“ผู้เล่น” ใน Social Networking มีมากกว่าที่คิด

(เรียบเรียงจากบทความของ Danah M. Boyd & Nicole B. Ellison, time.com และ boston.com)

ถ้าแค่ให้สมาชิกสร้างโปรไฟล์ รายชื่อเพื่อน และหาคนคุยด้วย แค่นั้นโปรแกรม ICQ และ AIM —- ทำได้มาตั้งนานแล้ว

แต่ถ้าผสมผสานโปรไฟล์กับรายชื่อเพื่อนๆ ให้สาธารณชนเห็นและโปรโมตว่าเป็นเครื่องมือช่วยเชื่อมคนเข้าด้วยกันก็ต้อง sixdegrees.com ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 1997 ถือเป็นเจ้าแรกตัวจริงแห่ง Social Networking มีคนแห่มาสมัครนับล้าน ทว่ากลับต้องล้มเหลวในเชิงธุรกิจจนต้องปิดตัวลงในปี 2000 แม้การใช้อินเทอร์เน็ตจะแพร่หลายแล้วในขณะนั้น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นย่อมมีหลากมุม หากถามเจ้าของชุมชนแห่งนี้ เขาก็ว่าเป็นเพราะ “ใหม่เกินยุค” ขณะที่สมาชิกตัวจริงให้เหตุผลว่า “ไม่ค่อยมีอะไรให้ทำหลังจากที่แอดเพื่อนแล้ว” เพราะพฤติกรรมของยูสเซอร์ในตอนนั้นยังไม่กล้าพอที่จะคบหาคนแปลกหน้า

อย่างไรก็ดี ช่วง 1997 – 2001 มีแหล่งพบปะสังสรรค์ออนไลน์ใหม่ๆ ผุดขึ้นมา เช่น Friends, AsianAvenue, BlackPlanet, MiGente เป็นต้น ร่วมกันสร้างความคึกคักให้ “เครือข่ายสังคมไซเบอร์” จนกระทั่ง Friendster เข้ามาร่วมปลุกกระแสให้ร้อนฉ่าในเวลาต่อมา

Friendster: รุ่ง-เสื่อม-ย้าย

Friendster เข้าสู่วงการชุมชนออนไลน์ในปี 2002 ในฐานะเป็นตัวเสริมให้กับ Ryze เครือข่ายธุรกิจไซเบอร์เพื่อแข่งขันขับเคี่ยวกับเว็บหาคู่ match.com พร้อมกับสร้างความแตกต่างด้วยการช่วยขยายโอกาสสู่ “เพื่อนของเพื่อน” เพราะกลุ่มนี้น่าจะมีโอกาสโรแมนติกกันได้ดีกว่า “คนแปลกหน้า” ทำให้ Friendster กลายเป็นที่สนใจของคน 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ บลอกเกอร์, คนที่ชอบร่วมงานเทศกาลศิลปะ Burning Man และผองเหล่าชาวเกย์ ช่วยกันเล่าขานสร้างความโด่งดังแบบปากต่อปาก จนมีสมาชิกกว่า 3 แสนรายก่อนที่จะเริ่มเปิดตัวเป็นทางการในปี 2003 เสียอีก

แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วนี่เองที่สร้างผลร้าย เมื่อระบบรองรับไม่ดีพอ ทำให้สมาชิก “เซ็ง” ปัญหาทางเทคนิคและความล่าช้าที่เกิดขึ้นบ่อยๆ แถมความที่ “ฮอต” จนเกินไปทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นเมื่อสมาชิกต้องเผชิญหน้ากับเจ้านายและเพื่อนนักเรียนเก่าในคอมมูนิตี้เดียวกัน ทำให้การใช้งานของ Friendster ก็เริ่มถูกจำกัด เช่น สมาชิกไม่สามารถดูโปรไฟล์ของผองเพื่อนที่อยู่เกิน 4 ลำดับ (“เพื่อนของเพื่อนของเพื่อนของเพื่อน”) ส่งผลให้หลายคนเริ่ม “โกง” ด้วยการสร้างโปรไฟล์ปลอมหรือแอดคนแปลกหน้าที่ดูน่าสนใจจำนวนมากผ่าน “Most Popular” จนฟีเจอร์นี้หมดความขลัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเสื่อมความนิยมในอเมริกา และถูกเสนอซื้อจาก Google ถึง 30 ล้านเหรียญในปี 2003 แต่เจ้าของโลโก้ “หน้ายิ้ม” ไม่ยอมขาย กลับย้ายความฮอตไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน นั่นก็คือ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย หนำซ้ำในมาเลเซียและสิงค์โปร์ถือเป็นเว็บไซต์ที่มีคนเยี่ยมชมมากเป็นอันดับ 2 พูดง่ายๆ ก็คือ 3 ใน 4 ของสมาชิกจำนวน 58 ล้านคนของ Friendster เป็นชาวเอเชีย มีชาวอเมริกันอยู่แค่ 17 % เท่านั้น

เพราะชนชาวเอเชียมากมายนิยมชมใช้ Friendster ทำให้กลายเป็นเครื่องมือ “โปรโมต” ทางการตลาดชิ้นเยี่ยม เมื่อนักร้องสาวชาวมาเลเซีย Karen Kong คลอดอัลบั้มแรกพร้อมกับอัพโหลดวิดีโอแสดงสดของเธอไว้ในหน้าโปรไฟล์ของเธอด้วย ทำให้ผู้หลั่งไหลเข้าไปชมหน้าเฟรนสเตอร์ของเธอถึง 2 ล้าน ไม่เพียงแต่ในประเทศของตัวเอง ยังมีสิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย นับคร่าวๆ มีเรตติ้งเฉลี่ย 8 แสนคนต่อเดือนเลยทีเดียว ทำเอาผู้จัดการของเธอยิ้มแก้มปริก่อนบอกว่า “นี่คือปาฏิหาริย์”

อย่างไรก็ตาม Friendster ก็ยังมองหา “โอกาส” เป็นผู้นำบนเวทีโลกไม่ใช่เพียงแค่ระดับภูมิภาค ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของภาษา ซึ่งขณะนี้รองรับ 6 ภาษาแล้วคือ อังกฤษ จีน สเปน ญี่ปุ่น และเกาหลี

Facebook เคลื่อนทัพจากรั้วมหาวิทยาลัยสู่โลก

เมื่อยุค Frienster ผ่านพ้นไป Social Networking ในอเมริกาช่วงปี 2003 – 2005 ก็แตกแยกย่อยไปตามความนิยมส่วนตัวและชนชาติ เช่น MySpace โด่งดังในหมู่คนรักเสียงเพลงและคลับบาร์, Flickr สำหรับคนชอบถ่ายรูป, Hi5 เป็นเวทีโชว์ตัวตนวัยใส, YouTube แหล่งรวมคนรักคลิป, Cyworld เพื่อชาวเกาหลี (ก่อนขยายมาสู่ภาคภาษาจีนและอังกฤษ), Black Planet ชุมชนคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เป็นต้น

ใครเล่าจะคาดคิดว่า Facebook ที่ใช้กันเฉพาะเด็กมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 2003 จะแตกก้านสู่การเป็นเครือข่ายไฮสคูลในอีก 2 ปีต่อมา แล้วเติบใหญ่ใช้กันไปทั่วสำหรับคนที่นิยมสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในปัจจุบัน แต่สิ่งที่สร้างความกังวลใจให้เครือข่ายสังคมไซเบอร์อื่นเป็นอย่างยิ่งคือการถูกพี่เบิ้มอย่าง Microsoft ซื้อด้วยราคา 240 ล้านเหรียญ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

Facebook กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดหนึ่ง ที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในตลาดอเมริกา ไม่ว่าจะโปรโมตแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภค หรือแม้แต่นักการเมืองยังใช้หาเสียง ซึ่ง Facebook ที่ได้ค่าโฆษณาก็สร้าง “หน้าพิเศษ” เป็น “ศูนย์กลางนักการเมืองอเมริกา” ให้ เพิ่มความสนใจสร้างชื่อให้คึกโครม จนผู้เชี่ยวชาญน้อยใหญ่มั่นใจว่า Facebook จะเป็นกลยุทธ์โปรโมตแห่งอนาคต

Social Networking รายเด่น
ชื่อ รายละเอียดความสนใจ จำนวนสมาชิก
Bebo เรื่องทั่วไป มักใช้กันใน UK, Ireland, New Zealand และหมู่เกาะเอเชียแปซิฟิก 40,000,000
Facebook เรื่องทั่วไป แต่เป็นที่นิยมใน Canada, UK, USA และ New Zealand 62,000,000
Friendster เรื่องทั่วไป แต่โด่งดังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 50,000,000
Hi5 เรื่องทั่วไป สุดฮอตในหมู่วัยหวานชาวละตินอเมริกันและเอเชีย 98,000,000
MySpace เรื่องทั่วไป แต่เน้นหนักไปที่ดนตรี นิยมใช้กันกระจัดกระจายทั่วโลก 300,000,000
Orkut กลุ่มคนใช้ Google ใช้กันมากใน Brazil และ India 67,000,000
ที่มา – http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_social_networking_websites