สิ่งทอไทย “ดีไซน์-ปรับตัวตลอดชีวิต”

10 ปีที่แล้วอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยต้องปิดตัวลงเพราะวิกฤตต้มยำกุ้ง ยังเป็นแผลบาดลึกที่หลายคนยังเจ็บปวดจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ไทยแมล่อน เท็กซ์ไทล์ และบริษัท ไทยอเมริกันเท็กซ์ไทล์ จำกัด ของตระกูล “โพธิรัตนังกูร” มาจนถึงบริษัท พาร์การ์เมนท์ จำกัด ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในเครือทีพีไอ กรุ๊ป และบริษัท เฉียนหลง เอ็นเตอร์ไพร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องประดับ คนว่างงานในช่วงนั้นมีนับหมื่นคน ในธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป สิ่งทอ รองเท้า ผลิตของเด็กเล่น อาหารแช่แข็ง และอัญมณี

10 ปีต่อมา ปัญหาค่าเงินบาทเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ปี 2006 ครั้งนี้ ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตรองเท้า และชุดกีฬา ตามออเดอร์ (OEM) ให้แบรนด์ดังอย่างไนกี้ และอาดิดาส อย่าง “ไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด” ต้องประกาศปิดโรงงาน ตามมาด้วยบริษัทยูเนี่ยนฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน) ในเครือสหยูเนี่ยน ที่พยายามสร้างแบรนด์รองเท้า “ดีแมกซ์” รวมคนงานหลักหมื่นอีกเช่นกันที่ต้องตกงาน

โรงงานอุตสาหกรรมรองเท้า สิ่งทอ อัญมณี และอาหาร อีกหลายแห่ง ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก

จากไทยแมล่อนฯ ถึงไทยศิลป์ฯ และบริษัทอื่นๆ ยังคงเป็นอุตสาหกรรมเดิมๆ ที่เป็น “เหยื่อ” ของปัญหาค่าเงิน จึงทำให้เสียงย้ำดังขึ้นอีกว่า เพราะอุตสาหกรรมส่งออกของไทยไม่ปรับตัว ขาดแรงงานฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ ของงานดีไซน์ และการสร้างแบรนด์ แถมค่าแรงก็แพงกว่า เมื่อเจอปัญหาเรื่องราคา จึงไปไม่รอด สู้ประเทศคู่แข่งที่ค่าแรงถูกกว่า อย่าง จีน และเวียดนามไม่ได้

แต่ในมุมมองของนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกมา 30 ปี อย่าง “ณรงค์ โชควัฒนา” กลับมองว่า คนที่อยู่ในธุรกิจนี้ปรับตัวตลอดเวลา และคนที่พูดนั้นปรับตัวบ้างหรือไม่ เช่นเดียวกับ “พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล” นายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ที่บอกว่าพวกเขาปรับตัวมานานแล้ว ทั้งการลงทุนเครื่องจักรใหม่ด้วยมูลค่า 8 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปี การจ้างดีไซเนอร์จากต่างชาติ โดยเฉพาะจากอิตาลีเพื่อร่วมพัฒนางานดีไซน์ของสิ่งทอไทย แต่เพราะค่าเงินบาทที่แข็งกว่าคู่แข่ง ไม่ว่าจะปรับตัวอย่างไร ก็ทำให้ส่งออกไทยทำกำไรไม่ได้

นี่คืออีกมุมมองหนึ่งที่ผู้ส่งออกไทยต้องการบอก เพื่อให้คำขอให้ภาครัฐปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนกว่าที่เป็นอยู่

“ณรงค์” มีคำถามกลับมาว่า “รัฐบาลบอกให้ผู้ส่งออกปรับตัว ผมถามว่าคนที่พูดเคยปรับตัวหรือไม่ คนที่อยู่ในตลาดแข่งขันต้องปรับตัวตลอดเวลา ไม่ว่าค่าเงินจะอ่อนหรือแข็งแค่ไหน ถ้าไม่ปรับตัวก็ตายหมด แต่ถ้าค่าเงินแข็งถึงจุดหนึ่ง ปรับตัวอย่างไรก็ปรับไม่ได้ มีแต่ตายลูกเดียว ธุรกิจที่มีการแข่งขัน โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการส่งออกมีการปรับตัวตลอด ลดต้นทุนตลอด ปรับตลอดชีวิต ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย หรือผู้ประกอบการรายย่อย ที่ขนาดค่าแรงยังไม่คิดก็ขาดทุนแล้ว”

ความเห็นของ “ณรงค์” คือวันนี้ธุรกิจส่งออกจะอยู่ได้ นอกจากลดต้นทุนเต็มที่แล้ว ลดทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ สิ่งที่ต้องทำคือต้องมี Innovation ความคิดสร้างสรรค์ แต่ว่าถ้าค่าเงินแข็งแบบนี้ ก็ยังคงตายหมดเช่นกัน เงินบาทที่แข็ง คนเก่งจริงๆ คนฉลาดจริงๆ ถึงจะอยู่รอด คนที่แข็งแรงมากๆ สายป่านยาวๆ จึงอยู่รอด

สำหรับเครือสหพัฒน์ นั้น “ณรงค์” บอกว่า มีทั้งส่งออกและนำเข้า เพราะฉะนั้นอันหนึ่งได้อันหนึ่งเสียก็ชดเชยกัน ไม่ว่าจะค่าเงินจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีปัญหา เพราะธุรกิจหลากหลาย กว้างขวางมาก แต่จะบอกให้ทุกคนกระจายอย่างเครือสหพัฒน์ ไม่ได้ มันเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์สร้างกันมา หลายสิบปี ในเวลานี้ที่คนกำลังเดือดร้อน จะไปบอกว่าให้คนวางแผนอย่างเครือสหพัฒน์ ไม่ได้ พูดอย่างนี้ไม่แฟร์

ค่าเงินบาทตอนนี้แข็งกว่าในภูมิภาค ซึ่งเท่าไหร่ไม่สำคัญ แต่อย่าแข็งกว่าคู่ค้า หรือคู่แข่งในภูมิภาค เพราะเราไม่ได้เก่งจนปรับตัวชนะเขาได้ คนไทยอาจมีบางคน บางครอบครัวเก่งมาก ค่าเงินแข็งแค่ไหน ก็ปรับตัวลดต้นทุนได้ มี Innovation ผลิตสินค้าที่คนอื่นทำไม่ได้ทั้งโลก ทำได้เจ้าเดียว ราคาแพงแค่ไหน คนก็ต้องซื้อ แต่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาของบ้านเมือง เป็นการพูดที่ไม่รับผิดชอบ เพราะ ทุกสังคมต้องมีคนฉลาด และแข็งแรง เมื่อค่าเงินแข็งหลายโรงงานที่ฉลาดขาดทุนก็ปิดตัวลง แล้วนำเข้ารองเท้าจากต่างประเทศมาขาย แต่ก็มีคนเดือดร้อนคือคนงาน ซัพพลายเออร์เล็กๆ ที่ต้องขายของ ความเดือดร้อนนี้จะต่อเนื่องไปยังคนอื่นอีกมากมาย

ของต้องดีถึงสร้าง “แบรนด์”
“ณรงค์” ให้ความเห็นไปถึงข้อเสนอแนะเรื่องการสร้างแบรนด์ไทยว่า ไม่เห็นด้วย คนพูดคือคนไม่เคยสร้างแบรนด์ ผมสร้างแบรนด์มาตลอดชีวิต สร้างมา 30 ปีแล้ว ในเครือสหพัฒน์ สร้างแบรนด์มา 100 แบรนด์ คนพูดไม่เคยรู้เรื่อง เคยสร้างแบรนด์หรือเปล่า เพราะอุปสรรคของการสร้างแบรนด์มีมากมาย 1 พันแบรนด์ที่เกิดใหม่มีรอดสักแบรนด์หรือไม่ ในโลกนี้ โลกแข่งขันสูง อย่าไปคิดง่ายๆ ว่าถ้ามีแบรนด์แล้วคือคำตอบ ถ้าไม่มีประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า ถ้าผลิตห่วย ต้นทุนสินค้าแพง แบรนด์ก็เจ๊งอยู่ดี

การส่งออกของไทยต้องไปทั้งกระบวนการ การผลิตมีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำมาก คนในโรงงานมี Innovation สูง ไม่ต้องมีแบรนด์ก็รอด

“เราสร้างแบรนด์ เราถึงรู้ว่าแบรนด์ไม่ใช่คำตอบ ไม่ใช่แก้ปัญหา ไม่ใช่คำตอบสำหรับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เราต้องเรียนรู้ว่าฝรั่งเขาสร้างแบรนด์อย่างไร เราก็ฝึก หัดของเรา เราถึงรู้ว่ามันไม่ง่าย “

คำตอบสุดท้ายสำหรับ “ณรงค์” คือ “กระบวนการทางการตลาดไม่ใช่ช่วยคนอ่อนแอ แต่การจัดค่าเงินเหมาะสม คนอ่อนแอจะได้มีโอกาสอยู่รอด และมีโอกาสปรับตัว การสร้างแบรนด์คือวิวัฒนาการท้ายๆ ของกระบวนการของความแข็งแรง ถ้ายังอ่อนแอมาก ผลิตสินค้าเทคโนโลยีต่ำมาก แบบไม่สวย ไม่ถูกรสนิยมของตลาด คุณภาพก็ห่วย ราคาก็แพง สร้างแบรนด์ให้ตายก็ไม่มีประโยชน์”

People

“ณรงค์ โชควัฒนา” เคยเป็นผู้อำนวยการของเครือสหพัฒน์ เมื่อออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากภาวะของผู้นำ และความไม่โปร่งใสในการบริหารประเทศ “ณรงค์” จึงเลือกที่จะเดินออกจากชื่อของ “สหพัฒน์” โดยลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัท เพื่อไม่ให้กระทบต่อธุรกิจของครอบครัว และมาตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อบริษัทบางกอกรับเบอร์ ผลิตรองเท้าเกือบทุกประเภทตั้งแต่รองเท้ากีฬา จนถึงรองแฟชั่น และรองเท้าเต้นรำ ทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ ด้วยกำลังการผลิตกว่า 30 ล้านคู่ต่อปี แบรนด์ดังๆ ที่รู้จักอย่าง ”แพน” ที่ครองตลาดรองเท้านักเรียนได้สูงสุด

ปัจจุบัน “ณรงค์” เป็นหนึ่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และต้องการให้คนรู้จักเขาในนามของนักธุรกิจ และนักวิชาการอิสระมากกว่าผู้บริหารเครือสหพัฒน์

เว็บไซต์ www.nchokwatana.com

Profile
บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งโดย ”เทียม โชควัฒนา” เมื่อปี 2485 และสานต่อในรุ่นลูก โดยมี ”บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” เป็นประธานกลุ่มบริษัทขับเคลื่อนธุรกิจในเครือ ที่มีตั้งแต่สินค้าในครัวเรือน อย่างผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ไปจนถึงเสื้อผ้าดีไซน์ และอาหารที่เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ อย่างมาม่า ซึ่งหากเศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อผู้บริโภคลด ยอดขายมาม่าจะพุ่งขึ้นทันที รวมยอดขายทั้งเครือปีหนึ่งกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยปี 2006 มีรายได้จากยอดขาย 15,711 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนเป็นสินค้าส่งออก 30% และจำหน่ายในประเทศ 70%

หลายครั้งที่เศรษฐกิจชะลอตัว หรือมีปัญหา สาธารณชนมักจะฟังความเห็นจาก ”บิ๊กสหพัฒน์” อย่างล่าสุดที่ ”บุณยสิทธิ์” ออกมาพูดถึงผลประกอบการของเครือสหพัฒน์ ในปี 2007 ว่า

“เครือสหพัฒน์ ต้องปรับเปลี่ยนเป้าการดำเนินธุรกิจในปีนี้จากอัตราการขยายตัวเป็นบวกเป็นการขยายตัวแบบติดลบ โดยปีนี้คาดว่าจะหดตัวลง 5% จากปี 2006 ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 60 ปีที่ดำเนินธุรกิจมา จากปกติเป้าหมายทางธุรกิจจะต้องเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี และยังพบว่ารายได้ของบริษัทจากธุรกิจอุปโภค โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อผ้าเติบโตลดลงถึง 20-30% ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 20 ปี”

เว็บไซต์ www.sahapat.co.th