“นกกระทุง” ของในหลวง

เมื่อฝนตกหนัก และเกิดอุทกภัย พสกนิกรชาวไทยได้รับความเดือดร้อนทุกข์ยาก เป็นอีกหนึ่งในความห่วงใย และพระราชกรณียกิจหลักในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดเวลานับตั้งแต่พระองค์ทรงครองราชย์ ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางป้องกันภัยให้กับชาวบ้าน และบรรเทาให้ชาวบ้านคลายความทุกข์

การคาดการณ์ได้ล่วงหน้าคือสิ่งสำคัญ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้ทันท่วงที ภาระหน้าที่นี้ถือเป็นหน้าที่ของหน่วยรัฐโดยตรงคือกรมอุตุนิยมวิทยา

จากประสบการณ์ และความประทับใจที่ได้มีโอกาสถวายรายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของ “สมิทธ ธรรมสโรช” อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เล่าถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ และความประทับใจในช่วงเวลาที่ผ่านมา

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลพยากรณ์อากาศไปถวายรายงานทุกวันช่วงบ่าย ๆ เพราะพระองค์จะได้ทรงทราบล่วงหน้า หากเกิดฝนตกหนักน้ำท่วม มูลนิธิราชประชาฯ จะสามารถนำสิ่งของเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านได้ทัน แต่ก่อนนี้ไปกันทีหลังราษฎรได้รับผลกระทบมาก เพราะบางครั้งน้ำท่วมเรือเข้าไปไม่ถึง ถ้าเรารู้ว่าตรงไหนจะมีผลกระทบอะไร เราไปก่อน เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ตอนนี้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ไปถึงก่อนตลอด ที่น้ำท่วมทางมูลนิธิไปแจกของก่อนหน่วยงานแรก ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน

ท่านสนพระทัยทุกอย่าง ข้อมูลที่ไปถวายต้องมีทุกอย่าง พระองค์ท่านทรงทอดพระเนตรทุกอย่าง ต้องการข้อมูลทุกอย่าง เป็นข้อมูลอย่างนี้ทุกวัน แผนที่ทั้งประเทศ และทั้งทวีป ต้องทำทุกวัน มีแผนที่ดาวเทียม มีเรดาร์ มีหมด พระองค์ทรงวินิจฉัยเอง เราถวายใส่ซองไปทุกวัน นอกจากบางครั้งท่านทรงสนพระทัยอันไหน ท่านก็จะให้ราชองครักษ์โทรมา”

หากเท้าความถึงความประทับใจ “สมิทธ” เล่าให้ฟังว่า

“เคยทรงมีพระเมตตาให้ร่วมโต๊ะเสวยครั้งหนึ่งในชีวิต และเข้าเฝ้าใกล้ชิด ก็เป็นบุญของชีวิต โอกาสหนึ่งของชีวิตที่เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระองค์ท่านตอนนั้นเป็นอธิบดีกรมอุตุฯใหม่ๆ

ครั้งนั้นเนื่องในโอกาสทรงไปเปิดสถานีตรวจเรดาร์ที่อมก๋อย ได้รับพระกรุณาให้ร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารกลางวัน โดยไม่ได้ทราบมาก่อน ซึ่งคิดว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาจัดให้ การจัดคนเข้านั่งร่วมโต๊ะเสวย คงได้รับพระราชานุมัติ ซึ่งตอนนั้นไม่ได้ทานอะไรเลย ไม่กล้าทานอะไร ทานได้นิดหน่อย เพราะตื่น ประหม่า แต่พระองค์ท่านรับสั่งเป็นปกติ เช่น ทรงรับส่งถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่า ต้องรีบเสด็จกลับนะ เพราะอธิบดีเขาบอกว่าจะมีฝนตอนเย็น”

หลายคนสงสัยว่าการใช้ราชาศัพท์เป็นอย่างไรบ้าง “สมิทธ” เล่าว่า “ก็พูดผิดพูดถูกบ้าง แต่ท่านทรงไม่ถือ ตอนหลังเข้าเฝ้าบ่อยๆ ก็เก่ง พอพูดได้ พระองค์ท่านไม่ถือ เวลาพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินต่างจังหวัด ชาวบ้านพูดกับท่าน ชาวบ้านพูดได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

ทรงมีพระเมตตากับผมมาก เพราะตั้งชื่อผมมิสเตอร์สมิทธ และตั้งชื่อว่านก เป็น “นกกระทุง” คล้ายกับว่าผมเคยรับใช้พระองค์ท่านมานาน แล้วบางทีเกษียณไปไม่มีใครมาให้ข้อมูล มาทะเลาะกับท่าน ท่านก็เลยตั้งชื่อผม

ตอนหลังผมเข้าเฝ้าผมยังถามเลยว่า นกกระทุงสมิทธเป็นยังไง ท่านอธิบายในเทปมีว่าทำไม่ตั้งชื่อนกกระทุงเป็นชื่อผม เพราะนกกระทุงเวลาว่ายในสวนจิตรลดาจะหันหน้าสู้ลม ท่านจะได้รู้ทิศทางลม ก็นึกถึงว่าเหมือนคุณสมิทธที่เคยถวายรายงาน”

ความประทับใจสำหรับ “สมิทธ ธรรมสโรช” ซึ่งบอกได้แต่เพียงว่ามีมากมายเล่าไม่รู้จบ สำหรับเขาสรุปได้แต่เพียงว่า การมีโอกาสได้รับใช้พระองค์ท่านถือเป็นบุญอย่างสูงสุดในชีวิต