Local Content หัวใจดวงใหม่ของทรูวิชั่นส์

“ทรูวิชั่นส์” เป็นธุรกิจที่ขาย “Content” เป็นหลัก ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริษัทจะเติบโตได้ต้องมี Content ที่เข้มข้นและโดนใจผู้บริโภค ซึ่งกลยุทธ์ด้านคอนเทนต์ในปี 2551 ของทรูวิชั่นส์ ได้รับการเปิดเผยโดย อรรถพล ณ บางช้าง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายรายการของบริษัท ทรูวิชั่นส์ บ่งบอกถึง Strategic Move ที่ชัดเจนของทรูวิชั่นส์ กับเป้าหมายขยายฐานการตลาดไปสู่ต่างจังหวัดหรือในระดับแมส หรือตลาดกลุ่มใหญ่ให้มากขึ้น จากเดิมทรูวิชั่นส์เจาะตลาดนิช หรือจับกลุ่มคนดูเฉพาะกลุ่ม

ร่วมทศวรรษ ฐานลูกค้ากลุ่มนี้ ล้วนมี Brand Loyalty และเป็นตลาดที่อรรถพลบอกว่าเริ่มอิ่มตัวแล้ว วาระแห่งการแสวงหาตลาดใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมจึงเริ่มขึ้นอย่างจริงจัง

“10 ปีที่ผ่านมา เราทำรายการเน้นรายการที่มาจากต่างประเทศในสัดส่วนที่ถือว่ามาก และสำหรับปี 2551 นี้เราพร้อมที่จะขยับมาทำ Local Content คือรายการในประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นคอนเทนต์ไทยทั้งช่องเลย นี่คือกลยุทธ์หลักของปีนี้ กีฬาก็จะเน้นกีฬาในประเทศที่น่าสนใจ เราจะต้องเสาะหาว่ามีกีฬารายการใดบ้างที่น่าสนใจที่จัดขึ้นในประเทศของเรามานำเสนอให้มากขึ้น เพราะ Local Content มีความสัมพันธ์และสร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับผู้บริโภค ส่วนภาพยนตร์ก็จะโฟกัสไปที่ภาพยนตร์ไทยมากขึ้น กลางปีจะออกมาให้เห็นแต่ละรายการ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะละเลย International Content ยังคงเข้มข้นเหมือนเดิม” อรรถพลร่ายยาวถึงมิติใหม่ของทรูวิชั่นส์ที่จะใช้ Local Content รุกรากหญ้า

อรรถพล วางแผนที่จะเปิดช่อง Local Content เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2551 นี้ เปิดเกมรุกอย่างหนักอย่างต่ำ 5 ช่องใหม่ ทั้งนี้ช่องใหม่ที่อรรถพลบอกนั้น จะเป็นช่องที่เป็นเนื้อหาแบบ Local Content ทั้งหมด

เพื่อเพิ่ม Value เพิ่ม Exclusive Content ให้กับทรูวิชั่นส์ และสร้างทรัพย์สินทางปัญญาที่ใครก็มิอาจละเมิดได้

อรรถพล บอกว่า ภาพรวมของ Local Content ของทรูวิชั่นส์จะเป็นคอนเทนต์ที่แตกต่างจากฟรีทีวี และเคเบิลทีวีอื่นๆ หรือเป็นสิ่งที่ฟรีทีวีทำน้อย แต่รูปแบบต้องแตกต่างเพราะหากทำเหมือนกันคนดูก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร

โดยคอนเทนต์ที่ใช้เป็นอาวุธในการรุกหัวหาดต่างจังหวัดจะแบ่งออกเป็นหลายประเภท ตามพฤติกรรมความชื่นชอบและความนิยมในการดูของผู้บริโภคคนไทย เช่น ตลก ภาพยนตร์ไทย และอาหาร เป็นต้น

นับเป็นทิศทางที่ต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เราได้เห็นช่องใหม่ๆ หรือการปรับเปลี่ยนเพื่อขยายฐานการตลาดและการสร้างแบรนด์ “ทรู” ไปในตัว เช่น ทรูมิวสิค หรือทรูสปอร์ต เป็นต้น

ด้านช่องกีฬาซึ่งเป็นคอนเทนต์ระดับ Top ของทรูวิชั่นส์ เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำหรับของทรูวิชั่นส์ในปี 2551 นี้ เพราะเป็นปีที่มีมหกรรมกีฬาให้ดูเยอะมาก ทรูวิชั่นส์ ซึ่งเป็น Destination ของกีฬาอยู่แล้วก็พร้อมนำเสนอกีฬาในแบบที่คอกีฬาชื่นชอบทั้งกีฬายอดนิยมและกีฬาอื่นๆ ที่เป็นเทรนด์แรงมาแนะนำ รวมไปถึงการเพิ่มช่องกีฬาใหม่ เน้นรายการแข่งขันกีฬาภายในประเทศที่น่าสนใจ แต่ยังไม่มีใครนำเสนอ เป็นต้น

เช่นเดียวกัน เมื่อนโยบายของทรูวิชั่นส์อีกด้านหนึ่งคือการรุกตลาด “HDTV (High Definition Television)” ดังนั้นคอนเทนต์ก็ต้องตอบสนองต่อเทคโนโลยีด้วย โดยเฉพาะคอนเทนต์กีฬา ซึ่งคนดูจะเห็นความแตกต่างของคอนเทนต์อย่างชัดเจน อีกทั้งยังสอดรับกับเทรนด์ทั่วโลก ที่สหรัฐอเมริกาในปี 2551 คอนเทนต์กีฬาก็จะเปลี่ยนเป็นกระบวนการผลิตมาเป็น HDTV ทั้งหมด เช่น รายการกอล์ฟ PGA Tour ก็จะถ่ายทำเป็น HDTV ทั้งหมด หรือรายการฟุตบอลในยุโรปจะค่อยๆเพิ่มจำนวนคู่ที่ถ่ายทำเป็น HD เป็นต้น

“แม้เราจะต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อจ่ายค่าเทคนิคแพงขึ้น 2-3 เท่า ขณะเดียวกันคนดูก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่เขาจะได้ดูแล้วได้อารมณ์ ประสบการณ์ที่แตกต่าง และจะไม่กลับไปดูทีวีแบบสแตนดาร์ดอย่างแน่นอน”

การใช้เทคโนโลยี HDTV เป็นอีกจุดขายใหม่ และจะนำเสนอคอนเทนต์เป็นแพ็กเกจสำหรับผู้ชม HDTV โดยเฉพาะ และจะทำช่องใหม่เป็นวาไรตี้ออกแนว General Entertainment เช่น การรวบรวม 3 พลังหลัก คือ ภาพยนตร์ คอนเสิร์ต และสารคดี เป็นต้น โดยเบื้องแรกคาดว่าจะเปิดช่องสำหรับ HDTV โดยเฉพาะ 2 ช่องด้วยกัน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในราวกลางปี

Key Program อย่าง True Academy Fantasia หรือ True AF ในซีซั่นที่ 5 จะเริ่มเร็วขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ความต่อเนื่องเพื่ออุดช่องว่างของระยะเวลาหลังจากที่รายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีกสิ้นสุดฤดูกาลลง

ไม่เพียงเท่านี้ อรรถพลบอกว่าทรูวิชั่นส์ยังต้องการพยายามยึดหัวหาดปักหลักครองความเป็นผู้นำด้านเรียลลิตี้โชว์ไว้ให้จงได้ ซึ่งนี่เป็นวิสัยทัศน์ของศุภชัย เจียรวนนท์ หัวเรือใหญ่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เลยทีเดียว

“เรากำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์รายการเรียลลิตี้โชว์มาทำเองเหมือนกับกรณีของ AF คาดว่าจะลงตัวและพร้อมที่จะออกอากาศในครึ่งปีหลังนี้ หลังจากสิ้นสุดซีซั่น AF5 ประมาณ 2- 3 เดือน” ก่อนจะแย้มถึงโปรเจ็คท์ยักษ์นี้ต่อไปว่า ไม่ใช่แนวเดียวกันกับ AF อย่างแน่นอน แต่จะเป็นรูปแบบที่ใช้เจาะกลุ่มแมสโดยเฉพาะ และแน่นอนว่าจะต้องตอบโจทย์ของ Lifestyle แบบ Convergence ได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับ AF

ขณะที่ผลผลิตนักล่าฝันของ AF ทั้ง 4 รุ่น จะได้รับการต่อยอดและเอาใจแฟนคลับผู้ภักดีกับรายการเรียลลิตี้รูปแบบใหม่ที่จัดทำขึ้น โดยมีรูปแบบคร่าวๆ คือ ให้อดีตนักล่าฝันมาร่วมกันทำกิจกรรมสนุกๆ น่าสนใจร่วมกัน กำหนดออกอากาศสัปดาห์ละครั้ง

ทั้งนี้ เมื่อต้องรุกตลาดต่างจังหวัดด้วย Local Content อรรถพลบอกว่า ต้องวางแผนอย่างรัดกุมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจับมือกับพันธมิตรให้มากขึ้น โดยจะเป็นการ Joint Venture กับ Production House ระดับ Big Name ของเมืองไทย ซึ่งปีที่ผ่านมาก็มีพันธมิตรอย่างสตาร์ทีวี ช่วยกัน Re-launch ช่องแชนแนลวีวี เพื่ออาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากพันธมิตร

ด้านแพ็คเกจของทรูวิชั่นส์ก็จะนำเสนอในราคาที่ลดลงมาเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายนี้โดยเฉพาะ เพื่อเป็นการขยายฐานสู่ตลาดต่างจังหวัดขณะที่ตลาดในกรุงเทพฯ เริ่มอิ่มตัว ซึ่ง Local Content ที่ผลิตขึ้นมาใหม่ก็จะถูกจัดลงในแพ็คเกจเชิญชวนกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ให้มา

ปัญหา Piracy หรือการละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงการลักลอบขโมยสัญญาณ นับเป็นแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญอันทำให้ทรูวิชั่นส์ต้องพลิกกลยุทธ์สู้แบบยิบตา คอนเทนต์ที่ผลิตขึ้นมาในเมืองไทยน่าจะเป็นตัวตอบโจทย์ และเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคมาสมัครสมาชิกทรูวิชั่นส์ได้มากขึ้น

“เราขายคอนเทนต์ ผมเป็นเหมือนพ่อครัวใหญ่ ปรุงอาหาร สรรหาคอนเทนต์ดีๆ มาปรุงแต่งและโดนใจผู้บริโภคคนไทย ถ้าคอนเทนต์เราโดน โดดเด่นและไม่เหมือนใคร เชื่อว่าผู้บริโภคจะเข้าใจและเลือกของคุณภาพ ในที่สุดมันก็เฉือนกันที่คอนเทนต์นี่แหละครับ”