำคัญคือเงิน แต่คงง่ายเกินไปที่จะบอกว่าเงินคือทุกอย่าง เพราะเบื้องหลังความสำเร็จที่สำคัญกว่าเมื่อมีเงินมหาศาลแล้วถูกใช้ไปกับอะไร ? ซึ่งสำหรับเชลซีนั้นเงินถูกทุ่มไปที่ “คน” ตั้งแต่นักฟุตบอล โค้ช ขึ้นไปถึงผู้บริหารมือดี

ก่อนการเทกโอเวอร์ของ “เสี่ยหมี” โรมัน อับราโมวิช ชาวรัสเซียนั้น เชลซีเคยถูกเทกโอเวอร์โดยนักธุรกิจชื่อ เคน เบตส์ ในปี 1982 ด้วยราคาแค่เพียงหนึ่งปอนด์เท่านั้น แต่ต้องรับภาระหนี้ของสโมสรที่มีมากเกือบจนล้มละลายแล้ว ซึ่งเบตส์ก็สามารถกอบกู้สโมสรจนพ้นวิกฤตมาได้ แต่ผลการแข่งขันนั้นยังไม่โดดเด่น

ในเชิงธุรกิจ เคน เบตส์ กับหุ้นส่วนอีกคนคือ แมทธิว ฮาร์ดิ้ง ได้ขยายไปด้านอื่นๆ นอกจากเกมฟุตบอลไว้ เช่นโครงการ “เชลซี วิลล่า” รีสอร์ตหรูและแหล่งบันเทิงแบบครบวงจร (Entertainment Complex) ทำให้ต้องลงทุนซื้อที่ดิน สร้างโรงแรม ฯลฯ บวกกับการโหมซื้อดาราแข้งทองต่างชาติในช่วงปี 2000 ทำให้สโมสรมีปัญหาวิกฤตทางการเงินอีกครั้ง

ในที่สุด เคน เบตส์ ก็ขายสโมสรเชลซีให้กับ โรมัน อับราโมวิช ในราคา 440 ล้านปอนด์ (ราว 3 หมื่นล้านบาท) โดยอับราโมวิชต้องรับผิดชอบหนี้สินสโมสรราว 80 ล้านปอนด์ ด้วย เป็นสถิติการซื้อขายสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในขณะนั้น และเป็นการเปิดยุคแห่งการเทกโอเวอร์สโมสรฟุตบอลอย่างร้อนแรงต่อมาถึงวันนี้

โรมัน อับราโมวิช ลงทุนต่างไปจาก เคน เบตส์ เขายอมทุ่มสุดๆ เพื่อลงทุนใน “คน” มากกว่าอย่างอื่น เรียกว่า ใครเก่งมีฝีมือ เขายอมทุ่มไม่อั้นแม้ค่าตัวจะสูงมหาศาล

เริ่มด้วยการทุ่มดึงตัวโค้ชยอดฝีมือดาวรุ่งพุ่งแรง โจเซ่ มูรินโญ่ ฉายา “เฮียเครียด” ที่สามารถทำทีมระดับกลางๆ อย่างสโมสรปอร์โตคว้าแชมป์สโมสรยุโรปได้มา เป็นแกนสำคัญในการสร้างทีมเชลซียุคใหม่ ด้วยงบทุ่มซื้อนักฟุตบอลระดับ World Class ทีละหลายๆ คนและสู้ราคาแบบเท่าไหร่เท่ากันมากเป็นสถิติสโมสรกว่าร้อยล้านปอนด์หรือราว 1 หมื่นล้านบาท

นอกจากการลงทุนในนักฟุตบอลระดับแข้งเพชรและผู้จัดการทีมระดับอัจฉริยะแล้ว เบื้องหลังสำคัญในความสำเร็จของเชลซีคือการที่อับราโมวิชดึงตัว ปีเตอร์ เคนยอน อดีตผู้บริหารสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เข้ามาเป็นผู้บริหารเชลซี

ผลงานที่สำคัญของปีเตอร์ เคนยอน คือการสร้างสโมสรให้กลายเป็นแบรนด์ดังในตลาดอเมริกาและเอเชีย ซึ่งเป็นสิ่งที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดทำได้มาก่อนแล้ว เคนยอนถึงกับแถลงตั้ง “เป้า 10 ปี” ให้เชลซีเป็นสโมสรที่ใหญ่ที่สุดในโลก แซงแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ทั้งด้านสินทรัพย์และรายรับให้ได้ในปี 2014

การลงทุนใน “คน” ได้ผลทันทีจนทำให้เชลซีคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกทันทีสองสมัยซ้อน ได้ถ้วยแชมป์อื่นๆ ในอังกฤษ และเข้ารอบลึกๆ บอลสโมสรยุโรปทุกปี มูลค่าสโมสรพุ่งพรวดและประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว

ล่าสุด โรมัน อับราโมวิช ให้สัมภาษณ์ BBC ว่าจะลดงบซื้อนักฟุตบอลลงเรื่อยๆ และจะทยอยขายนักฟุตบอลที่ไม่ใช้งานออกไป เพื่อล้างการขาดทุนสะสมที่เชลซีผจญมานานทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2010 จึงน่าจับตามองว่าจากนี้ไปเชลซีจะยังประสบความสำเร็จเหมือนที่ผ่านมา ลบครหาว่าใช้เงินซื้อความสำเร็จอย่างไม่มีกึ๋นที่เหล่าผู้จัดการทีมคู่แข่งมักโจมตีได้หรือไม่

อีกประเด็นที่ “เสี่ยหมี” โรมัน อับราโมวิช ถูกชำแหละผ่านสื่อ ก็คือการถูกมองว่าเขาใช้เชลซีมา PR ตัวเอง ฟอกภาพลบจากข่าวการทำธุรกิจน้ำมันอย่างไม่โปร่งใสในบ้านเกิดได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งมุมมองนี้น่าคิดว่าอดีตนายกฯไทยที่กำลังเจอมรสุมใหญ่อย่าง ทักษิณ ชินวัตร หรือ “สินาตร้า” แห่งแมนเชสเตอร์ซิตี้ จะเดินรอยตามไหวหรือไม่