อรรถพล ณ บางช้าง พ่อมด เอนเตอร์เทนเมนต์

ใช่…มันไม่น่าเชื่อ! คำอุทานที่กำลังสะท้อนให้เห็นถึงผลงานของนักบริหารคนนี้ “อรรถพล ณ บางช้าง” บิ๊กเอนเตอร์เทนเมนต์ ที่เปรียบเหมือน “พ่อมด” คนหนึ่งในวงการบันเทิง ด้วยบทบาทสำคัญที่ใครต่อใครเรียกเขาว่า “นักซื้อรายการบันเทิงระดับโลก” ผู้อยู่เบื้องหลังหลายๆ ดิวธุรกิจระดับพันล้าน ไมว่าจะเป็นลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก การสร้าง AF Academy Fantasia และคอนเทนต์อีกมากมายบนจอทีวี

17 ปี บนถนนสายธุรกิจ เอนเตอร์เทนเมนต์ของเขา เต็มไปด้วยเรื่องราวและกลยุทธ์การต่อสู้ นักบริหารแบบอรรถพล และวิถีทางความสำเร็จของเขา เป็นเหมือน “สนามฟุตบอล” ที่เขาสร้างตัวเองจาก “ผู้เล่น” มาเป็น “โค้ช” ได้อย่างน่าติดตาม

บุคคลหลังฉากอย่าง อรรถพล ณ บางช้าง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายรายการ ทรูวิชั่นส์ เขากลายเป็นผู้บริหารที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคนหนึ่งในวงการเอนเตอร์เทนเมนต์ โดยเฉพาะในช่วงขวบปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าการขยับของทรูวิชั่นส์ ในแง่ของรายการบันเทิงใหม่ๆ และลิขสิทธิ์กีฬาดังๆ ล้วนเกิดขึ้นจากบทบาทของผู้บริหารคนนี้

นอกจากการพูดถึงเรื่องงานที่ทำ ความรับผิดชอบสายงาน อรรถพลถือเป็นผู้บริหารที่โลว์โปรไฟล์มากคนหนึ่ง เขาแทบไม่ค่อยให้สื่อเข้ามาสัมภาษณ์เรื่องส่วนตัว ถ่ายทอดถึงวิธีคิดการบริหารของเขา ซึ่งนิยตสาร POSITIONING ถือเป็นสื่อแรกๆ ที่เขายอมเปิดเผยถึงชีวิตส่วนตัว และแนวคิดในการทำงานอย่างหมดเปลือก

จุดเปลี่ยนในชีวิต

“ผมจบด้านรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ เรียนจบก็ทำงานมาหลายอย่าง ไม่ว่า จะทำงานราชการช่วงสั้นๆ ทำงานด้านเทรดดิ้ง ทำงานสื่อมวลชน เคยเป็นถึงผู้ช่วยบรรณาธิการ นั่นถือเป็นจังหวะที่เรากำลังค้นหา”

เส้นทางชีวิตการทำงานในขณะนั้นของอรรคพล ก็เหมือนคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่กำลังค้นหาความสุขในการทำงาน และเมื่อเขามีโอกาสได้ทุนไปศึกษาดูงานด้านอิเล็กทรอนิกส์มีเดียที่อเมริกา พอกลับมาเขาก็ได้เข้ามาทำงานที่ IBC เคเบิลทีวีที่เปิดตัวขึ้นในปี 1990 โดยเข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งผู้จัดการช่องข่าวและกีฬา

ความรับผิดชอบช่องข่าวและกีฬา เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสู่บทบาท “นักซื้อรายการ” ด้วยคอนเทนต์รายการข่าวและกีฬาของ IBC ในขณะนั้น ที่ต้องการข่าวสดๆ จากต่างประเทศ และรายการกีฬาแบบช่องฟรีทีวีไม่มี ทำให้เขาต้องเดินไปดิวธุรกิจซื้อคอนเทนต์ข่าวจากต่างประเทศมาโดยตลอด

นักซื้อรายการระดับโลก

บทบาทของนักซื้อรายการ เป็นเหมือนการเริ่มต้นจากเลขศูนย์ เขาเล่าว่า สมัยไปรบแรกๆ ก็เหมือนทหารใหม่ที่ยังไม่ชำนาญ แต่เมื่อรบครั้งแรกได้แล้ว ครั้งสอง สาม ย่อมไม่ตื่นสนาม และเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ได้มากขึ้น

เขาจำได้ว่า การไปดิวซื้อรายการครั้งแรกๆ เขาเจอคู่ค้าที่มีอายุมากถึง 60 ปี แต่เขาใช้ความเป็น Youngman เสน่ห์แบบไทยๆ ที่เคารพนอบน้อม อธิบายถึงโมเดลธุรกิจที่ทำ ปรัชญาทางธุรกิจ และเหตุผลที่อยากได้รายการนี้ เขาพบว่า ได้กลายเป็นสิ่งที่คนต่างชาติชื่นชมและให้เกียรติในความเป็นนักธุรกิจของเขา

ความเป็นบิสสิเนสแมนของเขาได้เริ่มต้นอย่างเต็มตัว พร้อมๆ กับบทบาทในความครีเอทีฟต้องคิดค้นรายการใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อมาสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ให้ธุรกิจเคเบิลทีวี

ผลงานที่เหมือนสร้างชื่อเสียงให้เขาอย่างมากในยุค IBC คือการเข้าไปซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลเอฟเอคัพ จากสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ชนิดที่คู่แข่งทางเคเบิลทีวีอย่างไทยสกาย ยุคนั้นต้องตื่นตะลึง

เทคนิคการไปดิวธุรกิจในต่างประเทศ อรรคพล เรียกว่า การเดินทางไปรบ ทำสงครามในต่างแดน รบเสร็จก็กลับมาพัก และออกไปรบต่อ เป็นเช่นนี้ตลอด 17 ปี จากยุค IBC มาสู่ UBC และ ทรูวิชั่นส์ในปัจจุบัน เขายังกลายเป็นหัวหอกคนสำคัญที่ทำงานด้านซื้อรายการด้านบันเทิงและกีฬามาอย่างต่อเนื่อง

ผลงานอีกชิ้นที่ทำให้ทั่วโลกตื่นตะลึง คือ ทรูสามารถคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกได้แบบเอ็กคลูซีพถึง 3 ฤดูกาลซ้อน ล้วนมาจากฝีมือของอรรถพล

เขา เล่าว่า การเชือดเฉือนทางการแข่งขันประมูลรายการระดับโลก นอกจากมูลค่าของเงินแล้ว บางครั้งอยู่ที่จังหวะและบารมี ความน่าเชื่อถือ ซึ่งบังเอิญว่าเรามีดีในสองสิ่งนี้ที่ได้สั่งสมมานานนับปี และลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกก็เป็นคำตอบถึงความเป็นมืออาชีพที่ได้สั่งสมมา

“ผมอยู่ในเส้นทางนักซื้อรายการมา 17 ปี มีเพื่อนในอาชีพเดียวกัน หลายคนเคยเจอกันเมื่อ 17 ปีก่อน วันนี้เป็นใหญ่เป็นโต ก็ยังช่วยกันอยู่ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ถือเป็นประสบการณ์ที่เราสั่งสมมา และเป็นมูลค่าในตัวเองที่จะทำให้การดิวธุรกิจมีพลังมากขึ้น”

การเจรจาซื้อรายการ สิ่งสำคัญคือ การสร้างให้คู่ค้ารู้สึกถึงความเป็นมืออาชีพ จุดสำคัญต้องรู้จักพลิกสถานการณ์ให้เป็น เช่น ถ้าคู่แข่งเสนอเงินซื้อรายการ A ด้วยเงินที่มากกว่าเรา สถานการณ์แบบนี้ต้องพลิกเกมด้วยข้อเสนอใหม่ เราอาจจะเสนอซื้อรายการ B, C, D, E เพื่อให้เห็นว่าเรามองไปไกลและเป็นมืออาชีพมากกว่าคู่แข่ง ที่มองเห็นแต่รายการ A อย่างเดียว

การเดินทางซื้อรายการในต่างประเทศ เขาเปรียบเทียบว่า เหมือนการไป “ขุดทอง” มีผู้ผลิต คนซื้อจำนวนมาก อย่าง การเดินทางไปเมืองคานส์ 9 วัน มี Meeting ไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง ต้องมองให้เป็นเรื่องสนุกที่เราจะหาทองให้ได้ดีที่สุด

ประสบการณ์ด้านการซื้อรายการของเขา สอนให้รู้ว่า การไปแต่ละครั้งต้องมีเป้าหมายอะไร และเรามีจุดแข็งตรงไหนบ้าง ใส่กระเป๋าความจำไว้ และนำไปเป็นเครื่องต่อรอง

“การไปลงสนามแข่งขัน ตอบไม่ได้เลยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ตลาดรายการบันเทิง ผมว่าเหมือนสินค้าเกษตร มีผลผลิตตามฤดูกาลเช่นกัน ช่วงนี้ผลผลิตหนังผีมาแรง หนังตลกซบเซา เราจะดันทุรังซื้อหนังตลกก็ไม่ได้ เพราะหนังผีมีให้เราเลือกได้มากกว่า ดังนั้น การเลือกซื้อคอนเทนต์มาบรรจุในผังรายการ ต้องมองถึงกระแสของโลกด้วย”

วางแผน + ทีมเวิร์ค

หลักการทำงานของอรรถพล เขาจะให้ความสำคัญกับการ “วางแผน” เป็นอันดับแรก เมื่อได้โจทย์มา ต้องวางแผนรู้คู่แข่งด้วยว่า เขาจะทำอะไร มีจุดแข็งแค่ไหน มีช่องโหว่อะไรบ้างที่เขาจะรุกเข้าไปได้ เหมือนกับการที่ต้อง “รู้เขารู้เรา” ถึงจะทำให้งานสัมฤทธิผล

อรรถพล ให้ความสำคัญกับคำว่า “ทีมเวิร์ค” อย่างมาก หลักประชาธิปไตยในทีมงานของเขา คือการให้ทุกคนมีส่วนในเป้าหมายของงาน การประชุมงาน จึงเป็นเรื่องที่เขาให้ความสำคัญ และความคิดเห็นของทุกคนจะขึ้นบนกระดาน โดยเขาจะเป็นคนตัดสินใจว่า ประเด็นไหนดี หรือถูกต้อง ด้วยเหตุผลที่ทุกคนยอมรับ

เขาย้ำว่า การลงสนามซื้อรายการในต่างประเทศ ทีมเวิร์คเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้นเขาจะไม่หวงวิชา 4-5 คนที่ได้เดินทางลุยสนามกับเขาจะต้องเชี่ยวพอตัว รู้ว่าจะรุกและรับมือกับสถานการณ์อย่างไร ซึ่งทุกครั้งก่อนลงสนามเขาจะประชุมวางแผนกันตลอดเวลา

“การทำงานบางครั้งต้องหลับตาข้างหนึ่ง อย่าไปรู้ทันทุกเรื่อง ต้องให้ทีมงานแสดงความสามารถ แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ข้อผิดพลาดผมถือเป็นเรื่องปกติที่เราสามารถแนะนำกันได้”

สไตล์การทำงานของอรรถพล คือ การกำหนดเป้าหมายสุดท้ายให้ทีมงาน ส่วนการที่ลูกน้องจะไปถึงเป้าหมายสุดท้ายอย่างไรนั้น ถือเป็นวิธีการเฉพาะของแต่ละคน เขาเปรียบเทียบว่า เหมือนเรือข้ามฝั่ง ใครจะเอาเรือข้ามด้วยคนลาก ใช้มือพาย เท้าพาย ก็แล้วตามถนัดของแต่ละคน หากแต่เป้าหมายสุดท้ายต้องทำให้ได้

วันนี้ เขาเหมือนโค้ชทีมฟุตบอล จากเมื่อก่อนที่เขาเป็น “ผู้เล่น” หน้าที่สำคัญคือการวางแผนการเล่น เทคนิคการเอาชนะคู่แข่ง ดังนั้น ทีมเวิร์คและการวางแผนจึงเป็นส่วนที่ถือว่าสำคัญที่สุดในสไตล์การทำงานของเขา

นักบริหารสองบุคลิก

อรรถพล บอกถึง Positioning ในความเป็นตัวตนของเขาว่า เขามีสองบุคลิก บุคลิกแรกคือความเป็นนักบริหาร นักธุรกิจ ดังนั้นเมื่อเขาสวมบทบาทนี้จะต้องดูดี ดูสมาร์ท เวลาเขาต้องเดินทางไปติดต่อทางธุรกิจเขาให้ความสำคัญกับการแต่งตัวอย่างมาก สูทต้องดี รองเท้าต้องเนี้ยบ การพูดการจาต้องดูดี เพราะนี่คือการสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือในการทำงาน

ขณะที่อีกบุคลิกหนึ่งคือความเป็นอาร์ตติสต์ หากไม่ทำงานเขาจะใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ หรือ การเกงขาสั้น ไปดูหนัง ฟังเพลง เป็นคนสนุกสนานเฮฮา เป็นอีกบุคลิกหนึ่งของเขา

อรรถพลมีบุคลิกของผู้บริหารยุคใหม่อย่างแท้จริง เขาเป็นคนที่เข้าถึงง่าย โดยเฉพาะสื่อมวลชน เขาจะให้เบอร์มือถือ และให้เกียรติรับสายทุกครั้ง แม้ในขณะที่เขาอยู่ในต่างประเทศก็ตาม

“ผมเคยทำงานด้านสื่อมวลชนจึงเข้าใจ และผมให้เกียรติทุกคนว่าเป็นมืออาชีพ แม้กระทั่งช่างไฟ ควบคุมแสงสี ยามรักษาความปลอดภัย ทุกคนเป็นมืออาชีพหมดในแต่ละบทบาทงานที่เขาทำ ผมเคารพมืออาชีพ นั่นถือเป็นคติในการทำงานของเขา”

…ประโยคหนึ่งที่นักบริหารคนนี้พูดถึงตัวเองว่า “ผมเหมือนพ่อมด” คำว่าพ่อมดของเขา คือ ความสำเร็จในงานที่เขาทำ บางอย่างก็เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ เหมือนได้มาด้วยเวทมนตร์ อย่าง ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก และการสร้างโมเดล AF ที่กลายเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซของเขา ซึ่งอรรถพลพูดแต่เพียงว่า “ผมทำมันได้” ด้วยความสามารถและการต่อสู้บนเส้นทางนี้มาทั้งชีวิต

ห้องทำงานและของเล่น

ห้องทำงานของอรรถพล อยู่บนชั้น 12 ของตึกทิปโก้ พระราม 6 ห้องที่ดูเรียบง่าย มีโต๊ะทำงาน เก้าอี้ แทบไม่มีรูปหรือของตกแต่งอะไรมากนัก เวลาทำงานเขาถือกระเป๋าเอกสารใบสีดำ และวางลงนั่งทำงาน เป็นประจำอย่างนี้ทุกวัน

มองจากเอกสารที่มากมายก่ายกองบนโต๊ะ บ่งบอกถึงภาระหน้าที่ของนักบริหารที่ต้องเซ็นเอกสาร แต่ก็ต้องมาสะดุดตากับ “จิ้งจก” ปลอมตัวหนึ่ง

เขาบอกว่า จิ้งจกตัวนี้เป็นจิ้งจกเฝ้าคอมพิวเตอร์ เป็นของเล่นชิ้นเล็กๆ ที่ทำให้ดูผ่อนคลายในการทำงาน และจะวางประจำอยู่ใกล้เครื่องคอมพิวเตอร์ของเขา

วิเคราะห์จากนิสัยใจคอของอรรถพล เป็นคนละเอียดอ่อนมากคนหนึ่ง นอกจากจิ้งจกปลอม เขายังหยิบตุ๊กตาตัวเล็กในการ์ตูนอาราเล่มาโชว์ เขาบอกว่าเป็นการ์ตูนที่เขาชอบมากเรื่องหนึ่ง

ไม่ทันละสายตาจากตัวการ์ตูน นวมคู่เล็กๆ และลูกฟุตบอลเด้งดึ้งถูกหยิบขึ้นมาให้เห็น เป็นของที่ระลึกที่สะท้อนการทำงานว่า เขาเคยไปซื้อรายการฟุตบอล และรายการมวยระดับโลกมาแล้ว

เขาเตะลูกฟุตบอลเล็กๆ ให้ดู และบอกว่า นี่เป็นวิธีที่ทำให้คลายเครียดได้ เขายอมรับว่า ลึกๆ แล้วเป็นคนเครียดง่าย แต่เมื่อต้องทำงานด้านครีเอทีฟ ต้องหาบางอย่างมาผ่อนคลาย เพื่อให้จิตใจสบาย จะทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ เข้ามา

“ผมว่าการทำงานถ้าเรามีความสุข มีจิตใจสบาย ความคิดแบบครีเอทีฟก็เจิดจ้าขึ้น”

นักทำอาหารระดับ“กุ๊ก”

อีกด้านหนึ่งของอรรถพล ใครที่ไม่รู้จักเขาจริงๆ จะไม่รู้เลยว่าเขาเคยมีวงดนตรี แต่ที่น่าแปลกใจสุดๆ เขาเป็นมือทำอาหารระดับ“กุ๊ก” คนหนึ่ง กล่าวกันว่า คนที่เคยชิมอาหารฝีมือเขาจะต้องยกนิ้วให้ทุกคน

“อย่างผมต้องร็อกเอนโรล” อรรถพลบอกถึงแนวเพลงที่ชอบ เขาชอบดนตรีดุดัน หนักๆ เคยเป็น “บอยแบนด์” มีวงดนตรีสมัยยังวัยรุ่น ทำให้เขามีกึ๋นบางอย่างในโลกของเสียงเพลงได้ดี แบบไหนโดนใจ แบบไหนทำแล้วดัง เขาจึงมีเซ้นส์ในการมอง

นอกจากเสียงเพลง เขาบอกว่าการทำอาหารเป็นอีกสิ่งที่เขาหลงใหลมากที่สุด คิดทำสูตรอาหารใหม่ๆ แปลกๆ ทั้งอาหารฝรั่ง อาหารไทย ไม่น่าแปลกใจที่รายการทำอาหารทางทรูวิชั่นส์ ที่มีตูน AF เป็นคนดำเนินรายการ เมนูหลายอย่างมาจากไอเดียของเขา

“วันว่างและถ้ามีโอกาส ผมชอบเดินไปจับจ่ายซื้อของในตลาด เพื่อคิดหาทำเมนูใหม่ๆ ซึ่งผมเคยทำเมนู แกงขี้เหล็กราดเนื้อสเต๊ก แกงเขียวหวานราดเนื้อสเต๊ก เป็นเมนูที่ใครชิมต่างก็ติกอกติดใจ”

การทำอาหาร คือ ความสุขนิยมของเขา ซึ่งเขาเล่าว่า อาจมาจากครอบครัวและต้นตระกูลเคยทำอาหารในวัง ทำให้สมัยเด็กมีโอกาสที่จะไปจ่ายตลาด เข้าครัวบ่อยๆ สิ่งเหล่านี้ได้ติดตัวจนถึงปัจจุบัน

ยิ่งในปัจจุบันเขาต้องเดินทางบ่อยๆ มีโอกาสได้ไปกินอาหารดีๆ ร้านอาหารชื่อดังในต่างประเทศ ทำให้พลังแห่งการครีเอตอาหารใหม่ๆ ของเขาเกิดขึ้นตลอดเวลา

“ผมยังไม่คิดเปิดร้านอาหาร แต่นี่คือความสุขในวันว่างของผม ทำอาหาร จ่ายตลาด เป็นโลกที่มีแต่รอยยิ้ม”