เดือนปลอดผี

“แกรมมี่” มีไอเดียใหม่ในความพยายามที่อยากสกัดเทปผีซีดีเถื่อนให้ได้มากที่สุด แม้จะเป็นเพียงหนทางเล็กๆ แต่ก็เป็นแนวทางที่หวังจะทำให้ปัญหานี้ลดน้อยลงบ้าง

โดยงานนี้แกรมมี่ขอร่วมมือกับ ”เอไอเอส” เปิดตัว ”เพลงโปรโมต” ล่วงหน้าทางโทรศัพท์มือถือ ก่อนอัลบั้มวางแผงนาน 4 สัปดาห์

ระยะเวลาปลอดเทปผีประมาณ 1 เดือนนี้ เป็นความพยายามของแกรมมี่ที่สร้างขึ้นเพื่อยืดเวลาการเก็บเกี่ยวรายได้ก่อนเสียส่วนแบ่งให้ผู้ประกอบการซีดีเถื่อน ด้วยการเปิดช่องทางการขายและโปรโมตเพลงในรูปแบบใหม่ ภายใต้ชื่อบริการ “Music Open Up”

เดิมกระบวนการโปรโมตอัลบั้มใหม่ของแกรมมี่จะเริ่มจากการออนแอร์ทางโทรทัศน์และวิทยุก่อน วางจำหน่าย 2 สัปดาห์ จากนั้น จึงต่อยอดไปสู่ธุรกิจดิจิตอลด้วยวิธีการดาวน์โหลด ทว่าปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคมัก ”ตัดตอน” รายได้ของค่ายเพลงด้วยการลักไก่ดาวน์โหลดตั้งแต่ซิงเกิลถูกปล่อยทางวิทยุ

“โมเดลใหม่” จึงเกิดขึ้น โดยดึงกระบวนการดาวน์โหลดมาเป็น ”หัวขบวน” เริ่มจากการปล่อยโฆษณาทางโทรทัศน์และวิทยุ เชิญชวนให้มา ”แอบฟัง” เพลงใหม่ของศิลปินแกรมมี่ ด้วยวิธีการดาวน์โหลด 2 ช่องทาง คือ ระบบ IVR *4998 และ Wapsite โดยคิดค่าบริการนาทีละ 3 บาท รวมกับค่าคอนเทนต์ที่ผู้ใช้บริการเลือกโหลด อันได้แก่ โมโนโทน โพลีโฟนิค ทรูโทน คอลลิ่งเมโลดี้ และฟูลซอง

บริการ Music Open Up ประเดิมด้วยอัลบั้มใหม่ของ ”เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย” โดยคาดหวังความสำเร็จด้วยกลยุทธ์ “Viral Marketing” ในการสร้างกระแสบอกต่อแบบถึงตัว (Direct Channel) โดยเฉพาะเสียงรอสาย (Calling Melody) และเสียงเรียกเข้าแบบ True Tone ซึ่งคาดการณ์กันว่าน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความต้องการในการดาวน์โหลดเพลงมาเป็นของตนเอง เมื่อได้ยินได้ฟังจากเพื่อนๆ หรือคนรอบข้าง เนื่องจากช่วงเวลาหนึ่งเดือนก่อนอัลบั้มวางแผง จะไม่สามารถหาฟังจากที่ใดได้ นอกเสียจากโทรศัพท์มือถือเครื่องที่ใช้โหลดเท่านั้น

การแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงของแกรมมี่ ด้านหนึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับพันธมิตรผู้ร่วมให้บริการอย่างเอไอเอส ด้วยเป็นการสร้าง Value ให้ลูกค้าด้วยการนำเสนอประสบการณ์แบบ Exclusive เนื่องจากจะมีเฉพาะลูกค้าเอไอเอสเท่านั้นที่ได้ฟังเพลงก่อนใคร

ปรัธนา ลีลพนัง ผู้อำนวยการสำนักการตลาดบริการสื่อสารไร้สายเอไอเอส โมบายไลฟ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมียอดผู้ใช้บริการเพลงดิจิตอลของเอไอเอสมากกว่า 7 ล้านคน และมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 2.5 ล้านครั้งต่อเดือน “บริการ Music Open Up น่าจะช่วยขยายฐานลูกค้าที่ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 40% ของฐานลูกค้าเอไอเอส 22 ล้านราย”

ส่วนแบ่งรายได้ระหว่างแกรมมี่และเอไอเอส แตกต่างกันออกไปตามคอนเทนต์ อาทิ Ringtone 80:20, Calling Melody 50:50 เป็นต้น

อภิชาติ์ หงส์หิรัญเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดธุรกิจดิจิตอล บริษัทจีเอ็มเอ็ม ดิจิตอล โดเมน เปิดเผยความรู้สึกต่อกระแสเพลงดิจิตอลว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่คนไม่อยากฟังเพลง ความต้องการในการบริโภคเพลงไม่ได้หายไป ทุกคนยังชอบการฟังเพลง เพียงแต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ พฤติกรรมและวิธีในการบริโภคเพลง เทคโนโลยีดิจิตอลจะทำให้เกิดคอนเซ็ปต์ทางการตลาดใหม่ๆ อีกมากมาย และในอนาคตเมื่อมีมือถือที่ไหน ต้องมี Entertainment ที่นั่น”

เทปคาสเซตเป็นรายได้สำคัญของแกรมมี่ สิ้นปี 2549 ยังสามารถสร้างรายได้ให้ถึง 100 ล้านบาท