Global Manager สร้างได้

“Global Manager หรือผู้จัดการโลกาภิวัตน์ คือคนที่พร้อมจะคิด พูด และทำในสิ่งที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติหรือระดับโลก พร้อมจะเข้าถึงการบริหารจัดการในทุกพื้นที่โดยไม่หวั่นต่อเส้นแบ่งเขตแดนทางภูมิศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรม”

นิยามของ โกลบอลแมเนเจอร์ โดย รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข กรรมการบริหารและหัวหน้าหลักสูตรการบริหารบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โกลบอลแมเนเจอร์เป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยมานาน จากแบรนด์ระดับโลก ที่นำทั้งระบบและผู้บริหารเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เครื่องดื่มอย่างโคคาโคล่า เป๊ปซี่ หรือฟาสต์ฟู้ดอย่างเคเอฟซี แมคโดนัลด์

แต่เมื่อย้อนมองจากประเทศไทยออกไป กลับเป็นเรื่องยากเย็นที่จะหาแบรนด์ไทยสักแบรนด์ที่ไปเติบโตในต่างประเทศภายใต้การบริหารของคนไทย ถ้าจากให้วิเคราะห์ในแง่ของการบริหารทรัพยากรบุคคลแล้ว รศ.ดร.ศิริยุพา ถือว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่แข็งแรงในการพัฒนาบุคลากรระดับบริหาร

ถ้าจะต้องวิเคราะห์ลึกลงไป เธอเชื่อว่า สิ่งที่ทำให้คนไทยเป็นเช่นนี้ มาจากพื้นฐานลักษณะนิสัย ภูมิประเทศ และค่านิยมทางศาสนา ซึ่งมีผลต่อชีวิตของคนไทยโดยตรง

“คนรักสนุก ไม่ซีเรียส ภูมิอากาศก็เป็นใจไม่ร้อนไม่หนาวทำให้ไม่ต้องดิ้นรน และพร้อมจะเป็นฝ่ายปรับตัวต้อนรับผู้มาเยือนมากกว่า ก็เลยทำให้คนไทยไม่เข้มแข็งต่อการแข่งขันและพัฒนาตัวเองออกสู่โลกภายนอก และเลือกอยู่กับที่มากกว่าที่จะออกไปผจญภัย ทั้งที่คนไทยทำอะไรได้ดีแต่พอถึงจุดที่ต้องฮึดก็จะหยุด”

ลักษณะเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการพัฒนาสู่การเป็นโกลบอลแมเนเจอร์ทั้งสิ้น เพราะโดยพื้นฐานแล้ว รศ.ดร.ศิริยุพา เชื่อว่า ลักษณะของคนที่พัฒนาไปสู่โกลบอลแมเนเจอร์ จะต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ชอบการแสวงหา หรือเป็นคนที่มองหาโอกาสใหม่เสมอ

“เรียกว่ามีวิญญาณของโคลัมบัส ประเทศที่มีคนเหล่านี้จำนวนมากส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีตำนานการล่องเรือ หรือเป็นนักล่าอาณานิคมเก่า ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน หรือประเทศแทบสแกนดิเนเวีย”

แต่คนเราสร้างกันได้ แม้จะมีพื้นฐานเป็นทุนแต่คนจากประเทศเหล่านี้ก็ต้องผ่านการพัฒนาเช่นกัน คนต่างชาติที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกส่วนใหญ่ล้วนเป็นผลมาจากการทำงานหนัก ที่สำคัญคือต้องเป็นคนที่มีความรู้ดีในหลายๆ ด้าน

รศ.ดร.ศิริยุพา สรุปเป็น How-to สำหรับคนไทยที่อยากพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นโกลบอลแมเนเจอร์ว่า อย่างน้อยในการเริ่มต้นควรจะต้องมีความรู้ครบด้านเสียก่อน เริ่มจากรู้โลก รู้ท้องถิ่น รู้จักตัวเอง และรู้จักคนอื่น หรือทฤษฏีที่เธอเรียกว่าทฤษฎี 4 K ดังนี้

หนึ่ง-World knowledge คือมีความรู้เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในระดับโลก สอง- Local knowledge ความรู้เกี่ยวกับประเทศของตัวเองว่ามีจุดดีจุดด้อยอย่างไร สาม-Self knowledge และ สี่- People knowledge รู้จักคนในแต่ละประเทศ

“2 เค แรกเป็นเรื่องเทคนิค เป็นโนว์ฮาว เป็นการเรียนรู้เรื่องสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจสังคมการเมือง แต่ 2 เค หลัง เหมือนซอฟต์แวร์ เป็นการเรียนรู้เรื่องคน ว่าคนแต่ละประเทศที่เราต้องไปบริหารจัดการ เป็นอย่างไร เพราะคนแต่ละที่คิดต่างกัน”

การเรียนรู้ทั้ง 4 เค บางส่วนก็ต้องได้รับการส่งเสริมจากองค์กรด้วย โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศที่ต้องการส่งพนักงานไปยังประเทศต่างๆ จะต้องมีโปรแกรมให้พนักงานเพื่อเตรียมความพร้อมให้ครบทุกด้าน

“การไปทำงานต่างประเทศไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นโกลบอลแมเนเจอร์ได้เลย บริษัทก็ต้องมีส่วนสนับสนุน จัดโปรแกรมเหมือนนักบินต้องมีผู้ช่วย ตัวอย่างคนญี่ปุ่นที่มาเมืองไทยทุกคนจะรู้แหล่งชุมนุมของพวกเขา มีระบบเรียนรู้เศรษฐกิจ สังคม และค่านิยมของคนไทย ลูกจะเข้าเรียนที่ไหน ภรรยาจะเข้าสังคมอย่างไร บริษัทจะมีคู่มือให้”

คู่มือที่ว่านั้น บางครั้งลึกซึ้งถึงขนาดว่า ทำอย่างไรถึงจะให้ผู้บริหารที่ไปทำงานในแต่ละพื้นที่ เข้าไปสร้างสัมพันธภาพกับนักการเมืองท้องถิ่นระดับประเทศควบคู่ไปกับการทำธุรกิจกันเลยทีเดียว

ถ้านึกภาพไม่ออก ลองนึกถึงตัวอย่างการทำธุรกิจของบริษัทข้ามชาติในบ้านเราที่เข้าไปสร้างสัมพันธ์กับองค์กรของรัฐในแง่มุมต่างๆ ดูก็ได้ เช่น การที่อินเทลร่วมมือกับกระทรวงไอซีที เพื่อสนับสนุนการใช้งานคอมพิวเตอร์ในกลุ่มเด็กนักเรียน หรือแม้แต่ตัวอย่างจากการที่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ฯพณฯ ราฟ แอล. บอยซ์ ก็ยังยอมรับว่า ในฐานะทูตท่านมีหน้าที่ต้องแนะนำผู้บริหารของบริษัทต่างๆ จากอเมริกาให้รู้จักวิธีสร้างสัมพันธภาพกับหน่วยงานเอกชนและรัฐบาลไทย พร้อมกับแนะนำสิ่งที่ควรและไม่ควรปฏิบัติให้ทราบในการพบปะกัน หรือแม้แต่ตัวท่านเองก็ไม่เคยว่างเว้นที่จะต้องเข้าหานักการเมืองระดับแถวหน้าของประเทศตามโอกาส กรณีต้องการความชัดเจนของข้อมูลด้านต่างๆ หรือจะดูตัวอย่างจากเครือซิเมนต์ไทยในการสร้างแรงจูงใจเพื่อส่งคนไทยไปทำงานต่างประเทศก็ถือเป็นการเริ่มต้นสร้างโกลบอลแมเนเจอร์เช่นกัน

การเรียนรู้แค่ 4 ข้อ ฟังดูไม่ยาก แต่ในรายละเอียดย่อมมีความซับซ้อนแตกต่างกันไปตามแต่ละที่ การเริ่มต้นปลูกฝังความเป็นโกลบอลแมเนเจอร์ของคนไทย หากเริ่มวันนี้ ยังไม่ถือว่าสายเกินไป เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แบรนด์ระดับโลกที่สะท้อนถึงองค์กรและตัวบุคคลได้โดยตรง ส่วนใหญ่ล้วนเป็นแบรนด์จากอเมริกาและยุโรป เช่น เมื่อเราพูดถึงซอสมะเขือเทศไฮนซ์ ทั่วโลกรู้จักว่าใครเป็นเจ้าของ นั่นคือรูปแบบความสำเร็จที่ชัดเจนของโกลบอลแมเนเจอร์

แต่แบรนด์จากเอเชียด้วยกัน ยังไม่มีใครที่โดดเด่นได้ครบทั้ง 3 องค์ประกอบ แม้ว่าหลายแบรนด์ประสบความสำเร็จในการก้าวสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก แต่เมื่อหันมามองบุคคลที่อยู่เบื้องหลังกลับกลายเป็นการยืมมือของคนจากฝั่งตะวันตกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เลโนโวของจีน ซัมซุงของเกาหลี หรือแม้แต่เรดบูลจากไทย

เพราะฉะนั้นเริ่มคิดจะก้าวสู่การเป็นโกลบอลแมเนเจอร์เสียแต่วันนี้ก็ยังไม่ถือว่าสายเกินไป

คุณสมบัติของโกลบอลแมเนเจอร์
-เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง
-เป็นต้นแบบได้
-สื่อสารได้
-มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสูง จะสามารถรับอะไรใหม่ๆ เข้ามา
-ถ้าสร้างบรรยากาศให้องค์กรแตกต่างได้ ก็จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้
-เน้นทักษะด้านคน
-คิดเป็นกลยุทธ์