วัฒนธรรม “เมนต์” แบบไทย ๆ จะยังไงก็ขอ “เมนต์” ไว้ก่อน

ในขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมออกโรงมาวิจารณ์เมื่อคราวเทศกาลวาเลนไทน์ล่าสุดว่า สื่อใหม่อย่าง hi5 ทำให้เด็กวัยรุ่นไทยนัดกันไปมีสัมพันธ์อันไม่เหมาะไม่ควร จริงหรือไม่ คงยังต้องถกเถียงกันระหว่าง “วัฒนธรรมแบเดิม” กับนิยามใหม่ของ “วัฒนธรรม Social Network” ต่อไป

แต่ที่พลาดคงเป็นในสองเรื่องคือ เรื่องแรกกลุ่มผู้ใช้ hi5 ได้ขยายเกินขอบเขตวัยรุ่นไปเรียบร้อยแล้ว และน่าจะเดินตามแนวโน้มต่างประเทศที่ในที่สุดผู้ใช้กลุ่มหลักคือคนวัยทำงาน เรื่องที่สองคือ สื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตกำลังสร้างวัฒนธรรมใหม่รองรับการใช้งานใหม่ๆ ที่สังคมไทยไม่เคยมี และที่เด่นที่สุดเรื่องหนึ่งคือการ “เมนต์”

วัฒนธรรม “เมนต์” หรือคำไทยที่มาจากคำว่า “Comment” ในภาษาอังกฤษที่หมายถึง “ความคิดเห็น” เวลาที่ “เมนต์” ก็คือการแสดงความเห็นต่อท้ายบล็อก หรือโปรไฟล์ใน hi5 ของยูสเซอร์แต่ละราย

อันที่จริงการเมนต์ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะถ้าคนเล่นเน็ตมานานพอจะทราบดีว่า เรื่องแบบนี้คือการสานวัฒนธรรมเน็ตต่อจากเว็บ diaryhub.com บล็อกไทยสไตล์ไดอารี่ที่เคยประสบความสำเร็จสูงสุดในวงการอินเทอร์เน็ตเมืองไทยที่เพิ่งปิดตัวไปอย่างเงียบๆ หลังจากความขัดแย้งกับหุ้นส่วนเมื่อราวสองปีก่อน

ในเว็บไดฮับ ใครที่มีคนคลิกเปิดดูมากที่สุดจะได้ขึ้นอันดับสูงๆ ในการจัดอันดับในแต่ละวัน และเป็นแรงจูงใจของการไปแสดงความคิดเห็นในหน้าไดอารี่คนอื่น เพราะเท่ากับเพิ่มลิงค์มาหาที่ไดอารี่ของเราเอง หลายคนตั้งหน้าตั้งตาปั้นอันดับจนตามไป “เมนต์” ข้อความทิ้งไว้ไว้ในไดต่างๆ เช่น “ดีนะ” “จริงเหรอ” “หน้าไดสวยดีนะ” จนถูกประณามจากสังคมออนไลน์ว่า “เมนต์มั่ว” ก็มี

แต่ที่พัฒนาต่อจนกลายเป็นวัฒนธรรมเมนต์ในสังคมอินเทอร์เน็ตไทย คือ การเมนต์ด้วยรูปภาพ ทักทายในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่ บอกคิดถึง กินข้าวหรือยัง ดีใจด้วย ไปจนกระทั่งชวนทำบุญวันมาฆบูชา หรือแม้แต่ชวนไปเลือก ส.ว. ต้นเดือนมีนาคม

แล้วก็ยังมีการเมนต์ในภาพเคลื่อนไหว หรือเมนต์ด้วยภาพที่มีลวดลายระยิบระยับที่เรียกกันว่า “กลิตเตอร์” มาจากภาษาอังกฤษว่า “Glitter” ที่หมายถึงอะไรที่ส่งแสงสะท้อนวูบวาบ ซึ่งการเมนต์แบบนี้เริ่มในเว็บเมืองนอกก่อน และระบาดมาผสมผสานกับการเมนต์แบบไทยๆ เลยเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ความนิยมในการเมนต์ด้วยภาพแบบนี้ ทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ทำยอดยูสเซอร์เข้าสองเว็บใหญ่เมืองไทยอย่าง sanook.com และ kapook.com จำนวนมหาศาลในแต่ละวันที่แวะเวียนเข้ามาเพื่อหารูปภาพเด็ดๆ ไปใช้งาน จนผลิตแบบใหม่ๆ แทบไม่ทัน

ผลก็คือ หน้าที่ให้บริการรูปภาพเท่ๆ สำหรับเม้นของสองยักษ์ใหญ่คือ http://glitter.kapook.com และ http://widget.sanook.com ทำยอดทราฟฟิกผู้ใช้อย่างถล่มถลาย และกลายเป็นจุดดึงดูดคนเข้าเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง

แม้แต่เว็บของทีวีช่องดังอย่างช่องเจ็ดสีทีวีเพื่อคุณ ยังมีกราฟิกสำหรับเม้น hi5 โดยเฉพาะเช่นกัน และยังมีอีกหลายเว็บไซต์ที่เริ่มจับตัวตามกระแสนี้ ทั้งเพื่อทำเอามันส์และจริงจังเพราะบางรายหวังผลในแง่ทราฟฟิกและโฆษณาออนไลน์จากคนเข้าไซต์ตน

Links:

http://glitter.kapook.com
http://widget.sanook.com
http://commentthai.blogspot.com
http://www.ch7.com/website/shoponline/comment-ch7.html
www.jairuk.com
www.glitterdd.com
www.commentsanook.com