พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส

ตลอดระยะเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ที่ทรงเคียงข้างพระองค์ตลอดเวลาและทรงเป็นเสมือนกำลังพระราชหฤทัยแด่พระองค์อย่างไม่มีผู้ใดจะเทียบเท่าได้นั้น ก็คือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นั่นเอง

“สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” ได้ทรงปฏิบัติภารกิจน้อยใหญ่นานัปการ ทั้งในฐานะ “พระผู้เป็นที่พึ่งของปวงชนชาวไทย” และในฐานะ “คู่บุญคู่พระราชหฤทัย” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อานาประชาราษฎร์ด้วยพระกรุณาอย่างหาที่สุดมิได้มาโดยตลอด

เมื่อทรงพบกันครั้งแรก

จุดเริ่มต้นแห่งการที่ทรงเป็นคู่บุญคู่พระราชหฤทัยนั้น เกิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ ขณะที่ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร รับราชการในฐานะเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินจากเมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มายังชานเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ครอบครัวของหม่อมเจ้านักขัตรมงคลจึงได้มาเฝ้ารับเสด็จ

ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เขียนเล่าใน “บันทึก เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ว่า ในครั้งนั้น สมเด็จพระราชชนนี มีรับสั่งให้พระราชโอรสทอดพระเนตรหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร และทรงรับสั่งถามว่า “สวย น่ารักไหม”

และจากวันนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงปารีสแล้ว จึงทรงโทรศัพท์ตอบคำถามพระราชชนนีว่า “เห็นแล้ว น่ารักมาก”

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงปารีสอีกเพื่อทอดพระเนตรรถยนต์ และทรงเริ่มคุ้นเคยกับครอบครัวของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล พร้อมกับทรงต้องพระราชอัธยาศัยของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ในด้านดนตรีด้วย

คราวหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุรถยนต์ที่นอกเมืองโลซาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวหม่อมเจ้านักขัตรมงคลเข้าเฝ้าฯ ณ โรงพยาบาล ท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงษ์ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ในหนังสือ “ด้วยพลังแห่งรัก” มีใจความว่า

”ตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุ ทรงมีรับสั่งให้ครอบครัวเราเข้าเฝ้าฯ เพราะทรงได้รับบาดเจ็บที่พระเนตรและพระเศียร คุณแม่ก็เข้าไปก่อน ตอนเข้าเฝ้าฯ ก็ให้จับพระหัตถ์ท่านแล้วบอกชื่อ พอถึงสมเด็จฯ ท่านก็ทูลว่า หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เพคะ พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงจับมืออยู่นานพอสมควรเลย…”

ต่อมา สมเด็จพระราชชนนีทรงขอให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มาศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเป็นผู้ปกครอง และเป็นธุระให้เข้าศึกษาที่โรงเรียนประจำซึ่งสอนวิชากุลสตรี และอยู่ใกล้ตำหนักในเมืองโลซาน

ทรงหมั้นอย่างเรียบง่าย

นับจากวันที่ทรงพบกันครั้งแรก และทรงเริ่มมีความคุ้นเคยกัน ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ สมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต่อหม่อมเจ้านักขัตมงคล โดยพิธีหมั้นได้จัดขึ้นอย่างเรียบง่ายที่โรงแรมวินเซอร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสวมพระธำมรงค์เป็นของหมั้นต่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ซึ่งเป็นพระธำรงค์องค์เดียวกับที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงมอบต่อสมเด็จพระบรมราชชนนี

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส

วันที่ ๒๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระราชทานตามแบบโบราณราชประเพณี ณ วังสระปทุม และทรงประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็น “สมเด็จพระราชินี สิริกิติ์” พร้อมรับพระราชทานสายสะพายขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์

จากนั้นทั้งสองพระองค์เสด็จออก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง ประทับคู่กันเหนือพระราชอาสน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร
จนถึงวันประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสซึ่งกำหนดจัดให้มีขึ้นที่พระตำหนักของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม

ครั้นได้เวลาพระฤกษ์ คือ เวลา ๙.๓๐ นาฬิกา หม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงพาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ที่นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมุดทะเบียนสมรส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ลงนาม ซึ่งขณะนั้นมีชนมายุเพียง ๑๗ ปี หม่อมเจ้านักขัตรมงคล จึงทรงลงพระนามในฐานะพระบิดา และหม่อมหลวงบัว ลงนามในฐานะพระมารดา แล้วทรงโปรดให้ราชสักขีลงนามเป็นลำดับต่อไป แล้วจึงเสด็จขึ้นประทับ ณ ห้องพระราชพิธีบนพระตำหนัก เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ต่อไป ซึ่งเวลาพระฤกษ์ในช่วงนั้นอยู่ระหว่างเวลา ๑๐.๒๔ – ๑๒.๑๐ นาฬิกา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ โดยได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายไทย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศใช้เมื่อเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ไทยประกอบพิธีราชาภิเษกสมรสอย่างเปิดเผย และเป็นทางการแสดงออกอย่างแจ้งชัดถึงการที่ทั้งสองพระองค์จะทรงดำเนินพระองค์ตามระบอบประชาธิปไตยทุกประการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ถวายดอกไม้ธูปเทียนแพเครื่องสักการะแด่สมเด็จพระพันวัสสาฯ แล้วสมเด็จพระพันวัสสาฯ ได้ถวายน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรดน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ตามโบราณราชประเพณีแห่งการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส

จากนั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเจิมพระนลาฎพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงเจิมหน้าผากหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ตามลำดับ เวลานั้น ทรงมีพระราชดำรัสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ด้วยว่า “เอ้า ! หันออกไปยิ้มกับผู้คนที่เขามางานซิ เขาอุตส่าห์มากันเต็มๆ ออกไปให้เขาเห็นหน่อย”

หลังจากที่ทรงเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เสด็จพระราชดำเนินยังห้องรับแขกอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่สองแถวในห้องรับแขกของวังสระปทุม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

เมื่อจบคำประกาศของอาลักษณ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสายสะพายขัตติยราชอิสริยาภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์ อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดแด่สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์เนื่องในการอันเป็นมหามงคลครั้งนี้ด้วย

พระราชพิธีในตอนบ่าย วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เสด็จออก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง ประทับเหนือพระราชอาสน์ พระบรมวงศานุวงศ์ เข้า เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

เมื่อได้เวลามหามงคลฤกษ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร ทรงรับฉันทานุมัติให้กล่าวถวายพระพรในนามของพระบรมวงศานุวงศ์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ผู้ได้รับฉันทานุมัติ ได้กล่าวถวายพระพรในนามของผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในมหาสมาคม เมื่อกล่าวจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์เสด็จขึ้น ชาวพนักงานประโคมแตร และกลองมโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ พระบรมวงศานุวงศ์และพระประยูรญาติใกล้ชิด ได้ทูลเกล้าฯ ถวายของขวัญแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ซึ่งพระองค์ก็ได้พระราชทานของที่ระลึกเป็นการตอบแทน คือ หีบเงินขนาดเล็ก มีพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยคู่กัน
งานเลี้ยงพระราชทานในคืนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเป็นการภายในระหว่างพระญาติสนิทกับข้าราชบริพารเพียงจำนวนไม่เกิน ๒๐ คน ซึ่งนับเป็นพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสที่เรียบง่ายที่สุด
วันรุ่งขึ้นซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานโดยทางรถไฟไปยังพระราชวังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ เป็นเวลา ๓ วัน