เปี๊ยก ดีเจสยาม ตำนานบนแผงเทป

16 ปีของประสบการณ์ขายเทปขายซีดีเพลงที่สยามสแควร์ ของหนุ่มวัย 34 “เปี๊ยก ดีเจสยาม” ธนโชติ เพียรเสมา เจ้าของร้าน DJ Siam ที่สืบทอดธุรกิจครอบครัวจากแผงเทปเล็กๆ หน้าบริเวณที่ปัจจุบันเป็นร้านโดนัทชื่อดังริมถนน จนย้ายมาอยู่ใกล้เซ็นเตอร์พ้อยท์ ในปัจจุบัน เขาได้กลายเป็นตำนานบทหนึ่งของสยามสแควร์

“สมัยก่อนร้านเทปขายกันมันส์กว่าตอนนี้ คนขายจะคุยกับลูกค้า ดูหน้าจำได้เลยใครชอบแนวไหน คนขายจะเอนเตอร์เทน เชียร์ลูกค้า เดี๋ยวนี้แทบไม่มีแล้ว เค้าทำเป็นแฟรนไชส์ เป็นสาขากันหมด พนักงานแต่งฟอร์ม ไม่ได้พูดคุยกันเองแบบเดิม ร้านเทปเดี๋ยวนี้ไม่สนุกแล้ว” เปี๊ยกเริ่มด้วยการเล่าถึงเทรนด์ธุรกิจร้านเทปและซีดีไทย ไม่ว่าจะแถวสยามหรือตามห้าง

“แต่ที่ร้านเราไม่เอาแบบนั้น” เปี๊ยกย้ำ Positioning จุดแข็งที่ทำให้อยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ต่อไปว่า “ผมจะแนวโหวกเหวก โวยวาย บางทีก็ยืนเต้น ชวนลูกค้าคุย ลูกน้อง 5 คนก็ไปแนวเดียวกัน ความรู้เรื่องเพลงไม่เก่งมาก แต่รู้จัก กับน้องๆ มาเลยคุยได้หมด บางทีก็ยืนเต้นเลย เอาให้ขำ เราต้องคอยกระตุ้นลูกน้องให้คึกคักด้วย ของอย่างนี้ฝึกอบรมแล้วแตก Chain สาขาออกไปไม่ได้หรอก”

บุคลิกโผงผางเฮฮาของเปี๊ยกไม่ได้แค่ชนะใจลูกค้าที่แวะเวียนผ่านมาเท่านั้น แต่ยังชนะใจสื่อทั้งหลายไม่ว่าจะรายการวิทยุ รายการทีวี ที่พากันมาสัมภาษณ์ หรืออย่าง Hot Wave คลื่นวัยรุ่นชื่อดังเครือแกรมมี่ถึงกับเชิญไปร่วมจัดรายการในห้องส่งมาแล้ว ส่วนคลื่นเด็กแนวอย่าง Fat Radio ก็ทำกิจกรรมร่วมกับทางร้านมาตลอด

หลายครั้งเมื่อมีอัลบั้มใหม่ๆ ออก เช่นวง Bodyslam เมื่อเดือนที่แล้วก็ยกมาทั้งวงเปิดมินิคอนเสิร์ตหน้าร้านพร้อมแจกลายเซ็นดึงวัยรุ่นมาได้มากมาย

นอกจากนี้ หากถอยออกมานอกร้านยืนดู จะเห็นป้ายโฆษณาอัลบั้มเพลงหรือหนังใหม่ๆ ติดอยู่รายรอบตัวตึกของร้าน ซึ่งเปี๊ยกแย้มว่าเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ยังเทียบกับรายได้หลักจากการขายแผ่นซีดีไม่ได้

แต่ก็ใช่ว่ายอดขายจะน่าพอใจ เปี๊ยกยอมรับว่าเครียดขึ้นทุกวัน เพราะยอดขายของร้านทุกวันนี้เทียบกับ 3 ปีที่แล้วลดลงถึง 60% และเทียบไม่ได้เลยกับยุคก่อนปี 2540 นั่นคือยุคก่อน MP3 และวิกฤตต้มยำกุ้ง

“สมัยนั้นวันที่อัลบั้มใหม่ของอย่างอัสนีวสันต์ วางขายวันแรกนี่จะยิ่งใหญ่มาก คนแห่กันมาซื้อ ตื่นเต้นกันมาก เดี๋ยวนี้ไม่มีแบบนั้นอีกแล้ว” เปี๊ยกย้อนถึงวันชื่นคืนสุขในอดีต

ปัญหายอดขายแผ่นแท้ดิ่งไม่หยุดนี้ เปี๊ยกมองว่านอกจากจะโทษผู้ค้าซีดีเถื่อน หรือนักเล่นเน็ตที่แจกไฟล์กัน ยังต้องโทษค่ายเพลงเองที่หันไปเน้นแจกเพลงทางดิจิตอลหรือมือถือกันหมด บางรายก็แจกแผ่นฟรีเพราะพ่วงโฆษณา ซึ่งเปี๊ยกมองว่าเป็นการทอดทิ้งร้านเทปร้านซีดีไปอย่างไม่ไยดี

2 ปีนี้เปี๊ยกเองจึงหันมาสร้างค่ายเพลงเล็กๆ ของตัวเอง ชื่อ “กุนซือคลับ” โดยดึงศิลปินมาจากวงดนตรีของ “น้องๆ” ลูกค้าที่คุ้นเคยกันและเล่นดนตรีกันอยู่ด้วย ซึ่งเขาเผยว่ายอดขายพอไปได้และกำไรต่อแผ่นแน่นอนว่าน่าพอใจกว่าขายหรือเชียร์ “ของคนอื่น” อย่างแน่นอน ซึ่งเปี๊ยกสรุปถึงเหตุผลที่ต้องทำค่ายเพลงว่า “ไม่อยากยืมจมูกใคร”

อีกแนวโน้มที่เปี๊ยกเห็นเป็นปัญหา คือวัยรุ่นสมัยนี้มีเรื่องให้ใช้เงินหลากหลายขึ้น เช่น ค่าโทรมือถือ ค่าอินเทอร์เน็ต และเมื่อมาสยามก็ซื้อเสื้อผ้า เครื่องสำอาง ค่าอาหาร ขนม เครื่องดื่มหลากหลายใหม่ๆ กันมากขึ้น ทำให้งบซื้อเพลงฟังตกไปอยู่อันดับท้ายๆ ต่างจากสมัยก่อนที่เทปเพลงเป็นค่าใช้จ่ายอันดับแรกๆ ของวัยรุ่น

“คนเดินสยามก็น้อยลง เป็นมาได้สองสามปีแล้ว” เปี๊ยกเล่าถึงภาพรวม และเมื่อเราถามเผื่อถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดกับเซ็นเตอร์พ้อยท์เร็วๆ นี้ เปี๊ยกฝากไปถึงผู้เกี่ยวข้องว่า “เซ็นเตอร์พ้อยท์จะปิดสร้างใหม่เราไม่กลัว ขอแค่ว่าช่วยสร้างให้เร็วๆ หน่อย สมัยก่อนที่ปิดพื้นที่มาสร้างเซ็นเตอร์ปัจจุบันนี่ ปิดเป็นปี ช่วงนั้นเรากระเทือน คนเดินผ่านน้อยลง”

ด้วยความที่เปิดมานาน ดีเจสยามทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่ลูกค้าวัยรุ่น แต่มีทั้งคนทำงานและผู้ใหญ่ ที่แทบทั้งหมดก็เคยอุดหนุนกันมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือหรือเรียนพิเศษแถวนี้ แม้บางคนจะหายหน้าไปนานเพราะไปเรียนนอก แต่เมื่อกลับมาทำงานก็ยังแวะเวียนมาซื้อและพูดคุยกับเขาอยู่ไม่ขาด

ท่ามกลางปัญหาเพลงเถื่อนระบาดหนัก และภาวะเศรษฐกิจซึม ค้าปลีกซบ ร้านดีเจสยามได้ก้าวข้ามการเป็นช่องทางค้าปลีกธรรมดา กลายมาเป็นหนึ่งใน Media Point ที่เปี๊ยกและเหล่าลูกน้องจะเปิดเพลง โหวกเหวก และเฮฮา ดึงดูดสายตาและความสนใจผู้คน ผลักดันทั้งยอดขายแผ่น ต่อยอดไปถึงการเป็นสื่อ จนอยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้