รอยย์ กุนารา สุข สดใหม่ เรียบง่าย

ด้วยวัยเพียง 39 ปี กับบุคลิกภายนอกที่ดูค่อนข้างขรึม ในชุดสูทสีเข้ม ผูกเนกไทลายทางสีเลือดหมู ในตำแหน่ง “ประธานคณะเจ้าหน้าที่กลุ่มงานลูกค้าบุคคล” ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หนึ่งในแบงก์เก่าแก่ของไทย อาจทำให้คนมองว่า “รอยย์ ออกุสตินัส กุนารา” (Roy Agustinus Gunara) เป็นคน “เข้าถึงยาก” แต่ความจริงเขาเป็นคน “ง่ายๆ ” ปรัชญาการทำงานเรียบง่าย วิถีชีวิตสบายๆ

“ใช่ ผมดูแก่กว่าอายุจริง” รอยย์ยิ้มอารมณ์ดี บุคลิก “ข้างนอกสูงวัย แต่ข้างในใหม่สด” ของเขาดูจะสะท้อนภาพ “ผสมผสาน” ระหว่างเก่าและใหม่ของธนาคารกรุงศรีฯ ที่มีความเป็นมายาวนาน แต่ก็อยู่ในระหว่างปรับภาพลักษณ์ เพื่อการแข่งขันในโลกการเงินการธนาคารโลกาภิวัฒน์ ต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” หลังจากที่กลุ่ม General Electric (GE) เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในธนาคารกรุงศรีฯ เมื่อปีที่แล้ว รอยย์ได้รับมอบหมายให้กุมบังเหียน “กลุ่มงานลูกค้าบุคคล” ความรับผิดชอบกว้างขวางครอบคลุมไปทั้งเงินฝาก สินเชื่อ บัตรเครดิต ธุรกิจเช่า-ซื้อรถยนต์ ประกันภัย

การเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้านของธนาคารกรุงศรีฯ จำต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ภายในปีนี้ แม้ต้อง “เร็ว” แต่ก็ต้อง ”รอบคอบ”ด้วยความเป็นธนาคารเก่าแก่ มีสายการบังคับบัญชามากมาย ทว่ารอยย์ไม่เคยหนักใจ “แม้จะเคยชินกับวัฒนธรรมตะวันตกที่เปิดกว้างกว่า แต่ก็เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรแบบดั้งเดิม” ยิ่งตอนนี้ก็อยู่เมืองไทยมา 7-8 ปีแล้วรู้จักวัฒนธรรมและสไตล์ของคนไทยเป็นอย่างดี ภรรยาของเขาก็เป็นคนไทย

ความแตกต่างเรื่องวัฒนธรรม ภาษา และอายุที่ “น้อยที่สุดในทีม” ไม่ใช่อุปสรรคสำหรับนายแบงก์สายเลือดอินโดนีเซียผู้นี้ ด้วยบุคลิก “นิ่ง แต่ยิ้มแย้มถ่อมตัว” เขาไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นบอส “ต้องเคารพความเห็นของคนที่มีประสบการณ์มากกว่า และปรับตัวตามกฎบ้าน เขาเชื่อในการสื่อสารที่เรียบง่ายและชัดเจนเป็น “สะพานเชื่อมความแตกต่าง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคอนซูเมอร์ของเขามีพนักงานร่วม 5,000 คน

การจะเป็นผู้นำได้ต้องมีความคิดชัดเจน “ความคิดเชิงวิเคราะห์” ของรอยย์ เป็นอีกจุดแข็งหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นดาวเด่นในวงการเงินได้อย่างรวดเร็ว จนเมื่อเร็วๆ นี้ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 ดาวรุ่งวงการธนาคารในเอเชีย จัดอันดับโดยนิตยสาร Asia Banker สิ่งนี้ตามติดตัวเขามาจากการศึกษาด้าน Electrical Engineering ก่อนจะผันตัวเองเข้าไปเรียนรู้ด้าน Finance ในระดับ MBA จากนั้นก็เริ่มหยั่งขาเข้าวงการการเงินด้วยการทำงานกับซิตี้แบงก์ ในฐานะโปรแกรมเมอร์ก่อน ที่อินโดนีเซีย

ราวกับว่าชะตาชีวิตลิขิตให้เขาเป็น “แบงเกอร์” เพราะเคยลาวงการไปทำธุรกิจของตัวเองด้าน Business Solutions สร้างเว็บไซต์ในยุคอินเทอร์เน็ตบูม ให้เวลาตัวเอง “ลอง” สองปีแต่ก็ต้องล้มเลิกความฝันเพราะเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 เข้าอย่างจัง เขากลับไปเป็นมนุษย์เงินเดือนให้กับธนาคารเอบีเอ็น แอมโร ที่เป็น “จุดเปลี่ยนชีวิตทำงาน” กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ข้อมูลด้าน Risk Management และก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งของ GE นับแต่นั้น

รอยย์ ในอดีตจัดว่า “บ้างาน” ทุ่มเท ให้งานถึงวันละ 15-18 ชั่วโมง ยิ่งตอนทำงานให้กับ GE Capital ยิ่งรู้สึกเหมือน “ทำงาน 5 ปีในปีเดียว เพราะต้องเรียนรู้ทุกแง่มุม” แต่ปัจจุบันเขาพยายามใช้เวลาทำงานน้อยลงแม้ต้องรับผิดชอบงานมากขึ้น ต้องเน้นประสิทธิภาพ “หลังจากทำงานมา 15 ปี ผมรู้ซึ้งว่าใช้เวลามากแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้งานดีขึ้น” ตั้งเป้าทำงานให้เต็มที่ 8 ชั่วโมงเสร็จภายในสองทุ่ม ลดเวลาทำงานด้วยการ “อบรมทีมให้ทำงาน และต้องตัดสินใจอย่างฉับไว ไม่คิดเป็นวงกลม”

นี่ยังจะช่วยให้รอยย์ “ฟิต” ทั้งร่างกายและอารมณ์ เพราะเชื่อว่าผู้นำในยุคนี้ต้อง “เป็นแรงบันดาลใจ และเต็มไปด้วยพลังงาน” ขับเคลื่อนทีมให้ทำงานอย่างกระตือรือร้น มุ่งมั่นไม่ท้อถอย

“ถ้าไม่สำเร็จ พรุ่งนี้ก็ลองใหม่” ปรัชญาชีวิตด้านบวกเปี่ยมไปด้วย “ความสุข” ของรอยย์นี่เองที่กำลังจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในธนาคารกรุงศรีฯ ท่ามกลางแข่งขันรุนแรงในวงการธนาคาร “โพสิชันนิ่ง” ของแบงก์กรุงศรีฯ ต้องเปลี่ยน โดยนำเอาจุดเด่นของธนาคารที่มีความสัมพันธ์ยาวนานกับกลุ่มธุรกิจ และความเป็นหุ้นส่วนกับ GE ที่จะช่วยด้านโปรดักส์และกระบวนการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ นำมาสู่โพสิชันนิ่งยุคใหม่ของแบงก์กรุงศรีฯ คือ “พยายามเป็นสินค้าคอนซูเมอร์ที่มีคุณค่ามากที่สุด” จากการวิเคราะห์ของรอยย์ เทรนด์ของธนาคารสมัยนี้ต้องแข่งขันเรื่องขยายสาขา เน้นการบริการและแข่งขันเรื่องราคา แต่ใช่ว่าจะเหมาะสมกับทุกแบงก์

“ถ้ามองว่าไทยพาณิชย์ประสบความสำเร็จในการขยายสาขาแล้วไปทำตาม ก็จะเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์”

ยุคนี้ “ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” ต้องแข่งกันเอาใจลูกค้าสุดๆ “ถ้าลูกค้าเลือกธนาคารอื่น ไม่ได้แปลว่าเขาชนะเรา ต้องมองว่าสินค้าเราไม่ดี” ถึงจะชอบการแข่งขัน แต่รอยย์ก็มองว่า “แข่งตัวเอง” เพราะทุกวันนี้กรุงศรีฯ ถือเป็นเบอร์ 4 หรือ 5 แต่ก็ใช่ว่าไม่มีโอกาสก้าวไปข้างหน้า

รอยย์ เชื่อในเรื่อง ข้อมูล เขาจะใช้ข้อมูล Customer Insight เพื่อวางแผนกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด (เรียกสั้นๆ ว่า “C-Trans”) เพื่อศึกษาพฤติกรรมลูกค้า ที่กรุงศรีฯ หมายมั่นจะ “ชนะใจ” ให้ได้ “จากลูกค้าแบงก์มีหลักๆ อยู่ 4 พวก คือ Traditional, Modern, Benefit seeker และ Reward seeker พบว่ากลุ่ม Modernใหญ่มากและเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ” แน่นอนกรุงศรีฯ จะยังคงเหนียวแน่นกับกลุ่มลูกค้าเก่าเพราะเป็น “Core Value” แต่ก็ต้องมีลูกค้าใหม่เพื่อการเติบโต จึงต้องออกโปรดักส์ใหม่ๆ ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม และกลยุทธ์ก็คือ “ทำให้ลูกค้ามีความสุข”

นับแต่นี้ไปจะมีความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ของแบงก์กรุงศรี ที่เรียกได้ว่าเป็น “Innovation” ก็ว่าได้ ด้วยการออกโปรดักส์ใหม่ๆ “ทุกเดือน” เพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งรอยย์มักจะเข้าไปดูรายละเอียดด้วยตัวเอง แม้แต่จุดเล็กๆ น้อยๆ เช่น เพลงประกอบในโฆษณาชิ้นนี้ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากลูกชาย ใช้เพลงที่เด็กๆ ชอบร้อง “สิ่งเล็กๆ ที่คนมองข้ามไปก็ทำให้มีความสุขได้”

ทุกอย่างอยู่ในธีมเดียวกับทัศนคติด้านบวกของรอยย์เพื่อเป็น “ธนาคารให้ความสุข” หรือ “ชีวิตคิดสบาย” เพราะ “ความสุข” คือสิ่งที่ทุกคนอยากจะเข้าถึง และแบงก์กรุงศรีฯ ก็อยากจะให้

ยามว่างของรอยย์ ต่อให้เว็บ Social Networking โด่งดังมาแรงแค่ไหน รอยย์ก็ไม่รู้จัก “ผมเป็นพวกที่โฟกัสกับเรื่องเดียว” ทำให้ไม่อยากใช้คอมพิวเตอร์ทุกวัน เพราะอาจจมดิ่งอยู่กับมันนานถึง 3-4 ชั่วโมง เว็บที่เขาชอบเปิดอ่านจะเป็น “ข้อมูล” ล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็น CNN ไปจนถึงข่าวสารเรื่องหุ้นที่เขาถ่อมตัวว่าลงทุนบ้างเล็กน้อยแต่ไม่ใช่เซียน

คุณค่าของเวลาที่ต้องทำให้สมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว เกิดขึ้นหลังจากสร้างครอบครัวกับสาวไทยที่เขาพบรักระหว่างทำงานที่ GE ด้วยกัน และมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย 2 ขวบ ผู้ซึ่งกระโดดขึ้นมาเป็น “นาฬิกาปลุก” ให้เขาถึงเตียงทุกๆ เช้า ก่อนเดินทางมาถึงที่ทำงานประมาณ 8 โมงครึ่งทุกวัน แต่ถึงจะรักครอบครัวแค่ไหน ก็ไม่ยอมชวนครอบครัวไป Business Trip ด้วยกันเพราะต้องการทุ่มเทความสนใจให้กับงานอย่างเต็มที่

จากครอบครัวที่เลี้ยงดูเขาอย่างสมถะ ของเล่นยังต้องทำด้วยตัวเอง ทำให้รอยย์เป็นคนพอใจกับอะไรง่ายๆ แทบไม่เคยอารมณ์เสีย หาความสุขอยู่ตรงหน้าเรารอบๆ ตัวเรา ทำให้รอยย์สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างได้ง่ายดาย แต่ด้วย ไลฟ์สไตล์ไม่โลดโผนเหมือนคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน ในทางกลับกันมักอิงกับ “ที่ทำงาน” เป็นหลัก เช่น ไปดูหนังที่สยามพารากอนเพราะมีกรุงศรี IMAX เป็นสมาชิกกอล์ฟคลับที่ GE ให้สิทธิพนักงาน หรือไปช้อปปิ้งที่โฮมโปรเพราะเป็นพาร์ตเนอร์ เป็นต้น

แม้จะใช้ชีวิตเรียบง่าย แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่ยอมพลาด คือ การดื่มไวน์อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง ทำให้เขาสะสม “ไวน์” ชั้นดี ปัจจุบันมีกว่า 200 ขวด เน้นเฉพาะจากฝรั่งเศสและอิตาลี รักมากจนต้องหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับไวน์ไว้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ก็มี “ภาพวาด” ที่เน้นศิลปะแบบเรียบง่าย ซึ่งมักจะเป็นสไตล์อินโดนีเซียและเวียดนาม ส่วน “นาฬิกา” ก็เคยสะสมอยู่พักหนึ่ง แต่ก็เลิกไปเพราะรู้สึกว่ามันเป็นแค่ “แฟชั่น”

Profile

Name : รอยย์ ออกุสตินัส กุนารา (Roy Agustinus Gunara) Age : 39 ปี
Education :
– 2530 – 2534 ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (ไฟฟ้า) มหาวิทยาลัยเดรกเซล (Drexel University) สหรัฐอเมริกา
– 2534 – 2536 บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) ด้านการเงิน มหาวิทยาลัยอิลินอยส์ (University of Illinois) สหรัฐอเมริกา
Career Highlights :
– 2542 รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ธนาคารเอบีเอ็น แอมโร ประเทศอินโดนีเซีย
– 2542 – 25544 ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยง จีอี มันนี่ (อินโดนีเซีย)
– 2544 – 2549 ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ จีอี แคปปิตอล (ประเทศไทย)
– 2550 – ปัจจุบัน ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
Life Style:
สะสมไวน์ชั้นดีจากฝรั่งเศส อิตาลี รวมทั้งภาพศิลปะที่เรียบง่ายสบายตา และตีกอล์ฟ