“พิพิธ เอนกนิธิ” นายแบงก์ “นักแข่ง”

12 ปีในชีวิตการเป็นนายแบงก์ที่มีใจรักการ “แข่งขัน” อย่าง “พิพิธ เอนกนิธิ” ทำให้ได้โอกาสรับบททดสอบที่น่าท้าทายบ่อยครั้ง จนกลายเป็นหนึ่งในผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ “บัณฑูร ล่ำซำ” ซีอีโอเครือธนาคารกสิกรไทย หรือเคแบงก์ จัดวางให้เป็นหมากสำคัญในการเดินเกมแข่งขันครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมการเงิน

“ผมเป็นคนมีความลุ่มหลงในการทำงานและความสำเร็จ เป็นคนประเภทที่ถูกจัดอยู่ในประเภทคนชอบการแข่งขัน”

คำจำกัดความตัวตนด้วยตัวเอง ที่ “พิพิธ” ไขรหัสให้ฟังที่เพียงพอจะตีความได้ว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “เสี่ยปั้น” และผู้บริหารระดับสูงของเคแบงก์ถูกใจและเลือก “พิพิธ” ให้อยู่ในช่วงสำคัญของการแข่งขันในธุรกิจแบงก์มาโดยตลอด ที่สำคัญไปกว่านั้นยังมีความชัดเจนในตัวเอง ที่เขาบอกว่า สิ่งที่มีติดตัวคือ “Skill”และ “ Analytical” ทำให้เขาสามารถคิดในเชิงกลยุทธ์ (Strategy) ได้สำเร็จ เมื่อรวมเข้ากับทัศนคติการคิดในเชิงบวกที่ว่า “ทุกอย่างสามารถทำได้” (Can Do Attitude) ทำให้ “พิพิธ” เลือกที่จะเดินหน้าไม่ว่างานนั้นจะกดดันเพียงใด

สิ่งที่ “พิพิธ” วิเคราะห์ที่มาของความรู้สึกชอบการแข่งขัน เขาบอกว่าอาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งมาจากช่วงเด็กๆ ที่สอบได้ที่ 2 แล้วมีคนถามว่าทำไมถึงได้ที่ 2 … เพียงแค่นั้น เขาจึงเกิดความรู้สึกต่อตัวเองว่า ที่ 1 เขาก็ย่อมทำได้เช่นกัน

ก่อนที่ “พิพิธ” เดินเข้าสู่อาชีพนายแบงก์ เขาเรียนจบคณะเภสัชกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มงานในหน้าที่บริหารและจัดการคลังยาของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ชีวิตที่หลับตาแล้วมองเห็นสิ่งเดิมๆ เป็นความรู้สึกที่เขาบอกว่า “มันไม่สนุก” “พิพิธ” จึงตัดสินใจไปเป็นเซลส์ขายยา และเมื่อตัดสินใจเปลี่ยนตัวเองอีกครั้ง เขาเลือกสอบชิงทุนของธนาคารกสิกรไทย เรียนต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโท สาขาเอ็มบีเอ

แน่นอนเขาถูกวางตัวให้เข้าร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยตั้งแต่เวลานั้น

10 กว่าปีที่แล้ว ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยคือการพัฒนาให้บริษัทขนาดใหญ่มีศักยภาพในการแข่งขัน การมีโอกาสปล่อยกู้ให้ลูกค้าเหล่านี้เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ นั่นหมายถึงทำให้แบงก์มีรายได้เพิ่มจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงลิ่วเกือบ 20% “พิพิธ” เป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่วางกลยุทธ์การแข่งขันให้กับแบงก์เพื่อชิงลูกค้ากลุ่มนี้นาน 4-5 ปี

หลังจากนั้นเมื่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางหรือเอสเอ็มอี เกิดขึ้นจำนวนมาก

สนามแข่งขันของแบงก์ต่างทุ่มมาที่ลูกค้ากลุ่มนี้ “พิพิธ” ถูกย้ายให้วางกลยุทธ์ในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีอีก 2 ปี ท่ามกลางความรู้สึกท้าทายอย่างที่สุด เพราะถือเป็นผู้บริหารที่อายุยังน้อย เมื่อเทียบกับความรับผิดชอบในการดูแลพอร์ตสินเชื่อของเอสเอ็มอีขณะนั้นที่สูงถึง 2 แสนล้านบาท

กลยุทธ์ที่วางไว้ได้ถูกสานต่อถึงปัจจุบัน จนสินเชื่อเอสเอ็มอีของเคแบงก์มีอัตราเติบโตสูงสุดปีละประมาณ 20-30% จากภาพรวมอุตสาหกรรมโตเพียง 10%

“พิพิธ” โยกมาทำหน้าที่ต่อในรีเทลแบงกิ้ง และล่าสุดกับการปรับตำแหน่งมานั่งเก้าอี้ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ดูแลสายงานธุรกิจลูกค้าบุคคล และเครือข่ายบริการ โปรโมตจากเดิมที่อยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจลูกค้าบุคคล

ลูกค้าบุคคลที่มีตั้งแต่ระดับเศรษฐี (Signature) มีรายได้เดือนละหลายสิบล้านบาท จนถึงกลุ่ม Massไม่กี่หมื่นบาท กลายเป็นเป้าหมายหลักของหลายแบงก์ ทั้งการดึงเงินฝาก และการดึง “เงินเย็น” ที่ลูกค้าเก็บไว้จำนวนมาก ให้มาหมุนลงทุนผ่านแบงก์ที่มีหลายผลิตภัณฑ์ให้เลือกตั้งแต่กองทุน จนถึงการซื้อความมั่นคงในชีวิตอนาคต ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้แบงก์มีรายได้

เซลส์ขายยาที่เคยเรียนรู้ว่าจะเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไร จะเสนอขายให้ผู้ใหญ่ระดับไฮเอนด์ที่เป็นเจ้าของโรงพยาบาลต้องทำอย่างไรบ้าง การคลุกคลีกับลูกค้าด้วยการสังเกต และพูดคุยกับลูกค้าด้วยตัวเอง บวกกับการทำวิจัยความต้องการของลูกค้า ด้วยงบหลายสิบล้านบาทต่อปี จนมีข้อมูลนับสิบแฟ้ม ทำให้ “พิพิธ” ตัดสินใจได้อย่างมั่นใจเมื่อทีมงานเสนอโปรดักส์ และเลือกวิธีการทำตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้า

“ลูกค้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราต้องบริการต่างกัน ถ้าเป็นลูกค้าในกลุ่มชนชั้นระดับสูง ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง หรือถ้าเป็นเสี่ยเจ้าของกิจการ ก็ต้องไม่พูดมาก เพราะเขาไม่อยากเสียเวลานาน”

ฐานข้อมูลทั้งหมดอยู่ในแฟ้ม ที่ “พิพิธ” บอกว่าเป็นความลับ ทุกอย่างเป็นฐานข้อมูล สำคัญและนำมาจัดทำแผนด้วยตัวเอง เพื่อผู้เสนอต่อผู้บริหารระดับสูงที่ขณะนี้วางเป้าหมายไปถึงปี 2010 แล้ว โดยมีจุดเริ่มที่พนักงานเคแบงก์ยึดถือ คือการคิดแบบที่ “บัณฑูร” ย้ำ คือการเสนอสินค้าที่ลูกค้าต้องการจริงๆ เพราะธุรกิจแบงก์เปลี่ยนโฉมอย่างสิ้นเชิง แบงก์ไม่สามารถคิดว่าตัวเองอยากเสนอสินค้าอะไรเท่านั้น แต่ต้องคิดว่าลูกค้าเป็นใคร (Customer Segment) และเขาต้องการอะไร

”พิพิธ” บอกว่า การคิดแบบแบงเกอร์ก็ยังคงต้องมี เพราะแบงก์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่างจากผลิตภัณฑ์อื่น ไม่ใช่สินค้าที่ใช้แล้วหมดไป แต่แบงก์เกี่ยวพันกับการเงินของลูกค้า หากไม่ดีความเสียหายจะเกิดกับลูกค้า และเสียหายต่อแบงก์ได้หากบริหารความเสี่ยงไม่ดี

อีกส่วนสำคัญที่ส่งให้ “พิพิธ” บรรลุเป้าหมายของงาน คือ การมีทีมงานที่เขารู้จักอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่รู้ประวัติ และสังเกตจากความคุ้นเคยเท่านั้น แต่ทีมงานประมาณ 50 คนของเขาจะถูกทดสอบจากหลายทฤษฎีที่สามารถบอกตัวตนของแต่ละคนได้ เพื่อเขาสามารถ Deal กับทีมงานได้อย่างถูกต้อง หรือในทางกลับกันทีมงานสามารถ Deal กันเอง และหัวหน้าทีมอย่าง “พิพิธ” เองได้ ผลสุดท้ายคือจะทำให้ทั้งทีมสำเร็จที่คาดหวังได้

นี่คือสัญญาณชัดเจนที่ “พิพิธ”บอกว่า นายแบงก์รุ่นใหม่ต้องปรับตัว เพื่อให้ความรู้สึกของลูกค้าเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยมองว่านายแบงก์เป็น “คนแข็งทื่อ” ต่อไปนายแบงก์จะเป็นคน “ฉับไว” มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ถูกใจ ผลสุดท้ายคือแบงก์อยู่รอด และชนะการแข่งขันในสมรภูมิธุรกิจการเงินนี้

Profile

Name : พิพิธ เอนกนิธิ
Age : 41 ปี
Education :
– เภสัชศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยไบรท์ตัน ประเทศอังกฤษ
– บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต Fachhochschule Pforzheim ประเทศเยอรมนี
Career Highlights :
พ.ศ. 2540 เริ่มงานที่ฝ่ายสินเชื่ออุตสาหกรรมการผลิตและบริการ ธนาคารกสิกรไทย
พ.ศ. 2546 ผู้อำนวยการฝ่ายสหบรรษัทธนกิจ
พ.ศ. 2547 ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์สินเชื่อ
พ.ศ. 2549 ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายธุรกิจลูกค้าบุคคล
พ.ศ. 2551-ปัจจุบัน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
Lifestyle :
– ออกกำลัง เล่นกีฬาหลายอย่าง ทั้งฟิตเนส เทนนิส และชอบกีฬาว่ายน้ำมากที่สุด เพราะเป็นการแข่งขันกับตัวเอง และรู้สึกมีสมาธิอยู่ในโลกส่วนตัวมากที่สุด
-เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเฉลี่ยปีละ 1 ครั้ง ชอบประเทศแถบยุโรป เพราะมีการพัฒนาที่ได้มาตรฐานทั้งในแง่คุณภาพชีวิตและการทำงาน
Role Model : อานันท์ ปันยารชุน
Brand ที่ชอบ : โรงพยาบาลกรุงเทพ เพราะสามารถพัฒนาบริการและคุณภาพการรักษาจนได้ระดับมาตรฐานโลก
นิตยสารที่อ่านประจำ : Strategy+Business (อังกฤษ)