Top 50 Young Executives

นับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่นิตยสาร POSITIONING เปิดให้ผู้อ่านโหวตคัดเลือก Top 50 Young Executives ประจำปี 2550

ความพิเศษของ 50 Young Executives ปีนี้ คือการเลือกสรรนักบริหารรุ่นใหม่ 8 คนมานำเสนอ เขาเหล่านี้ ถือเป็นไฮไลต์ทั้งทางด้านแนวคิด การวาง Positioning ของแต่ละคน แม้ผู้บริหารบางคนนิตยสาร POSITIONING เคยสัมภาษณ์มาแล้ว แต่ปีนี้บทบาทของคนเหล่านี้โดดเด่นขึ้นมา มีแง่มุมที่น่าวิเคราะห์ น่าค้นหา ในหน้าที่การงานซึ่งเขาดูแลและรับผิดชอบ

มีข้อสรุปบางอย่างที่ Young Executives ปีนี้ดูแตกต่างและพิเศษกว่าทุกปี คือ ผู้บริหารที่ได้รับการโหวตเข้าอันดับในแต่ละหมวด ห
ลายคนมีคาแร็กเตอร์ที่ไม่เหมือนผู้บริหารรุ่นก่อนๆ ภาพเดิมๆ ของนักบริหารใส่สูทผูกไท ก้มหน้าทำงานอย่างเดียว แทบไม่มีให้เห็น มีหลายคนปรับบุคลิกตัวเองให้เข้ากับแบรนด์ที่ตัวเองทำอยู่ บางคนถึงขั้นถอดสูท ใส่เสื้อยืด ทำตัวติดดิน

จุดร่วมที่คล้ายคลึงกัน คือ ความคิดในมุมมองถึงตลาด Mass ที่นักบริหารเหล่านี้ต่างมีวิถีความคิดใหม่ มองเห็นช่องทางตลาด และเต็มไปด้วยกลยุทธ์ใหม่ในการทำตลาดให้เข้าถึงลูกค้า

เริ่มจาก พาที สารสิน นักบริหารสายการบินนกแอร์ Young Executives ที่ได้คะแนนโหวตสูงสุดในปีนี้ โปรไฟล์ชีวิตของเขาดูจะจืดลงไปแล้ว เพราะมีสื่อมากมายที่เขียนถึงเขา แต่ในมุมการทำงานของพาทีในขณะนี้ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เขากลายเป็นโมเดลของคน “กล้าได้ บ้าดี” สร้างแบรนด์นกแอร์ให้ดูสนุกสนาน สิ่งที่พาทีทำอยู่ ท้าทายในความหมายของคำว่า แบรนดิ้ง ทั้งโปรดักส์และตัวตนของเขา

ธนา เธียรอัจฉริยะ นักบริหารทางการตลาดของดีแทค โปรไฟล์ชีวิตของเขาก็ไม่แตกต่างจากพาทีที่มีคนเขียนตัวตนของเขามาก แต่การนำเสนอด้วยประเด็นสัมภาษณ์แบบเจาะลึกถึงบทบาทที่ใครๆ ชอบเรียกเขาว่า นักแบรนดิ้งระดับมืออาชีพ สร้างบุคลิกทั้งการแต่งกาย ด้วยการใส่เสื้อยืด สะพายเป้ ล้วนเป็นแง่มุมเล็กๆ แต่สะท้อนให้เห็นถึงการเชื่อมต่อกับแบรนด์ที่เขาทำ และแนวคิดของเขาเป็นเรื่องใครก็ใคร่รู้

เช่นเดียวกับ บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ นักบริหารบนโลกเอนเตอร์เทนเมนต์ ที่ติดอันดับการโหวตของนิตยสาร POSITIONING แทบทุกปี เขาคือผู้จุดประกายละครเวทีเมืองไทยให้กับมาเปรี้ยงปร้าง และได้รับความนิยมอย่างมาก แนวคิดของเขาในวันนี้จึงเต็มไปด้วยที่น่าค้นหา

ใครจะรู้บ้างว่า นักบริหารหลังม่านความสำเร็จอย่าง อรรถพล ณ บางช้าง ผู้ปลุกปั้นศิลปิน Academy Fantasia และบทบาทของนักเจรจาซื้อรายการบันเทิงระดับโลก โดยเฉพาะผลงานการช่วงชิงซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของทรู เขาเป็นนักบริหารที่โลว์โปรไฟล์คนหนึ่ง การทำงานของเขาที่ต้องอาศัยเทคนิคการเจรจาและทำหน้าที่นี้ตลอดระยะเวลา 17 ปี ถือเป็นสิ่งที่น่าติดตามอย่างมาก

นักการตลาดจากค่ายรถยนต์โตโยต้า วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ถือเป็นผู้บริหารระดับสูงคนไทยในองค์กรญี่ปุ่น ที่ติดโหวตเข้ามาเป็นปีแรก ด้วยแบรนด์โตโยต้าที่เป็นเบอร์หนึ่งในตลาดรถเมืองไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบทางด้านการตลาด จึงเป็นความท้าทายความเลข 1 ที่เขาต่อสู้ต้องดูแลยอดขาย รักษาแชมป์นี้ให้อยู่ต่อไป

ขณะที่อีก 3 นักบริหารรุ่นใหม่ที่เลือกมานำเสนอครั้งนี้ ถือเป็น 3 สาวนักบริหารที่ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ ทั้ง พ.ญ.นลินี ไพบูลย์ ด้วยแนวคิดและวิธีการที่เต็มไปด้วยกลยุทธ์ของเธอ ทำให้แบรนด์ “กิฟฟารีน” เป็นธุรกิจที่เติบโตมากที่สุดในเมืองไทย

รุ่งฟ้า เกียรติพจน์ นักสร้างแบรนด์ให้ทรู ในสูตร “Convergence” ผู้บริหารที่มีไบเบิลทางการตลาดเป็นของตัวเอง และ หนูดี-วนิษา เรซ เป็นตัวอย่างของความอัจฉริยะ สร้างตัวเองจากคนธรรมดาให้ดังระดับดาราเพียงข้ามคืน

…สิ่งเหล่านี้ นับเป็นบริบทของความน่าสนใจ เป็นจุดเปลี่ยนที่บ่งบอกถึงวิถีทางของนักบริหารรุ่นใหม่ๆ ในยุคการตลาดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สะท้อนถึงพลังของ Young Executives ปีนี้