“Walking Street Mall” สยามสแควร์

ความเปลี่ยนแปลงที่เซ็นเตอร์พ้อยท์ เป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาพื้นที่ที่ดร.บุญสมบอกว่า ได้วาง Positioning ของสยามสแควร์ให้เป็น “Walking Street Mall” แห่งแรกของประเทศไทย ที่มีคอนเซ็ปต์ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้า หรือที่เรียกว่า Pedestrian Priority โดยการปรับภูมิทัศน์ให้ร่มรื่น และไม่มีรถวิ่งผ่านในพื้นที่ จากเดิมภาพของสยามสแควร์จะมีเพียงตึกแถว และบางมุมเป็นมุมอับ ซอกซอยที่ภูมิทัศน์ไม่ดีนัก เช่น ที่วัยรุ่นเรียกกันว่าตรอกหนูดำ และ ซอยแมลงสาบ

จากแผนการเน้นให้เป็นแหล่งคนเดินช้อปปิ้งนั้น ดร.บุญสมบอกว่าได้พัฒนาจุดต่างๆ ภายในสยามสแควร์แล้วคือ ลาน 2 บริเวณหน้าร้านฮาร์ดร็อค ที่เป็นลานกว้างให้เด็กมาแสดงออก หรือกิจกรรมอื่น เช่น ลานคอนเสิร์ต ได้ปรับทางเท้าในซอย 3 และ 4 ให้เป็นทางเชื่อมระหว่างกัน โดยไม่มีรถยนต์มาขวาง และมีฟุตบาทกว้างขึ้น

ภายในต้นปี 2551 จะปรับภูมิทัศน์ ให้ทางเท้ากว้างขึ้น มีเก้าอี้นั่งพักผ่อนและต้นไม้ที่ร่มรื่น ในบริเวณทางเข้าด้านถนนอังรีดูนังต์ และตลอดเส้นของซอย 7 ใช้งบประมาณรวม 20 ล้านบาท จากเดิมที่ทางเข้าด้านถนนอังรีดูนังต์เป็นเหมือนหลังบ้านของสยามสแควร์ แต่หลังปรับภูมิทัศน์แล้วจะสวยงาม และเป็นหน้าบ้าน เพราะส่วนนี้สามารถเชื่อมต่อจากเซ็นทรัลเวิลด์ได้

และส่วนสุดท้ายที่เตรียมประมูลหาผู้รับเหมา คือบริเวณบล็อก L หรือบริเวณร้านสุกี้แคนตัน ก่อสร้างเป็นอาคารจอดรถ 10 ชั้น สำหรับจอดรถได้ 800 คัน งบลงทุน 800 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน มี Sky Walk เชื่อมต่อมาจากรถไฟฟ้าบีทีเอส บริเวณเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งพื้นที่นี้ในอนาคตหลังก่อสร้างอาคารจอดรถเสร็จแล้ว จะประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างโรงแรมขนาด 3 ดาวครึ่ง ขนาด 25 ชั้น 400 ห้อง โดย 3 ชั้นล่างจะเป็นร้านค้า และโรงเรียนกวดวิชา

นอกเหนือจากนี้ ดร.บุญสมบอกว่ามีความฝันส่วนตัวว่าอยากทำ Sky Walk เชื่อมอาคารหลักๆ ในสยามสแควร์ โดยเฉพาะจากอาคารจอดรถ ด้านหน้าถนนอังรีดูนังต์ มายังเซ็นเตอร์พ้อยท์ ผ่านดิจิตอล เกตเวย์ เพื่อเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งความฝันส่วนตัวนี้ ดร.บุญสมคงต้องเจรจากับทิพย์พัฒนอาร์เขตเพิ่มเติม