มายด์แชร์ เปิดรายงานวิเคราะห์พฤติกรรม “การใช้ชีวิต” ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป 7 ประการ จากการระบาดของ COVID-19 และบางอย่างอาจจะติดตัวผู้บริโภคต่อไปแม้การระบาดจะหยุดลงแล้วก็ตาม
บทวิเคราะห์วิถีชีวิตแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปเพราะการระบาดของไวรัส COVID-19 รายงานโดยผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่านจาก มายด์แชร์ ประเทศไทย “ณัฐา ปิยะวิโรจน์เสถียร” ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนธุรกิจ และ “บงกช ชัยเมืองมา” ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ โดยการวิเคราะห์เทรนด์พฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญให้กับธุรกิจและแบรนด์ได้วางแผนอนาคต ทั้งวิธีการทำธุรกิจและการสื่อสารการตลาดด้วย
1.Reverse Globalization – พึ่งพาภายในประเทศมากขึ้น
คอนเซ็ปต์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นในยุคนี้ เพราะหลังจากจีนซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าระดับโลกหยุดชะงัก ส่งผลโดมิโนต่อซัพพลายเชนในประเทศอื่น ทำให้บริษัทข้ามชาติหลายรายเริ่มพิจารณาการนำการผลิตบางส่วนกลับสู่ประเทศต้นทางเพื่อพึ่งพิงตนเองให้มากขึ้น หรืออาจจะเริ่มกระจายแหล่งผลิตไปในหลายประเทศกว่าเดิม
ประเทศไทยเองมีธุรกิจที่ต้องพิจารณาแนวทางนี้มากขึ้นเช่นกัน นั่นคือ ธุรกิจท่องเที่ยว ที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ในอนาคตอาจต้องมองถึงการดึงนักท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้นเพื่อรองรับวิกฤตที่คาดไม่ถึง
2.Digital Takeover – เข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างสมบูรณ์
ที่ผ่านมา กิจกรรมบนดิจิทัลมักจะนำโดยกลุ่มที่เข้าถึงและเปิดรับเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันเมื่อพื้นที่นอกบ้านส่วนใหญ่ถูกปิด ทำให้ผู้บริโภคทุกคนถูกบังคับให้ใช้เทคโนโลยีอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยมายด์แชร์มองว่าต่อจากนี้ “ดิจิทัล” จะกลายเป็น “โครงสร้างพื้นฐาน” เหมือนกับไฟฟ้าหรือประปา เป็นความจำเป็นที่จะต้องมีอินเทอร์เน็ตไว้ใช้งานเพื่อเข้าถึงแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น
อีคอมเมิร์ซและเดลิเวอรี เหตุการณ์นี้ได้บีบให้ร้านค้าต้องขายออนไลน์เพื่อความอยู่รอด แม้แต่ร้านที่ไม่เคยเข้าสู่มาร์เก็ตเพลส ยังเลือกที่จะใช้ช่องทางโซเชียลคอมเมิร์ซเพื่อขายสินค้า หรือต้องหันมาปรับตัวให้เป็นดิจิทัลสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น รถพุ่มพวง ที่ติดตั้งระบบ GPS ลูกค้าสามารถเปิดดูในแผนที่ได้ และสั่งสินค้าล่วงหน้าได้ทาง Line หรือสารพัดร้านค้าที่เข้าไปขายในกลุ่ม Facebook มหาวิทยาลัย
สังคมไร้เงินสด ความกลัวต่อเชื้อไวรัสเป็นแรงขับสำคัญให้คนหันมาใช้ช่องทางไร้เงินสดแทน เป็นประโยชน์ต่อผู้ขายที่จะจัดการระบบชำระเงินได้ง่ายขึ้น
ประสบการณ์เสมือนจริง แม้ว่าการรับประสบการณ์ผ่านโลกออนไลน์จะเทียบได้ยากกับการไปสัมผัสของจริง แต่ก็ช่วยเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไปจากการเว้นระยะห่างทางสังคมได้ ยกตัวอย่างกรณีศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ เช่น กลุ่มดีไซเนอร์ที่นำเสื้อผ้าไปจัดแสดงในเกม Animal Crossing ทดแทนแฟชั่นโชว์ที่ต้องยกเลิกไป
3.Emergence of Big Data – บิ๊กดาต้ายิ่งจำเป็น
ต่อเนื่องจากข้อ 2. ที่ผู้บริโภครับเอาดิจิทัลมาอยู่ในการใช้ชีวิต สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ “บิ๊กดาต้า” และแบรนด์ที่จัดเก็บ วิเคราะห์ และนำบิ๊กดาต้าเหล่านี้ไปใช้จะได้เปรียบในการขายสินค้า ทำให้บิ๊กดาต้าไม่ใช่แค่คำที่มักจะพูดกันในวงการธุรกิจหรือโลกอนาคตที่ยังมาไม่ถึงอีกต่อไป
ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสสำคัญของแบรนด์ที่ทำตลาดออนไลน์ เพราะมีลูกค้าหน้าใหม่จำนวนมากขึ้น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีการซื้อสินค้าหลากหลายขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์ซึ่งเป็นสินค้าชิ้นใหญ่ก็สามารถขายออนไลน์ได้ ดังนั้นการสร้างฐานข้อมูลเพื่อดึงให้ลูกค้าซื้อซ้ำจะทำได้ดีขึ้น
4.Elevated Health and Wellness – ยกระดับความสำคัญของสุขภาพ
โรคระบาดได้เปลี่ยนแนวคิดของผู้คนต่อการรักษา สุขภาพทั้งทางกายและทางใจ โดยเฉพาะมุมมองต่อ “การป้องกัน” สุขภาพของตนให้มีพื้นฐานที่ดี พฤติกรรมรักษาสุขอนามัยจะเป็น New Normal และรักษาอนามัยเพื่อสังคมด้วย ไม่ใช่แค่ตัวเราเอง
แบรนด์จำนวนมากจึงใช้โอกาสนี้หันมาผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์เรื่องสุขอนามัย มายด์แชร์ยังคาดการณ์ด้วยว่า ระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศจะยิ่งพัฒนามากขึ้นและเข้าถึงง่ายขึ้นในอนาคต
5.Physical Distancing Continues – เว้นระยะห่างทางสังคมต่อไป
มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ล็อกดาวน์กิจการบางส่วน ทำให้เกิดพฤติกรรมและมุมมองใหม่ๆ ของผู้บริโภค เช่น
Friday Night In ใช้ชีวิตคืนวันศุกร์อยู่กับบ้าน จากเมื่อก่อนที่จะออกไปข้างนอก ทำให้การสร้างความสุขในบ้านสำคัญมากขึ้น มีการทำกิจกรรมใหม่ๆ ในบ้านทดแทน เช่น ทำอาหาร ปลูกต้นไม้
บริโภคแบบปัจเจก กิจกรรมที่เคยทำเป็นกลุ่มอย่างการรับประทานสุกี้ ปิ้งย่าง ชะลอตัวลง เมนูอาหารจัดมาสำหรับคนๆ เดียวมากขึ้น
Personal Space เพราะต้องอยู่บ้านและความกลัวต่อโรค ทำให้ผู้บริโภคโหยหา “พื้นที่ส่วนตัว” วิธีคิดนี้อาจจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อภาคอสังหาฯ การจัดพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่อาจจะไม่จำเป็นเท่าการมีห้องที่ใหญ่ขึ้นเพื่อจะได้มีมุมส่วนตัวของตนเอง หรือถ้าบริษัทจำนวนมากเปลี่ยนมา Work from Home ต่อเนื่อง คอนโดฯ โลเคชันใจกลางเมืองอาจจะไม่สำคัญเท่าในอดีต
บริการถึงบ้าน ธุรกิจบริการบางอย่างเปลี่ยนมานิยมให้บริการถึงที่บ้านแทน เพราะลูกค้าต้องการเลี่ยงเจอผู้คน เช่น ตัดผม ทำเล็บ แต่งหน้า
6.Happiness is Redefined – ความสุขนิยามใหม่
ต่อเนื่องจากการเว้นระยะห่างทางสังคมและต้องอยู่บ้าน ผู้บริโภคจึงหันมาหาความสุขจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และกิจกรรมภายในบ้านหรือสิ่งที่ทำกับครอบครัวแทน เช่น ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ สัตว์เลี้ยง และการแสดงออกถึง ไลฟ์สไตล์ลักชัวรี เปลี่ยนจากชีวิตนอกบ้านอย่างการไปท่องเที่ยวต่างประเทศหรือเสื้อผ้าแฟชั่น มาเป็นของใช้ภายในบ้าน สินค้าอย่างหม้อทอดไร้น้ำมันหรือเครื่องทำกาแฟจึงขายดีในช่วงนี้
7.Prepare for the Next Disruption – เตรียมตัวพร้อมดิสรัปชัน
ผู้บริโภคตระหนักถึงการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตมากกว่าที่เคย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน ประกัน การสร้างเสริมทักษะอื่นๆ การสร้างอาชีพที่สองไว้เป็นเบาะรองรับ สิ่งเหล่านี้เปิดช่องให้แบรนด์ เทคโนโลยี บริการ เข้าไปมีส่วนสนับสนุนผู้บริโภคได้
ในอนาคตอาจจะมีการคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 ได้ ทำให้พฤติกรรมบางอย่างของผู้บริโภคน่าจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมหรือคล้ายเดิม เช่น คนน่าจะกลับไปสังสรรค์และเดินทางเหมือนเดิม เพราะอย่างไรเสียมนุษย์ก็เป็นสัตว์สังคม
อย่างไรก็ตาม มายด์แชร์มองว่า พฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนไปแล้วอาจจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก หลักๆ คือเรื่อง พฤติกรรมการใช้ดิจิทัลในชีวิตประจำวัน และเรื่อง ความใส่ใจต่อสุขภาพ จะกลายเป็นพื้นฐานวิถีชีวิตใหม่ รวมถึงการให้ความสำคัญกับชีวิตในบ้านน่าจะเป็นกระแสสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่มที่เริ่มเคยชินและเปลี่ยนมุมมองว่า การอยู่บ้านก็มีความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง