ความท้าทายใหม่ของมีเดียแพลนเนอร์ (Media Planner) กับสื่อออนไลน์ ในยุค Social Networking ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้เจาะจง รู้ทั้งเพศ อายุ ความชอบ ยังมีเครื่องมือใหม่ๆ ชนิดที่ไม่มีสื่ออื่นๆ ไม่มีมาก่อน
เว็บ Social Networking อย่าง hi5 และ FaceBook ในสายตาของกรณิการ์ กลีบแก้ว หรือ “นานา” Interaction Director แห่ง Mindshare Interaction บริษัทวางแผนสื่อดิจิตอล ในเครือ Mindshare มองเห็นมูลค่าและศักยภาพสื่อในเว็บไซต์ประเภทนี้ว่า มีอยู่ในทุกหน้า Profile ในทุกลวดลาย Skin สวยๆ และในทุกรูปการ์ตูนหัวใจดุ๊กดิ๊กที่วัยรุ่นนิยมส่งกัน สามารถแยกเป็น 4 ประเภท
ช่องทางแรกคือ โฆษณาด้วยป้าย “Banner” ที่ดูเผินๆ ก็เหมือนที่อยู่ในเว็บทั่วไป แต่จุดต่าง ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญที่นานาย้ำนักหนาคือการ “เลือกคนเห็น” หรือกลุ่มเป้าหมาย ได้ดังใจ เช่นป้ายแบนเนอร์โฆษณาแชมพู ก็เลือกยิงลงในหน้า hi5 ของผู้หญิงได้โดยตรง เจาะจงอายุได้ นอกจากเพศ อายุ ยังเลือกได้ถึงถิ่นที่อยู่ เช่นแบนเนอร์โฆษณาหมู่บ้านในกรุงเทพฯ ก็เลือกให้เห็นเฉพาะคนกรุงฯ ได้
นานาบอกว่า hi5 ไม่เหมือนเว็บทั่วๆ ไปที่เข้าดูได้แบบไม่ต้องแสดงตัว การเข้า hi5 ทุกครั้งหมายถึงว่า ผ่านการใส่ชื่อใส่รหัสแสดงตัวตนเข้ามาแล้ว และคนเล่น hi5 ส่วนใหญ่นั้นก็จะเข้ามาดู Profile ของตัวเองวันเว้นวันหรือแทบทุกวันว่ามีใครมา “เมนต์” หรือเพื่อนๆ ทำอะไรคุยอะไรกันไปแล้วบ้าง ป้ายโฆษณาจึงถูกยิงอย่างตรงกลุ่มและเห็นซ้ำๆ ได้ถูกใจ Media Planner
ช่องทางต่อมา คือสร้างตัวตน “Profile” หรือการนำแบรนด์หรือสินค้ามาลงรูป ลงสีสันลวดลาย หาเพื่อน เขียนบอกเล่าเรื่องราว และตอบคอมเมนต์สไตล์เดียวกับที่คนทั่วๆ ไปทำกัน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังทำกันทั่วโลกรวมถึงในไทย ซึ่งมายด์แชร์เคยทำกับลูกค้าแล้ว เช่นแคมเปญ “The Android” ของ Johnny Walker และล่าสุดก็ทำหน้าที่ซื้อและจัดการสื่อให้แคมเปญ Gang of Girls ของ Sunsilk ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์จาก JWT อีกเอเยนซี่หนึ่ง
ข้อดีของวิธีนี้ แบรนด์สินค้าจะมีเนื้อที่ให้สื่อคอนเทนต์ได้หลากหลายทั้งรูป เพลง คลิป สีสันลวดลาย รับคอมเมนต์จากกลุ่มเป้าหมายได้ตลอดเวลา และประเมินว่าผลตอบรับอยู่ในระดับไหนได้ง่ายๆ ด้วยการนับครั้งที่หน้านี้ถูกเปิดดูหรือ “Views”, นับเพื่อนที่ตอบรับแบรนด์ “Friends”, และนับจำนวน “เมนต์” ที่คนดูเข้ามาวิจารณ์ เสนอแนะ หรือคุยกัน และทุกคนจดจำแบรนด์ได้มากกว่าการผ่านตาป้าย Banner โฆษณาอย่างชัดเจน แต่จำนวนคนก็จะน้อยกว่า Banner อย่างชัดเจนเช่นกัน
อีกช่องทางเป็นของเล่น “Glitter” หรือ “ดุ๊กดิ๊ก” ที่คนไทยนิยมเรียกกัน ที่วัยรุ่นนิยมส่งให้กันแทนข้อความ เช่นช่วงวาเลนไทน์ที่ผ่านไปก็เต็มไปด้วย Glitter รูปหัวใจและดอกกุหลาบดุ๊กดิ๊กมีอยู่เต็มช่อง Comment ของแทบทุกคน ซึ่ง Digital Media Planner ในไทยก็ไม่พลาดที่จะมองของเล่นตัวนี้เป็น Ad.Media เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันแบรนด์ที่ใช้ Glitter โฆษณากันคึกคักก็คือเว็บไซต์ใหญ่ๆ อย่าง sanook.com, kapook.com และเร็วๆ นี้นานามองว่าปีนี้จะขยายไปสู่สินค้าอุปโภคบริโภคเช่นแชมพูสบู่อย่างแน่นอน Glitter เหล่านี้นอกจากดูสวยน่ารักสะดุดตาแล้วยังเป็นลิงค์ในตัวให้กดไปเข้าเว็บไซต์อะไรก็ได้
และสุดท้ายคือ “Group” ที่ไว้รวมคนที่มีรสนิยมตรงกัน หรือจบสถาบันเดียวกันไว้ เช่นกรุ๊ป “Starbucks” ที่จะปรากฏในโปรไฟล์ของทุกคนที่อยู่กรุ๊ปนี้ และเมื่อเข้าไปที่หน้าของ Group ก็จะเห็นรายชื่อและหน้าตาของสมาชิกทุกคนในกรุ๊ปนี้ ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ๆ กันได้ และทุกครั้งที่มีประกาศใหม่ๆ มีสมาชิกใหม่ๆ ก็จะมีข้อความแจ้งส่งไปรอบวงให้ Update กันถ้วนหน้าเสมอ นอกจากร้านกาแฟแล้ว วงดนตรี แบรนด์รถดังๆ ก็ทำ “กรุ๊ป” ของตัวเองกันถ้วนหน้า ทั้งจากฝีมือเจ้าของแบรนด์และจากแฟนๆ เองอย่างที่จะบ่งบอกได้ว่าที่มาตอนแรกมาจากไหน และนานาก็มองว่านี่เป็นอีกเครื่องมือ CRM ที่พร้อมใช้และน่าสนใจอย่างมาก
นานาย้ำว่าสำหรับนักบริหารสื่อแล้ว “ต้องตามไปเกาะติดทุกที่ที่คนเขาไปกัน” และนั่นคือเหตุผลที่องค์กรของเธอและคนวงการนี้ต่างต้องจับตามองช่องทางการโฆษณาใน hi5 ที่แม้จะเป็นเรื่องใหม่เพิ่งเกิดในไทยเมื่อปีที่แล้ว แต่ “เติบโตแรงมาก” และจะขึ้นมามีส่วนสำคัญในเม็ดเงินรวมของวงการโฆษณาออนไลน์ภายในปีนี้
ผู้หญิงเล่น hi5 มากกว่าผู้ชาย
1.2 ล้านคน คือตัวเลขผู้ใช้ hi5 ในไทยล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551
เพศ
หญิง 51 %
ชาย 49 %
อายุ (เรียงตามสัดส่วนมากไปน้อย)
18-24 ปี ~ 42 %
25-34 ปี ~ 36 %
เด็กกว่า 18 ปี ~ 12 %
แก่กว่า 34 ปี ~ 10 %