ปรากฏการณ์ YouTube ฝันร้ายของฟรีทีวี สู่ยุคทีวีล้านช่อง วิดีโอล้าน Links

ในขณะที่ธุรกิจทีวีแบบเดิมกำลังประสบความสำเร็จอย่างชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนทั้งในแง่เม็ดเงินโฆษณาและกระแสเรตติ้งความนิยม แต่ในช่วงสามปีหลังที่ผ่านมา สื่อวิดีโอดิจิตอลกระแสใหม่ได้เริ่มก่อตัวอย่างเงียบๆ และเริ่มจุดอุณหภูมิการแข่งขันร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสเว็บวิดีโอ ที่การระบาดแบบ Viral Video ของคลิปวิดีโอจากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกหนึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วชั่วพริบตา

จะเรียกว่า “ยูทูบ” หรือ “ยูทิวบ์” หรือยังไงก็แล้วแต่ ไซต์ดังอย่าง YouTube ความจริงเป็นแค่หนึ่งในไซต์วิดีโอออนไลน์จำนวนมากมายที่กำลังเกิดขึ้นในเน็ตเวิร์คทุกวันนี้ และความสำคัญของสื่อนี้คงไม่ใช่เฉพาะแค่ทีวีล้านช่องในโลกออนไลน์ แต่เป็นลิงค์วิดีโอต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุดนับล้านลิงค์ที่ทำให้เว็บวิดีโอโดดเด่นขึ้นมาอย่างชัดเจน

หรือว่าแอพพลิเคชั่นเว็บวิดีโอ คือโปรแกรมยอดฮิตในอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้า? จริงหรือว่า ยุคใหม่ของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ส่งผ่านจากอดีตของภาพและกราฟิก มาเป็นสื่อวิดีโอผสมที่ไม่มีอะไรหรือใครมากำหนดทิศทางได้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับมูลค่าการตลาดและเม็ดเงินโฆษณา ของทีวีกระแสหลักในอนาคต? ถดถอยลง หรือแปลงร่างใหม่เป็นทีวีออนไลน์ที่เปลี่ยนอุปกรณ์รับชมจากทีวีจอแก้วไปเป็นทีวีจอคอมพ์?

Links วิดีโอต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด

คนที่ไม่เคยเล่นไซต์วิดีโอออนไลน์คงจะเข้าใจประสบการณ์ใหม่แบบนี้ได้ยาก ทุกสิ่งที่เห็นตรงหน้าจะต่างออกไปจากทีวีปกติที่ทุกรายการแบ่งออกเป็นชั่วโมง ครึ่งชั่วโมง และสิบห้านาที ผู้ชมทุกคนจะเคลื่อนไหวไปไหนไม่ได้จนกว่าจะถึงโฆษณาคั่นรายการที่มากวนใจให้รำคาญสายตาทุกสิบนาที หรือถี่กว่านั้น ทุกอย่างเป็นความต่อเนื่องเว้นแต่ตัวโฆษณา

ทีวีสายพันธุ์ใหม่กำลังปรากฏตัวตามเว็บไซต์ที่เปิดบริการให้โฮสต์วิดีโอออนไลน์ฟรีอย่าง youtube.com หรือ ifilm.com ซึ่งไซต์พวกนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วอินเทอร์เน็ตจนมีหลายร้อยเว็บในปัจจุบัน ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ตามเว็บพอร์ทัลเดิมอย่าง yahoo.com หรือ MSN หรือ AOL ก็มีการเพิ่มฟังก์ชันวิดีโอออนไลน์อย่างขนานใหญ่ไม่น้อยหน้ากัน

นี่รวมถึงเว็บไซต์พอร์ทัลเมืองไทยอย่าง sanook.com หรือ kapook.com รวมทั้ง mthai.com ที่เริ่มเดินหน้าแทรกซึมวิดีโอออนไลน์กันอย่างถึงน้ำถึงเนื้อ

อันที่จริงเครือข่ายโทรทัศน์ใหญ่ๆ ของ สหรัฐฯ อย่าง ABC, CBS, NBC และ Fox ก็เริ่มเปิดบริการดูสดในแบบ “สตรีมมิ่ง” ผ่านเว็บไซต์ของตนบ้างแล้ว เพราะมีคนดูพลาดตอนสำคัญ บริการนี้ยังฟรีแต่มีเพิ่มแถมมาด้วยตามธรรมดา

แถมด้วย NBC ยังมีแผนการกับ News Corp ซึ่งเป็นเจ้าของทีวี Fox เตรียมจะเปิดบริการที่ใช้ชื่อว่า Hulu ในเดือนตุลาคมที่กะจะแข่งกับ YouTube โดยจับมือกับพาร์ตเนอร์อื่นๆ อย่าง AOL, Comcast, MSN, MySpace และ Yahoo เป็นต้น

ต่างจากทีวีแบบเดิมยังไง

ในขณะที่ “ทีวีปกติ” ทุกอย่างกำหนดมาจากทางสถานี แม้แต่รายการที่คนดูชอบ แต่ถ้าไม่ถูกใจเจ้าพ่อเจ้าแม่ในสถานี หรือตกลงผลประโยชน์ไม่ลงตัว รายการถูกใจที่ว่านั้นก็มีอัน “หลุดผัง” และ “หลุดโผ” เอาง่ายๆ เพราะพื้นที่นำเสนอถูกจำกัดจากช่องสัญญาณสัมปทานที่มีความถี่เดียว ความหลากหลายที่พอมีได้จะถูกกำหนดจากผังรายการที่กำหนดตามเวลา ส่วนในแง่คอนเทนต์ก็ถูกจำกัดจากผู้ผลิตที่มีผลประโยชน์จากสถานี ดังนั้นก็ไม่แปลกอะไรที่ทีวีบางช่องจะมีแต่ละครน้ำเน่าแบบเดิมๆ หรือใช้นักแสดงหน้าเดิม มิวสิกวิดีโอค่ายเดิม

แต่ในไซต์วิดีโอออนไลน์ ผังรายการและคอนเทนต์ที่จะดูกลับอยู่ที่การเลือกของผู้ชมเอง หลายคนที่ไม่เคยลองเปิดดูไซต์วิดีโอออนไลน์พวกนี้ อาจสงสัยว่าพวกคลิปวิดีโอที่มีบริการให้ชมฟรีพวกนี้มันน่าสนใจ หรือดึงดูดใจตรงไหน

แต่ถ้าได้ลองชมผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หลายคนจะพบว่า ตัวเองอาจจะเริ่มต้นจากวิดีโออะไรสักเรื่องที่เราสนใจเช่น มิวสิกวิดีโอเพลงฝรั่ง หรือเทปฟุตบอลคู่เด็ดในอดีต แต่แล้วก็เจอ Links เชื่อมต่อไปยังคลิปวิดีโออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ไม่ว่าจะเป็นเพลงเดิมของมิวสิกวิดีโอ แต่เปลี่ยนเป็นเวอร์ชั่นคอนเสิร์ต จากนั้นก็เจอเข้ากับคลิปวิดีโอแปลกๆ อย่าง หนุ่มเกาหลีหมุนปากกาด้วยลีลาที่ทำให้เราตาค้าง ตามต่อด้วยเรื่องอื่นๆ อย่าง วิธีซ่อมโทรศัพท์มือถือ ภาพวิดีโอเที่ยวพีระมิดที่อียิปต์ ช็อตเด็ดการชกในอดีตของสามารถ พยัฆอรุณ ไปจนถึงวิดีโอตลกๆ ของหมากับแมว ฯลฯ

อันที่จริงมีวิธีเข้าใช้ หรือค้นหาวิดีโอมากมาย แต่สำหรับมือใหม่อยากให้ปล่อยเลื่อนไหลไปตาม Links มากกว่า และเข้าถึงพลังของสื่อใหม่แห่งโลกออนไลน์ คำเตือนจากทีมงาน positioningmag ก็คือ ห้ามอ่านอย่างเดียว ต้องเปิดเน็ตดูวิดีโอออนไลน์ด้วย อาจต้องเปิดเข้าไปดูถึงจะเข้าใจ

กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็หมดไปแล้ว 2-3 ชั่วโมงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ อาการนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับยูสเซอร์เมืองไทย แต่เกิดขึ้นกับยูสเซอร์ทั่วโลก ที่จู่ๆ ก็ตรัสรู้ขึ้นมาเองจากประสบการณ์หน้าจอคอมพิวเตอร์ว่า ไม่จำเป็นต้องดูรายการทีวีกระแสหลักที่ยัดเยียดคอนเทนต์อีกต่อไป รับประกันได้ว่า หลายคนที่ลองจะคลิกเรื่อยๆ ถึงเช้าไม่รู้ตัว

มีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่า ยอดจำนวนวิดีโอที่ยูสเซอร์อัพโหลด ขึ้นใน youtube.com ในแต่ละวันเพิ่มไปเป็น 65,000 คลิปแล้ว จากเดิมที่เคยอยู่ในระดับที่ 20,000 คลิปต่อวันเมื่อต้นปีก่อน คอนเทนต์วิดีโอออนไลน์กำลังเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่น่าเชื่อ หรือเคยคิดว่าจะเป็นไปได้มาก่อน

นอกจากนี้ เมื่อไม่กีเดือนที่ผ่านมา Cisco เผยผลสำรวจที่พบว่าปริมาณทราฟฟิก IP ในเครือข่ายแบบ WAN จะโตต่อเนื่องต่อปีในแบบทบต้น 21% จากปี 2006 ไปจนถึงปี 2011 สาเหตุหลักมาจากการใช้วิดีโอผ่านเครือข่าย ในทางด้านผู้บริโภคนั้น การดูภาพวิดีโอออนไลน์ในแบบสดและการดาวน์โหลดไฟล์วิดีโอ จะโตจาก 9% ของทราฟฟิกฝั่งผู้ใช้ทั้งหมดในปี 2006 ไปเป็นสัดส่วน 30% ในปี 2011

วิดีโอออนไลน์คือประสบการณ์การรับชมแบบไม่ต่อเนื่อง ที่เชื่อมให้ต่อเนื่องกันผ่านลิงค์ของเว็บไซต์ จะเชื่อมกันอย่างไรนั้นอยู่ที่ความสนใจของคนดูเองว่าชอบอะไรและเลือกดูอะไร เลือกส่วนผสมเองได้ตามความต้องการและเวลาที่มีอยู่

เปรียบเทียบง่ายๆ ให้เข้าใจสะดวกก็คือ การเสพวิดีโอออนไลน์แบบนี้ เหมือนทานติ่มซำ หรือเดินทานอาหารตลาดโต้รุ่งที่เลือกชิมได้ตามใจชอบ ในขณะที่ทีวีกระแสหลักเหมือนภัตตาคารที่เสิร์ฟเป็นคอร์ส เขามีอะไรให้กินก็ต้องกินตาม ถึงจะอร่อยจริงแต่นานเข้าก็เบื่อลิ้นเป็นธรรมดา

จากรายงานการศึกษาของบริษัท comScore ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาชี้ว่า เกือบ 75% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นคนอเมริกันราว 132 รายได้ดูภาพวิดีโอผ่านเน็ตในเดือนพฤษภาคมเดือนเดียวเท่านั้น ผู้ชมเหล่านี้ดูเว็บวิดีโอเฉลี่ยคนละ 158 นาที และเฉลี่ยครั้งละ 2.5 นาที แน่นอนว่าตัวเลขการดูวิดีโอออนไลน์พวกนี้จะต้องนำไปหักลบออกจากชั่วโมงดูทีวีปกติของผู้ชมอย่างแน่นอน

ชั่วโมงทีวีที่น้อยลง

ดูทีวีน้อยลง ก็เท่ากับมีโอกาสเห็นโฆษณาในทีวีน้อยลงเช่นกัน วงการโฆษณาทั้งโลกกำลังถกประเด็นนี้กันอย่างเผ็ดร้อน ถ้าคนดูทีวีปกติน้อยลง และดูวิดีโอออนไลน์มากขึ้น จะเกิดอะไรขึ้นกับวงการทีวีและโฆษณา-มาร์เก็ตติ้ง

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะเถียงกันมาตั้งแต่อินเทอร์เน็ตเริ่มบูมเมื่อกว่าสิบปีก่อนแล้ว แต่ยังไม่เห็นชัดเจนเพราะตอนนั้นเน็ตความเร็วสูงแบบบรอดแบนด์ยังไม่แพร่หลายเหมือนเท่าทุกวันนี้ ผลกระทบจึงยังไม่เห็นชัดเจน

ขณะนี้วงการโทรทัศน์เริ่มมีเดิมพันกันหลายทาง ด้านหนึ่งคือ เอารูปแบบเดิมของทีวีมาผสมผสานใหม่อย่าง www.joost.com หรือของค่ายอื่น อย่าง Babelgum, VeohTV ที่วางยุทธศาสตร์ใหม่เอาทีวีจากจอแก้วแบบเดิมมาเสนอใหม่ในจอคอมพิวเตอร์ คุณภาพวิดีโอชั้นดีแบบขยายได้เต็มจอ โดยหา พันธมิตรคอนเทนต์มาจากช่องทีวีแบบเดิม หรือหาผู้ผลิตรายการอิสระใหม่มาเสริม

แต่ปัญหาอาจยังไม่จบแค่ตรงนี้ หลายคนวิจารณ์ว่าใช้ไม่ง่าย ดูไม่ง่ายเหมือนทีวีแบบเก่า และเป็นอะไรที่ครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างทีวีและอินเทอร์เน็ต ถ้าเชื่อในเดิมพันตรงนี้ ทีวีในอนาคตอาจไม่ต่างจากทีวีในทุกวันนี้เท่าไหร่ เป็นรายการมีผังแชนแนล มีโฆษณาตามมาเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนที่ดูจากปลายทางจอทีวีมาเป็นจอคอมพิวเตอร์แทน

ในขณะที่อีกด้านคือโลกของ YouTube ไซต์วิดีโอฉีกกฎที่ถูกกูเกิลดอตคอมซื้อไปด้วยราคามหาศาล ถึงแม้จะยังไม่ทำรายได้มากมายอะไรในขณะนี้ แต่ก็มีศักยภาพใหม่ของยูสเซอร์นับร้อยล้านคนทั่วโลกที่แวะเวียนเข้ามาดูคลิปวิดีโอสั้นๆ ที่ใครก็ได้โพสต์เอาไว้ ในโลกของ YouTube ใบนี้ รายการทีวีเป็นอิสระของทุกคนไม่ใช่กำหนดขึ้นโดยสถานี

คำถามก็คือ คนดูผ่านเน็ตเวิร์คที่เคยชินกับอิสระแล้วจะยอมกลับเข้าคอกความคิดที่ถูกจำกัดจากวิธีคิดแบบแชนแนลหรือสถานีอีกหรือไม่ จริงหรือที่คนจะยอมรับแต่คอนเทนต์ที่ผลิตในระดับมืออาชีพเท่านั้น… เป็นไปได้มั้ยที่คลิปวิดีโอสั้นๆ จะมีสีสันเร้าใจกว่า

สั้นหรือยาวดี

คำถามถัดไปคือ ผู้ชมจะชอบดูนานหรือดูสั้น ความยาวของวิดีโอคือเรื่องใหญ่ของวงการเว็บวิดีโอ เพราะถ้าเป็นรายการเต็มรูปแบบหนึ่งชั่วโมงเต็ม แบบที่ฉายตามโทรทัศน์ทั่วไปจะสิ้นเปลืองเนื้อที่เซิร์ฟเวอร์และแบนด์วิธในการส่งผ่านข้อมูลสูง และในแง่การผลิตยังต้องสิ้นเปลืองการตัดต่อและขั้นตอนอื่นๆ มากมาย

ถ้าดูนานๆ ทางเลือกที่ดีกว่าคือ ทีวีปกติ หรือเคเบิลทีวี แต่ถ้าดูสั้นๆ ล่ะคงต้องเลือก YouTube ที่ขนาดความสั้นของคลิปวิดีโอไม่ใช่ปัญหา ในทางกลับกันกลับเป็นเรื่องดีเพราะไม่ต้องรอโหลดนาน เปลี่ยนไปดูเรื่องอื่นได้เร็ว และเป็นการแวะดูขณะทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ระหว่างทำงาน ทำการบ้าน หรือดูเรื่อยเปื่อยเวลาโทรศัพท์

จากการสำรวจโดยบริษัทวิจัย Jupiter Research พบว่า รูปแบบวิดีโอออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือคลิปข่าว คลิปทั่วไป ตามมาด้วย คลิปวิดีโอตัวอย่างหนัง คลิปมิวสิควิดีโอ การ์ตูนสั้น และคลิปธรรมดาที่ยูสเซอร์ทั่วไปโพสต์ขึ้นเว็บ ในขณะที่วิดีโอยาวๆ อย่างหนังเต็มเรื่อง วิดีโอรายการทีวี โชว์ กลับได้รับความสนใจจากผู้ชมในอินเทอร์เน็ตน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ปัญหาอีกข้อคือ ผู้ลงโฆษณาจะวางใจกับสื่อกระแสหลักมากกว่า วิดีโอออนไลน์อิสระหรือไม่ เรื่องนี้อาจไม่จริงเสมอไป ถึงแม้ทีวีจะยังครองตลาดค่าการตลาดที่แพงที่สุด ต่อไปอีกหลายปีแน่นอน แต่ถ้าแนวโน้มไซต์วิดีโอออนไลน์ยังขยายตัวในอัตรานี้ต่อไป น่าสนใจว่าสื่อวิดีโอใหม่จะเบียดชิงเม็ดเงินได้มากแค่ไหนในอนาคต

เน็ตเวิร์คต้องขยายตัวตาม

แต่ก่อนจะไปถึงฝันทีวีล้านช่อง และจุดจบของทีวีผูกขาดสัมปทาน ปัญหาคอขวดบนเน็ตเวิร์คจะต้องได้รับการแก้ไขเสียก่อน เรื่องนี้แม้แต่ในอเมริกายังมีปัญหา คงไม่ต้องพูดถึงเมืองไทยกระมังที่สายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังมีไม่ทั่วถึงและเหตุการณ์ง่ายๆ เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ที่อินเทอร์เน็ตของทีโอทีล่มไปกว่า 50% ทั่วประเทศจากรถขุดดินตัดเคเบิลใยแก้วหลักที่ฝังอยู่หน้าสนามศุภชลาสัย

แม้แต่ จอห์น เชมเบอร์ นายใหญ่และ CEO ของบริษัท Cisco หนึ่งในบริษัทเน็ตเวิร์คที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยังต้องออกมาเรียกร้องให้อเมริกาขยายเน็ตเวิร์คสาธารณะเพื่อรองรับการใช้งานใหม่ๆ ด้านเสียงและวิดีโอมีความสำคัญขึ้นมาและใช้งานแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน

รวมทั้งเรียกร้องให้มีการตีความคำว่า “บรอดแบนด์” กันเสียใหม่ และเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ วางโครงการให้มั่นใจว่าคนทั้งประเทศจะมีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากขนาด 100M ถึง 1Gbps กันอย่างแพร่หลายได้ภายในห้าถึงสิบปีข้างหน้า
ทุกวันนี้ ฟังก์ชันวิดีโอได้กลายเป็นเรื่องปกติของเน็ตสมัยใหม่ที่ขีดความสามารถระดับบรอดแบนด์เป็นเรื่องธรรมดาเของการใช้งานประจำวันบนหน้าจอไปเรียบร้อยแล้ว

แม้แต่กับเน็ตเวิร์คภายในอย่างตามบริษัทหรือสถานศึกษา แนวคิด “วิดีโอออนดีมานด์” กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ผู้บริหารระดับสูงใช้วิดีโอบันทึกภาพและกระจายตามสาขาของบริษัทที่อยู่ตามเมืองต่างๆ หรือในต่างประเทศ ส่วนทางมหาวิทยาลัยอัพโหลดบันทึกภาพการสอนไว้ให้ ผู้เรียนเข้าในแบบออนไลน์ ในขณะที่โรงเรียนมัธยมกำลังนำระบบวิดีโอและอีเลิร์นนิ่งเข้ามาผสมผสานเข้าด้วยกัน

สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือ “วิดีโอ” ไม่ใช่แค่เรื่องฮือฮาระดับเว็บ แต่เป็นฟังก์ชันการใช้งานระดับเน็ตเวิร์ค ทุกระดับไม่ว่าจะออนไลน์หรือไม่ก็ตาม หลายคนมองข้ามไปถึง “โทรศัพท์ภาพเคลื่อนไหว” ที่เชื่อมต่อโลกทั้งใบผ่านเครือข่ายเน็ตเวิร์ค

ที่ต้องตามกันต่อก็คือ ในสภาพเศรษฐกิจที่ไม่กระเตื้อง หรือมีแนวโน้มทรุดลง ตัวอย่างที่สำคัญที่เคยเกิดขึ้นแล้วในเกาหลีใต้เมื่อคราวเศรษฐกิจตกต่ำพร้อมกับเมืองไทยก็คือ การล่มสลายของฟองสบู่คราวนั้นได้ทำให้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เป็นความบันเทิงราคาถูกที่เสพได้อยู่กับบ้าน และหลายคนในวงการไอทีก็หวังว่าสภาพนั้นจะเกิดการขยายตัวครั้งใหญ่แบบสวนกระแสในแวดวงเว็บไทย

แต่ในเวลานั้นเมืองไทยยังไม่มีบรอดแบนด์แพร่หลายเหมือนทุกวันนี้ คราวนี้เทคโนโลยีพร้อม และประตูที่เคยปิดได้เปิดออกแล้ว อนาคตทีวีเมืองไทยน่าจะเริ่มพลิกผันไปสู่ยุควิดีโอออนไลน์ ซึ่งในอนาคตเงื่อนไขที่ท้าทายอาจไม่ใช่เฉพาะเงื่อนไขทางเทคโนโลยีอย่างเดียว อาจรวมถึงเงื่อนไขทางการเมืองที่บีบเค้นอนาคตเทคโนโลยีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

สารพัดไซต์วิดีโอออนไลน์
http://video.yahoo.com
http://video.msn.com
http://video.aol.com
http://www.ifilm.com
http://video.mthai.com
http://vids.myspace.com
http://www.veoh.com
http://www.livevideo.com