แบงก์ชาติยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% ขณะที่นักวิเคราะห์เปลี่ยนมุมมอง อาจได้เห็นลดดอกไวสุดเดือนเมษายน

ภาพจาก Shutterstock
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% อย่างไรก็ดีสำหรับมุมมองของนักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินจากต่างประเทศมองว่าอาจมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไวที่สุดในช่วงเดือนเมษายน

กนง. ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% โดยให้เหตุผลถึงการคงดอกเบี้ยว่าเศรษฐกิจไทยจากการบริโภคที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง และมองว่าอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่ง กนง. มองว่าเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว

มติการประชุมครั้งนี้อยู่ที่ 5 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ 2 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% และมติดังกล่าวถือว่าเป็นมติเสียงแตกนับตั้งแต่รอบการประชุมในเดือนสิงหาคมปี 2022 เป็นต้นมา

ผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg นั้น 24 รายมองตรงกันว่าจะคงดอกเบี้ย ขณะที่สำนักข่าว Reuters ได้สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ 27 รายก็มีมติเอกฉันท์มองว่าคงดอกเบี้ยเช่นกัน

เศรษฐกิจไทยในปลายปี 2023 ทาง กนง. มองว่าเติบโตชะลอลงกว่าคาดเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวช้าตามภาวะการค้าโลกและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำให้รายรับต่อคนน้อยกว่าในอดีต และการลงทุนภาครัฐที่ลดลงในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้า

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2024 นี้ กนง. มองว่ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากภาคการส่งออกและการผลิต เนื่องจากอุปสงค์โลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างกระทบการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากกว่าที่ประเมินไว้ แต่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ กนง. มองว่ามีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียง 1% ก่อนที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในปีหน้าขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงเดิม อย่างไรก็ดียังต้องติดตามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงาน ผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

มุมมองสถาบันการเงินจากต่างประเทศได้ให้มุมมองก่อนมติการประชุมออกมา Citi มองว่าน่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 รอบ รอบแรกในเดือนเมษายน และรอบเดือนมิถุนายน ทางด้านของ J.P. Morgan ได้ให้มุมมองว่าไทยอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2024

ส่วนทางด้านของ UOB สถาบันการเงินจากสิงคโปร์ และ SCB EIC ให้มุมมองสวนทางเหล่าสถาบันการเงินข้างต้นโดยมองว่า กนง. จะมีมติคงดอกเบี้ยที่ 2.5% จนถึงปลายปี 2024

ทางด้านบทวิเคราะห์ของ Bank of America ที่ออกหลังจากมติการประชุมวันนี้ มองว่ามติที่ไม่เอกฉันท์ 5:2 เป็นโอกาสที่จะทำให้ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ในเดือนมิถุนายน แต่ก็มองว่ารอบการประชุมในเดือนเมษายนนั้นมีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน ถ้าหากตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยแย่กว่าที่คาด โดยความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรายนี้มองไว้คือมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถออกมาได้ รวมถึงนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ