“การโกหกที่ยิ่งกว่าการโกหก ก็คือสถิติ”

ดร.นพดล กรรณิกา
ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์

เอแบคโพลล์เริ่มปรับปรุงองค์กรเพื่อให้เป็น “มากกว่าโพลล์” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยเป้าหมายว่า อยากให้ประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าตัวเลขสถิติจากผลเซอร์เวย์ที่ส่งผ่านสื่อให้ประชาชนรับทราบเพียงอย่างเดียว โดยคิดจะมีแนวคิดที่สังคมสามารถนำผลวิจัย และสถิติที่ได้ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และการตลาด ได้อย่างถูกต้อง รวมถึงมีความรู้เท่าทันข้อมูลสถิติต่างๆ ที่ประดังเข้ามาในแบบที่แยกแยะความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม

ทำไมจึงต้องมีการพัฒนาไปสู่การทำงานที่มากกว่าการทำโพลล์

มองในแง่หนึ่งโพลล์ก็ค่อนข้างผิวเผิน แต่มองอีกด้านหนึ่งก็เหมือนกับเรามีคลังข้อมูลที่สำรวจไว้และสามารถนำไปต่อยอดได้ เพราะการตัดสินใจอะไรถ้าต้องทำด้วยความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง หรือฟังข้อมูลจากคนเพียงไม่กี่คนจะเป็นเรื่องเสี่ยงต่อการตัดสินใจผิดพลาดได้มาก แต่ถ้ามีข้อมูลสถิติในการช่วยตัดสินใจ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการตัดสินใจผิดพลาดน้อยลง

จะมีวิธีอะไรในการดูว่าข้อมูลสถิติที่ได้มานั้นถูกต้องแค่ไหน

ต้องพิจารณาว่ามีคุณภาพแค่ไหน มีคำพูดที่แปลมาจากภาษาอังกฤษได้ว่า “การโกหกที่ยิ่งกว่าการโกหกก็คือสถิติ” หมายถึงมีความเป็นไปที่มีอาจจะมีข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพหลุดออกมา เพราะฉะนั้นผู้รับข้อมูลจึงต้องดูก่อนว่าข้อมูลสถิติจากการวิจัย การทำโพลล์นั้นๆ มีที่มาของแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและมีความแม่นยำมากน้อยเพียงไร

นั่นเป็นส่วนหนึ่งหรือเปล่าที่ทุกสำนักพยายามแบรนดิ้งและสร้างจุดยืนให้รู้ว่า นี่คือวิจัยหรือสำรวจ ของ เอแบคโพลล์ สวนดุสิต หอการค้า หรือเอซีนีลเส็น

ใช่

ความน่าเชื่อถือของตัวแบรนด์ ช่วยตอกย้ำความน่าเชื่อถือของสถิตินั้นด้วยไหม

ถ้าเป็นความรู้สึกส่วนตัวของผม ไม่คิดว่าแบรนด์เป็นตัวตอกย้ำความน่าเชื่อถือในตัวข้อมูล แต่ความเคร่งครัดต่อระเบียบวิธีวิจัย ความรู้ความสามารถ และการนำความรู้ความสามารถของนักวิจัยมาใช้เป็นตัวสำคัญที่ทำให้ผลที่ออกมาน่าเชื่อถือถูกต้องแม่นยำแค่ไหน

เอแบคโพลล์เน้นที่วิธีการวิจัย

ใช่ เพราะสิ่งที่เราย้ำมาแต่แรกคือการบอกว่า ข้อมูลทางสถิติก็เหมือนเป็นขยะของข้อมูลอย่างหนึ่ง ถ้ายิ่งนำขยะเข้าไปมันก็มาเป็นขยะและจะเป็นขยะที่แย่ลงกว่าเดิม หมายถึง สถิติข้อมูลทางสถิติอาจจะเป็นขยะที่แย่กว่าเดิม ถ้าขบวนการเป็นขบวนการที่นำมาใช้แล้วมีปัญหา ระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้มีปัญหา คนที่นำระเบียบวิธีมาใช้เป็นคนมีปัญหา รวมทั้งคนที่นำระเบียบวิธีวิจัยมาใช้แต่มีความรู้ไม่เพียงพอก็จะมีปัญหาต่อข้อมูล เพราะฉะนั้นการทำวิจัยหรือการทำโพลล์ จึงจำเป็นที่จะต้องดูทั้งระเบียบวิธีการวิจัยที่ใช้ คนที่นำระเบียบวิธีวิจัยไปใช้ รวมทั้งทีมงานที่ออกไปเก็บข้อมูล ต้องดูทุกส่วนประกอบกันแล้วมาวิเคราะห์

การที่จะได้ผลวิจัยมา ผมย้ำมาตั้งแต่เปิดสำนักงานมาตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้วว่า ไม่ใช่ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ไม่มีขั้นตอนใดสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าขั้นตอนใดมีปัญหาก็จะกระทบต่อการกระทำทั้งหมด ที่บอกว่าถ้าป้อนเป็นขยะเข้าไปก็คือ ถ้าขั้นตอนตั้งแต่การไปเก็บข้อมูลมีปัญหา ข้อมูลที่ได้มามีปัญหา จะออกแบบสอบถามดีอย่างไร ขั้นตอนดีอย่างไรก็ตาม ถ้ากระบวนการเก็บข้อมูลมีปัญหา ข้อมูลทุกอย่างก็มีปัญหาทั้งสิ้น นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการทำวิจัยหรือการทำงานทางสถิติถ้าเป็นขยะตั้งแต่แรกก็จะนำไปสู่ข้อมูลที่ใช้ไม่ได้

แม้แต่กระบวนการในส่วนนักวิจัยยังมีปัญหา แล้วถ้าข้อมูลไปถึงประชาชนๆ จะเข้าใจหรือแยกแยะได้อย่างไรว่าข้อมูลที่ได้มีคุณภาพเพียงพอหรือไม่

นี่คือปัญหาของสังคมไทย มีปัญหาแม้กระทั่งในกลุ่มนักวิชาการเอง ที่มีความเข้าใจไม่เพียงพอต่อเรื่องการทำโพลล์และวิจัย ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติและเรียนรู้ร่วมกัน

ถ้าตราบใดคนไทยไม่ตื่นตัวเพื่อให้รู้เท่าทันกับข้อมูลที่ตัวเองได้รับ ก็จะทำให้สังคมมีปัญหาความวุ่นวายอยู่เป็นแบบนี้ต่อไป แต่ถ้าตื่นตัวมีการศึกษาหาความรู้ในข้อมูลที่ได้รับแต่ละวัน ว่าข้อมูลมีที่มาที่ไปอย่างไร มีการตื่นตัวในเรื่องนี้ ก็ทำให้คนไทยรู้เท่าทันข้อมูลแต่ละชุดที่ออกมา ที่สำคัญเราจะไปถึงจุดที่ทำให้ประชาชนตื่นตัวได้ ต้องให้สื่อตื่นตัวเองก่อน สื่อมวลชนในฐานะที่เป็นตัวกลางนำข้อมูลไปยังประชาชน ถ้าตื่นตัวรู้เท่าทันข้อมูลการวิจัย มีความรู้ที่ดีพอต่อเรื่องคุณภาพข้อมูลที่ปรากฏ ก็จะช่วยสังคมให้รู้เท่าทันตามไปด้วย แต่ถ้าเรามีปัญหาตั้งแต่คนทำโพลล์ ชาวบ้าน สื่อ ตรงนี้สังคมไทยต้องเร่งรีบ แก้ไข รู้เท่าทัน ต่อคุณภาพข้อมูลจากโพลล์ สำรวจ และวิจัย ถ้าเป็นแบบนี้การทำวิจัยก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นใครทำ

ปัญหาของสังคมไทยคือทุกคนติดแบรนด์ พอเป็นเอแบค สวนดุสิต เอซีนีลเส็น ทุกคนเชื่อ แต่พอเป็นผู้วิจัยใหม่ๆ ก็จะมีข้อสงสัยบ้างว่าจริงหรือเปล่า คือเชื่อที่คนทำมากกว่าเชื่อข้อมูลที่ออกมาโดยผ่านการพิจารณา แต่ดูก่อนว่าใครทำ

ใช่ อันนี้เป็นสัญญาณที่อันตราย ที่ส่งผลไปยังสังคมไทยว่า เป็นสัญญาณที่จะลดทอนหรือทำลายกระบวนการเรียนรู้ของคนไทยที่มีปัญหา เดิมก็มีปัญหาอยู่แล้ว ยิ่งทำให้เป็นปัญหามากขึ้นไปใหญ่

ที่ผมเน้นก็คือสื่อต้องตื่นตัวเพื่อเรียนรู้ว่าข้อมูลแต่ละชุดได้มาอย่างไรก่อนจะเสนอผลเพราะต้องการขายข่าว

ตัวอย่างเช่น ผลวิจัยที่ได้จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างทางโทรศัพท์แต่เป็นผลที่เป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ สื่อก็ต้องรู้ว่าผู้มีโทรศัพท์มีจำนวนเท่าไรเพียงพอที่จะเป็นตัวแทนของกลุ่มตัวอย่างหรือไม่ หรือใช้วิธีสัมภาษณ์กลุ่มไม่กี่คน แล้วมาแปรค่าเป็นเชิงปริมาณแล้วตีค่าว่า 80-90% ของกลุ่มตัวเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องผิด แต่สื่อไม่สนใจวิธีที่ได้มาของผลนอจากอรรถรสของข่าวที่ได้จากผลวิจัย

ล่าสุด เอแบคโพลล์ทำเรื่องกิ๊ก สื่อพาดหัว ประชาชนกว่า 90% มีกิ๊กเพิ่มขึ้น ถ้าอ่านแค่พาดหัวทุกคนก็จะเข้าใจว่าสังคมไทยนิยมมีกิ๊ก ความจริงคือความรู้สึกของกลุ่มตัวอย่างรู้สึกว่าคนไทยมีกิ๊กเพิ่มขึ้น แต่คำอธิบายถูกละไว้ ทำให้เกิดความเข้าใจสับสนและคลาดเคลื่อน ข้อดีมีเพียงทำให้คนสนใจข่าว แต่ก็ไม่มีประชาชนสงสัยมากพอที่จะติดต่อสำนักโพลล์เพื่อขอฉบับเต็มเพื่อพิจารณาดูข้อมูลที่ถูกต้อง

อย่างนี้ถ้าเป็นผลวิจัยที่มุ่งหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจยิ่งปั้นแต่งกันได้

ใช่ การปั้นแต่งขึ้นอยู่กับหลายๆ องค์ประกอบ แต่บางครั้งผู้ทำวิจัยอาจไม่ได้มีเจตนาปั้นแต่งทางธุรกิจ แต่ด้วยความซื่อหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของนักวิจัย ที่ต้องทำตามวัตถุประสงค์การวิจัยที่ถูกสร้างโดยนักธุรกิจที่ป้อนงานวิจัยให้ หรือขีดเส้นให้กับนักวิจัยๆ ก็ซื่อกับระเบียบวิธีวิจัยที่ตัวเองใช้ และโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่อเจตนาของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ก็เป็นไปได้ ทำให้ภาพออกมาเป็นไปตามที่กลุ่มธุรกิจต้องการ

กรณีการผลวิจัยการวัดเรตติ้งทีวีและสื่อต่างๆ ที่บางครั้งเกิดกรณีค้านสายตาประชาชนแต่เป็นเพราะมีผลต่อธุรกิจ บริษัทวิจัยมีชื่อเสียง แต่กลับไม่มีใครค้านอย่างจริงจัง อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

ความจริงเป็นเพราะสังคมไทยก็ยอมรับและขาดการเรียนรู้ที่ดี กลุ่มทุนที่ต้องการนำเสนอโฆษณาตัวเองก็จะไปอิงกับผลวิจัย ซึ่งทราบมาว่า บริษัทที่ทำวิจัยเกี่ยวกับสื่อก็ไม่ยอมเปิดเผยวิธีวิจัยที่แท้จริงออกมา หรือเปิดโอกาสให้นักวิจัยศึกษาว่ามีปัญหาไม่ครอบคลุมด้านใดบ้าง
เท่าที่ทราบบริษัทวิจัยเกี่ยวกับสื่อบางแห่ง ไม่ได้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่เหมาะสมกับโครงการ เช่น ไม่ครอบคลุม ขนาดตัวอย่างมีปัญหา กลุ่มตัวอย่างก็ไม่ได้มีลักษณะของการเป็นตัวแทนที่ดี แต่ไม่ว่าผลวิจัยออกมาอย่างไรบริษัทต่างๆ ก็เชื่อตามนั้น อีกเหตุผลหนึ่งคงเพราะไม่มีคู่แข่งเบอร์สอง เบอร์สาม ที่เข้ามาสร้างความน่าเชื่อถือด้านงานวิจัยให้ทัดเทียมกันได้

เป็นปัญหาที่ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องยอมรับวิจัยที่มีอยู่เจ้าเดียว

ใช่

ปัญหาที่สองก็คือว่า ความรู้ความเข้าใจของสื่อต่อบริษัทที่ทำโฆษณาก็มีจำกัด ไม่สามารถโต้แย้งเพราะความเข้าใจที่มีต่อระเบียบวิธี ต่อการได้มาซึ่งข้อมูล มีจำกัด หรือมีไม่เพียงพอ หรือไม่มีเลย ส่งข้อมูลอะไรมาก็ตามนั้น

ผิดกับในสหรัฐอเมริกา ทั้งธุรกิจสื่อ บริษัทวิจัย บริษัทเอเยนซี่ ต่างตื่นตัวที่จะส่งคนของตัวเองไปศึกษาด้านระเบียบวิธีวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สอนเรื่องระเบียบวิธีวิจัย เพื่อหาความรู้และวิธีการที่ถูกต้อง และรู้ทันกันทุกฝ่าย

ทำไมบริษัทวิจัยสื่อในไทยถึงไม่มีคู่แข่ง

เท่าที่ทราบ เคยจะมี แต่โดนอะไรบางอย่างแล้วเลิกไป สาเหตุหนึ่งที่ได้ยินเป็นข่าวลือไม่ทราบจริงไม่จริงก็คือ การที่บริษัทดังกล่าวถูกเทกโอเวอร์เครื่องมือวัด (พีเพิลมิเตอร์) จึงปิดตัวไป

การไม่มีคู่แข่งเหมือนกับว่าสังคมไทยไม่ได้ประโยชน์จากการมีบริษัทวิจัยเข้ามาตรวจวัด แต่บริษัทได้ประโยชน์ทางธุรกิจไปเต็มๆ

ถ้าพูดถึงผลกระทบต่อสังคมไทยอาจจะกว้างเกินไป แต่ที่ได้รับผลกระทบแน่ๆ คือสื่อที่ถูกวัด ที่ผ่านมาก็มีเข้ามาหาผมเป็นระยะๆ ทำนองว่าไปที่ไหนก็มีคนพูดถึงแต่รายการผม แต่พอผลวัดเรตติ้งออกมาไม่มีชื่อรายการผมเลย ซึ่งจะหาข้อเท็จจริงได้ก็ต้องเข้าไปดูที่ระเบียบวิธีวิจัยว่าได้มาอย่างไร

ผลกระทบที่รายการนั้นๆ ได้จากผลวิจัยมีอะไรบ้าง

รายการนั้นก็จะถูกผู้บริหารสถานีต่างๆ พิจารณาว่าจะไปไหวไหม จะคงรายการไว้ไหม ผลกระทบแรกที่โดนบริษัทโฆษณาก็จะอ้างว่ารายการไม่ติดอันดับ เริ่มจากถูกต่อรองด้วยราคาหรือถึงขั้นถอนโฆษณา ไม่มีโฆษณาเข้ารายการนั้นก็อยู่ไม่ไหว

แบบนี้จะแนะนำวิธีแก้ปัญหาให้เขาอย่างไร

ก็ต้องไปพบกับผู้ทำวิจัยว่าวิธีการเป็นอย่างไร วิธีการสมเหตุสมผลหรือไม่ อาจจะจริงไม่จริงตามที่วิจัยมาก็ได้ ต้องพิสูจน์ แต่คำตอบคือไม่ค่อยบอก ไม่ค่อยชี้แจง นี่คือข้อเสียของการผูกขาดในทุกๆ เรื่อง คนที่ผูกขาดได้ก็สามารถสงวนความเป็นจริงที่ทำไว้ได้ ก็ต้องมาแก้ด้วยตัวเอง

เช่น ไปทำเซอร์เวย์กับเอเยนซี่ดูว่ายอดขายสินค้าที่มาซื้อแอดช่องที่เรตติ้งต่ำกว่าตกไหม วัดได้จากการเซอร์เวย์ให้คนตอบว่า เคยเห็นสินค้าที่ช่องไหน จะยิ่งวัดง่ายเลยทีเดียวถ้าสินค้าตัวนั้นอยู่ช่องนั้นช่องเดียว เท่านี้ก็แฮปปี้แล้ว บริษัทวิจัยสื่อจะทำวิจัยมาอย่างไรก็ไม่ต้องสนใจเพราะขายของได้

หรือกรณีถ้าได้รับความเสียหายมาก จากผลกระทบจากงานวิจัยก็ต้องตรวจสอบ ถ้าเขาไม่ยอมก็ต้องอาศัยกฎหมายไปบังคับให้เขาเปิดเผย แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบ เพื่อว่าระเบียบวิธีที่ใช้ถูกต้องหรือไม่

ทำไมมีเดียแพลนเนอร์ต้องอิงผลวิจัยแบบขาดไม่ได้

เพราะเขาไม่มีทางเลือกอื่นถูกผูกขาดอยู่รายเดียว

การที่แต่ละบริษัทมีหน่วยวิจัยเพื่อทำเป็นครอสเช็กก็เป็นสิ่งที่ดีที่ควรจะมีข้อมูลแหล่งอื่นมาคาน ก็ขึ้นอยู่ว่าบริษัทโฆษณาจะเชื่อใคร เพราะบริษัทที่ทำวิจัยสื่อเขาไม่สนใจหรอกว่าคุณจะแย้งด้วยเหตุผลด้วยระเบียบวิธีหรืออะไร ถ้าตราบใดยังมีคนซื้อข้อมูล ซื้องานวิจัยเขาอยู่

ทางออกที่ดีที่จะทำให้บริษัทวิจัยสื่อต้องตื่นตัว ต้องเปิดตัว ชี้แจ้งให้มากขึ้น ก็ต้องให้ผู้ที่ไปซื้อข้อมูลจากเขา ซื้อน้อยลง พอขายได้น้อยลงเขาก็จะต้องโดนบริษัทแม่ตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นในเมืองไทย ทำไมเกิดปัญหานี้ขึ้น นี่เป็นทางหนึ่งที่ทำให้บริษัทวิจัยสื่อชี้แจ้งมากขึ้น ทำงานหนักมากขึ้น

กรณีผลวิจัยเรตติ้งของเอซีนีลเส็นเท่าที่พบส่วนใหญ่คนสงสัยในขั้นตอนไหนกันบ้าง

ของเอซีนีลเส็นที่เอาบ็อกซ์ไปไว้ตามบ้าน บ็อกซ์ก็คือ พีเพิลมิเตอร์ ติดกับโทรทัศน์มาพร้อมกับรีโมต ก่อนเปิดทีวีคนที่ดูก็ต้องป้อนข้อมูลว่า ผู้ใช้รีโมตเป็นใคร อายุเท่าไร

กรณีผลของเรตติ้ง เป็นประเด็นคำถามของสื่อบางสถานีว่าขนาดตัวอย่างเพียงพอไหม ผู้ที่มาเป็นกลุ่มตัวอย่างมีลักษณะที่สอดคล้องกับลักษณะประชากรหรือไม่ เพียงไร ความคลาดเคลื่อนเท่าไร วิธีเลือกตัวอย่างเป็นวิธีอะไร

ถ้าผมมีโอกาสได้ทราบขั้นตอนต่างๆ จะสามารถให้ข้อคิดเห็นว่าเป็นอย่างไร แต่จากประสบการณ์ที่เคยคุยกับเพื่อนที่อเมริกา เอซีนีลเส็นมีวิธีการเลือกตัวอย่างถูกหลักระเบียบวิธีการวิจัยการเลือกตัวอย่าง คือทุกคนมีโอกาสถูกเลือก บอกความคลาดเคลื่อนได้

แต่พอมาเมืองไทยจากวิธีการที่ผมพบมา ฐานข้อมูลประชากรที่มีอยู่ของไทยยากที่จะทำแบบในสหรัฐอเมริกาได้ ในแง่ของการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณภาพเพียงพอ

ส่วนขนาดตัวอย่างต้องขึ้นกับวัตถุประสงค์การวิเคราะห์ข้อมูล ถ้าต้องการภาพรวมทั่วประเทศ ไม่ได้จำแนกรายอายุ รายภาค ขนาดประชาการ 1,200 ตัวอย่างก็น่าจะเพียงพอ แต่ต้องย้ำว่าขึ้นอยู่กับวิธีการเลือกตัวอย่าง เพราะถ้าวิธีการเลือกตัวอย่างไม่ได้คำนึงถึงสถิติในการเป็นตัวแทน จะเก็บมาเป็นหมื่นก็ไม่สามารถทำได้

การเลือกตัวอย่างที่ดีต้องทำอย่างไร

ต้องให้โอกาสทุกครัวเรือนในประเทศมีโอกาสถูกเลือก สมมติคนที่นั่งอยู่ในห้องๆ หนึ่งไม่ว่าใครก็ต้องมีโอกาสถูกเลือก วิธีที่ง่ายที่สุดก็อาจจะเอาชื่อทุกคนเขียนใส่โหลแล้วจับฉลาก แต่ปัญหาอยู่ที่เราไม่มีฐานข้อมูลครัวเรือนที่ครบในระดับห้องแถวในแต่ละชุมชน ไม่เหมือนกับฐานข้อมูลของอเมริกาที่ลงลึกระดับบล็อกของแต่ละถนนในแต่ละเมือง ฐานข้อมูลในเมืองไทยมากสุดที่มีตอนนี้ก็แค่ระดับตำบล ถ้าจะได้ลึกกว่านั้นต้องสร้างฐานข้อมูลขึ้นมา ซึ่งยังพบว่ามีบริการสาธารณะ จึงต้องดูว่าฐานข้อมูลที่เอซีนีลเส็นใช้ในการเลือกตัวอย่างเหล่านี้เป็นอย่างไร ถ้ารู้จึงจะสามรรถวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่ากลุ่มตัวอย่างถูกเลือกอย่างถูกต้องหรือไม่

ที่ผ่านมาทำไม่มีการสอบถาม

เท่าที่ทราบที่ผ่านมาเคยมีคนสอบถามไป แต่จะได้รับการชี้แจงแบบกว้างๆ ไม่ได้ลงรายละเอียด กรณีถ้ามีการชี้แจงโดยให้ผู้รู้ร่วมฟังจะเป็นสิ่งดี ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพ แต่ถ้าชี้แจ้งแล้วพบปัญหาแบบนี้จริงๆ ก็จะเกิดผลกระทบต่อสถานะของผู้ทำวิจัยได้
สิ่งที่สำคัญต้องรู้กระบวนการได้มาซึ่งข้อมูล ถ้าไม่รู้ก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์บนความไม่รู้

ของเอแบคเคยถูกสงสัยไหมว่า ผลวิจัยที่ออกมาเชื่อได้จริงหรือเปล่า

อะไรที่เป็นข้อมูลสาธารณะมันเป็นปกติที่จะเกิดข้อสงสัยได้ มีทั้งคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย คนเห็นด้วยก็อาจจะเชื่อจากประสบการณ์ที่เคยสัมผัสมา บางคนเชื่อโดยการฟัง บางคนเชื่อเพราะมีคนรู้จักพูดคุยบอกต่อ คนไม่เห็นด้วยก็ต้องถาม บางคนไม่เชื่อเพราะแม้ว่ามีประสบการณ์ แต่ผลนั้นมันไปกระทบต่อผลประโยชน์ก็ต้องมีการต่อต้าน ทั้งที่รู้ว่าคนทำวิจัยนั้นเขาทำด้วยวิธีการอะไร และเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวกับกลุ่มผลประโยชน์อย่างไร หรือต่อต้านเพราะเขาไม่รู้จักผู้ทำวิจัย ก็เป็นไปได้

แต่เมื่อมีคำถาม ในฐานะที่เราเป็นสถาบันก็ต้องชี้แจ้งและทำให้เกิดการเรียนรู้ในสังคม

ในสังคมไทยมีนักวิจัยจำนวนไม่น้อย ทำไมไม่มีใครคิดตั้งบริษัทวิจัยแข่ง เพราะอะไร

ยากเหมือนกัน เพราะการจะทำงานวิจัยให้มีความน่าเชื่อถือต้องมีทรัพยากรที่มากเพียงพอ ใช้เงิน ใช้กำลังคน และต้องมีวัสดุอุปกรณ์ที่พร้อม

กับงานวิจัยที่ไม่ถูกต้องเป็นไปได้ไหมที่จะมีการรวมตัวของนักวิจัยเพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้น

โดยทางวิชาการสามารถกระแทกได้ ดีด้วย มีประโยชน์ทำให้เกิดการตื่นตัว แต่ก็ไม่ค่อยปรากฏในเมืองไทยเท่าไร แต่ต่างประเทศมีเป็นประจำ ถ้าผลวิจัยผิด เราต้องให้ประชาชนเรียนรู้

อย่างไรก็ตาม อาจารย์นภดล ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า สำหรับการพิจารณาผลวิจัยใดๆ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยจากแหล่งใด สิ่งที่ทุกคนควรตระหนักไว้เสมอก็คือ “อย่าไปยึดมั่นถือมั่น แต่ก็อย่ามองข้าม” แต่มองให้เป็นข้อมูลชุดหนึ่งที่มาประกอบกับแหล่งความเป็นจริงอื่น เพราะต่อให้ทำดีอย่างไร ทุกงานวิจัยก็มีโอกาสผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ในทุกขั้นตอน