ปิดฉากตำนานเซ็นเตอร์พ้อยท์

ถ้าที่นี่เปรียบเป็นแบรนด์ เซ็นเตอร์พ้อยท์ถือเป็นแบรนด์คาแร็กเตอร์ที่ดำรงอยู่มาถึง 9 ปีเต็มในสยามสแควร์ แม้สถานที่นี้จะมีพื้นที่เพียง 1 ไร่เศษ แต่ที่นี่มี เรื่องราวและตำนานอันน่าจดจำ แม้จะมีด้านลบบ้าง แต่ชื่อเสียงของเซ็นเตอร์พ้อยท์ด้านบวก โดยเฉพาะในวงการตลาด ถือว่าเป็น สนามอีเวนต์ทางการตลาดที่บรรดาสินค้าใดอยากเจาะตลาดวัยรุ่น ย่อมต้องมาที่นี่

โครงการเซ็นเตอร์พ้อยท์เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2541 ด้วยวัตถุประสงค์ของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยากพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นลานกิจกรรมสำหรับวัยรุ่น โดยมีบริษัท พรไพลิน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นผู้ชนะการประมูลและได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเซ็นสัญญาเช่าช่วงแรกเป็นเวลา 6 ปี จากปี 2541-2547 จนมีการต่อสัญญาให้อีก 3 ปี จนถึงปี 2550

หลังจากขึ้นปี 2551 เป็นต้นไป ลานกว้างที่มีสัญลักษณ์น้ำพุอยู่ตรงกลางทางเข้าจะปิดฉากลง เพราะหมดสัญญาเช่า คงจะเหลือไว้เพียงตำนานให้จดจำกัน

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2541 ลานกว้างประมาณ 1 ไร่เศษบริเวณ ได้เปิดตัวขึ้นจากฝีมือของ พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรไพลิน ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งด้วยประสบการณ์นักกิจกรรมมือโปร อดีตประธานชมรมเชียร์ธรรมศาสตร์ ทำให้เขาสามารถลานแห่งนี้ให้เกิดเป็นคอมมูนิตี้สำหรับการทำกิจกรรมของกลุ่มวัยรุ่น

แม้ในช่วงเริ่มต้นเซ็นเตอร์พ้อยท์จะมีภาพด้านลบด้านการเป็นแหล่งมั่วสุม แต่เซ็นเตอร์พ้อยท์ก็ค่อยๆ เสริมภาพด้านบวกขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการจัดกิจกรรมและเปิดพื้นที่ให้เอกชนโดยเฉพาะสินค้าต่างๆ เข้ามาจัดอีเวนต์เปิดตัวสินค้าใหม่ๆ

พรนริศ อธิบายว่า การสร้างแบรนด์เซ็นเตอร์พ้อยท์ไม่ใช่มุ่งแต่เปิดขายของเพียงอย่างเดียว จุดที่ต้องเร่งพัฒนาและทำกันแบบเอาจริงจังที่สุด คือ ให้ความลานกิจกรรมใช้ประโยชน์มากที่สุด โดยให้เอกชนมาลงทุนเอง จัดกิจกรรมเอง

“ช่วงแรกผมส่งทีมงานไปตามผลิตภัณฑ์ดังๆ ให้เข้ามาใช้ลานนี้ ไม่นานนักกิจกรรมการเปิดตัวสินค้าหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย กลายเป็นลานแสดง มีการจัดคอนเสิร์ต เปิดอัลบั้ม ที่มากไปกว่านั้น กลายเป็นเวทีหาเสียงของนักการเมือง”

ที่เป็นไฮไลต์สำคัญมากที่สุด คือ การเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา เข้ามาเปิดแผงขายของ หรือโครงการที่ใช้ชื่อว่า Indy Intown หรือชุมนุมคนมีไอเดีย กลายเป็นจุดสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้ที่นี่ เปรียบเหมือนแหล่งสร้าง “เถ้าแก่น้อย” กลุ่มใหม่ ที่หลายคนกลายเป็นพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งมีร้านค้าเป็นของตัวเอง

เนื่องจากนักศึกษาที่นำของมาขาย จะถูกกำหนดต้องเป็นสินค้าทำมือ หรือเกิดจากไอเดียใหม่ๆ ทำให้สินค้าที่นี่จึงมีความแตกต่างจากที่อื่น และกลายเป็นจุดขายของเซ็นเตอร์พ้อยท์ในเวลาต่อมา

อีกโปรเจกต์สำคัญ คือ การสร้างสเตริโอสยามสแควร์ขึ้นมา เป็นสถานีวิทยุเฉพาะกิจที่พรนิริศได้สร้างขึ้น เป็นกระบอกเสียงของค่ายเพลงอินดี้ เบเกอรี่ มิวสิค และวงดนตรีหลากหลายที่นำแผ่นมาให้เขาเปิด

…ภาพเหล่านี้ กำลังจะจางหายไปในเวลาอีกไม่กี่เดือน ตำนานเซ็นเตอร์พ้อยท์กำลังปิดฉากลงไปพร้อมๆ การก่อเกิดสิ่งปลูกสร้างแบบใหม่ ในคอนเซ็ปต์ “ดิจิตอล ซิตี้”