เส้นทางของเอซี นีลเส็น ในไทย

เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสริตช์ (ประเทศไทย) คือชื่อล่าสุดของเอซี นีลเส็น ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง เอจีบีกรุ๊ป กับ นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2548 แต่ยังคงใช้ชื่อ “เอซี นีลเส็น” ในการเผยแพร่ข้อมูลมาถึงปัจจุบัน โดยชื่อใหม่นี้จะใช้ในการนำเสนอผลทีวีเรตติ้ง การรวมตัวกันครั้งนี้ทำให้เอจีบีกรุ๊ปเป็นเจ้าของการให้บริการทีวีเรตติ้งของนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ชทั้งหมด ยกเว้นในสหรัฐอเมริกา

บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เป็นบริษัทที่ได้เปิดให้ทำการสำรวจเรตติ้งของโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกบริษัทหนึ่ง โดยให้บริการด้านนี้มากว่า 20 ปี กับธุรกิจสื่อทาง TV ทั่วโลก ให้บริการข้อมูลของสื่อที่ครอบคลุมการให้บริการของ TV กับองค์กรธุรกิจสื่อทุกประเภท มีการติดตามข้อมูลเป็นนาทีต่อนาที สำหรับประเทศไทยมีบ้านตัวอย่างจำนวน 1,000 หลัง สำหรับการสำรวจเรตติ้งทีวี

ก่อนหน้าที่จะมาเป็นเอจีบี นีลเส็นฯ การสำรวจทีวีเรตติ้งในเมืองไทย เริ่มมีการจัดทำครั้งแรกเมื่อมีการจัดตั้งบริษัทดีมาร์ เมื่อปี 2513 เดิมเป็นเพียงแผนกวิจัยของบริษัทดีทแฮล์ม (ประเทศไทย) จำกัด ก่อนจะแยกตัวเป็นอิสระเมื่อปี 2514 และประมาณสิบปีที่ผ่านมา เอซี นีลเส็นก็เข้าซื้อกิจการจากดีมาร์ และเป็นผู้ทำสำรวจทีวีเรตติ้งแต่เพียงรายเดียวในไทยนับแต่นั้นมา

เอซี นีลเส็น เคยถูกท้าทายจากการเอเยนซี่ นักวิจัย และคนในวงการสื่อ ตั้งข้อสงสัยเรื่องความถูกต้องและเป็นธรรมของผลเรตติ้งทีวี จนถึงขั้นรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นคณะกรรมการร่วมอุตสาหกรรมโฆษณาขึ้นมาหลวมๆ (JIC : Joint Industry Committee) ประมูลใหม่หาบริษัทผู้รับผิดชอบการสำรวจเรตติ้งทีวีใหม่

ในที่สุด บริษัท เอซี นีลเส็น จำกัด ภายใต้ชื่อ นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (NNR) เป็นผู้ชนะ ได้จัดทำทีวีเรตติ้ง โดยทำสัญญา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2550 โดยเอซี นีลเส็นต้องยอมรับการตรวจสอบการทำงานจากบุคคลภายนอกที่ JIC แต่งตั้ง และต้องติดตั้งเครื่องมือใหม่เพื่อให้สามารถรายงานผลเรตติ้งได้ในวันถัดมา นอกจากนี้ต้องไม่มีการขึ้นอัตราค่าจ้าง

5 เงื่อนไขของ JIC
1. อายุสัญญา 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2548-2550 โดยมีเงื่อนไขว่าจะต่อสัญญาหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถและการดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา
2. มีการดำเนินการตรวจสอบการทำงานโดย Research Council ที่ JIC แต่งตั้งขึ้น เพื่อเป็นการรับประกันความเที่ยงตรงและยืนยันมาตรฐานการทำงานในระดับสากล
3. มีบทลงโทษถ้าหากไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาได้ โดยมีโทษต่ำสุดคือการลดราคาว่าจ้าง และสูงสุดคือเลิกจ้าง โดย รีเสิร์ช เคาน์ซิล จะเป็นผู้กำหนดกรอบการตรวจสอบ และบทลงโทษ
4. ติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ เพื่อใช้ดึงข้อมูลประมวลผล และรายงานผลการวิจัยได้ในวันถัดมา หรือ Day-to-Day
5. อัตราค่าจ้างจะไม่ปรับขึ้นภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้บริษัททำวิจัยเรตติ้ง มีความรับผิดชอบต่อตลาดสื่อโทรทัศน์ที่มีมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาทมากขึ้น

เส้นทางวิธีสำรวจเรตติ้งทีวีในไทย

การวัดผลสื่อโทรทัศน์ มักเรียกกันในวงการว่า TAM ซึ่งย่อมาจาก Television Audience Measurement

2523 วิธีการสำรวจเริ่มต้นจากการใช้ระบบ TV Diary ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลางเท่านั้น

2528 การใช้ระบบ TV Diary ก็ได้ถูกทดแทนด้วยการใช้เครื่องสำรวจ PEOPLE METER รุ่น 4800 ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด จากครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลางเท่านั้น

2540 เป็นปีที่มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยเครื่องสำรวจ PEOPLE METER รุ่น 4800 ได้ถูกทดแทนทั้งชุดด้วยเครื่องรุ่นใหม่ชื่อ ACN6000 เป็นจำนวนกว่า 1,200 เครื่อง และการสำรวจได้ขยายเขตจากเดิมกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง มาเป็นทั่วประเทศไทย จำนวน 865 ครัวเรือน และจากตัวแทน 3,600 คน

กุมภาพันธ์ 2545 กลุ่มตัวแทนได้ถูกเพิ่มจากจำนวนเดิม 865 มาเป็น 1000 ครัวเรือน และจำนวนตัวแทน เป็น 4,000 คน ซึ่งประกอบด้วยจำนวนเครื่องกว่า 1,400 ชุด ในการทำสำรวจทั่วประเทศไทย

มกราคม 2549 กลุ่มตัวแทนได้เพิ่มจากจำนวนเดิม 1,000 มาเป็น 1,430 ครัวเรือน และจำนวนตัวแทน เป็น 4,600 คน ซึ่งประกอบด้วยจำนวนเครื่องกว่า 2,100 ชุด ในการทำสำรวจทั่วประเทศไทย

เมษายน 2550 มิเตอร์ทั่วทั้งประเทศได้ถูกเปลี่ยนเป็นระบบออนไลน์มิเตอร์ ที่สามารถดึงข้อมูลเข้ามาที่บริษัทแบบวันต่อวัน ซึ่งเป็นการทำงานโดยระบบดึงข้อมูลแบบอัตโนมัติ และได้ให้บริการ ออนไลน์เรตติ้งแก่ลูกค้า ซึ่งลูกค้าสามารถรู้ข้อมูลของทีวีเรตติ้งที่ออกอากาศเมื่อวานนี้ได้

ที่มา : www.nielsenmedia.com

กระบวนการสำรวจเรตติ้งทีวี 7 ขั้นตอน

1. Establishment Survey
ขั้นตอนของการเริ่มสำรวจขนาดใหญ่ ด้วยวิธีการถามแบบสอบถามแบบ Face-to-Face เพื่อคัดเลือกลุ่มตัวแทนที่ถูกต้องขั้นตอนนี้จะใช้การสอบถามหรือการใช้แบบสอบถาม เพื่อนำมากำหนดคุณลักษณะของประชากรที่เราจะนำมาร่างเป็นกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งขนาดของการสร้างการสำรวจนั้น จะมีความสัมพันธ์กับขนาดของประชากร

2. The Panel
เป็นขั้นตอนที่ได้รายชื่อกลุ่มตัวอย่างที่แน่นอน มีความเหมาะสมซึ่งยอมรับจะติดตั้งเครื่องวัดเรตติ้งโทรทัศน์ที่บ้านของตนเอง

3. The Peoplemeter
เป็นเสมือนอุปกรณ์ช่วยในการหาค่าความนิยมในการชมทีวีอีกทางหนึ่ง เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถทราบได้ว่ากลุ่มตัวอย่าง ที่เราคัดมานั้นกำลังชมทีวีรายการใด ช่วงเวลาใด ฯลฯ อุปกรณ์ตัวนี้จะนำไปติดตั้งตามบ้านตัวอย่างเพื่อทำให้เราได้ค่าที่สามารถนำไปคำนวณทางสถิติได้ ปัจจุบัน The Peoplemeter ได้พัฒนาและปรับปรุงจนทำให้การเก็บข้อมูลที่ได้ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

4. Polling
การส่งผ่านข้อมูลเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่สำคัญซึ่งข้อมูลที่กล่าวถึงจะถูกส่งมาจาก The Peoplemeter ที่ถูกติดตั้งไว้ตามบ้านตัวอย่าง และถูกส่งผ่านมายังศูนย์กลางการประมวล โดยช่วงเวลาที่ข้อมูลจะถูกส่งมายังศูนย์กลางการประมวลจะเป็นเวลาระหว่าง 02.00 น. ถึง 06.00 น. โดยจะส่งผ่านทางสายสัญญาณโทรศัพท์ หรืออาจใช้ประโยชน์จาก GSM modem ที่ติดตั้งในหน่วยที่มีการส่งผ่านข้อมูล

5. Pullux
หัวใจสำคัญของกระบวนการทุกขั้นตอน เป็นการควบคุมฐานข้อมูลโดยรวม และทำให้ข้อมูลมีความถูกต้อง การวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ชมทีวี ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือข้อมูลของผู้ชมรายการทีวี โดยเจาะจงสมาชิกในบ้านตัวอย่างโดยตรง ซึ่งสามารถรายงานผลเป็นนาทีต่อนาที และ 365 วันต่อปี

6. TV Events
ข้อมูลของการสำรวจความนิยม ในการชมทีวีด้วยระบบแบบนี้ ข้อมูลที่ได้จะไม่ได้มีเฉพาะข้อมูลของผู้ชมรายการทีวีโดยเฉพาะเท่านั้น แต่ข้อมูลที่ได้ยังรวมไปถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรายการทีวี เช่น Spot โฆษณา, ช่วงเวลาในแต่ละรายการ ฯลฯ ซึ่งทำให้ข้อมูลที่ได้มีความชัดเจนมากขึ้นไป

7. Analysis Software
ซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Arianna ช่วยทำให้การวิเคราะห์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยรายงานผลให้ถูกต้องชัดเจน

ที่มา : www.agbnielsen.net