“กรณิการ์ กลีบแก้ว – ปิยะณัฏฐ์ เกียรตินวนันท์” Duo Planner

“…รางวัล Best of Creative Media ประเภทสื่อ ‘อินเทอร์เน็ต’ ได้แก่…แคมเปญมหาวิทยาลัยรังสิต : Virtual Campus Visit ยินดีด้วยคร้าบ” …สิ้นเสียงฮาร์ด-สุทธิพงษ์ ทัดพิทักษ์กุล พิธีกรผู้ประกาศรางวัล m!dea Award 2007 งานประกาศผลรางวัลภายในองค์กรของ “มายด์แชร์” มีเดียเอเยนซี่ยักษ์ใหญ่ สองสาวพลัง “หยิน-หยาง” จึงปรากฏตัวขึ้นเพื่อไปรับรางวัลบนเวที คนหนึ่งเป็นสาวหวานมาดคุณหนู ขณะที่อีกคนเป็นขาลุยลุคสาวห้าว …“ปิยะณัฏฐ์ เกียรตินวนันท์ (แพร)” ในบทบาท “Senior Planner” และ “กรณิการ์ กลีบแก้ว (นานา)” Interaction Director…ชานมไข่มุกรสชาติ “หวาน” + “มัน”กำลังดี

ชานมรสหวาน ไข่มุกเคี้ยวมันส์

… ขณะศึกษาในมหาวิทยาลัย “นานา” เป็นนักกิจกรรมตัวยง เธอนิยมทำกิจกรรม (แมนๆ) ทุกอย่าง อาทิ การเป็นประธานกีฬาสี เป็นสมาชิกวงดุริยางค์ของโรงเรียน ฯลฯ ต่างจาก “แพร” ซึ่งนิยมร่วมกิจกรรมในอวตารที่เรียบร้อยเชิงวิชาการ เช่น การเป็นคณะกรรมการนักศึกษาของภาควิชาในคณะ

ในแต่ละปี นานาและแพรต้องทำงานร่วมกันตลอดอย่างน้อยๆ 5-6 แคมเปญต่อปี โดยในฐานะ Media Planner แพรมีหน้าที่รับ Brief จากลูกค้าในความดูแล ก่อนวางแผนจัดสรรงบฯเพื่อลงสื่อต่างๆ หากงานใดมีการใช้สื่อ “ดิจิตอล” นานาจะเข้ามา ”ร่วมด้วยช่วยแพร” ตั้งแต่ขั้นตอนของการหาไอเดีย กระทั่งได้ Base Campaign เพื่อนำกลับไปเสนอให้ลูกค้า

…เมื่อก่อนทีมงานดิจิตอลมีกันอยู่ 2 คน แต่พอ 3 ปีให้หลัง เรามีน้องทีมงานร่วม 30 คน เห็นชัดๆ เลยว่าเทรนด์ของสื่อบนอินเทอร์เน็ตมาแรงมาก” นานาเล่า (จนปรากฏภาพในระยะเวลาอันสั้น)

แคมเปญระดับรางวัล

“ปกติมหาวิทยาลัยรังสิตจะมีแคมเปญปีละ 2 ครั้ง ตามการเปิดรับนักศึกษาใหม่ 2 ภาคการศึกษา แต่ปีที่แล้วเราอยากนำเสนอสื่อออนไลน์ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่แบนเนอร์ หรือไฟล์แฟลชธรรมดา” แพรเปิดประเด็นถึงแคมเปญ “Virtual Campus Visit” บนสื่ออินเทอร์เน็ตที่เธอคว้ารางวัลร่วมกับนานา

แคมเปญระยะเวลา 1 เดือน ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย ”เด็กมัธยมปลาย” ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ โดยแพรและนานาจับจุดที่ว่า “Chat” คือหนึ่งในกิจกรรมที่เด็กๆ ในปัจจุบันชอบทำมากที่สุด “เด็กสมัยนี้ไม่กลัวการแชตกับคนแปลกหน้า พวกเขาสามารถ chat ไปพร้อมๆ กับการทำกิจกรรมอย่างอื่น”

ในขณะที่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งก็ชี้ว่า เด็กกลุ่มดังกล่าวอยู่ในช่วงของการหาข้อมูลเพื่อศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งข้อมูลทั่วไปพวกเขาสามารถหาได้ด้วยตนเอง ทว่า สิ่งหนึ่งที่ยังขาด คือ “In depth information” ที่เป็นเรื่องเล็กๆ แต่สำคัญ และจะเป็น”ชีวิตประจำวัน”ของเขาต่อไปอีก 4 ปี เช่น การเดินทางไปมหาวิทยาลัย เรียนสนุกไหม กระโปรงนักศึกษาแบบต่างๆ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่เด็กๆ ให้ความสำคัญ

แพรและนานาเห็นร่วมกันว่าคนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น ”รุ่นพี่และอาจารย์” โปรแกรม “Live Chat” จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลา 5โมงเย็นถึง 2ทุ่ม บนพื้นที่เว็บไซต์ “เด็กดีดอทคอม” เว็บที่เด็กมัธยมปลายเข้าไปศึกษาเรื่องการเรียนต่อมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีแบนเนอร์บอกตาราง Live Chat รายวันของแต่ละคณะ นอกเหนือจากแบนเนอร์หลักของมหาวิทยาลัยที่คงไว้เพื่อ Maintain Awareness

“เรามีการ Branded ไปในหน้า Admission Page ของเด็กดีฯ รวมถึงทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องใน Theme ของม.รังสิตทั้งหมด มีคอลัมน์แนะนำคณะโดยการลงพื้นที่สัมภาษณ์ของทีมงานเด็กดีฯ”

ความสำเร็จไม่เพียงเกิดขึ้นบนเวทีประกาศรางวัล “เด็กมาสมัครเข้าเรียนที่นี่ในอัตราเพิ่มขึ้นที่เติบโตมาก สวนทางกับมหาวิทยาลัยอื่นที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง” ผลจากแบบสอบถามยังชี้ว่า เว็บไซต์เด็กดีดอทคอมและ Live Chat ติดอันดับ Top 5 ของ Resource ที่ทำให้เด็กที่มาสมัครรู้จักมหาวิทยาลัยรังสิต และคณะต่างๆ ทั้งยังพบว่า แม้จะมีการใช้สื่อทีวี และสื่อสิ่งพิมพ์ ทว่าเด็กๆ มากกว่าครึ่งล้วนได้รับข้อมูลมาจากอินเทอร์เน็ต “การันตีได้ว่าในปัจจุบัน มันเป็นสื่อที่เข้าถึงเด็กมากที่สุด ด้วยความที่เป็น 2-Way Communication” แพรกล่าว

“ที่ได้รางวัล ส่วนหนึ่งก็เพราะ Service ของลูกค้าเป็นอะไรที่เหมาะกับสื่อดิจิตอลจริงๆ ต้องบอกว่ามันยากกว่าแค่ Planning ทั่วไป มากกว่าการเลือกสื่อที่จะลง ลูกค้าต้องช่วยเราด้วยการแจ้งนักศึกษาและอาจารย์ถึงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมความรู้ที่จะตอบคำถาม” นานาเสริม

ล้วงกึ๋นจอมวางแผน

“บางที Direction หรือข้อมูลบางอย่างของลูกค้าต้องรอทางเมืองนอกก่อน แต่เราต้อง Work on โดยศึกษาเอาจากภาพรวมของตลาดหรือคู่แข่ง แล้วคาดการณ์เอาเอง ถ้ามัวแต่รอก็จะไม่ทัน” แพรเล่าถึงอุปสรรคของงาน Media Planning ที่ต้องทำงานอยู่บนพื้นฐานของ “Timing” เนื่องจากแต่ละสื่อล้วนมี Period ของมัน

แม้คนภายนอกจะมองว่าอาชีพวางแผนสื่อมีแต่ ”ตัวเลข และ Excel Sheet” แต่แพรกลับเห็นว่าอาชีพของเธอมีเสน่ห์

“ความท้าทายอยู่ที่เรารับเงินลูกค้ามาแล้ว ต้องวางแผนการใช้แต่ละสื่อให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายที่สุด ต้องสังเกตว่าคนในปัจจุบันเขาชอบทำอะไรกัน มันมีหลายสื่อที่เขาต้องออกไปเจอ โดยเฉพาะสื่อนอกบ้าน เราจะมัวแต่ยึดติดสื่อบางสื่อไม่ได้ เช่น เมื่อก่อนนึกถึงผู้ใหญ่ต้องทีวี แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่นั้น เราต้องดูว่าเขาเข้าโรงพยาบาลบ่อยมั้ย ชอบไปออกกำลังกายรึเปล่า เพื่อวางแผนสื่อให้เข้าถึง ไม่ใช่ใช้แต่สื่อ Mass เหมือนในอดีต”

การเป็น Media Planner ทำให้แพรได้ทำงานที่ไม่จำเจ ด้วยสินค้าใหม่ของลูกค้าในแต่ละปี อีกทั้งปัจจุบันมีสื่อแปลกๆ ให้เธอได้ศึกษามากมาย

“มันทำให้โลกทัศน์เรากว้างขึ้น ไม่ใช่แค่วางแผนอยู่หน้าคอมพ์ แต่เราต้องช่างสังเกต อ่านงานวิจัยเยอะๆ เพื่อดูว่ามีช่องทางใดบ้างที่จะเข้าถึงผู้บริโภค อย่างทำสินค้าเด็ก บางทีก็เข้าไปดูคลิปเบบี้แปลกๆ ใน Youtube ดูว่าเรามาดัดแปลงได้มั้ย เอามาเป็นมุกขำๆ เสนอลูกค้าได้”

…”ความท้าทาย” เป็นคำตอบในเชิงเดียวกันของนานา ”งาน Internet Planner ทำให้เราได้ทำงานกับความท้าทายของเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ โจทย์ใหม่ๆ ของลูกค้าคือสิ่งที่ท้าทายที่สุด และเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เราเกิดไอเดียใหม่ๆ รวมถึงนโยบายของบริษัท และที่สำคัญ เพื่อนร่วมงานก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเกิดไอเดียและแรงบันดาลใจในการทำงานเสมอ…”

Profile

Name กรณิการ์ กลีบแก้ว
Age 32
Education
โรงเรียนเซนโยเซฟคอนแวนต์
ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาฯ
ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ ABAC
Career Hilight
ฝ่ายขาย บริษัท เนชั่น กรุ๊ป
Account Executive เว็บไซต์ Siam2u.com

Name ปิยะณัฏฐ์ เกียรตินวนันท์
Age 29
Education
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
ปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ ABAC
ปริญญาโท Integrated Marketing Communication, Illinois Institute of Technology
Career Hilight Account Executive บริษัท เอไทม์ มีเดีย (FM 88.0 MHz-Radio no problem)