เศรษฐกิจที่อัตราการเติบโตของจีดีพียังคงป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆ 4-5% ในปี 2008 โดยมีปัจจัยลบทั้งราคาน้ำมัน และเศรษฐกิจโลกที่ปั่นป่วน พ่วงกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมือง ไม่เพียงแต่เอเยนซี่โฆษณาต้องโหมหางาน ปรับตัวคิดงานให้ “โดน”ลูกค้าเท่านั้น แต่ยังมีกลยุทธ์ที่น่าฟัง จาก “สรณ์ จงศรีจันทร์” ซีอีโอจากค่าย Dentsu Young & Rubicam จำกัด หรือ Y&R ประเทศไทย ที่บอกอย่างชัดเจนว่า “Speed” คือไม้เด็ดที่จะทำให้ชิงลูกค้ามาไว้ในมือได้ และนี่คือแนวโน้มที่ทำให้เกิด Virtual Office มากขึ้น
Speed ในที่นี้ยังไม่ได้หมายถึงแค่ Speed ระดับธรรมดาเท่านั้น แต่ถึงขั้น High Speed ที่นำมาใช้อย่างจริงจัง จนสามารถลดต้นทุน และนำไปตัดราคาแข่งเอเยนซี่อื่นได้
จากเทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตและผู้ซื้อต่างมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบเหมือนกัน สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารเท่ากัน โลกทั้งสองฝั่งรู้พร้อมกันหมด หลายสินค้าเข้าสู่ Digital Marketing เพราะง่าย และต้นทุนถูก ยิ่งทำให้เอเยนซี่ต้องปรับตัว
กรณีของ Y&R ได้ปรับตัวมาตั้งแต่ตุลาคม 2007 ด้วยเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการทำงาน คือการประชุมทางไกลด้วยเสียงและภาพที่คมชัด ผ่าน High Speed Broadband
“เมื่อเช้าพอรู้ข่าวว่าน้ำมันแตะ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ธุรกิจอย่าง Y&R ยิ่งมองเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยี ทุกวันนี้สามารถประชุมกับลูกค้า โชว์ Story Board ทั้งลูกค้าใน และนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ฮ่องกง ลูกค้าชอบหรือไม่ชอบ ก็สามารถแก้ไขได้ทันทีในออฟฟิศที่ Y&R”
นี่คือระบบการทำงานที่ “สรณ์” บอกว่า ต่างจากรูปแบบเดิมๆ ที่ต้องไปประชุมที่ออฟฟิศของลูกค้า หากต้องแก้ไข ต้องขอเวลาเดินทางกลับมาแก้ไข เสียทั้งเวลา และต้นทุนการเดินทาง
“เราพยายามทำทุกอย่างให้เกิด Speed ทำให้ทันสมัยดูดีด้วย เรามองว่าปัญหาน้ำมันจะมาเป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งมองการแข่งขันเรื่องคุณภาพ บางครั้ง Speed ทำให้เราชนะ ถ้าเราทำงานได้เร็วขึ้นในระยะเวลาที่สั้นลง ยกตัวอย่างถ้านัดเจอสิบเอ็ดโมงครึ่ง เราก็ต้องเดินทางตั้งแต่ 10 โมง แต่ถ้าใช้ระบบอย่างนี้ เก้าโมงก็เจอกันได้แล้ว ทำให้ทุกอย่างมีประสิทธิภาพ เราพยายามบอกลูกค้าตรงๆ ว่า เราก็ไม่อยากกวนคุณ ต่างคนต่างเสียเวลา เราแก้ได้เลย ครีเอทีฟก็นั่งประชุมได้ด้วย”
ไม่เพียงเอเจนซี่ที่ถึงเวลาปรับการทำงานเท่านั้น “สรณ์” บอกว่า ลูกค้าก็ต้องปรับตัว อย่างที่เขาบอกกับลูกค้าว่าเป็นวิธีที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ทุกวันนี้ทำให้ “สรณ์” เจอลูกค้าได้หลายราย จากเดิมหากต้องเดินทางไปพบ ได้เจออย่างมากก็ 2 ราย แต่วิธีการที่ต้องพบลูกค้าในแบบเดิม ก็ยังคงมีอยู่บ้าง แต่เลือกเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น นอกจากนี้ยังทำให้ทีมงานทำงานได้มากขึ้น ด้วยเครื่องมือสื่อสารไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือไฮเทคแบบ Black Berry แอร์การ์ด โน้ตบุ๊กให้พนักงานานั่งทำงานที่ใดก็ได้ที่มีไวไฟ อินเทอร์เน็ต
เอเยนซี่ในอนาคตจะเป็นแบบนี้ เป็น Virtual ออฟฟิศมากขึ้น ไม่ยึดติดการทำงานสถานที่ใดที่หนึ่ง เพราะเทคโนโลยีสะดวก
“สรณ์” ยังบอกว่าเศรษฐกิจทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป แม้กระทั่งโครงสร้างธุรกิจของอเยนซี่ก็ต้องปรับตัว โดยทำทุกอย่างครบวงจร การทำโฆษณาอย่างเดียวโดยไม่มีมีเดีย และพีอาร์ จะอยู่ไม่ได้อีกต่อไป เพราะโฆษณาเป็นแค่เสี้ยวเดียวของ Communication และบทบาทเล็กลงเรื่อยๆ การเก็บค่าสร้างทีวีซีสักเรื่องไม่สามารถเก็บได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะมูลค่าการซื้อมีเดียจะสูง แต่เอเยนซี่นั้นไม่ได้
สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือ เอเยนซี่ มีแรงกดดันจากคู่แข่งทุกระดับ ทั้งที่เป็นฟรีแลนซ์ ที่มีผลงานไม่ด้อยกว่าเอเยนซี่ใหญ่ เป็นที่ต้องการของลูกค้าที่ต้องการใช้งบไม่สูง เอเยนซี่จึงต้องหันกลับมาดูว่าฟรีแลนซ์ทำอะไรไม่ได้ ที่พบคือการเป็นที่ปรึกษาครบวงจร วาง Strategy เป็น Brand Consultant เป็นงานระหว่างทางที่สำคัญมากในการสื่อสารถึงลูกค้า
นี่คือไอเดียที่ทำให้ “สรณ์” บอกว่า Y&R ได้วาง Positioning เป็น Result & Solution Provider จะไม่เรียกตัวเองว่าเป็น Advertising Agency อีกต่อไป โดยปรับโครงสร้างและหน้าที่ของบริษัทแม่เป็น Holding Company และแต่งตั้งพนักงานในบริษัท และดึงมือดีในวงการโฆษณาบางคนเข้ามาเป็นผู้บริหารบริษัทในเครือที่เพิ่มขึ้นอีกหลายบริษัท สามารถสนองลูกค้าได้ทุกกลุ่ม และทุกรูปแบบ ตั้งแต่ Brand Consultant ถึงการผลิตหนังโฆษณาแบบแรงๆ