โรงละครแห่งชีวิต บอย- ถกลเกียรติ วีรวรรณ

ละครเวทีฟอร์มใหญ่กลับมาร้อนแรงอีกครั้งด้วยฝีมือของ “บอย” ถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้กำกับคนดัง ที่กลายเป็นโลโก้ของละครเวทีเมืองไทยไปแล้ว ยิ่งขวบปีนี้ เขามีบทบาทกับการปลุกปั้นสร้างโรงละครใหม่ 500 ล้าน “เมืองไทยรัชดาลัย” สวนกระแสเศรษฐกิจซบด้วยการฉายแววความสำเร็จทั้งด้านผู้เข้าชมปีละหลายร้อยรอบและสปอนเซอร์ที่แนบแน่น เช่นในชื่อโรงละครหนึ่งพันห้าร้อยที่นั่งแห่งนี้

โรงละครแห่งชีวิตของนักบริหารผู้นี้ จึงเหมือนถูกปลุกขึ้นอย่างร้อนแรงอีกครั้ง !!

17 ปีในวงการละครไทย ทั้งทีวีและเวที มีโจทย์ที่ไม่เคยเปลี่ยนของถกลเกียรติ คือการหาสมดุลระหว่าง Commercial (พาณิชย์) กับ Art (ศิลปะ) และระหว่างโฆษณา Tie-in กับเนื้อหา สมดุลของรสชาติฝรั่งกับไทย สมดุลในความแปลกใหม่กับความเป็นชาวบ้านร้านตลาด ในขณะที่สมรภูมิละครโทรทัศน์ทั้ง ซิทคอม และซีรี่ส์ละคร ก็ยังต้องบัญชาการต่อไปท่ามกลางงบโฆษณาชะลอตัวและการแข่งขันชิงเรตติ้งที่เข้มข้น

บทบาทจากฐานะผู้กำกับหน้าใหม่จนมาเป็นผู้บริหารไฟแรง เขาต้องจัดสมดุลในอีโก้ของทีมงานศิลปะกับระบบทีมเวิร์คเพื่อ “ตัดขอบ” ออกมาเป็นผลงาน “ที่ใช่”

…ทั้งหมดนี้ บอย ถกลเกียรติ เปิดใจเล่าให้กับนิตยสาร POSITIONING ฟังอย่างมีรสชาติ แต่อาจยังไม่สะเทือนใจเท่ากับละครหลายเรื่องที่เขาเคยทำไว้…

POSITIONING : แรงบันดาลใจในวัยเด็กที่ขับดันให้เรียนและทำงานด้านการผลิตละคร
ถกลเกียรติ : ชอบดูละครทีวีตั้งแต่เด็กๆ อายุ 12 ไปเรียนนอกก็จริง แต่ว่าก่อนนั้นก็ดูทีวีไทยมาตลอด อย่าง ห้องหุ่น อุทัยเทวี ไปถึงไอ้มดแดง ยุคนั้น ทำให้เริ่มคิดว่าอยากทำเองบ้างแล้ว ยิ่งพอไปเรียนนอกได้ดูละครต่างประเทศ ได้ดูทีวีอเมริกันอีก ก็ยิ่งทำให้สนใจและเลือกเรียนด้านนี้

POSITIONING : ในยุคแรกๆ ที่กลับไทยมาทำละคร Exact ออกมาแตกต่างจากละครช่องอื่นค่ายอื่นอย่างไร ?
ถกลเกียรติ : ตอนนั้นเริ่มที่ปี 2533 นางฟ้าสีรุ้ง สามหนุ่มสามมุม รักในรอยแค้น ทั้งหมดก็เป็นการผสมผสานกันของ Taste ฝรั่ง กับรสนิยมคนไทย ออกมาเป็น Combination ใหม่

POSITIONING : มี แบรนด์ที่สะท้อนความเป็นตัวตน ผ่านงานหรือไม่ ?
ถกลเกียรติ : เราไม่ตั้งว่าจะเป็นอะไร แต่ทำแล้วให้คนมามองเอง ที่คนเขารับรู้กันก็คือ เรื่องมักจะเป็นความรักที่โรแมนติกแต่ว่ายากที่จะเป็นไปได้ มักจะไม่แฮปปี้เอ็นดิ้ง ยุคนั้นคนจะจดจำเราแบบนี้ เช่น “รักในรอยแค้น” แต่ที่จริงแล้วหลายเรื่องของเราก็จบแฮปปี้เอ็นดิ้งนะ

POSITIONING : จบนอกมาใหม่ๆ ช่วงนั้นคุณบอยมีความ “ร้อนวิชา” อยากเปลี่ยนแปลงละครโทรทัศน์ไทยหรือไม่ ?
ถกลเกียรติ : เรียนนอกมา 12 ปี ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่กลับมาแล้วอยากจะ Revolutionize อยากจะปฏิวัติวงการละครไทย แต่พอมาทำงานจริงๆ ก็ต้องถามตัวเองว่า“แล้วคุณเป็นใคร ?… “ยิ่งใหญ่มาจากไหนเหรอ ? จะมาให้คนเขาเปลี่ยนสิ่งที่เขาชอบกันอยู่แล้ว ให้คนเขาเปลี่ยน Tradition ที่มีมานาน เพื่อมาดูคุณน่ะ”

POSITIONING : จากยุคนั้นคุณบอยมีจุดยืนในการทำงานถึงทุกวันนี้อย่างไร ?
ถกลเกียรติ : เรามองว่าถ้าเรามี Message มีเรื่องราว แง่คิดที่อยากจะบอกคนดู แต่ถ้าทำออกมาแล้วคนดูน้อย ก็ถือว่า Message ของเราก็ส่งไปไม่ถึงไหน

แต่ถ้าเราอยากให้คนมาดูเยอะที่สุด เราก็ต้องไม่ลืมเอาตัวเองตั้งก่อนว่าเราชอบเรื่องนั้นไหม ถ้าเราไม่เก็ต ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องนั้นจริงๆ ทำออกมาคนอื่นก็มองไม่ออก

อย่างที่เราทำเรื่องเกี่ยวกับวงการบันเทิงบ่อยๆ ก็เพราะหนึ่ง คุณก็เห็น ข่าวบันเทิงนี่คนไทยสนใจกันมาก ทำออกมาแล้วมีคนดู และสอง ผมเองกับทีมงานพวกเราก็อยู่ในวงการบันเทิง พวกเราเข้าใจมันจริงๆ ถ้าจะให้ไปทำละครเรื่องของวงการการเงิน เราก็เข้าถึงยาก คนดูก็เข้าถึงยากด้วย

POSITIONING : เมื่อมี Message แล้ว จะสื่ออย่างไร ?
เราต้องไม่ลืมจุดหมายของเราว่าจะให้คนดูซาบซึ้งกับ Message ที่เราต้องการสื่อให้ได้ ใช้ความรู้สึกของเราเองมาช่วย เช่นฉากนี้เรื่องของพ่อกับลูก เราต้องทำให้ผู้ชมที่เป็นพ่อคนน้ำตาไหลให้ได้ เพราะเราเอง (ชี้ที่ตัวเอง) ก็เพิ่งเป็นพ่อคนมา

ใช้ประสบการณ์ชีวิตเป็น Base เป็นพื้นฐาน อย่างเช่นใน “บัลลังก์เมฆ” ฉากที่พี่กบ (ทรงสิทธิ์) โดนพรากลูก เราก็เอาความรู้สึกของพ่อมาใช้ว่าทำไงจะให้สะเทือนใจ ถ้าเราต้องถูกบังคับให้พรากจากลูกเนี่ย จะรู้สึกยังไง แสดงออกยังไง

การเล่าเรื่องบางอย่าง เช่นฉากที่ย่าสินจัยไม่ให้หลานออกไปเล่นน้ำฝน ก็ให้ย่าพูดเหมือนที่เคยพูดกับลูกชายเลย คนดูก็จะนึกถึงเทียบกันแล้วสะเทือนใจ

หรือประเด็นในสังคมขณะนั้น เช่น “ทวิภพ เดอะ มิวสิคัล” เรามาเห็นว่าในเรื่องมันมีเหตุการณ์เสียดินแดนให้ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 อยู่ ก็เน้นบทพูดเข้าไปว่า “นับจากนี้ไป อย่าให้แผ่นดินสยามยากจากกันอีกเลย” คนดูก็นึกไปได้ถึงปัญหาในภาคใต้ เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ ความรู้สึกรักชาติ

POSITIONING : บทเรียนสำคัญๆ ที่ได้จากการทำงาน
ถกลเกียรติ : เราต้อง Study ว่าสำเร็จเพราะอะไร ? Fail เพราะอะไร ? เช่น Fail เพราะคนดูไม่เก็ตสิ่งที่เรานำเสนอ เราต้องไม่ยึดติด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีจุดยืน

และเราต้องเปิดตัวเองให้กว้างถึงจะรู้ว่าสังคมมีคนแบบไหนบ้าง ต้องฟังคนเม้ากัน ฟัง อ่าน เรื่องต่างๆ ทุกสิ่งอย่าง แล้วพอมาประชุมบทกัน เราก็เอาชีวิตจริง เรื่องจริงที่เราเคยฟังมา มาใส่ มาใช้กับพล็อตได้ เช่น เอ๊ะตรงนี้ผมเคยฟังมานะ ว่าถ้าคนจริงๆ เค้าเจอเหตุการณ์แบบนี้เค้าจะตัดสินใจอย่างนี้ๆ เคยมีมาแล้วจริงๆ

คนที่เรารู้จักก็อยู่ในวงการบันเทิงมากที่สุด ต้นปีหน้าเราก็จะมีละครเกี่ยวกับวงการบันเทิงอีก รวมทุกข่าวใหญ่ๆ ทั้งปีนี้ไว้ในละครเลย

POSITIONING : หลายคนรู้สึกละคร Exact สมัยนี้ Mass หรือ “ตลาด” กว่าสมัยก่อนมาก
ถกลเกียรติ : ใช่ เพราะมันมีกระดาษปึกนึง ส่งมาให้เราดูทุกสัปดาห์ เรียกว่า “เรตติ้ง”

สมัยก่อนละครที่มีแนวเฉพาะ มีความ Trendy ถึงแม้คนดูน้อยก็ยังอยู่ได้ แต่เดี๋ยวนี้อยู่ไม่ได้แล้ว อยู่ไม่ได้นี่ไม่ใช่กำไรน้อยนะครับ แต่คืออยู่ไม่ได้จริงๆ ขาดทุน เราเลยต้องปรับให้มัน Mass เข้าถึงคนดูได้มากๆ ขึ้น

ข้าวผัดถ้าผัดเสร็จแล้วน่ากิน คนชอบ ยินดีจะกินในจานสังกะสี ถ้าเรามัวไปหาจานกระเบื้องก็เสียของ เราต้องดูตรงนี้ดีๆ ว่าคนดูต้องการอะไร ไม่งั้นจะเหนื่อยเปล่า

POSITIONING : คุณบอยเชื่อถือข้อมูลเรตติ้งรายการทีวีแค่ไหน ?
ถกลเกียรติ : กฎมันอาจจะผิด แต่คนอื่นเขาใช้กัน แล้วคุณเป็นใคร ? ตัวเล็กกระจิ๋วเดียว ฉะนั้นลองทำตามคนอื่นเขาดู แล้วพยายามทำให้ดีในกฎที่มีอยู่ แต่ก็ต้องมีจุดยืนที่เป็น Balance ระหว่าง Creative กับ Commercial ให้ยั่งยืน ไม่ใช่ “Hit & Run” ตีหัวเข้าบ้าน

อย่าง “บางรักซอย 9” โฆษณาล้นมาก ผู้บริหารช่องขอให้เราขยายเป็นสัปดาห์ละ 2 วัน รายได้จะมากขึ้นทันที แต่ผมไม่ทำ เพราะมันจะตันเร็วมาก ผมขออาทิตย์ละวันแต่อยู่นานๆ

ละคร Sitcom เช่น “บางรักซอยเก้า” นี่ไอเดีย ความ Creative ต้องสด เหมือนแต่ละสัปดาห์คนเขาอยากมาดูว่าเพื่อนบ้านของเขาทำอะไรเป็นอย่างไรกันบ้างแล้ว ต่างจากละครเรื่องยาวที่ทำล่วงหน้าได้เพราะเนื้อเรื่องมันตายตัวอยู่แล้ว

POSITIONING : ละครของ Scenario และ Exact ดูจะมีโฆษณาสินค้าในเรื่อง (“Tie-in”) มากกว่าค่ายอื่นๆ
ถกลเกียรติ : ผมเป็นคนยอมรับความจริง คุณดู (ชี้ออกไปนอกหน้าต่างกระจกจากชั้น 14 ตึก GMM อโศก) ป้ายโฆษณาเยอะแยะ หรือในห้องนี้ มือถือของคุณ รองเท้าของคุณ ปากกา ทุกสิ่งอย่างก็มียี่ห้อ คุณก็เอามาในละครสิ แต่ต้องทำให้มันเนียน ถามว่าแล้วเราผิดตรงไหน ?

ผมบอกทีมงานว่า…คุณต้องเริ่มจากเชื่อว่าทุกสิ่งอย่างเป็นยี่ห้อ บางคนก็ทำได้เนียน บางคนก็ทำไม่ได้ คนที่ทำไม่ได้ก็เพราะเขาคิดไม่ออก กลัวมากไปว่ามันจะไม่เนียนมันก็เลยยิ่งไม่เนียน

POSITIONING : ถ้าเป็นละคร Period ย้อนยุค จะ Tie-in อย่างไร ?
ถกลเกียรติ : ไม่ได้เลย… ฉะนั้นสมมติปีหนึ่งมีละคร 7 เรื่องอาจจะ Period สัก 1 ถึง 2 เรื่อง ให้คนดูไม่เบื่อก็พอ เพราะถ้า Period หลายเรื่องฝ่ายขายคงโวย (หัวเราะ)

POSITIONING : มีการทำ Research ความต้องการของคนดูหรือไม่ ?
ถกลเกียรติ : ทำเพื่อ Support การตัดสินใจบางอย่าง แต่ก็ไม่ได้เชื่อทั้งหมด เพราะคนที่ตอบแบบสอบถามเขาก็จะไม่ตอบในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยเห็น สิ่งใหม่ๆ ซึ่งบางครั้งเราเองที่ต้องหาสิ่งใหม่ๆมาให้เขา

POSITIONING : เหตุผลที่แยกบริษัทให้ Exact ดูแลละครเรื่องยาว แต่ Scenario ดูแล Sitcom กับละครเวที ?
ถกลเกียรติ : เหตุผลที่แยกบริษัทเพราะ Exact อยู่ใน GMM Media อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขยับไม่สะดวก การสร้างโรงละคร 500 ล้านนี่ พวกคนในตลาดหุ้นไม่อยากเป็นแน่ นักการเงินจะตั้งคำถามกันมาก เราเลยแยก Scenario ออกมา ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทในตลาดหุ้น สร้างโรงละครได้

POSITIONING : มีหลักในการบริหารทีมงานอย่างไร ?
ถกลเกียรติ : หลักๆ ก็คือต้องพูดภาษาเดียวกัน เชื่อมั่นไว้ใจกัน วัฒนธรรมแต่ละที่ต่างกันอยู่แล้ว ที่นี่เรามีวิธีทำงานที่ต่างจากบริษัทอื่น

สมัย “รักในรอยแค้น” ผมมีทีม Freelance ตากล้องที่ Sub มาจากข้างนอก เขาประชุมกันว่าขอไม่ทำงานกับบอยถกลเกียรติอีก เรา Suffer มาก ก็ต้องเปลี่ยนทีม ทีมสองเคยทำละครมา กลับบอกว่าทำงานกับคุณบอยชัดเจนที่สุด ซึ่งไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก เป็นเรื่องของการ Click หรือไม่ Click กัน

เราเป็นคนตรงๆ ชอบก็บอกว่าชอบ ไม่ก็ไม่ เวลาผมเช็คเทปละคร บางช่วงผมต่อว่าลูกน้องแหลก แต่อีก 10 นาทีต่อมาเจออะไรที่ดี ผมก็ชมทันที “เก่งมาก คิดได้ไง” คนที่รับไม่ได้ก็ไม่ได้ คนที่รับได้ก็ชอบ เพราะว่าจะได้รู้ว่าต้องทำยังไง คุณลองนึกดู ในภาษาอังกฤษไม่มีศัพท์คำว่า “เกรงใจ”

ผมเป็นคนตรงๆ แต่ผมเปิดรับความเก่งของคนอื่นๆ ผมไม่เก่งทุกด้าน อาจจะไม่เก่งสักด้านก็ได้ เลยต้องเอาคนเก่งๆ มาเขย่ารวมกันแล้วตัดขอบ ให้เป็นงานที่ใช่ ผมโชคดีที่คนที่นี่เป็นคนเก่งแบบที่พร้อมจะฟังความเก่งของคนอื่น

ตัวอย่างละครเวทีหนึ่งเรื่องมี บท มีเพลง ฉาก สมมติว่าเพลงดีมาก แต่ทำนองไม่ลงตัวกับ Scene นั้น คนแต่งทำนองก็ต้องปรับให้เข้า บางคนอาจจะไม่ยอมปรับก็ทำงานกันไม่ได้ หรือบางคนบอกว่าส่งงานแล้วเอาไปเลยไม่เข้าประชุมกันอีกก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะทุกสิ่งอย่างต้องประชุมกัน สัมพันธ์กัน ที่นี่ Happy กับวิธีทำงานแบบนี้

เราเชื่อในทีมเวิร์คที่สุด เราเชื่อตลอดว่าเราไม่เก่ง แต่เอาคนเก่งมารวมกัน

POSITIONING : ทำไมถึงตัดสินใจมาทำโรงละคร “เมืองไทยรัชดาลัย” ?
ถกลเกียรติ : เป็นฝันที่เราอยากทำมานาน โจทย์ตอนนี้คิดแต่ว่าทำอย่างไรให้มันมั่นคง กู้เงินแบงก์มา ยังใช้หนี้ไม่หมด ต้นทุน Hardware ว่าแพงแล้ว ต้นทุน Software เกี่ยวกับคน ค่าตัวนักแสดง หรือลิขสิทธิ์ ยังแพงกว่า ซึ่งข้อนี้หลายคนนึกไม่ถึง

ดูจาก Feedback คนดูตอนนี้เหมือนน่าจะมีอนาคตสดใสก็จริง แต่ต้องดูความต่อเนื่องด้วย อย่าลืมว่าเรื่องนี้จบ เดี๋ยวก็เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าผลตอบรับจะเหมือนกันไหม เรื่องนี้ทำแล้วมีคนดู แต่ก็ต้องไม่ประมาท ต้องคอยดูว่าคนเขาชอบไหม คนที่เคยดูเรื่องที่แล้ว คนที่เคยดูครั้งก่อน มาดูเรื่องนี้ครั้งนี้เขาว่ายังไง เราต้องถูกคนดู Audition ใหม่ตลอดเวลา เป็นเรื่องปกติของวงการนี้

POSITIONING : ตอนนี้ให้น้ำหนักอย่างไรระหว่าง “ทีวี” กับ “เวที” ?
ถกลเกียรติ : (คิด…) เท่ากัน

POSITIONING : มองและวางแผนปีหน้าอย่างไร ?
ถกลเกียรติ : เหนื่อยไม่ต่างกับปีนี้ (ยิ้ม)

POSITIONING : ทุกวันนี้ถือว่าชีวิตประสบความสำเร็จแล้ว ?
ถกลเกียรติ : มีความสุขกับงาน ตื่นเช้ามาแล้วอยากไปทำงาน มี Goal ทุกวัน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

POSITIONING : เคยมีช่วงที่ท้อแท้ไหม ?
ถกลเกียรติ : มี 5 ปีก่อนที่ “โอ๊ยเบื่อแล้ว !” ขี้เกียจแล้ว เหนื่อย พัก ไม่ไปงานไหนเลย หน้าเราตัวเราหายไปจากวงการพักหนึ่ง ก็พบว่าไม่มีเราไม่นานคนก็ลืม ไปดูคนอื่น เลยได้คิดว่า เราต้องสะสมงานต่อเนื่อง เพราะ “คนสร้างงาน งานสร้างคน”… วงการนี้การเข้ามาว่ายากแล้ว การอยู่ให้ยาวยากกว่ามาก

บางครั้งที่ตัน ก็จะขอพี่เล็ก (บุษบา ดาวเรือง ผู้บริหารระดับสูงของแกรมมี่) ว่าขอย้อนกลับไปนึกถึงวันแรกที่จบมาก่อน ว่าตอนนั้นเราต้องการอะไร เพราะตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าอะไรได้ อะไรไม่ได้ มีแต่ความอยากจะทำ ทุกวันนี้รู้แล้วแต่บางทีก็ยึดติดกับคำว่าไอ้นั่นไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้ ทำให้ตัน เลยต้องย้อนไปวันแรกๆ

POSITIONING : ใครเป็นต้นแบบหรือ Role Model ในดวงใจคุณบอย ?
ถกลเกียรติ : Andrew Loyd Webber เป็นทั้งนักแต่งเพลง Marketing และ Acting ในคนคนเดียว อีกคนคือ Cameron Mcintosh ผู้กำกับละครเวที ทั้ง 2 คนนี้ผสมผสาน Commercial เข้ากับ Art ได้อย่างมั่นคง ก่อนหน้า Cats กับ Phantom of The Opera ไม่เคยมีละครเวทีเรื่องไหนอยู่ได้เป็นสิบปีแบบที่สองเรื่องนี้ทำ

POSITIONING : ทราบว่าคุณบอยชอบไปพักผ่อนต่างประเทศ เพราะอะไร ?
ถกลเกียรติ : ไปเปิดหูเปิดตาดูว่าเขาทำกันยังไง ผู้ชมเป็นอย่างไร เปลี่ยนไปถึงไหนแล้ว ไปเดินเที่ยว แค่เดินชมวิวก็ได้แรงบันดาลใจแล้ว

อย่างละคร “ยามเมื่อลมพัดหวน” ก่อนที่จะคิดเรื่องนี้ ไปเดินสถานีรถไฟใต้ดินลอนดอน ทางมันซับซ้อนมาก คิดเล่นๆ ว่าถ้าตัวละครมาหลงทางหากันในนี้คงดี แล้วพอมาทำ “ยามเมื่อลมพัดหวน” ก็ได้ใช้จริง

POSITIONING : มีร้านโปรดหรือที่ที่ชอบไปนั่งประจำหรือไม่ ?
ถกลเกียรติ : ไม่มี แต่ผมชอบไปวิ่งออกกำลังขึ้นลงบันไดโรงละครเมืองไทยรัชดาลัย (หัวเราะ) ได้ออกกำลังดีมากๆ นักแสดงหลายคนก็ทำตาม

Profile

Name : ถกลเกียรติ วีรวรรณ
Age : 41 ปี
Education :
โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Woodside Prioly School สหรัฐอเมริกา
Boston College (B.A.) สหรัฐอเมริกา
Boston University (M.S.) สหรัฐอเมริกา
Career Highlights :
กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็กแซ็กท์
กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีเนริโอ
Family :
บิดา : ดร.อำนวย วีรวรรณ มารดา : คุณหญิง สมรศรี วีรวรรณ
พี่น้อง : รศนาภรณ์ วีรวรรณ (พี่สาว) , อมรพิมล ธนากิจอำนวย (พี่สาว)
ภรรยา : กณิการ์ วีรวรรณ บุตร : ปรางสินี วีรวรรณ , ปาวรดี วีรวรรณ

Exclusive Interview Clip at blog.positioningmag.com