ท่องกระบวนทัศน์

ภาษิตจีนโบราณว่าเอาไว้ “เดินทางร้อยลี้ ดีกว่าอ่านหนังสือร้อยเล่ม”

คำพูดข้างต้น ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวฉวยเป็นจุดขายมานานแสนนานไม่มีหน่าย และกลายเป็นธุรกิจใหญ่โตของทุกประเทศที่ต้องการสร้างรายได้และการจ้างงานโดยเร่งด่วน ไม่เว้นประเทศไทย ซึ่งธุรกิจนี้ถือว่าอยู่หัวแถวของการสร้างรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศมาไม่น้อยกว่า 4 ทศวรรษ

รัฐบาลประชาธิปไตยล่าสุด ก็ยกเอาเรื่องนี้เป็นจุดขายหลักเช่นกัน เป็นเรื่องธรรมดา แถมรัฐมนตรีสุดหล่อ (แต่เสียงแต๋วแหววจังเลย) ก็ออกมาประกาศเป้าเขย่งกะจะชูผลงานให้เลิศลอยเอาไว้สูงลิ่ว จนน่าสงสัยว่าจะทำได้บรรลุเป้าประเภท “ฝันให้ไกล” ได้ถึงหรือไม่

ภาพยนตร์โฆษณาท่องเที่ยวใหม่ล่าสุดของการท่องเที่ยวฯ ที่ออกมา จึงมีลักษณะแปลกหูแปลกตาจากคอมเซ็ปต์เดิมๆ มากเป็นพิเศษ

แต่ไหนแต่ไรมา คอนเซ็ปต์หลักของภาพยนตร์โฆษณาท่องเที่ยวไทยเฉพาะที่ตั้งเป้าไปที่คนในประเทศ ก็มักจะเน้นไปที่ความหลากหลายของ Thainess (ต่างจากที่นำเสนอขายต่างชาติซึ่งเสนอให้ครบ Sun, Sea, Sand and Exotic Thainess) กันเป็นปกติ โดยเฉพาะแนวทางในการดึงให้นักท่องเที่ยวคนไทยหันมาเดินทางในประเทศแทนไปต่างประเทศ เพื่อสร้างความคึกคักให้กับธุรกิจในประเทศ ซึ่งอย่างหลังนี้บางครั้งก็ยังเอาดารามาสร้างจุดขายเพิ่มเป็นพิเศษ

คราวนี้โฆษณาเพื่อชวนคนไทยเที่ยวเมืองไทย กลับมาแปลกกว่าทุกคราว ไม่ต้องยัดเยียดว่าคนไทยควรเที่ยวเมืองไทย แต่เน้นไปที่การท่องเที่ยวทั้งครอบครัว ซึ่งเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศมากกว่าไปต่างประเทศ เพราะมีทั้งเด็กและคนชราพร้อมกัน

ก็อย่างที่รู้ การพาเด็กเล็กและคนชราไปต่างประเทศนั้น ยุ่งยากพอๆ กับการย้ายบ้านใหม่กันเลยทีเดียว เพราะมีเรื่องให้ห่วงใยสารพัด

โฆษณาชิ้นนี้ เน้นไปที่มุมมองของเด็กตัวน้อยๆ ที่นั่งรถไปกับครอบครัว และสังเกตปรากฏการณ์แปลกที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง ซึ่งมีพ่อ แม่ พี่สาว และคุณย่า ซึ่งแตกต่างจากพฤติกรรมเวลาที่อยู่ที่ในบ้านอย่างมาก

คุณย่า กลับแข็งแรง ไม่มีบ่นจู้จี้ขี้เหนื่อยเหมือนอยู่ที่บ้าน
แม่ก็ยิ้มแย้มแจ่มใสแม้ผมจะยุ่ง
แถมยังพี่สาวที่ใจดีผิดปกติ ไม่ขี้หวงของเล่นเหมือนตอนอยู่บ้าน
และเมื่อเดินทางถึงที่หมายก็มีพฤติกรรมที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาอย่างผิดคาด
……
…..
อะไรที่เคยไม่ดี ก็กลายเป็นดี อะไรที่ไม่เคยกระทำ ก็กระทำ โลกดูสวยงามเพียงเพราะเปลี่ยนสถานที่และลดความจำเจของชีวิตลงไป

จบท้ายด้วยข้อดีของการท่องเที่ยว ที่สร้างโลกทัศน์และพฤติกรรมสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้กับเด็กตัวน้อยที่ทำหน้าที่ถ่ายถอดข้อสังเกตของชีวิตออกมาได้อย่างน่าประทับใจ

โฆษณาชิ้นนี้ ถือเป็นซอฟต์เซลส์ที่แสนจะประทับใจอย่างมาก ดูแล้วอยากแพ็กกระเป๋าใส่รถยนต์พาครอบครัวออกไปเที่ยวกันทั้งบ้านกับเขาบ้าง (อ้อ… แล้วก็อย่าลืมฝากบ้านไว้กับตำรวจตามสูตรด้วยล่ะ) เพราะเรื่องอย่างนี้ คนที่เคยมีประสบการณ์และผ่านชีวิตมา ย่อมรู้ดีว่า เป็นประเด็นเส้นผมบังภูเขาที่บางครั้งก็มองข้ามไปได้ ทั้งที่เป็นประสบการณ์อันน่ารื่นรมย์และสร้างสรรค์อย่างมาก

ไม่ต้องไปเที่ยวดินแดนแดนสวรรค์ หรือแหล่งท่องเที่ยวที่แปลกพิสดารที่ไหนๆ หรอก ขอมีเพียงคนในครอบครัวร่วมไปด้วยเท่านั้น สวรรค์ก็อยู่ในมือเราแล้วมิใช่หรือ?

พูดถึงเรื่องนี้แล้ว ต้องย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องการเดินทาง กับการท่องเที่ยวสักเล็กน้อย เพราะทั้งสองอย่างนี้ มีความแตกต่างกัน แต่ก็มีส่วนที่เหลื่อมล้ำเป็นส่วนของกันและกันอยู่

ลักษณะร่วมของการเดินทาง และท่องเที่ยว อยู่ในการเคลื่อนย้ายตัวคนจากสถานที่หนึ่งไปยังที่อื่นๆ ผ่านเงื่อนเวลาจำเพาะ โดยมีเป้าหมายแตกต่างกัน

การเดินทาง มีเป้าหมายและประเภทหลากหลาย อาทิ การเดินทางเพื่อธุรกิจการค้า การเดินทางไปหาญาติมิตรและครอบครัว การโดยสารยานพาหนะเป็นประจำเพื่อนัดหมายหรือทำงานหรือศึกษา การอพยพเร่ร่อนจากที่หนึ่งไปที่อื่นๆ โดยไม่มีเป้าหมายว่าจะกลับมาที่เดิมหรือไม่ การแสวงบุญด้วยเหตุผลทางศาสนา การทำวิจัย/สำรวจ เพื่อรวบรวมข้อมูลภาคสนามเชิงปริมาณ

จะเห็นได้ชัดว่า การเดินทางนั้นมีความหมายที่กว้างขวางอย่างมาก ทำให้ครั้งหนึ่งนักเขียนอย่าง พอล โบว์ส ชาวอเมริกัน เขียนสรุปว่า “นักท่องเที่ยวนั้น มาแล้วก็กลับไปกับความว่างเปล่า ส่วนนักเดินทางนั้นมาเพื่อจดจำประสบการณ์”

ส่วนการท่องเที่ยวนั้น มีเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นการเดินทางเพื่อหย่อนใจ และใช้เวลาว่างในการเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ๆ

องค์การท่องเที่ยวโลก บอกว่า นักท่องเที่ยว หมายถึง บุคคลซึ่งเดินทางเพื่อไปอยู่อาศัยในดินแดนที่ไม่คุ้นเคยเป็นเวลาไม่เกิน 1 ปีเพื่อการพักผ่อน เพื่อธุรกิจ และอื่นๆ

ที่แน่ๆ นักท่องเที่ยวอยู่ที่ไหน การจับจ่ายใช้สอยและการค้าคึกคักกว่าปกติเสมอ

ปัจจุบัน ธุรกิจท่องเที่ยว ถือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มหึมา เป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ประมาณกันว่า ในสิ้นปี 2549 มีจำนวนนักท่องเที่ยวข้ามประเทศ 842 ล้านคนทั่วโลก มีเงินสะพัดในธุรกิจมากกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยทั่วไปแล้ว ตลาดการท่องเที่ยวจะแบ่งออกเป็น 3 ตลาด คือ 1) ตลาดนักท่องเที่ยวขาเข้า หมายถึงการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศให้จ่ายเงินมากสุด และอยู่นานสุด 2) ตลาดในประเทศ นักท่องเที่ยวจะเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ในประเทศ ไม่เกี่ยวกับต่างชาติ 3) ตลาดนักท่องเที่ยวขาออก นักท่องเที่ยวในประเทศเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ

ตลาดแรกนั้น เป็นแหล่งทำเงินรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล ทุกชาติมุ่งไปที่ตลาดนี้ ส่วนตลาดหลังสุด เป็นตลาดที่รัฐพยายามให้มีน้อยที่สุด เพราะจะทำให้เงินไหลออกมากเกิน ดังนั้น จึงต้องหาทางสร้างตลาดประเภทสองขึ้นมาเป็นทางเลือกเพื่อต่อรองกับตลาดหลังสุด

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ตัวแปรสำคัญในการสร้างตลาดนั้น ต้องได้รับการเน้นให้ตรงกับอุปสงค์ของนักท่องเที่ยว เพราะมีความแตกต่างกันในเป้าหมายพอสมควร เช่น สุขภาพของนักท่องเที่ยว ความสะดวกสบายของการเดินทาง วัฒนธรรมที่น่าสนใจ รสชาติของอาหาร หรือ ธรรมชาติที่แปลกใหม่

ภาพยนตร์โฆษณาการท่องเที่ยวชิ้นที่ยกมาพูดถึงนี้ ดูจะเน้นไปที่การท่องเที่ยวแบบครอบครัวในประเทศ ซึ่งว่าไปแล้ว เป็นเรื่องเหมาะสมกับยุคสมัยอย่างยิ่ง เนื่องจากสภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีส่วนทำให้สภาพของครอบครัวเหินห่างและแปลกหน้ากันไป

หากการท่องเที่ยวทำให้ครอบครัวกลับมาพร้อมหน้ากันได้ใกล้ชิด ในบรรยากาศที่มีชีวิตชีวา ก็เท่ากับเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว ที่น่าชมเชย

คนที่คิดคอนเซ็ปต์โฆษณาชิ้นนี้ควรได้รับคำชมไปเต็มๆ สำหรับงานนี้

ขอให้ผลิตงานโฆษณาดีๆ อย่างนี้ออกมาอีก

ดีกว่าเอาแต่ยัดเยียดกันอย่างเดียวว่า คนไทยต้องเที่ยวเมืองไทย อย่างที่เคยทำๆ กัน เพราะมีแต่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาทางลบ ไปกระทำตรงกันข้าม เพราะสำหรับบางคนแล้ว การเดินทางร้อยลี้ อาจสู้อ่านหนังสือร้อยเล่มไม่ได้

Credit
ลูกค้า : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ชื่อเรื่อง : อยากไปเที่ยว (Nice Trip)
ความยาว : 60/30 วินาที
ออกอากาศครั้งแรก : 1 มีนาคม 2551

ทีมงาน ลีโอ เบอร์เนทท์

ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ กีรติ ชัยมังคโล
ผู้ผลิตภาพยนตร์โฆษณา : สกาย เอ็กซิท
ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา : อนุรักษ์ จั่นสัญชัย
แนวคิดของงานโฆษณา : ความสุขที่ได้จากการท่องเที่ยวทำให้เราเปลี่ยนแปลงและได้ประสบการณ์และความทรงจำที่สวยงามในชีวิต