ต่างชาติเมินท่องเที่ยวไทยโคม่า!

พิษเงินบาทได้ส่งผลกระทบอย่างแรงกับสถานการณ์ธุรกิจท่องเที่ยวไทย สถิติตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติครึ่งปีแรกลดฮวบลงอย่างน่าตกใจ บางเดือนถึงขั้นติดลบ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ผูกติดกับเงินสกุลดอลลาร์ถึงร้อยละ 80 ต่างเมินเที่ยวไทย หันไปประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ แทน

สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยช่วง ม.ค-มิ.ย. 2550 มีสถานการณ์ที่ถือว่าเลวร้ายอย่างมาก โดยเมื่อดูรายละเอียดยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในแต่ละเดือน ถือว่าเติบโตลดลงจากเมื่อปี 2549 จากเทียบกันไม่ติด (ดูตารางสถิติประกอบ) ทั้งนี้การเติบโตโดยรวมเฉลี่ย 5% เท่านั้น แตกต่างจากปีที่แล้วที่เฉลี่ยสูงถึง 30-40% ซ้ำร้ายบางเดือนมียอดลดลงถึงขั้นติดลบ ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวไทยต่างนิยมเดินทางไปต่างประเทศสูงขึ้นถึงร้อยละ 20

ความเลวร้ายของสถาการณ์ท่องเที่ยวดังกล่าว ทำให้ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2550 ที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีการประชุมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นวาระเร่งด่วนที่แก้ไขสถานการณ์ โดย ร.ท.สุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เตรียมผลักดันงบของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อเข้าไปกอบกู้ตลาดท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วนในไตรมาสที่ 3 และที่ 4 โดยของบประมาณจำนวน 239 ล้านบาท แข่งเป็นตลาดต่างประเทศ 124 ล้านบาท และตลาดในประเทศ 115 ล้านบาท เพื่อจัดกิจกรรมกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวให้ฟื้นกลับมา

พรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับนิตยสาร POSITIONING ว่า จากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดหายไปอย่างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในแถบเอเชีย อาทิ ตลาดญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่ค่าเงินจะผูกติดกับเงินสกุลดอลลาร์ กว่า 80% หายไปจากตลาดท่องเที่ยว หันไปเที่ยวประเทศอื่นแทน อาทิ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย

มาตรการการกระตุ้นตลาดเร่งด่วน ในระยะสั้นคือ มุ่งเจาะตลาดศักยภาพที่กระตุ้นให้เกิดการเดินทางมาประเทศไทยได้รวดเร็ว เน้นการดำเนินการตลาดลักษณะ Mass Marketing ควบคู่ไปกับ Target Marketing เจาะ 8 ตลาดสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร สแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง เนื่องจากเป็นตลาดหลักของกลุ่มตลาดระยะใกล้ (เอเชีย/ตะวันออกกลาง) และกลุ่มตลาดระยะกลาง (ยุโรป/โอเชียเนีย)

สาเหตุที่มุ่งเป้าไปที่ตลาดหลักทั้ง 8 ตลาดข้างต้น เนื่องจากเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการประเมินแล้วพบว่า มีการตัดสินใจเดินทางรวดเร็ว สามารถเดินทางมาประเทศไทยได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ตลาดดังกล่าวยังเป็นตลาดที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย/ครั้ง (Expenditure/Trip) สูง มีการเข้าถึงสะดวก มีจำนวนเที่ยวบินและสายการบินเข้าสู่ประเทศไทย โดยตลาดระยะใกล้และระยะกลางมีโอกาสที่จะกระตุ้นให้เติบโตเพิ่มขึ้นได้มากกว่าตลาดระยะไกลที่ต้องใช้เวลาในการวางแผนและตัดสินใจเดินทาง

แผนเชิงรุกเจาะ 8 ตลาดต่างประเทศแก้วิกฤตเงินบาทครึ่งปีหลัง ก.ค. – ธ.ค. 50

1. ญี่ปุ่น เป้าหมาย 19,000 คน
2. สิงคโปร์ เป้าหมาย 15,000 คน
3. กลุ่มสแกนดิเนเวีย เป้าหมาย 14,500 คน
4. ฮ่องกง เป้าหมาย 14,500 คน
5. ออสเตรเลีย เป้าหมาย 14,000 คน
6. สหราชอาณาจักร เป้าหมาย 11,500 คน
7. ตะวันออกกลาง เป้าหมาย 6,500 คน
8. เกาหลีใต้ เป้าหมาย 5,000 คน

สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยช่วงม.ค-มิ.ย. 2550

เดือน จำนวนนักท่องเที่ยว % การเปลี่ยนแปลง จำนวนนักท่องเที่ยว % การเปลี่ยนแปลง
ปี 2550 เทียบกับปี 2549 ปี2549 เทียบกับปี 2549

ม.ค. 1,313,677 4.05 1,262,500 48.54
ก.พ. 1,284,304 8.49 1,183,806 32.59
มี.ค. 1,233,108 4.85 1,176,085 26.33
เม.ย. 1,101,392 2.33 1,076,301 34.28
พ.ค. 990,810 0.93 981,651 21.38
มิ.ย. 1,031,461 -1.95 1,051,930 17.33