สำนักข่าว Bloomberg รายงานจากแหล่งข่าวจากกลุ่มสหภาพแรงงานการบินว่า พวกเขาต้องการขอ “ขึ้นค่าจ้าง” อีก 40% ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า และหากไม่เป็นไปตามที่ต้องการก็อาจจะก่อสไตรค์หยุดงานเพื่อกดดันนายจ้าง
“จอห์น โฮลเด้น” ประธาน สมาพันธ์ช่างยนต์และพนักงานด้านการบินสากล หรือ IAM ซึ่งเป็นตัวแทนสหภาพแรงงานด้านอุตสาหกรรมการบินกว่า 6 แสนคนในสหรัฐฯ บอกกับสำนักข่าวว่า เป้าหมายของสหภาพฯ คือเจรจาสัญญาที่น่าพอใจให้กับเพื่อนสมาชิก
ในบรรดาบริษัทใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบคือ “โบอิ้ง” (Boeing) ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ในสหรัฐฯ ซึ่งมีพนักงานในบริษัทกว่า 1.5 แสนคน ทางสหภาพแรงงานหมายมั่นจะให้การเปิดโต๊ะเจรจาครั้งนี้ขึ้นค่าจ้างได้ตามเป้า เพราะการเจรจาครั้งล่าสุดย้อนไปเมื่อปี 2014 นั้นถือว่าทางสหภาพฯ เสียเปรียบจากการที่พนักงานโบอิ้งได้ขึ้นค่าจ้างเฉลี่ยไม่ถึง 1%
กระแสการสไตรค์ประท้วงขอขึ้นค่าจ้างเกิดขึ้นมาแล้วในสองอุตสาหกรรมใหญ่ของสหรัฐฯ เมื่อปีก่อน ได้แก่ กลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในดีทรอยต์ และ กลุ่มนักแสดงและนักเขียนในฮอลลีวูด ซึ่งอาจจะทำให้การประท้วงเกิดขึ้นเป็นโดมิโนในอุตสาหกรรมอื่นๆ บ้าง
ข่าวนี้ถือเป็นข่าวร้ายซ้ำเติมตัวบริษัทโบอิ้ง เพราะเมื่อเดือนก่อนโบอิ้งเพิ่งจะประสบเหตุเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 Max 9 ของสายการบิน Alaska Airlines เกิดประตูหลุดกลางอากาศ จนทำให้สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) สั่งระงับไม่ให้เครื่องบินรุ่นนี้ขึ้นบินไปถึง 1 เดือน กว่าจะกลับมาอนุญาตให้บินได้อีกครั้ง
- ‘โบอิ้ง’ เล็งจ้างพนักงานเพิ่ม 1 หมื่นตำแหน่ง หลังอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว
- สายการบินกลับมาเช่าเครื่องบินรุ่นเก่าเพิ่มขึ้น ผลจาก Boeing และ Airbus ผลิตเครื่องบินไม่ทัน
อย่างไรก็ตาม เหตุครั้งนี้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเครื่องบินของโบอิ้งอย่างมาก แม้แต่ United Airlines สายการบินที่เป็นลูกค้าโบอิ้งรายใหญ่ ยังหันไปพิจารณาแผนในอนาคตว่าอาจจะไม่จัดซื้อเครื่องบินโบอิ้งตระกูล Max รุ่นต่อๆ ไปอีกแล้ว