ตลาดหุ้น – เงินบาท สัมพันธ์แน่น

หากมองความสัมพันธ์ระหว่างเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดหุ้นช่วงครึ่งแรกของปี 2007 มีความชัดเจนว่าทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะตลาดหุ้นเป็นแหล่งที่นักลงทุนสามารถเข้ามาลงทุนและทำกำไรได้

เมื่อต่างชาติเข้าซื้อหุ้น หมายถึง การไหลของเงินดอลลาร์และต้องการแลกเป็นเงินบาท เพื่อซื้อหุ้นมีมากขึ้น ทำให้บาทเป็นที่ต้องการ เงินบาทแข็งค่าขึ้น เช่น เงินบาท ณ วันที่ 16 มีนาคม 2007 อยู่ที่ 34.92 บาทต่อดอลลาร์ ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ 671.05 จุด เมื่อต่างชาติซื้อหุ้นมากขึ้น จนดัชนีตลาดหุ้นพุ่งขึ้นต่อเนื่องถึง 857.08 จุด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2007 ค่าเงินบาทแข็งไปแตะที่ 32.27 บาท

ข้อเท็จจริงนี้พิสูจน์ชัดตลอดเดือนกรกฎาคม 2007 ที่ต่างชาติเข้าซื้อหุ้นในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ดันดัชนีหุ้นเฉลี่ยเป็นบวก ซึ่งเป็นผลมาจากเงินต่างชาติที่ไหลเข้าซื้อหุ้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2007 ซึ่งจนถึง 29 มกราคม 2007 ต่างชาติซื้อสุทธิไปกว่า 130,000 ล้านบาท ดัชนีตลาดหุ้นบวกไปถึง 270 จุด

แต่แล้วเมื่อต่างชาติถอนเงินออก เช่น กรณีปัญหา “ซับไพร์ม โลน” ในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติทิ้งหุ้นไทย จนขายสุทธิช่วง 1-17 สิงหาคม 2007 ร่วงไปถึง 40,010.56 ล้านบาท รวมซื้อสุทธิตั้งแต่ต้นปีมูลค่า 87,592.95 ล้านบาท การหายไป 4 หมื่นกว่าล้านภายใน 2 สัปดาห์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงทันตาเห็น โดยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2007 ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงมาอยู่ที่ 750.69 จุด ส่วนค่าเงินบาทก็อ่อนมาอยู่ที่ 34.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดหุ้นจึงมีสัมพันธ์กับค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากย้อนหลังวันที่แบงก์ชาติประกาศเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2006 บังคับให้ต่างชาติที่นำเงินทุนระยะสั้นเข้ามาในประเทศไทย ต้องกันสำรองไว้กับทางการ 30% วันรุ่งขึ้น ดัชนีหุ้นร่วงไป 108 จุด เพราะต่างชาติเทขาย ทำให้บาทอ่อนค่าลงในวันนั้น แต่เมื่อแบงก์ชาติยกเว้นเงินทุนที่เข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องกันสำรอง 30% ดัชนีจึงปรับตัวขึ้น พร้อม ๆ กับค่าเงินบาทก็ยังคงแข็งขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน