“Creative Economy” จุดยืนใหม่ของท้องถิ่นไทย

เดิมทีการแข่งกันของผู้ประกอบการเป็นเพียงการเพิ่มผลผลิตด้วย ”เครื่องจักรและทุน” กระทั่งต่อมา เมื่อมีวิทยาการสมัยใหม่มารองรับ รูปแบบการแข่งขันจึงเปลี่ยนไปสู่การประชันกันด้วย ”ความรู้และเทคโนโลยี” อันทันสมัย สุดแท้แต่ความสามารถของผู้ประกอบการจะหามาได้

ทว่าปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีมีราคา ”ถูกลงมาก” จนถึงจุดที่ ”ใครๆ” ก็สามารถเป็นผู้ประกอบการและผลิตสินค้าได้ด้วยคุณภาพที่ดีทัดเทียมกันได้ รูปแบบใหม่ของการแข่งขันในวันนี้จึงต้องอาศัย ”ความคิดสร้างสรรค์” เพื่อสร้าง ”ความต่าง” ของสินค้าและบริการ ซึ่งความต่างที่ว่าย่อมมีที่มาจากเรื่องราวหรือความโดดเด่นของวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ จึงเป็นเหตุให้หลายประเทศหันมาดำเนินนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ หรือ “Creative Economy” กันมากขึ้น

ในอังกฤษ มูลค่าตลาดรวมกว่า 1 ใน 3 ของประเทศ อาศัย “Creative Economy” เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลมีการทำ”Creative Mapping” โดยกำหนดให้ London เป็น Hub อย่างชัดเจน กระทั่งอุตสาหกรรม ”สินทรัพย์ทางปัญญา” ของอังกฤษมีมูลค่ากว่า 360 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี

“Creative Economy” เป็นรูปแบบของกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่นำสินทรัพย์อย่าง ”ความคิดสร้างสรรค์” มา ”เพิ่มมูลค่า” โดยอาศัย ”ความสามารถเฉพาะตัว” ผนวกกับ ”สินทรัพย์ของท้องถิ่น” เป็นรากฐาน ทั้งนี้ ระบบเศรษฐกิจดังกล่าว ”มิได้” มีรูปแบบเช่นที่ผ่านมา หากแต่เป็น ”ระบบใหม่” ที่เปิด ”พื้นที่” ให้ ”บุคคล” ในแต่ละถิ่นที่อยู่ได้นำความคิดสร้างสรรค์ของตนมามีส่วน ”สำคัญ” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ในไทยนั้น มีบริษัทเสื้อผ้าที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผลประกอบการ ”ขาดทุน” มากกว่า 120 ล้านบาท อีกทั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาโรงงานรองเท้าและสิ่งทอหลายแห่งต้องปิดตัวลงไป ด้วยเหตุที่ประเทศไทยคุ้นชินกับการ ”พึ่งพา” การส่งออกด้วยแรงงานต้นทุนต่ำเป็นปัจจัยเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจมาตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา

“TCDC” หรือ ”ศูนย์ส่งเสริมการออกแบบไทย” ในฐานะเป็นตัวแทนของภาครัฐจึงตั้งคำถามกับสังคมว่า ”ถึงเวลาแล้วหรือยัง” ที่ประเทศไทยจะผลักดันตัวเองให้เกิด “Creative Economy” เพื่อเป็นความหวังใหม่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

แนวคิดดังกล่าว นำมาสู่โจทย์สำหรับการจัดงาน “สร้างสรรค์มูลค่า จากอัจฉริยภาพท้องถิ่น” เพื่อร่วมกันหา ”คำตอบ” ว่า องค์ประกอบใดบ้างที่จำเป็นต้องใช้ในการแปลงต้นทุนทางความคิดสร้างสรรค์ให้เป็น ”ความสำเร็จระดับโลก” โดยมี TCDC เป็นศูนย์กลางในการเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการ ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายประเทศ และผู้ที่อยู่ความเกี่ยวข้องกับสายงานออกแบบ ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความเห็นกัน

“ไชยยง รัตนอังกูร” ผู้อำนวยการ TCDC กล่าวว่า “การจัดชุมนุมทางความคิด หรือ Creativity Unfold เป็นการช่วยผลักดันให้ไทยก้าวเข้าสู่การเป็น Creative Economy โดยสร้างประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมงานได้เข้าใจถึงการใช้อัจฉริยภาพจากท้องถิ่น มาแปรเป็นมูลค่าของสินค้าและบริการให้มีต่างและโดดเด่นในตลาดโลก”

ในเอเชีย “จีนและสิงคโปร์”เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่ากำลัง ”ปรับเปลี่ยน” รูปแบบธุรกิจของประเทศไปสู่โมเดลดังกล่าวฃ

เดิม หากหลับตานึกถึง ”สินค้าจีน” ภาพแรกที่เห็นคือภาพของสินค้าที่กำลัง ”ครองตลาดโลก” ด้วย ”ราคาถูก คุณภาพต่ำ” และเน้นการผลิตในเชิงปริมาณ หากแต่ปัจจุบัน สิ่งที่จีนกำลังทำคือการปรับสินค้าของตนให้มีคุณภาพและ ”ภาพลักษณ์” ที่ได้รับการยอมรับ กระทั่งสามารถไปอยู่บนบิลบอร์ดตามหัวเมืองใหญ่ในยุโรปได้ ด้วยการเปลี่ยนมาพึ่งพา “ความคิดสร้างสรรค์” เพื่อผลิต ”สินค้าไลฟ์สไตล์” และ ”สินค้านวัตกรรม” ออกสู่ตลาดโลก

“สิงคโปร์” เองก็เช่นกัน แม้จะเป็นชาติที่ไม่มี ”ทรัพยากร” ทางธรรมชาติและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง แต่ความพยายามของสิงคโปร์ในปัจจุบัน คือการ ”สร้างอัตลักษณ์” ของชาติ ด้วยการผสานความหลากหลายให้เป็นหนึ่ง ก่อนส่งออก ”ภาพลักษณ์” สู่โลกด้วยความเป็น ”เมืองแห่งนวัตกรรม” ด้านศิลปะและวัฒนธรรม

สำหรับ ”เมืองไทย” ความเข้าใจเกี่ยวกับ ”สินทรัพย์ท้องถิ่น” ยังเป็นการเข้าใจในวงแคบ การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ หลายคนอาจนึกถึงเพียงการนำสินค้า OTOP ซึ่งมี ”พื้นที่การผลิต” ใน ”ชนบท” มาจำหน่าย แต่แท้ที่จริงแล้ว “วัฒนธรรมเมือง” ก็จัดว่าเป็น ”วัฒนธรรมถิ่น” เช่นกัน ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมคือสิ่งไม่หยุดนิ่ง และมีวิวัฒนาการตลอดเวลา กระทั่งมีอิทธิพลต่อความคิดและการแสดงออกของผู้คน ไม่ว่าจะอยู่ในเขตหรือเขตชนบทก็ตาม

นอกจากนี้ การส่งออกความคิดสร้างสรรค์ของท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของสินค้าที่จับต้องได้ “ธนญชัย ศรศรีวิชัย” ผู้กำกับโฆษณาแห่ง Phenomena ที่มีผลงานออกสู่สายตาเวทีระดับโลก นับเป็นอีกตัวอย่างของการสร้างสรรค์งานโดยใช้ ”อัจฉริยภาพท้องถิ่น” ด้วยอาศัย ”วัตถุดิบ” ทางปัญญาที่หยิบเอาวัฒนธรรมรอบใกล้ตัวแบบไทยๆ มาใช้ ตั้งแต่ ”ภาษา” โฆษณาและ ”คาแร็กเตอร์” ซึ่งให้ภาพแบบ ”ชาวบ้านๆ” ช่วยในการสะท้อนสินค้าและบริการ เช่น โฆษณา จน-เครียด-กินเหล้า

“กิตติรัตน์ ปิติพานิช” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมงานออกแบบ TCDC เผยว่า “ปกติในเมืองไทย หนังสืองานดีไซน์หรืองานออกแบบขายไม่ค่อยได้ แต่ปรากฏว่า พอภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวโดยเฉพาะช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา หนังสือดังกล่าวกลับขายดีสวนกระแสเศรษฐกิจ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของผู้ผลิตที่เริ่มให้ความสนใจกับความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตงานมากขึ้น”

เห็นได้ว่าเทรนด์ใหม่ล่าสุดของเศรษฐกิจโลกในวันนี้ คือการก้าวเข้าสู่ยุค ”อุตสาหกรรมวัฒนธรรม(Culture Industry)” อย่างแท้จริง โดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์จากท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการ ”สร้าง” วิถีการบริโภค รูปแบบการใช้ชีวิต และ ”กำหนด” ทิศทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสามารถ ”ชี้นำ” นโยบายการพัฒนาประเทศและบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ในอนาคต

“www.tcdcconnect.com”เว็บไซต์ที่ เป็นชุมชนออนไลน์เพื่อนักธุรกิจ และดีไซเนอร์แขนงต่างๆ มาพบกัน โดยเฉพาะในฝั่งนักธุรกิจที่ต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจ โดยเอาดีไซน์เข้าช่วย เบื้องต้น จะนำฐานข้อมูลรายชื่อนักออกแบบไทยในสาขาต่างๆ , ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนรวบรวมข่าวสารนวัตกรรม และพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและความเห็น เพื่อให้เกิดการเจรจาธุรกิจกัน โดยเริ่มจาก ”เทศกาลนามบัตร” เป็นกิจกรรมเพื่อสร้าง ”เครือข่าย” โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยและนักออกแบบไทย

“HARNN” โฮมสปาระดับหรูจากไทย ประสบความสำเร็จมากในตลาดญี่ปุ่น ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมในยุโรป จนมีคำพูดที่ว่า”ชาวปารีสมอง HARNN เหมือนคนไทยมองแบรนด์ L’Occitane ของเขา”

เช่นเดียวกันกับ แบรนด์ ”แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการนำ ”นวัตกรรม”ความคิดสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาส่งออก กระทั่งติดอันดับแบรนด์ระดับโลกเช่นเดียวกับ “Jim Thomson”