ความสุขสไตล์ “เจริญรัฐ วิไลลักษณ์”

“การพูดคุยอย่างเป็นกันเองเกี่ยวกับธุรกิจของตัวเอง พร้อมแววตาที่บ่งบอกถึงความสุข” เป็นความรู้สึกที่ยากจะมีโอกาสสัมผัสได้จาก “เจริญรัฐ วิไลลักษณ์” แต่เพราะ “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอังกอร์” กลับทำให้เกิดบรรยากาศนี้ขึ้นมาได้

ด้วยภาระมากมายของ “เจริญรัฐ” ที่เป็นทั้งพี่ใหญ่ของครอบครัว และบิ๊กบอส ของกลุ่มบริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในการสร้างธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกัมพูชาที่ “เจริญรัฐ” ประกาศให้เป็นบ้านที่สองของธุรกิจครอบครัว ทำให้การพูดคุยกับสื่อมวลชนตกเป็นหน้าที่ของน้องชายคนรองอย่าง “วัฒน์ชัย” “ธนานันท์”

“ก็เมื่อก่อนมันขาดทุน เดี๋ยวนี้มันดีขึ้นแล้ว” “เจริญรัฐ” ไขข้อข้องใจ พร้อมกับหัวเราะอย่างเต็มที่ เมื่อมีโอกาสเปิดใจพูดคุยกับกลุ่มสื่อมวลชนระหว่างพาทัวร์พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอังกอร์ และถูกถามว่าเพราะเหตุใดก่อนหน้านี้ดูขรึม ไม่ค่อยพูดซะเลย

ราวกับปลดล็อกความตึงเครียด กลายเป็นความเฮฮาสำหรับ “เจริญรัฐ” แม้บางจังหวะจะดูเกร็งๆ อยู่บ้างกับคำถามมากมาย

กัมพูชานั้น จัดว่าเป็นประเทศปราบเซียนของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของไทยที่เคยบุกเข้าไปลงทุนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มซีพี กลุ่มชิน กลุ่มล็อกซเล่ย์ ล้วนแต่เคยผ่านสนามการลงทุนในกัมพูชามาแล้วทั้งนั้น แต่ในที่สุดก็ต้องถอยทัพออกมา เพราะการลงทุนในประเทศนี้ใช่ว่าจะมีเงินอย่างเดียว ต้องมีความลุ่มลึกทั้งในเกมธุรกิจและการเมือง

กลุ่มชินฯ เคยได้รับบทเรียนมาแล้ว จากการ “เลือกข้าง” ทางการเมือง ไปช่วยฝ่ายฮุนเซน หาเสียงเลือกตั้ง เมื่อฮุนเซนประสบปัญหาทางการเมือง กลุ่มชินจึงตกที่นั่งลำบาก ต้องยุติการลงทุนไอบีซีเคเบิลทีวีในกัมพูชาไปในที่สุด

เหลือแต่เพียง “กลุ่มสามารถฯ” เท่านั้น ที่ยังคงยืนหยัดลงทุนมาจนถึงบัดนี้ รวมเวลา 15 ปีเต็ม เริ่มจากการรับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ช่วงแรกขายดิบขายดี แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่การแข่งขันรุนแรง ไม่เพียงแต่กลุ่มสามารถฯ ตัดสินใจขายทิ้งธุรกิจการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในไทยเท่านั้น แต่ยังขายที่กัมพูชาอีกด้วย

จากนั้นทิศทางของกลุ่มสามารถฯ โดย “เจริญรัฐ วิไลลักษณ์” และพี่น้องทั้งหมดเห็นตรงกันว่าต้องมองหาธุรกิจที่ไม่ต้องแข่งขันสูง ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยี สื่อสาร การผูกขาดมีเพียงรายเดียวที่ให้บริการ

ที่ “กัมพูชา” เป็นผลของความคิดนั้น จาก 2 โครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือสัมปทานบริการควบคุมการจราจรทางอากาศให้สนามบินหลักทั่วประเทศกัมพูชา นาน 22 ปี เช่น สนามบินพนมเปญ เสียมเรียบ และอีก 6 จังหวัด และโครงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแก่โรงงานกัมปอตซิเมนต์ โรงงานผลิตปูนซีเมนต์คุณภาพสูงในเครือซิเมนต์ไทย