ที่สุดของร้านตัดผม

ว่ากันว่า สยามสแควร์เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมที่บรรจุจำนวนร้านทำผมไว้ ”มากที่สุด” ด้วยเหตุที่ว่า ”การจัดแต่งทรงผม” ก็นับเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของ ”แฟชั่น” ปรากฏการณ์ใหม่ๆเกี่ยวกับทรงผมจึงเกิดขึ้นที่นี่เช่นเดียวกับเทรนด์เสื้อผ้าและเครื่องตกแต่งกายอื่นๆ

ร้านทำผมในสยาม แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ

– บาร์เบอร์ หรือร้านตัดผมชาย ปัจจุบันมีเหลืออยู่ราว 4 ร้าน โดยส่วนใหญ่เป็นร้านที่เปิดมาเป็นเวลานาน จึงอยู่ได้ด้วย ”ลูกค้าประจำ” เช่น แววสยามบาร์เบอร์, เพชรสยามบาร์เบอร์, สกาลาบาร์เบอร์

“กนกพร” ลูกจ้างซึ่งอยู่กับร้าน ”เพชรสยามบาร์เบอร์” มาตั้งแต่สาวจนแก่เล่าว่า เพชรสยามบาร์เบอร์ เปิดให้บริการตั้งแต่ราว 20 ปีที่แล้ว เธอให้ภาพของร้านตัดผมของสยามสแควร์ในอดีตว่า เมื่อก่อนร้านตัดผมชายในสยามมีจำนวน10 กว่าร้าน มากกว่าร้านซาลอนของผู้หญิงเสียอีก โดยทรงที่นิยมในสมัยนั้นของร้านคือ “ทรงเอลวิส” ดารายอดนิยมในขณะนั้น

ลูกค้าในสมัยก่อนจะเป็น ”ผู้ใหญ่” ซึ่งมักนำ”บุตร” ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ”นิสิตจุฬาฯ” มาตัดผมด้วย ซึ่งลูกค้ารุ่นลูกเหล่านี้เองที่ยังคงเป็นลูกค้าประจำของร้านด้วยวัยราว 40 ปีในปัจจุบัน

เพลงที่เปิดในร้าน เครื่องมือ หรือเทคนิคแบบวันวานของเพชรสยามบาร์เบอร์ เป็นเสมือน Time Machine ที่ช่วยให้เราเห็นภาพของร้านตัดผมในอดีตได้ไม่ผิดเพี้ยน กนกพรว่า ”ที่นี่ทำแบบสมัยใหม่ไม่เป็น”

คูหาติดกันในสยามสแควร์ ซอย 1 คือ “สกาลาบาร์เบอร์” ร้านตัดผมชายร้านแรกๆ ของสยาม ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2515 โดยมีกลุ่มเป้าหมายต่างจากเพชรสยามฯ ด้วยความที่ไม่แฟชั่น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านนี้จะเป็น ”นายทหารและตำรวจชั้นผู้ใหญ่” ในสมัยนั้น

– สถาบันออกแบบทรงผม สยาม เป็นศูนย์การเรียนการสอนในศาสตร์ต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่การสอนทำผม กระทั่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนหรือสถาบันออกแบบทรงผมที่มีชื่อเสียงมายาวนานอาทิ สถาบันออกแบบทรงผมเรืองฤทธิ์ โรงเรียนเกศเกล้า หรือ ”น้องใหม่” อย่างสถาบันอบรมแต่งผมออด๊าซก็เข้ามาจับจองพื้นที่ในเชิงการเรียนการสอนที่สยามสแควร์เช่นกัน

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาควบคู่กันกับการเป็น ”กรณีศึกษา” ให้ผู้ฝึกหัดทำผม ย่อมไม่พ้นการได้รับบริการ “ของฟรี-ของถูก” ซึ่งหาได้ยากในค่าเช่าที่อันแสนแพงของสยามสแควร์

“สถาบันออกแบบทรงผมเรืองฤทธิ์” หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ ”โรงเรียนเรืองฤทธิ์” ตั้งอยู่สยามสแควร์ ซอย 11 ก่อตั้งเมื่อปี 2524 อาคารชั้น 3 เป็นส่วนของโรงเรียน ซึ่งเป็นที่นิยมของนักเรียน-นักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่นิยมมาสระ-ซอยราคาย่อมเยา ”เป็นพิเศษ” เรียกว่าจ่ายเป็น ”ราคาค่าน้ำ-ค่าไฟ” ด้วยราคาเพียง 20 บาท สำหรับผู้ชาย และ30 บาท สำหรับผู้หญิง

– ซาลอน ร้านทำผมสมัยใหม่ที่มีจำนวนมากที่สุดในสยาม ทว่ามีอันต้อง เปิด-ปิด-เปลี่ยนมือกันอยู่บ่อยๆ เช่นเดียวกันกับร้านค้าประเภทอื่นๆ ของสยาม ด้วยความที่ต้องอิงกับ ”กระแส” และ ”ความคาดเดาไม่ได้” ของวัยรุ่น

ในปัจจุบัน ซาลอนที่ได้รับความนิยมของวัยรุ่นสยาม คือร้านที่สามารถ ”สนองตอบ” ต่อความต้องการเลียนแบบ Pop Star ของเกาหลี – ญี่ปุ่นได้ อาทิ ร้าน Chic Club, Q Cut, Art Hair เป็นต้น

“Art Hair” ถูกเรียกกันอย่างติดตลกว่าเป็น “โรงงาน” มากกว่าร้านทำผม ด้วยในช่วงที่กระแสรีบอนดิ้งมาแรง Art Hair มียอดต่อคิว “500-600 หัว” ต่อวัน “เมื่อก่อนค่าเช่าไม่แพงมาก รายได้ดี แต่ตอนนี้ค่าเช่าสูง ลูกค้าก็ลดลงมา อย่างมากสุดๆ เสาร์-อาทิตย์ต้นเดือนก็แค่ 300-400 คน” รัตนาภรณ์ เนาวภาส เจ้าของร้านกล่าว

เดิมที “Art Hair” เป็นร้านเล็กๆ ที่เปิดให้บริการเฉพาะชาวเกาหลีที่สุขุมวิทซอย 12 แต่ด้วยความที่จำนวนลูกค้ามาก และคนเกาหลีค่อนข้างเข้มงวดเรื่องเวลาในการทำผม ปี 2545 รัตนาภรณ์จึงหันมาเปิดร้านใหม่สำหรับ ”คนไทย” ที่สยามสแควร์ ซอย 7 ด้วยพื้นที่ขนาด 3 คูหา

“ตอนนั้นเห็นรีบอนดิ้งกำลังมา แล้วคนไทยเป็นลักษณะผมหยักศกเยอะ เลยทำร้านขึ้นมา เป็นร้านใหญ่ร้านแรกของสยาม โดยมีจุดขายคือรีบอนดิ้งราคาถูก ไม่ถึงพันบาท ซึ่งตอนนั้นไม่มีร้านไหนในสยามที่ทำราคานี้ เราให้ส่วนลดเริ่มต้น 90% ในตอนเปิดร้านช่วงแรกๆ” ความสำเร็จซึ่งวัดจากปริมาณลูกค้าที่รองรับแทบไม่ไหว ทำให้ปีต่อมา Art Hair ขยายอีก 2 สาขา กลายเป็นร้านทำผมแบรนด์เดียวกันถึง 3 แห่งในพื้นที่ของสยามสแควร์

“โปรโมชั่นลดราคา” สุดคลาสสิกยากจะเลียนแบบของ Art Hair คือต้นตำรับความสำเร็จของร้านทำผมไทย ราคารีบอนดิ้ง 1,200-1,500 บาท จะถูกปรับลดลงมาตาม”ช่วงเวลา”

สำหรับการมา ”มือเปล่า” หากมาใช้บริการก่อน 11 โมงลูกค้าจะได้ส่วนลด 53% หากมาหลัง 4 โมงเย็นจะได้ส่วนลด 48% และก่อนกลับยังได้คูปองสมนาคุณกลับไปอีก ”3 ใบ” เป็นส่วนลด 50% จำนวน 2 ใบ แต่มีเงื่อนไขการใช้งานสั้นแค่ 1 อาทิตย์ ส่วนอีกหนึ่งใบที่เหลือเป็นส่วนลด 38%แต่ให้ระยะเวลาที่นานกว่าถึง 1 เดือน

หรือหากมาใช้บริการแบบมีคูปองอยู่ในมือ ถ้าลูกค้ามาก่อน 11 โมง จะได้รับส่วนลด ”เพิ่มอีก15%” และเพิ่มอีก 10%สำหรับผู้ที่มาหลัง 4 โมงเย็น

“ครั้งแรกอาจแพงหน่อย แต่ครั้งต่อไปจะถูกลงมา เป็นการดึงดูดลูกค้าให้กลับมาที่ร้านเราอีก และเป็นกลยุทธ์บอกต่อ ด้วยความรู้สึกเสียดายถ้าไม่ได้ใช้คูปอง ก็จะมีการส่งต่อให้เพื่อนต่อกันเป็นทอดๆ เกิดการมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง” รัตนาภรณ์เผยเคล็ดลับความสำเร็จที่เธอเป็นผู้ครีเอตขึ้นมาเอง

ปัจจุบัน Art Hairสาขา 3 หลังโรงหนังสยามเพิ่งหมดสัญญาและปิดตัวลงไป ด้วยพื้นที่ให้บริการที่น้อย ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดรายจ่ายค่าเช่าร้านที่เดิมสูงร่วมล้านบาทลงไปได้มาก