เครื่องมือเพิ่ม “เครือข่าย” ให้คึกคัก

ความสามารถที่จะเชื่อมโยงผู้คนไม่ได้จำกัดอยู่แค่เว็บ Social Networking ดังๆ อย่าง hi5 MySpace และ FaceBook เท่านั้น ในกรณีที่คุณหรือองค์กรธุรกิจใดสักแห่ง อยากสร้างชุมชนออนไลน์ของตัวเองขึ้นมาในยุคนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากเช่นกัน เรียกว่าเป็นตัวช่วยประเภท “ทำเองก็ได้ ง่ายจัง”

สมาชิกในชุมชนออนไลน์ของไทยอาจจะยังไม่ก้าวหน้าถึงขั้นคิดที่จะทำชุมชนออนไลน์เฉพาะกลุ่มของตัวเองขึ้นมา แต่ Social Networking ที่พัฒนาในต่างประเทศมาก่อนที่ hi5 จะทำให้ชุมชนออนไลน์เป็นที่รู้จักมากขึ้นในเมืองไทยนั้น เขาพัฒนาไปสู่การทำธุรกิจได้หลายต่อหลายรูปแบบไม่ได้จำกัดแค่ทำโฆษณาบนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์เหล่านี้เพียงอย่างเดียว

ลองมาดูตัวอย่างจาก 9 เว็บไซต์ของ 9 บริษัทในต่างประเทศที่พยายามคิดรูปแบบ ระบบ และแพลตฟอร์ม เพื่อให้คนที่มองการณ์ไกลกว่าแค่การเป็นสมาชิกในชุมชนออนไลน์ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการทำธุรกิจผ่านรูปแบบของ Social Networking และนี่คือคำตอบของการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ที่มี Social Networking เป็นตัวดึงดูดได้อีกทาง นอกเหนือจากรูปแบบของการหารายได้บนออนไลน์จากสินค้าหรือบริการที่ต้องการลูกค้าจากชุมชนออนไลน์

Ning คือเจ้าเด่นที่ให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับรองรับการโฆษณาเป็นอย่างดี เพียงแค่ “เลือกและคลิก” ก็จะเซตอัพระบบได้ง่ายดาย ทั้งเลือกสีสัน หน้าตา และฟังก์ชันในการอัพโหลดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพวิดีโอ กลุ่มสมาชิกและบล็อกภายในเวลาไม่กี่นาที สามารถเปลี่ยนที่อยู่เว็บ (URL) ได้และการบริหาร “โฆษณา” ก็เลือกแก้ไขได้ว่าจะไม่ต้องการให้ปรากฏหรือโชว์สินค้าไหนตามใจสั่ง เพียงแต่จ่ายเงินเพิ่มเท่านั้น

ส่วน KickApps อาจจะเป็นภาคตรงข้ามเพราะใช้ยากกว่าเล็กน้อย เหมาะกับคนที่มีความรู้เรื่องเว็บที่เรียกกันว่า Web Developer (หรือองค์กรที่มีคนเหล่านี้) เพราะให้อำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารความสวยงามและการใช้งานได้ลึกซึ้งกว่าด้วย “โค้ด” ข้อดีอีกเรื่องก็คือความจุและ Bandwidth ที่ไม่จำกัดรองรับเนื้อหาด้านมัลติมีเดียให้จุใจหากต้องการให้ยูสเซอร์ขยันอัพโหลด ด้านการ “โฆษณา” นั้นยิ่งพิเศษสุดๆ ตรงที่สามารถเลือกได้ว่าจะ “ปิด” หรือ “เปิด” เฉพาะตอนที่มีคนเข้าเยี่ยมเยือนเน็ตเวิร์คสูงสุด ผนวกด้วยเครื่องมือสร้าง Widget เพียบพร้อมแพรวพราว ซึ่งในอนาคตจะกลายส่วนสำคัญในการโปรโมตแคมเปญการตลาดอย่างแน่นอน

เครื่องมือที่ใช้ง่ายและเบสิกของจริงต้องของ CrowdVine ที่มีทางเลือกมาตรฐานที่เว็บ Social Networking ต้องมี ไม่ว่าจะเป็นโปรไฟล์ของสมาชิก เขียนบล็อก ฝากข้อความ แต่คนชอบ “มีเดีย” อาจจะผิดหวังเพราะไม่มีการรองรับภาพถ่าย วิดีโอต่างๆ แต่ก็มี Tags ไว้เสิร์ชหากลุ่มคนที่ที่สนใจหรือเชี่ยวชาญในเรื่องเดียวกัน ซึ่งก็เหมาะกับการสร้างเครือข่ายชุมชนประเภทการจัดประชุม พบปะสังสรรค์สมาชมศิษย์เก่า คนใช้ Intranet และมืออาชีพอื่นๆ ที่เชื่อมั่นเรื่องโปรไฟล์แต่ไม่ใส่ใจหน้าตา

ด้าน GoingOn ก็เป็นอีกเว็บที่มีศักยภาพในการช่วยเซตอัพระบบเครือข่ายได้เหมือน Ning และมีข้อดีในการพันธมิตรกับเจ้าของมีเดียว ทำให้ลูกค้าสามารถเชื่อมโยงระบบ Social Network ของตนเข้ากับเว็บที่มีอยู่แล้วได้อย่างง่ายดายเหมือน KickApps อีกทั้งยังเริ่มสร้างความแตกต่างเป็นของตัวเองด้วยลูกเล่นในการเชื่อมโยงแบบ “เครือข่ายซ้อนกันหลายชั้น” เช่น ผู้ใช้ที่เป็นสมาชิกครูเครือข่ายระดับประเทศ แต่ก็แยกย่อยแตกแขนงให้เป็นเครือข่ายระดับพื้นที่ได้ เป็นต้น เหมาะกับองค์กรที่ต้องการสร้าง Social Network แบบมีระดับชั้น

Collective X กลับเป็นเครื่องมือที่แปลกสุดๆ เพราะจำกัดการใช้งานเฉพาะกลุ่มจริงๆ ขนาดเป็นเพื่อนยังแอดกันไม่ได้ เพราะอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าทุกคนรู้จักกันแล้ว อย่างไรก็ดี ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือการ “แชร์ข้อมูล” เช่น ตารางนัดหมาย กระดานความคิดเห็น และพื้นที่จัดการไฟล์ถือได้ว่าเป็น “คุณภาพที่ควบคุมปริมาณ” ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับนักธุรกิจมือโปร ทั้งยังรองรับโฆษณาที่มาจากแพลตฟอร์มอื่นๆ อีกด้วย

ส่วน me.com จะมีข้อได้เปรียบตรงที่ว่าเป็นแพลตฟอร์มเดียวกับที่ MySpace ใช้ สามารถช่วยให้เซตอัพระบบเครือข่ายได้ง่ายเหมือน Ning แต่โครงสร้างดีไซน์ยังจัดว่ายุ่งเหยิงปวดตา อาจเป็นเพราะมีลูกเล่นมากเกินไป ถึงกระนั้นแพ็กเกจของ me.com ยังเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าองค์กรที่ต้องการ “ของเล่นมากมายราคาถูก” นั่นเอง

ผู้ให้บริการอีกรายที่น่าสนใจเห็นจะเป็น PeopleAggregator ที่กำลังทดลองกระบวนการบรอดแบนด์ให้สามารถสร้าง Social Networking ที่เป็นระบบเปิด (Open ID authentication system) ทำให้ผู้ใช้เข้า Network ที่แตกต่างกันได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตจะเป็นประโยชน์มหาศาลเพราะสามารถเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายอื่นๆ ที่ไม่ถือว่าเป็น Social Networking เต็มตัว เช่น YouTube หรือ Yahoo Messenger แต่หากว่าในชีวิตนี้บริษัทของคุณไม่คิดจะเป็นระบบเปิด ก็ควรมองข้ามไปเสีย

หากใครชอบเครื่องมือแบบเรียบๆ ก็ยังทางเลือกอีกเจ้าหนึ่งคือ Haystack แต่เป็นพวกคิดนอกกรอบในเรื่องให้ข้อมูลแก่ผู้เยี่ยมเยือนมากกว่าจะเชื่อมโยงเฉพาะคนที่เป็นสมาชิกเท่านั้น ด้วยระบบ Tagging เหมือน CrowdVine แต่ค้นหาผู้คนโดยใช้เกณฑ์เดียวกันได้แม่นยำกว่า มีแม้กระทั่งส่วนที่ผนวกกับ Google Maps ว่าคนที่คุณกำลังตามหาอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับ Web Developer ในแง่ของโครงสร้างและแอพพลิเคชั่นด้านข้อมูล

ท้ายสุดคือ ONEsite บริษัทลูกของ catalog.com ที่เป็นกึ่งๆ เว็บ Social Networking กับ Business Solution ในตัวเองอยู่แล้ว ทำให้ ONEsite เชี่ยวชาญทั้งทักษะทาง “สังคม” และการ “ขาย” เพียงแต่ว่าที่นี่ไม่มีของฟรีแถมให้ (หลังจากหมดช่วงทดลองไปแล้ว) ลูกค้าแม้จะซื้อพื้นที่โดเมน โดยรวมถือว่าแพงสุดๆ ด้วยข้อจำกัดจำนวนสมาชิกที่ลูกค้าอยากมีไปตามราคาของแพ็กเกจที่ลูกค้าซื้อ เช่น แพ็กเกจราคา 30 เหรียญต่อเดือน มีสมาชิกได้แค่ 1,000 คน ราคา 100 เหรียญ มีได้ 10,000 คน แปลว่าบริษัทที่อยากมี Social Networking ไว้ประดับบารมีก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ