ในฝรั่งเศส ที่คนส่วนใหญ่ใช้เปอโยต์ แต่เบนซ์ของพระเอกอย่างนิโคลัส เคจ และเพื่อนกำลังขับหนีคู่แข่ง ที่กำลังพยายามหาเอกสารโบราณเพื่อถอดรหัส อักษรโบราณเพื่อไขไปสู่ขุมทรัพย์ Gold City ที่สหรัฐอเมริกา ฉากหนึ่งใน National Treasure –Book of Secrets ที่ชัดเจนกับ Product Placement ที่ดูแล้วไม่ค่อยตื่นเต้นกับเนื้อเรื่องใด แต่ให้ความรู้สึกไฮเทค เพราะมีจอภาพในตัวรถที่ส่งภาพจากกล้องด้านหลังของเบนซ์ ทำให้เห็นด้านหลังชัดไม่ถูกชนยับ และหนีรอดปลอดภัย และอีกไฮเทคหนึ่งต้องยกให้กับโมโตโรล่า ที่แทรกเข้าไปอยู่ในเรื่องได้ตลอดเวลา โชว์แม้กระทั่งเทคนิคการส่งภาพคมชัดของแผ่นไม้เก่าที่เต็มไปด้วยอักษรโบราณ ชัดแจ๋วจนแม่ของพระเอกสามารถถอดรหัสได้ และยังแอปเปิล คอมพิวเตอร์ปรากฏตัวเป็นระยะรวมทั้ง iPod ตัวโตสะดุดตาในฉาก
และตอนจบของเรื่องไม่เพียงเบนซ์ที่เด่นมาตั้งแต่ต้นและกลางเรื่องเท่านั้น สุดท้ายพระเอกที่สุดต้องยกให้กับเฟอร์รารี่ สีแดงสุดเท่ที่กล้องแช่ภาพไว้ที่พวงกุญแจชัดแจ๋วที่พระรองถือในมือด้วยโลโก้เฟอร์รารี่ที่เด่นมาก และ Zoom Out ให้เห็นความแรงของรถสีแดงหรู
ถามว่าจำเนื้อเรื่องที่ดูกันได้ไหม คำตอบคือจำได้ ถามว่าสนุกไหม ก็สนุกบ้างไม่สนุกบ้าง แต่ถามว่าจำแบรนด์ได้หมด ชัดๆ คือ จำได้
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนังฮอลลีวู้ดทุกเรื่องมี Product Placement จนเป็นเรื่องถกเถียงกันมากในสหพันธ์คุ้มครองผู้บริโภคของอเมริกัน แต่หนังเหล่านี้ส่งออกมายังนอกอเมริกา จนหลายประเทศซึมซับและจดจำแบรนด์เหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย
นี่คือเรื่องธรรมดาในอุตสาหกรรมหนังของอเมริกา ที่ “เดวิด อัลแลน โจนส์” นักธุรกิจด้านความบันเทิงในอเมริกา บอกว่า มีมานานและมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรื่องต้นทุนการสร้างที่เพิ่มขึ้น และช่องทางรายได้สำหรับผู้สร้างหนัง นอกจากรายได้จากการจำหน่ายของที่ระลึกจากหนัง (Merchandise) ซึ่งเจ้าของผลิตภัณฑ์ยังได้ประโยชน์เมื่อหนังนั้นได้ทำเป็นแผ่นดีวีดี และเผยแพร่ผ่านทีวีในอนาคต
นอกจากนี้ยังเป็นการปรับตัวของการโฆษณา ที่ปัจจุบันมีสื่อให้เลือกหลากหลาย ทั้งทีวี อินเทอร์เน็ต การโฆษณาในหนังเป็น Movie Marketing ที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้ง Product Placement และ Promotion
ปัจจุบัน “เดวิด” เป็นกรรมการบริหารร่วม บริษัทมีโมชั่น จำกัด บริษัทธุรกิจหนังของไทย ที่ร่วมกับไลฟ์ฟิล์ม เตรียมสร้างหนังทั้งหมด 4 เรื่องในปี 2008
“เดวิด” บอกว่า หนังต่างชาติที่ประสบความสำเร็จ มีเจมส์ บอนด์ 007 ที่มีความเป็นไฮเทค สินค้าที่ใช้มักเป็นค้าใหม่ที่ยังไม่วางตลาด หรือการตอกย้ำแบรนด์ที่สำเร็จ โดยให้นักแสดงพูดถึง อย่างคอนเวิร์ส ในเรื่อง ไอโรบอท ที่วิล สมิทธพูดถึงแบรนด์สินค้า
แต่ละสินค้าจะมีเป้าหมายต่างกัน เช่น The Italian Job ที่มีมินิคูเปอร์เป็นสปอนเซอร์หลัก เกือบทั้งเรื่องผู้ชมจะเห็นรถมินิวิ่งไล่ล่ากันบนถนน ซึ่ง “เดวิด” บอกว่า ชัดเจนว่าเป็นช่วงจังหวะที่มินิคูเปอร์ต้องการ Repositioning จากความจดจำของลูกค้าที่รู้สึกว่ารถมินิเป็นรถสำหรับผู้หญิง เพราะขนาดเล็ก เมื่อในหนังแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะ และผู้ชายก็ขับเพื่อไล่ล่ากันได้ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ชายจึงเพิ่มขึ้นสำหรับมินิ
หรือในเรื่อง Cast away ที่ทอม แฮงก์ เล่นเป็นพนักงานของ Fedex เรื่องสนุก เรียกน้ำตาผู้ชมได้จำนวนมาก ขณะเดียวก็ทำให้รู้สึกว่าบริการของ Fedex คือบริการอย่างถึงที่สุด และรับผิดชอบต่อสินค้าที่ลูกค้าใช้บริการรับส่ง
หรือแม้แต่บางสินค้าที่ยอดขายเริ่มชะลอ หรือแบรนด์นั้นต้องการกระตุ้นตลาด ก็ถึงขั้นนำชื่อแบรนด์มาตั้งเป็นชื่อหนัง เช่น เรื่อง Barbie Movie เพราะช่วงนั้นบาร์บี้ยอดขายตก หรือเรื่อง The Devil Wears Prada ก็ชัดเจนว่าต้องการกระตุ้นยอดขาย
ในอดีตมีขนม “Reese’s Pieces” ของช็อกโกแลต Hershey ปี 1982 เป็น Product Placement ในเรื่องอีที ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 80%
ลักษณะของ Product Placement ของหนังต่างประเทศ จึงเป็นลักษณะการวางแผนร่วมกับเจ้าของสินค้า รู้ว่าสินค้าใหม่นั้นจะวางตลาดเมื่อไหร่ ใช้เวลาวางแผนร่วมกันเป็นปี และที่สำคัญไม่ถูกต่อต้าน และยังทำรายได้มหาศาล เพราะเทคนิคการสร้างที่ให้ความบันเทิงกับผู้ชมได้เต็มที่
สำหรับรายการทีวี มีมากในซีรี่ส์ดังหลายเรื่อง ในช่วงปี 1950 ถือเป็นการเริ่มต้น Product Placement ในละครที่ออกอากาศของอเมริกา มักมีแพ็กเกจของสบู่ ทั้งของค่าย พีแอนด์จี และยูนิลีเวอร์ปรากฏ ทำให้เรียกติดปากกันมาสำหรับละครน้ำเน่าว่า Soap Opera
ปัจจุบันที่มีให้เห็นบ่อยๆ เช่น ของค่าย HBO เรื่อง Sex in the City กับ Absolut Vodka
ปัจจุบันยังมีบางเรื่องที่เป็นหนังหรือละครเก่า เมื่อนำมาฉายซ้ำ ยังมีการใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์นำสินค้าบางชิ้นเข้าไปเพิ่มในฉากอีกด้วย
นี้คือพลังการตลาด แบบ Product Placement ที่ทำให้สินค้าต่างๆ เข้ามาแทรกซึมอยู่ในสายตา และไลฟ์สไตล์อย่างได้ผลมากที่สุด