ลังเบียร์อาชา เหล้าขาว และลีโอเบียร์ ตั้งวางบริเวณด้านนอกร้านซาปั๊ว (ขณะที่สิงห์และช้างถูกจัดวางอยู่ด้านในโกดัง) รอขนถ่ายขึ้นรถเพื่อกระจายไปสู่โชห่วยต่างๆ ทั่วอุดรธานี เป็นสัญญาณบ่งบอกว่านี่คือสินค้าขายดีที่จะต้องเรียงรายรอจัดส่งอย่างเร่งด่วน “อีสานเบียร์” เบียร์น้องใหม่จากสิงห์หวังอย่างเต็มเปี่ยมที่จะช่วงชิง “พื้นที่” ด้านหน้านี้เช่นเดียวกัน
เห็นแค่ชื่อ “อีสานเบียร์” ก็มีนัยอย่างน่าสนใจแล้วว่า ศึกเบียร์ครั้งนี้ดูจะไม่แค่รบกันด้วยชื่อสัตว์อย่างสิงห์ ช้าง ม้า เสือ อย่างเดียวอีกแล้ว งานนี้ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น มามาดใหม่ ตั้งชื่อเบียร์ว่า “อีสาน” วิเคราะห์กันให้ดีค่ายสิงห์มองเห็นอะไรบางอย่าง แค่การตั้งชื่อก็ต้องบอกแล้วว่าถูกคิดค้น พินิจพิเคราะห์มาถี่ถ้วนแล้วว่าชื่อนี้ฮิตติดปากแน่ เพราะเป็นชื่อที่สร้างความรู้สึกซื่อๆ จริงใจ เกิดความรักต่อแบรนด์ได้ง่าย รวดเร็ว
อีสานเบียร์ ถูกบ่มเพาะขึ้นมาจากแนวคิดทางการตลาด Prime Area ของเบียร์ อีสานคือภาคที่มีจำนวนประชากรสูงสุดของประเทศ มีจำนวนจังหวัดมากที่สุดถึง 19 จังหวัด และผลการสำรวจทางการตลาดพบว่า มีอัตราการบริโภคเบียร์สูงที่สุดในประเทศไทย ด้วยอัตรา 3o% ของทั้งประเทศ ยิ่งถ้ามีเบียร์ชื่อเดียวกับท้องถิ่นสิงห์มองว่า โปรดักส์นี้ไปโลดแน่
การกำเนิดของอีสานเบียร์ทำให้ตลาดเบียร์เมืองไทยไม่ได้แบ่งเซ็กเมนต์แบบน่าเบื่อด้วย “ราคา” เพียงอย่างเดียว เซ็กเมนต์ใหม่ “Regional Beer” ที่สร้างจุดขายด้วยรสชาติเบาๆ ดีกรี 4.7% แต่ราคาถูกเช่นเดียวกับ Economy Beer ขณะที่เบียร์อาชามีดีกรี 5% “ตลาดมีดีมานด์อยู่แล้วแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง”
“การสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง หรือเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ใช่แค่ชื่อเท่านั้น แต่หากลงลึกถึงเบื้องหลังทั้งการใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ข้าวซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบหลักก็ปลูกที่อีสาน รวมถึงโรงงานผลิตที่ขอนแก่นด้วย” พลิศร์ ภิรมย์ภักดี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ คอเปอร์เรชั่น จำกัด บอกกับ POSITIONING
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับถึงเหตุผลสำคัญประการแรกของการออกอีสานเบียร์ก็คือ เพื่อสกัดเบียร์อาชา คู่แข่งตัวกลั่นที่ผงาดยึดครองพื้นที่อีสานด้วยนโยบายสงครามราคาที่ขาย 4-5 ขวด 100 บาท ขณะที่อีสานเบียร์ยืนราคาที่ 3-4 ขวด 100 บาท
แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกที่มีเบียร์เฉพาะท้องถิ่นจำหน่าย เช่น เยอรมัน และจีน ซึ่งมีเบียร์ท้องถิ่นนับร้อยแบรนด์ ขณะที่ไทยก็มีเบียร์ภูเก็ตแต่มุ่งเน้นจับกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก หากจะว่าไปแล้วนับเป็นครั้งแรกที่สิงห์ คอร์ปอเรชั่น ใช้กลยุทธ์แบบ Regionalized แบบเต็มที่และจริงจัง
ด้านช่องทางจัดจำหน่าย 6 เดือนแรกจะมุ่งเน้นที่ Pure Traditional Trade เป็นหลักในเขตเมืองของแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะร้านอาหารอีสานประเภทต่างๆ เนื่องจากเป็นการยากที่จะแย่งพื้นที่ใน Modern Trade การตลาดครั้งนี้ เพลงโปรโมตซึ่งจะถูกเปิดในคลื่นวิทยุท้องถิ่น รวมถึงถ่ายทอดผ่านทางโฆษณาทางเคเบิลทีวีท้องถิ่นภาคอีสาน ขับร้องโดยนักร้องดังเลือดอีสาน 4 คน คือ จินตรา พูนลาภ ดอกรัก ดวงมาลา พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ และเฉลิมพล มาลาคำ
ในอนาคตพลิศร์บอกว่าตลาดเบียร์เมืองไทยจะซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ของตลาดเบียร์ที่อยู่ในขั้น Mature ซ้ำยังเผชิญกับกฎระเบียบข้อบังคับซึ่งถือว่าค่อนข้างโหด ความหลากหลายของเบียร์จะมีมากขึ้น ต้องแข่งกันที่นวัตกรรม ต่อไปจะเห็นเบียร์แบบ Limited Edition รวมถึง Seasonal Beer
สัดส่วนการขายเบียร์ (by packaging)
ขวดแก้วใหญ่ 85%
กระป๋อง 10%
ขวดแก้วเล็ก 5%