สัญญาณร้าย ส่งออกวูบ

“ค่าบาทแข็ง” กระหน่ำซัดภาคการส่งออกต้องตกที่นั่งลำบาก เมื่อเงินดอลลาร์ที่ได้มาเมื่อแลกกลับมาเป็นบาทแล้วลดลง แม้ปริมาณส่งออกจะเท่าเดิม ชะตากรรมของสินค้าส่งออกไทยบางประเภทถูกซ้ำเติม เมื่อเจอคู่แข่งแย่งชิงตลาดด้วยต้นทุนค่าแรงที่ถูกกว่าไทยถึง 3 เท่า อะไรคือจุดอ่อน และจุดแข็งของส่งออกไทยที่ต้องแก้ไข

สัญญาณร้ายธุรกิจส่งออกไทย เริ่มออกอาการชัดเจนเมื่อกระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขมูลค่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2550 ที่ค่าเงินบาทไหลรูดไปถึงต่ำสุดที่ 32.27 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะแถลงเน้นเป็นตัวเลขที่ใช้หน่วยเป็นดอลลาร์สหรัฐว่ามูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2549 มีมูลค่า 11,810.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.9% ซึ่งขยายตัวต่ำสุดในรอบ 29 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548

ข้อมูลที่น่าตกใจมากยิ่งกว่าเมื่อคำนวณตัวเลขมูลค่าการส่งออกกลับมาเป็นสกุลเงินบาท กลายเป็นมูลค่าส่งออกติดลบ ที่หากนำ 34.39 บาท คูณด้วย 11,810.1 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว ส่งออกได้ 406,149.9 ล้านบาท ลดลงถึง 4.6% เมื่อเทียบกับกรกฎาคม 2549 ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าเกือบไปอยู่ที่ 40 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนมูลค่าการส่งออกตลอดปี 2550 ของไทยนั้นกระทรวงพาณิชย์ยังคาดว่าจะเติบโตประมาณ 12.5% จากปี 2549 ด้วยมูลค่ารวม 145,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับว่าปี 2550 มูลค่าการส่งออกไม่เติบโตอย่างที่คาดหวัง เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่เคยเติบโตเกิน 15% เพราะความสามารถในการทำกำไรลดลง จากรายได้ที่เป็นดอลลาร์ เมื่อแลกเป็นบาทได้น้อยลง

แม้แต่ความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ก็ยังระบุชัดเจนว่าการเติบโตของภาคการส่งออกไทยยังอยู่ในจุดเสี่ยง เพราะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกหลายชนิดได้ผลกระทบในแง่ลบจากเงินบาทแข็งค่า โดยอุตสาหกรรมที่อยู่ในจุดเสี่ยงสูง มีลักษณะดังนี้

1. มีลักษณะรับจ้างผลิต (OEM) ทำธุรกิจแบบผูกขาดกับการส่งออกเท่านั้น และยังผูกขาดการส่งออกกับประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งหากส่งออกไปหลายประเทศก็จะกระจายความเสี่ยงเรื่องค่าเงินได้

2. ผลิตสินค้าเพียงตัวเดียว และใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูง ทำให้มีการแข่งขันด้านต้นทุนเป็นหลักโดยเฉพาะค่าจ้างแรงงาน ซึ่งผู้ซื้อหลักจะมีอำนาจสูงในการกำหนดราคาและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ผูกโยงกับส่งออก และหากพบว่าประเทศอื่นที่เป็นคู่แข่งของไทยสามารถผลิตสินค้าในแบบเดียวกันได้ถูกกว่าก็จะย้ายไปจ้างประเทศอื่นผลิตแทน ตัวอย่างชัดเจน คือ เช่น รองเท้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ อาหาร และเครื่องหนัง เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ถูกคู่แข่ง เช่น จีน เวียดนาม ช่วงชิงตลาดไปเกือบหมด

จุดอ่อนส่งออกไทย
นอกจากความเสี่ยงของลักษณะอุตสาหกรรมแล้ว ที่ต้องขึ้นอยู่กับค่าเงินแล้ว ทั้งกลุ่มนักวิชาการ และทางการต่างมองไปที่ผู้ประกอบการไทยว่ามีจุดอ่อน ที่ทำให้ผู้ส่งออกเองได้รับผลกระทบทางลบมากขึ้น ดังนี้

1. ผู้ประกอบการไทยและภาครัฐปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการที่อัตราการเติบโตของการส่งออกลดลง ไม่ได้เกิดจากตลาดโลก เพราะหลายประเทศในโลกมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะชะลอตัวลงก็ตาม

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าในประเทศเองมีปัญหาคือ ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง อย่างที่สถาบันไอเอ็มดีจัดอันดับให้ไทยอยู่อันดับที่ 33 ในปี 2550 จากที่เคยอยู่อันดับที่ 29

2. ขาดความชัดเจนในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของทั้งประเทศ เพราะอุตสาหกรรมหลักในไทยมีบริษัทข้ามชาติเป็นเจ้าของ ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีทำให้ไม่สามารถกำหนดทิศทางได้

3. มีปัญหาในการบริหารจัดการ ทั้งด้านการผลิต การตลาด และที่สำคัญ คือ การบริหารความเสี่ยงทางการเงิน

ทางรอดยังพอมี
มองในแง่บวกแล้ว การเติบโตในปี 2007 ที่ 12.5% ยังถือว่าไม่เลวร้ายนักสำหรับประเทศไทย หากเทียบกับกับบางปีที่เคยเติบโตไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ สำหรับ 3 ปัจจัยที่ยังทำให้ส่งออกเติบโตได้มี ดังนี้

1. ไทยยังสามารถเกาะกระแสการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้ โดยเฉพาะตลาดเศรษฐกิจกำลังเติบโตสูงอย่างจีน ที่ไทยส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น 27.7% ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และญี่ปุ่น 14.8%

แต่มีข้อควรระวัง คือด้วยความที่จีนและญี่ปุ่นต่างพึ่งพาตลาดสหรัฐอเมริกาเช่นกันก็อาจส่งผลกระทบ ทำให้มูลค่าของไทยลดลงด้วย เพราะจีนส่งออกไปสหรัฐถึง 21.1% ญี่ปุ่นส่งไป 17.4% ของการส่งออกรวม แต่จีนนำเข้าเพียง 7.8% และญี่ปุ่นนำเข้า 12.2% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด

2. การขยายไปยังตลาดใหม่ อย่าง เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้ และทวีปแอฟริกา แต่ปริมาณการสั่งซื้อยังอาจมีน้อย

3. สินค้าส่งออกหลักส่วนใหญ่เป็น ห่วงโซ่การผลิต หรือ Supply Chain ของญี่ปุ่น โดยกระจุกตัวอยู่ในสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และรถยนต์/อุปกรณ์/และส่วนประกอบ ซึ่งสินค้าทั้งสามรายการนี้ มียอดการส่งออกรวมถึง 24.6% ของการส่งออกทั้งประเทศของไทย ดังนั้น การส่งออกจึงขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจและการค้าของญี่ปุ่นเป็นสำคัญ ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดสหรัฐฯไม่มากนัก (ยกเว้น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ) เนื่องจากมีการกระจายไปยังตลาดที่มีศักยภาพสูง

ธปท. ฝากการบ้าน 5 ข้อ
แบงก์ชาติเองได้ให้เสนอแนะแก่ผู้ส่งออกให้ปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลง ที่มีความท้าทายมากมายในอนาคต ทั้งเรื่องค่าเงินที่แข็งอย่างต่อเนื่อง และประเทศคู่แข่งทางการค้าที่แข็งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะในความเห็นของแบงก์ชาติแล้วไทยไม่สามารถแข่งด้วยค่าเงินได้เพียงอย่างเดียว สำหรับทางออกที่แบงก์ชาติแนะนำเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน คือ

1. ปรับปรุงเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
2. ปรับปรุงการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนทุกด้าน และบริการจัดการทางการเงิน
3. สร้างเครือข่ายและพันธมิตรธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์จากเครือข่าย ความรู้ และประสบการณ์เชิงลึก และสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าร่วมกัน
4. การพัฒนา Brand และยกระดับมาตรฐานสินค้า
5. แสวงหาตลาดใหม่ และกระจายตลาดส่งออก

ความท้าทายอนาคต
-ความไม่สมดุลของภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐอย่างฉับพลัน
-การเรียกคืนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนให้กลับคืนมาโดยเร็ว
-รัฐบาลควรเร่งสร้างความชัดเจนด้านนโยบายการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะใน Mega Projects เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และก่อให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนในที่สุด
-วางกรอบนโยบายที่เอื้อให้เศรษฐกิจสามารถได้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์มากที่สุด
-การเคลื่อนตัวของเงินทุนอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกรุนแรง

ผลของค่าเงินบาทต่อสินค้าที่ส่งออกเดือนกรกฎาคม 2550

สินค้าที่ส่งออกยังสดใส
ส่งออกได้เพิ่มมากกว่า 15%
1. ยานยนต์
2. เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก
3. เครื่องสำอาง
4. สิ่งพิมพ์และกระดาษ
5. ผลิตภัณฑ์เภสัช และเครื่องมือแพทย์
6. เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์
7. อัญมณีและเครื่องประดับ
8. ผลิตภัณฑ์ยาง
9. เฟอร์นิเจอร์
10. เครื่องเดินทาง

สินค้าที่เริ่มรับผลลบจากบาทแข็ง

กลุ่มยอดส่งออกลดลง 10.6%
1. สิ่งทอ
2. ผลิตภัณฑ์เหล็ก และเหล็กกล้า
3. เครื่องใช้ และเครื่องประดับตกแต่งบ้าน

กลุ่มยอดส่งออกลดลงประมาณ 2%
1. ข้าว
2. มันสำปะหลัง
3. ยางพารา
4. กุ้งแช่แข็งและแปรรูป

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์

ประเทศที่เคยเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา เริ่มมีปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ทำให้ยอดสั่งซื้อลดลง และผู้ส่งออกไทยยังถูกปัญหาค่าเงินบาทแข็งเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้ลดลง เห็นได้ชัดว่าเมื่อปี 2006 ไทยส่งออกไปสหรัฐได้เพิ่ม 14.7% แต่ครึ่งปีแรกของปี 2007 ส่งออกลดลงถึง 6.1%

ยอดส่งออกไปอเมริกาลดลง แต่กระทรวงพาณิชย์ยังคาดว่าการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 12.5% เพราะมีตลาดใหม่มาทดแทน โดยเฉพาะอินเดีย และตะวันออกกลาง

การขยายตัวการนำเข้าสินค้าจากไทย (%ปีต่อปี)

—————————————————————————————————
ตลาด ปี 2006 มิ.ย. ปี 2007 สินค้าสำคัญ
—————————————————————————————————
อาเซียน 11 15.9 เหล็ก ชิ้นส่วนไอที (ไอซี) น้ำตาล
ยุโรป 19.5 26.3 เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์
ญี่ปุ่น 9.1 16.2 เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าว
ออสเตรเลีย 37.2 22.7 พลาสติก เหล็ก รถยนต์
ไต้หวัน 23.9 -12.0 เหล็ก เครื่องใช้ฟ้า ไอซี
สหรัฐอเมริกา 14.7 -6.1 คอมพิวเตอร์ ไอซี ยาง
จีน 27.9 28.5 คอมพิวเตอร์ ปิโตรเลียม ไอซี
ฮ่องกง 16.3 15.4 เหล็ก ไอซี เคมีคอล
ตะวันออกกลาง 28.0 40.9 รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำตาล
อินเดีย 18.1 73.6 พลาสติก เหล็ก จิวเวลรี่
รวม 17.1 17.3