น่านน้ำสีเลือดของอาหารแช่แข็ง

ตู้แช่แข็งขนาดยาวเฟื้อยกว่า 3 เมตร จำนวน 2 ตู้ ในเซ็นทรัล ฟู้ดส์ ฮอลล์ เซ็นทรัล เวิลด์ สะท้อนถึงความร้อนแรงของสมรภูมิการแข่งขันในตลาดอาหารแช่แข็งโดยเฉพาะเซ็กเมนต์อาหารแช่แข็งพร้อมทาน หรือ Ready to eat ได้เป็นอย่างดี

“พรานทะเล” เป็นอาหารแช่แข็งรายแรกที่เน้นการสร้างแบรนด์จนเป็นที่รับรู้ทั้งด้านไอเดีย และการเปิดน่านน้ำสีครามเมื่อราว 4 ปีก่อน แต่ Blue Ocean ครั้งนั้นกลับกลายเป็น Red Ocean ที่แดงเดือดเข้าไปทุกที ด้วยผู้เล่นมากหน้าหลายตา รวมถึงโมเดิร์นเทรดที่ต่างพาเหรดออกแบรนด์มาสู้ศึกครั้งนี้ด้วย

“ในอดีตตู้แช่แข็งในซูเปอร์มาร์เก็ตเกือบถูกลืมไปแล้ว แต่ปัจจุบันมีผู้เล่นถึง 16 แบรนด์ แย่งพื้นที่กัน และมีผู้เล่น Big Name มากขึ้น ซึ่งทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าตู้แช่แข็งกลายเป็น Location ที่ถูกจัดวางอย่างโดดเด่นและมีขนาดยาวขึ้น” อนุรัตน์ โค้วคาศัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการตลาดและฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด บอก

ความสะดวกสบาย ความเร่งรีบของไลฟ์สไตล์คนเมือง และความเชื่อมั่นในความสะอาด พฤติกรรมเหล่านี้ของผู้บริโภค ช่วยเร่งเร้าให้ตลาดอาหารแช่แข็งพร้อมทานเติบโตกว่า 30%

เกมการตลาดถูกผลักดันด้วยสงครามราคาอย่างรุนแรง ขณะที่ต้องเสียค่าแรกเข้าสูงถึง 2-3 ล้านบาท ไม่รวมค่า SKU อีก 20,000-80,000 บาทต่อ SKU กระนั้นอาหารแช่แข็งพร้อมทานซึ่งมีตลาดมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทก็เย้ายวนใจ ปัจจุบันมีผู้เล่น 3 รายหลัก คือ พรานทะเล เอสแอนด์พี และสมาร์ทมีลของซีพีเอฟ ผู้เล่นรายอื่นๆ คือ สุรพล ฟู้ดส์ ซีเลค และไออิ่ม เป็นต้น รวมถึงเทสโก้ โลตัสที่ส่ง House Brand มาชิงชัย

“ลดราคาและซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง เป็นโปรโมชั่นที่พบบ่อยมาก” อนุรัตน์เอ่ยถึงสมรภูมิในเซ็กเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาหารแช่แข็ง

ทางออกของพรานทะเล คือการเพิ่มเมนูสินค้าที่แตกต่างจากคู่แข่ง โดยโฟกัสเฉพาะอาหารทะเล อาทิ ไส้กรอกทะเลอีสาน อูด้ง ขนมจีนน้ำยา จึงถูกเลือกสรรมาลงตู้แช่แข็งกว่า 30 SKU เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมทดลองเมนูใหม่ๆ เพราะในเซ็กเมนต์นี้จะมี Loyalty ต่ำ และ Life Cycle ของเมนูจะสั้นมาก

พรานทะเลสร้างจุดขายในปี 2551 ในเรื่องสุขภาพ เช่น เมนูข้าวเหนียวกับปลานิวออร์ลีน บะหมี่ไฮโซไร้ไขมันอิ่มตัว รวมถึงอาหารตามกรุ๊ปเลือด เป็นต้น ขณะที่ซูชิก็นำเสนอให้มีขนาดเล็กกว่าเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมคออาหารญี่ปุ่นชาวไทยที่นิยมทานคำเล็กๆ รวมถึงมีสีสันและรูปร่างที่แปลกตา

มูลค่าการตลาดอาหารแช่แข็ง 2,950 ล้านบาท (by segment)
อาหารพร้อมปรุง (Ready to cook) 450 ล้านบาท
อาหารพร้อมทาน (Ready to eat) 1,000 ล้านบาท
ซูชิ 500 ล้านบาท

สัดส่วนการขายพรานทะเล (by product)
อาหารพร้อมปรุง (Ready to cook) 32%
อาหารพร้อมทาน (Ready to eat) 35%
ซูชิ 35%

สัดส่วนยอดขายอาหารพร้อมทาน (by channel)
คอนวีเนียนสโตร์ 50%
โมเดิร์นเทรด 50%