จุดนัดฝันคนทำหนังสือ

“สยามสแควร์” ถือเป็นจุดนัดฝันของคนทำหนังสือ โดยเฉพาะกลุ่มหนังสือแจกฟรี ที่มีให้เด็กหยามฯได้หยิบกันประจำ แม้เล่มหนึ่งปิดตัวไป แต่ไม่นานก็มีเล่มใหม่เกิดขึ้น ที่รู้จักกันดีอย่าง You Are Here ที่ทำมานาน 3 ปี แม้เพิ่งปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ You Are Here ก็เติมเต็มความฝันของคนกลุ่มหนึ่งได้สำเร็จ และกำลังต่อยอดไปยังนิตยสารออนไลน์ หรือกรณีของ “Centerpoint Magazine” ที่ถือว่าสำเร็จในทางธุรกิจ เพราะหลังจากแจกฟรีเล่มแรก เจ้าของก็ตัดสินใจทำเพื่อขาย และปีหน้าก็เริ่มทำเป็นนิตยสารรายเดือน จากเดิมเป็นรายสองเดือน

“สยามสแควร์” ไม่เพียงเป็นศูนย์รวมของแผ่นพับ ใบปลิวโปรโมตสินค้าใหม่ๆ แนะนำคอร์สเรียนกวดวิชา แจกตัวอย่างของสินค้าออกใหม่ ซึ่งหากใครเดินไปเดินมาสัก 3-4 รอบ จะต้องได้รับแจกเต็มไม้เต็มมือ ยังมีในร้านอาหารต่างๆ ในสยามสแควร์ ที่เป็นเป้าหมายของบรรดานิตยสารแจกฟรี เช่น หากใครอยากได้ BK แมกกาซีน ก็สามารถเดินไปหยิบได้ที่สตาร์บัคส์ สยามสแควร์ หรือโรงหนังลิโด ตรงเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋ว หรือบางทีหากโชคดีก็อาจได้ Happening ติดมือมาด้วย

กลุ่มนิตยสารแจกฟรีที่มีเนื้อหา หรือแม้แต่ชื่อหัวหนังสือ “สยามสแควร์” เกิดขึ้นที่นี่มาอย่างน้อย 4 เล่ม เช่น หากย้อนหลังไปประมาณ 5 ปีหลายคนอาจได้เคยเห็นนิตยสาร “S Square” ซึ่งย่อมาจากสยามสแควร์ แต่ขณะนี้ปิดตัวไปแล้ว เช่นเดียวกับ @Siam ส่วนที่ยังอยู่และกำลังไปได้สวยในทางธุรกิจคือ Centerpoint และ 3 ปีที่แล้วนิตยสารเล่มเล็ก ขนาดแค่เกือบครึ่งของกระดาษ เอ 4 หนาเพียง 70 หน้า ก็แจ้งเกิดในทำเททองแห่งนี้ ในชื่อ “You Are Here”

ยังไม่นับนิตยสารอีกหลายฉบับที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น และมักเดินมาหาเนื้อหา รูปภาพจากเด็กในสยาม หลายเล่มแค่ถ่ายภาพเด็กวัยรุ่นแต่งตัวโดดเด่น และมารวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือก็สามารถขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

“เพื่อน” คุณอยู่ที่นี่

You Are Here ขับเคลื่อนโดยเพื่อนกลุ่มหนึ่ง ที่มี “ณัฐวัจน์ สุจริต” เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ เพราะได้แรงบันดาลใจจากการไปใช้ชีวิต และเรียนที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ซึ่งที่นั่น เขาบอกว่ามีนิตยสารแจกฟรีเยอะมาก เมื่อกลับมาเมืองไทยก็เลยมีความฝันอยากทำบ้าง

“ในเมื่อผมก็เป็นวันรุ่น ก็ต้องทำเนื้อหาเกี่ยวกับวัยรุ่น ถ้าเป็นวัยรุ่นก็ต้องนึกถึงสยามใช่ไหม ผมจึงมาเริ่มที่นี่”

จากเล่มแรก ถึงเล่มที่ 62 ซึ่งเป็นเล่มสุดท้าย เมื่อเดือนกันยายน 2550 “ณัฐวัจน์” บอกว่า ฉบับหนึ่งจัดพิมพ์แจกถึง 30,000 เล่ม มีแฟนคลับหนังสือที่เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษาจำนวนหนึ่ง เพราะเนื้อหาตอบสนองคนอ่าน เช่น เกี่ยวกับหนัง เพลง แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ และที่สำคัญคือทำหนังสือเหมือนเป็นเพื่อนกับคนอ่านไม่ใช่การสอนคนอ่าน ขณะที่ผลตอบรับทางธุรกิจก็ดีพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ เพราะมีโฆษณาอยู่บ้าง จากทั้งแบรนด์ดัง และร้านค้าในสยาม แม้บางช่วงรายได้ไม่เพียงพอนัก แต่ก็พออยู่ได้ด้วยงานอื่นเป็นรายได้เสริม แต่ก็เลือกที่จะปิดตัวเองในที่สุด เพราะปัญหาที่เขาบอกว่ามาจากทั้งภายใน และภายนอกเอง โดยเฉพาะปัญหาที่ธุรกิจโฆษณาเข้ามาครอบงำงานของเขามากเกินไป

เมื่อเดินทางมาถึงเล่มที่ 62 “ณัฐวัจน์” และเพื่อนร่วมงานตัดสินใจปิดตัวลง หยุด You Are Here ไว้ที่นี่ แต่ความฝันของเขายังไม่จบลงง่าย เพราะ “ณัฐวัจน์” บอกว่า “ผมได้ทำหนังสือแจกฟรีอยากที่ผมอยากทำแล้ว Step ต่อไปผมคิดว่าจะทำนิตยสารออนไลน์ ผมก็ยังไม่แน่ใจนะว่าจะเป็นอย่างไง แต่ที่แน่ๆ ก็ต้องเกี่ยวกับวัยรุ่นนี้แหละ”

Centerpoint จากฟรีถึงขั้นขาย

ในอีกด้านหนึ่งสำหรับนิตยสาร “Centerpoint” ต่างจาก You Are Here ตรงที่ Centerpoint ดำเนินการภายในธุรกิจที่ครบวงจร เพราะอยู่ในเครือของบริษัทเซ็นเตอร์พ้อยท์ เน็ตเวิร์ค ผู้บริหารพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ในลานเซ็นเตอร์พ้อยท์ รวมทั้งสื่อป้ายโฆษณาบางจุด และวิทยุในสยามสแควร์ ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ และเงินทุนที่สูงกว่าทำให้ Centerpoint เป็นนิตยสารที่อยู่ได้ โดยเฉพาะสปอนเซอร์ที่ได้โปรโมตผ่านสื่ออย่างครบวงจร

“อัญชลี แสนพัฒนากรกิจ” บรรณาธิการ Centerpoint บอกว่าการแจกฟรีทำให้มีปัญหาในการขออนุญาตแจกตามจุดต่างๆ และการกำหนดพื้นที่แจกเฉพาะ ทำให้กลุ่มเป้าหมายค่อนข้างแคบ สปอนเซอร์ไม่ค่อยสนใจ ซึ่งเมื่อทำเล่มแรกแล้วได้ผลตอบรับจากคนอ่านดี ทางบริษัทจึงตัดสินใจทำขายในเล่มต่อมา

จากเล่มแรกแจกประมาณ 10,000 เล่ม ขณะนี้มียอด 30,000 เล่ม และปีหน้าขยายเป็นนิตยสารรายเดือนจากเดิมเป็นรายสองเดือน เป็นการรองรับธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปของบริษัทแม่ที่กำลังหมดสัญญาบริหารพื้นที่ในเซ็นเตอร์พ้อยท์

แม้บริษัทแม่จะไม่มีเซ็นเตอร์พ้อยท์เป็นพื้นที่ช่วยหนุนเป็นแพ็กเกจสำหรับสปอนเซอร์แล้ว แต่ยังมีรายการทีวี และวิทยุ ที่ทีม Centerpoint Magazine หวังว่าจะทำให้นิตยสารนี้ไปไกลอย่างที่หวัง ที่สำคัญ ช่วยให้ชื่อของ “เซ็นเตอร์พ้อยท์” ยังคงอยู่ อาจไม่ใช่ในใจกลาง “สยามสแควร์” แต่อย่างน้อยก็เป็นที่จดจำของคนอ่านโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นไปอีกนาน