สร้างแบรนด์ให้อินเทรนด์ต้องเล่นบนโลกออนไลน์

นิตยสาร POSITIONING ได้จัดสัมมนาในหัวข้อสุดฮิพ “Social Networking ขุมทรัพย์การตลาดโลกออนไลน์” โดยได้ผู้บรรยายที่เป็นตัวจริงเสียงจริงในวงการโฆษณาออนไลน์ทั้ง Digital Media Director จากเอเยนซี่ดาวรุ่งพุ่งแรงอย่าง ADaptor คือ อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์, และคู่หูจากบริษัทยักษ์บริหารสื่อโฆษณาอย่าง Mindshare คือ “เก่งดอตคอม” กติกา สายเสนีย์ กับ “นานา” กรณิการ์ กลีบแก้ว ตามด้วย CEO บริษัทขายโฆษณาบนเว็บที่เป็นตัวแทน hi5 ในไทยคือ กษมาช นีรปัทมะ ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการนำ Social Networking ไปใช้เป็นเครื่องมือการตลาด โฆษณา และประชาสัมพันธ์ ได้อย่างน่าสนใจ

โลกไซเบอร์ที่เปลี่ยนไป …

อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ จาก ADaptor บอกถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับโลกออนไลน์เวลานี้ คือการ Shift” ทั้งในภาค “Consumer Shift” และ “Media Shift”

Consumer Shift โลกทุกวันนี้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึง 1 พันล้านคน หรือหนึ่งในห้าของประชากรโลกแล้ว ส่วนในไทยมีราว 13.6 ล้านคน เป็นเน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ราว 3 ล้านคน และส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 12 ถึง 35 ปี และทุกคนมีส่วนในการสร้างและควบคุมข้อมูลข่าวสารทั้งหมดในอินเทอร์เน็ตผ่านคอมเมนต์ บล็อก

ทั้งหมดทำให้เกิดประชากรรุ่น “Generation C” คนกลุ่มนี้ชอบสร้าง Content ของตัวเอง ด้วย Connect, Conversation, Communication และ Creativity ซึ่งส่วนใหญ่อายุ 25 ลงไปและมีนิสัยการ Consume สื่อหลายอย่างพร้อมกันเป็น “Multitasker” แม้การดูทีวีจะยังเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ลดลงเรื่อยๆ โดยถูกแทนที่ด้วยอินเทอร์เน็ต

อีกพฤติกรรมมาแรงคือการไม่เชื่อโฆษณา และเชื่อคำพูดคนอื่นมากขึ้นเมื่อจะติดสินใจซื้ออะไร โดยเฉพาะคำพูดที่ได้จากอินเทอร์เน็ต ซึ่งพฤติกรรมนี้โตขึ้นสองเท่าในปีเดียวจาก 33% เป็น 61%

การเปลี่ยนแปลงในภาคสื่อ คือ ความต้องการใช้สื่อมากขึ้น แต่กลับเข้าถึงคนได้น้อยลง เพราะสินค้าแทบทุก Category มี Subcategory หลากหลายขึ้น มีแบรนด์ใหม่ๆ หลากหลาย และสื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคอดทนกับสื่อโฆษณาน้อยลง ไม่อยากรับฟังในสิ่งที่ถูกยัดเยียด และต้องการเลือกเอง ทำให้เกิดการแทนที่เวลา “Prime Time” ด้วย “My Time” นอกจากการเลือกรับสื่อเองแล้ว ผู้บริโภคยุคนี้ยังก้าวไปไกลถึงการเลือกสร้างเนื้อหาเองให้เป็น “User Generated Content” และที่มาแรงที่สุดตอนนี้ก็คือ “Social Network”

ยุค Social Network

Social Network ไม่ใช่ของใหม่ แต่เริ่มใช้กันตั้งแต่ปี 1995 คือ classmate.com แต่เริ่มมาขยายตัวช่วงปี 1998 ถึง 2004 ในหมู่นักศึกษาลงไปถึงวัยรุ่นทั้งระดับโลกและในไทย โดยเว็บดังๆอย่าง MySpace, Facebook และ hi5 จนเมื่อปี 2006 จึงขยับขึ้นเป็นสื่อ Mass ครอบคลุมทุกเพศวัย

ข้อมูลที่น่าสนใจคือครึ่งหนึ่ง หรือ 48 % ของผู้ใช้เน็ตไทยเป็น “Active Social Networker” คือมีตัวตนบน Social Network เช่น hi5, Facebook และเข้าใช้ อัพเดต เป็นประจำ และนักวิเคราะห์วิจัยพากันคาดว่าจะเติบโตแรงต่อไปอีก 5 ปี โดย Facebook กำลังเร่งแรงขึ้นไปท้าชิงกับ MySpace ในระดับโลก และท้าชิงกับ hi5 ในไทย

นอกจาก “Self Publishing” หรือการบอกเล่าตัวเอง ลงรูปตัวเอง คุยกับเพื่อนๆ แล้ว วิดีโอคลิปเป็นอีกส่วนสำคัญของ Social Networking บนข้อมูลที่ว่า 47% ของคลิปทั้งหมดในอินเทอร์เน็ตวันนี้เป็นคลิปจาก “ทางบ้าน” คือผู้ใช้ทั่วไปผลิตส่งขึ้นมา และ 30% ของเวลาใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งโลกใช้ไปกับการดูวิดีโอคลิป และผู้ชม 50% นำเนื้อหาจาก VDO ไป “Take Action” ต่อ

นอกจากนี้เว็บ WikiPedia ก็เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่นักการตลาดเข้าไปสร้างเนื้อหาอธิบายสินค้าและแบรนด์ของตัวเองกันทั่วไป โดยเฉพาะสินค้าที่มีความซับซ้อน หรือมีเรื่องราวรายละเอียดมาก

How to การตลาด

ช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับการทำตลาดผ่าน Social Network นั้นคือช่วง Growth, Mature และ Decline คือ ควรเป็นสินค้าหรือแบรนด์ที่มีคนรู้จักอยู่บ้างแล้ว ไม่ใช่ของใหม่ถอดด้าม แต่เหมาะกับทำหน้าที่เตือนให้คนได้ยินบ่อยๆ ส่วนสินค้าหรือแบรนด์ไหนที่อยู่ในระยะ Introduction จะเหมาะกับการสร้าง “Word of Mouth” คือทำอะไรให้เกิดกระแสบอกต่อกันในวงกว้างๆ มากกว่า

ปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงสำคัญที่กำลังเกิดกับ Myspace, Facebook, hi5 ก็คือสัดส่วนผู้ใช้งานที่อายุ 35 ปีขึ้นไปกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงข้ามกับวัยรุ่นที่มีเปอร์เซ็นต์ลดลงๆ เพราะค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว

ในการสื่อสารการตลาดผ่าน Social Network สิ่งสำคัญที่สุดคือ “Engagement” คือพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ของกลุ่มเป้าหมายให้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ดึง “Attention” ของผู้ชมเท่านั้น และไม่ใช่แค่การสร้าง “Brand Awareness” แต่ต้องทำให้ได้ถึงขั้น “Brand Swarm” หรือให้แบรนด์โอบล้อมผู้ใช้เอาไว้ ผ่านเพื่อนๆ และชีวิตประจำวันของเขาเอง

เว็บ Social Networking เป็นเครื่องมือที่เหมาะกับการสร้าง “Brand Swarm” เพราะการสร้าง “Brand Swarm” ได้ ก็ต้องรู้จักพฤติกรรมของเป้าหมาย หรือ “Target Behavior” ให้ชัด เช่นใน hi5 ที่ผู้คนนิยมเข้าไปดูรูปเพื่อน คอมเมนต์กัน และ Add เพื่อนใหม่ๆ เช่นนี้สินค้าสามารถเข้าไป เป็นเสมือนเพื่อนกับกลุ่มเป้าหมายหรือสร้างกลุ่มเพื่อนใหม่ขึ้นมา

นอกจากนี้วิดีโอคลิป เพลง ก็ยังเป็นสิ่งที่ดึงดูดชาวเน็ตได้เสมอ ที่สำคัญคือทุกอย่างต้องทำให้สนุกสนานจนคนอยากบอกต่อๆ กันให้ได้ และไม่ลืมว่ากำลัง “Communicating” ไม่ใช่ “Advertising” และกำลังเข้าไปสัมพันธ์กับผู้คน ไม่ใช่ไปแจกโบรชัวร์

หนทางหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่ำ คือไป Sponsor เนื้อหาหรือเว็บไซต์ที่มีอยู่แล้วและได้รับความนิยม แทนที่จะสร้างเอง

อีกเรื่องที่ต้องจดจำไว้ตลอดเวลาคือ สื่อบนอินเทอร์เน็ตนั้นไม่ใช้สื่อ Mass แต่มีธรรมชาติที่ถูกแบ่งเป็นกลุ่มๆ เป็นเซ็กเมนต์อยู่แล้ว และแต่ละกลุ่มก็มีชุมชนผู้คนที่ได้รับความนิยมเชื่อถือ (“Influencers”) อยู่ ซึ่งนักการตลาดต้องเข้าถึงให้ได้

ตลอดเวลาที่ลงมือทำ นักการตลาดและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำใจเผื่อไว้ว่าทุกอย่างอาจถูกปรับเปลี่ยนได้เสมอตามแต่ผลลัพธ์ที่ออกมา ต้องกล้าที่จะลองถูกลองผิด นั่นคือต้อง “Think Beta, Not Final” อยู่เสมอ

กรณีศึกษา สร้างแบรนด์ Nokia

โนเกีย ประเทศไทย ได้เข้าไปสร้างโปรไฟล์คล้ายของคนทั่วไป แต่เป็นของแบรนด์ เรียกว่า “Branded Profile” ใต้ชื่อ “Nokia24hrs” ภายในมีบล็อกหรือไดอารี่ของ Celeb ทั้งสามของโนเกียคือ มาริโอ จาก “รักแห่งสยาม”, สายป่าน จาก “พลอย” และอ้น สราวุธ ดาราทีวี ที่ลงรูปและบันทึกเรื่องราวเอาไว้ กระตุ้นให้คนทางบ้านส่งรูปและเรื่องราวเข้ามาบ้าง สะท้อนถึงชีวิต 24 ชั่วโมงที่มีโนเกียอยู่ด้วย

แคมเปญนี้ผ่านไปแค่ 2 สัปดาห์ก็ได้ยอดผู้เข้าชมกว่า 2 หมื่นครั้ง และมีคอมเมนต์ 3 หมื่นกว่าครั้ง มีคนมาร่วมอัพโหลดรูปกว่า 9 พันรูป ประสบความสำเร็จเกินเป้า

อย่างไรก็ตาม หากมีคอมเมนต์เชิงลบเข้ามาทางผู้ดูแลต้องรับมืออย่างถูกต้อง ไม่ปิดกั้นหรือลบทิ้งง่ายๆ แต่ต้องรับมือเชิงสร้างสรรค์พูดคุยตอบกลับไป ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆ แบรนด์ผ่านมาแล้ว

อีกวิธีคือ สร้างระบบ Social Network ขึ้นมาเอง เช่น Nokia สร้างเว็บเพลงอินดี้ Nokia IAC มาตอบสนองวงดนตรีสมัครเล่นที่อยากเผยแพร่ผลงาน และคอเพลงแนวอินดี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น และ Nokia “Soul of The Night” ที่เน้นการบอกเล่าเรื่องราวยามราตรีผ่านการถ่ายรูปแชร์ประสบการณ์ราตรีจับกลุ่มหนุ่มสาวทำงาน

แม้กระทั่งแคมเปญชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่สหรัฐฯ ที่ Barack Obama สร้างเว็บไซต์เปิดกว้างให้คนเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนใน MySpace, Facebook ได้ถึง 7 แสนคน

ทีมงานของ Obama ยังทำคลิปสนุกๆ ลง YouTube เช่นเทปปราศรัยหาเสียงของเขาที่ทุกคำถูกแทนด้วยเนื้อเพลงฮิพฮอพและแร๊พให้โดยวงดัง “Black Eyes Pee” สร้างเรตติ้งได้มากมาย และยังมีคลิปอีกหลากหลายมุขทั้งจากเขาเอง 4 คลิป และจากประชาชนอีกนับไม่ถ้วน

ตรวจวัดผล

อรรถวุฒิย้ำว่า ตัวเลขที่ต้องเก็บและให้ความสนใจมากๆ คือเลขที่บ่งบอกการมีส่วนร่วมของผู้ใช้หรือ “Engagement” เช่น “Time on site” (ระยะเวลาที่ผู้ใช้คนหนึ่งๆ เข้ามาอยู่ในเว็บไซต์), “Page per visit” (จำนวนหน้าที่ผู้ใช้เปิดดูต่อหนึ่งครั้งที่เข้ามา), จำนวน Friend ใน List, จำนวน Comment, จำนวนรูปหรือคอนเทนต์ที่ผู้ใช้ส่งเข้ามา, … ฯลฯ

อรรถวุฒิทิ้งท้ายว่า Social Network กำลังจะไปสู่โทรศัพท์มือถือแล้ว ซึ่งคนไทยกว่า 70% แล้วที่มีมือถือ และเป็นเทรนด์ต่อไปที่ต้องจับตา

“ของเล่น” คืออาวุธสำคัญ Social Networking !

กรณิการ์ กลีบแก้ว และ กติกา สายเสนีย์ จากยักษ์ใหญ่บริหารสื่ออย่าง Mindshare ขึ้นเวทีเสวนากันเป็นคู่ เปิดด้วยกรณิการ์ที่ชูเหตุผลชัดเจนว่า ทำไมนักการตลาดและ Media Planner อย่างเธอต้องสนใจ Social Network ซึ่งคำตอบก็คือ “ต้องไปในที่ที่มีคนเขาอยู่มาก” และก็เป็นความจริงว่ายอดผู้ใช้ hi5 ในไทยนั้นทะลุล้านกว่าคนไปแล้ว ด้วยโมเดลการเติบโตแบบที่ 1 คนชวน 5 ชวน 10 คนเข้ามาจนแพร่หลายดังไปถึงโลกภายนอกจนถูกโฆษณาทีวีนำมาพูดถึง

“More Than Banner” คือยุคนี้ที่โฆษณาออนไลน์มีอะไรหลากหลายกว่าป้ายโฆษณาบนหน้าเว็บ โดยเฉพาะการแฝงตัวอยู่ใน Social Network

เริ่มที่การทำ “Profile Page” เช่นแคมเปญ “Android” ซึ่งนำเอาแอนิเมชั่นตัวเอกของ TVC โฆษณาของเหล้า Johnny Walker ที่ทีมมายด์แชร์ไปเปิดหน้า Profile บน hi5 เสริมการรับรู้ TVC และสร้างแบรนด์บนคอนเซ็ปต์ความกล้าในการใช้ชีวิต

อีกวิธีคือทำ “Skin” หรือ “Theme” แจก เช่น Nike ทำ Skin ลวดลายที่เป็นทีมฟุตบอลที่มีสปอนเซอร์เป็นไนกี้ แจกฟรีบน hi5 และมีแฟนๆ ทีมนั้นจากทั่วโลกโหลดไปใช้มากมาย ยอมช่วยไนกี้โปรโมตแบรนด์ด้วยความเต็มใจ

นอกจากนี้ไนกี้ยังแจก Clip ที่มาจากชวนให้เด็กๆ และวัยรุ่นทั่วโลกส่งคลิปเดาะบอลโชว์จากขวาไปซ้ายมารวมกัน แล้วไนกี้นำภาพมาเรียงต่อเสมือนว่าทุกคนทั่วโลกเดาะบอลส่งต่อกันภายใต้ชื่อแคมเปญ “The Chain” หรือลูกโซ่นั่นเอง

อีกวิธีคือ “Widget” หรือของเล่น รูปภาพ หรือเกมกรอบเล็กๆ เช่น Adidas ที่ยิงแคมเปญ “Impossible is Nothing” เป็นกรอบ Widget แบบฟอร์มเปิดรับเรื่องราวของผู้คนให้ส่งเรื่องความท้าทายที่ตัวเองเคยทำขึ้นมา แล้วเรื่องจะถูกแสดงออกมาแบบมีสีสันลวดลายให้ผู้ใช้นำไปติดอยู่บนหน้า Facebook ของตัวเองและให้เพื่อนๆ ก๊อบปี้ไปแปะได้อย่างเปิดกว้าง และให้เพื่อนๆ เขียนเรื่องของตัวเองก็ได้อีก

และสำหรับวิดเจ็ตนี้ ทาง Facebook เปิดกว้างให้สร้างและติดตั้งอย่างเสรี ต่างจาก hi5 ที่ยังคุมเข้มอยู่

มายด์แชร์มองว่าพื้นที่หน้าส่วนตัวของหลายๆ คนบน Social Networking นั้น ในระยะยาวแล้วมีศักยภาพยิ่งกว่าป้ายแถวสยามสแควร์เสียอีก เพราะถ้าทำได้ดีจะแพร่หลายได้กว้างไกลกว่าทั่วประเทศทั่วโลก และผู้ใช้ได้สัมผัสแคมเปญโดยตรง

อีกรูปแบบที่มีมากบน hi5 คือ “Group” หรือกลุ่มที่ผู้ใช้สร้างกันขึ้นมาเอง รวมคนที่สนใจสิ่งเดียวกัน เช่นมีกลุ่มแฟนคลับไนกี้ แฟนคลับอาดิดาสรุ่นต่างๆ ที่ทางบริษัทอาจจะสร้างเองหรือไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่ก็ต้องไม่มองข้าม และพยายามเข้าถึงชุมชนเหล่านั้นให้ได้ ซึ่งหลายครั้งเมื่อมีข่าวลบแฟนคลับเหล่านี้ก็ช่วยปกป้องแก้ข่าวให้ หรือเมื่อมีสินค้าใหม่ๆ แฟนเหล่านี้ก็ช่วยปากต่อปากบอกต่อกันไปเอง

ทั้งหมดนี้ Mindshare มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ในหน้าโปรไฟล์แต่ละคนจะมีแบรนด์หนึ่งหรือหลายๆ แบรนด์ปรากฏอยู่ แต่จะต้องทำให้ “User สนุก ตัวแบรนด์ได้ประโยชน์”

อีกวิธีที่ยากกว่าแต่ควบคุมทุกอย่างได้ คือสร้าง Social Network ขึ้นมาเอง ซึ่งนอกจาก Nokia แล้วยังมี “Happy Virus” ของค่ายมือถือ DTAC ที่ให้วัยรุ่นมาสร้างชุมชนแนะนำโปรโมชั่นแจกซิมฟรีต่อๆ กันเสริมด้วยกิจกรรมออนไลน์แบบต่างๆ มาดึงดูดวัยรุ่น และตั้งข้อกำหนดไว้ว่าผู้เข้าใช้เว็บต้องอายุต่ำกว่า 21 ปีเท่านั้น เจาะกลุ่มตามโรงเรียน ให้ซิมฟรีกับผู้ที่แนะนำเพื่อนเข้ามาได้มากๆ

อีกของเล่นที่กำลังฮิตกันมากคือ “Glitter” หรือภาพดุ๊กดิ๊กกะพริบๆ ซึ่งกำลังระบาดมากใน hi5 ซึ่งปัจจุบันใช้โปรโมตพาคนเข้าสู่เว็บไซต์ เหมือนเป็นป้ายแบนเนอร์เคลื่อนที่ซึ่งกลุ่มเป้าหมายยินดีนำไปแปะคอมเมนต์เพื่อนช่วยนักการตลาดโปรโมตเว็บนั้นๆ ด้วยความเต็มใจหรือไม่รู้ตัว

Do & Don’t บน Social Networking …

Do ตัวแรก คือ การ “Explore the site” สำรวจชุมชนว่า “เขาทำอะไรกันอยู่ ?” เพื่อจะไม่เกิดการวางตัวผิดในกลุ่มสังคมนั้น เช่นเข้าไปนำเสนอเพลงฮิพฮอพในกลุ่มชาวร็อก

Do ต่อมาคือ “Add Selected Friends” คือเลือก Add คนเข้า Friend List เฉพาะที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่แอดไปแบบเน้นปริมาณอย่างเดียว เพราะถึงแม้จะยอดสูง แต่จะไม่เกิดความเป็นชุมชนขึ้น ไม่รู้สึกกลมกลืน และไม่อยากเข้ามาอีก

Do ต่อมาคือ “Participate” เช่นใน hi5 แบรนด์ต้องตอบคอมเมนต์ด้วย ไม่ใช่เป็นฝ่ายรับคอมเมนต์อย่างเดียว หรืออาจจะไปฝากรูป Glitter น่ารักๆ

อีก Do สำคัญคือ “Open Your Mind” คือเปิดกว้างรับคำติทางลบด้วย เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะต้องมีบ้าง และหากมองอย่างสร้างสรรค์ก็นำคำวิจารณ์ไปใช้ประโยชน์ได้

สิ่งที่ไม่ควรทำหรือ Don’t แรกคือ “Press Release” หรือข่าวประชาสัมพันธ์ เช่นข่าวเปิดตัวสินค้า ข่าวผู้บริหาร นั้นล้วนไม่ใช่สิ่งที่ผู้เล่น Social Network ต้องการ ซึ่งสอดคล้องกับ “Don’t” ต่อมา คือ “Advertising” อย่าโปรโมตตัวแบรนด์หรือตัวสินค้าโจ่งแจ้ง

Don’t ต่อไปคือ “Hit and Run” หรือตีหัวเข้าบ้าน คือการยิงคอนเทนต์โปรโมตครั้งเดียวแล้วหายเงียบเลิกไป ผลลัพธ์จะเหมือนกับการไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะจะไม่มีคนเข้ามาติดตามนอกจากผ่านตาไม่กี่คนแล้วก็ลืมไป

Don’t ต่อไปคือ “Auto Bot” คืออย่าใช้ระบบแอดเพื่อนด้วยกลไกอัตโนมัติ เพิ่มเพื่อนมากๆ ในครั้งเดียวโดยขาดปฏิสัมพันธ์ เพราะผลลัพธ์นั้นกลับสู้การค่อยๆ สร้างเพื่อนและชุมชนขึ้นมาเองอย่างรู้จักกันจริงๆ ไม่ได้แต่อย่างใด

การตลาดแบบ hi5

กษมาช นีรปัทมะ CEO แห่งบริษัท TopSpace ตัวแทนของ hi5 ในประเทศไทย บอกว่า นับจากต้นปี 2007 จนถึงต้นปีนี้คนไทยเล่น hi5 ในไทยโตถึง 5 เท่า และเวอร์ชั่นภาษาไทยก็โด่งดังไม่แพ้อีก 14 ภาษาทัดเทียมอเมริกาใต้ที่เป็นแชมป์อยู่

กิจกรรมฮอตๆ บนสังคม hi5 ไทยว่ามีทั้งจำนวนเพื่อนเกือบแสนของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และจำนวนเพื่อนหลายแสนของ เจ เจตริน วรรธนะสิน ก่อนจะชี้ปัจจัยความสำเร็จของ hi5 ในไทย 3 ข้อว่ามาจากความหลากหลายทางภาษา, ความใช้ง่ายไม่ซับซ้อนแม้จะมีฟังก์ชันเป็นรอง Facebook และความฟรีที่เปิดรับไม่ว่าจะการใช้ฝากรูปฝากเพลงได้มากมาย

อย่างไรก็ตาม การนำ hi5 ไปสร้างหน้า Profile เพื่อการสร้างแบรนด์หวังผลทางการตลาดนั้นจะไม่ฟรีอีกต่อไป ซึ่งหากทีมงาน hi5 ไม่ว่าจะระดับโลกหรือในไทยตรวจเจอผู้ที่ทำโดยไม่ได้จ่ายค่าโฆษณา หรือขออนุญาตก่อน ก็จะตักเตือนและระงับการใช้งานต่อไป ซึ่งนี่ก็เป็นนโยบายที่ Facebook เริ่มทำอยู่

คนไทยทำอะไรใน hi5 ? …

กษมาชมองว่านักการตลาดต้องรู้ข้อมูลพฤติกรรมคนไทยใน hi5 เพื่อจะนำไปตัดสินใจได้ว่าหากจะทำการตลาดบน hi5 ซึ่งผลสำรวจของ TopSpace ได้ว่า …

ดูหน้า Profile คนอื่น ~ 30 %
ดูรูปคนอื่น ~ 20 %
อัพเดต Profile ตัวเอง ~ 20 %
คอมเมนต์เพื่อนๆ ~ 20 %
ที่เหลือคือการส่งข้อความหลังไมค์, การเสิร์ชหาเพื่อนใหม่ๆ , การเข้า Group ฯลฯ

อีกปัจจัยคือเรื่องของช่วงวันเวลาที่แบรนด์จะปรากฏในหน้า Social Networking ต่างๆ ซึ่งกษมาชย้ำว่าเป็นสิ่งสำคัญ เช่นหากจะโปรโมตหนังใหม่ ก็ต้องแน่ใจว่าภาพทีเซอร์หรือสกินโปรโมตหนังจะต้องไปสู่วงกว้างให้ได้ภายในไม่กี่วัน เช่นอาจจะแอดเพื่อนหรือแจกสกินอย่างที่ภาพยนตร์ SpiderMan ในสหรัฐฯ เคยทำ แต่หากเป็นแบรนด์สินค้าที่ขายระยะยาวก็สามารถค่อยๆ สร้างชุมชนให้มั่นคงไปได้ไม่รีบร้อน

และนอกจากเลือกตามกิจกรรม เลือกช่วงเวลา สิ่งสำคัญยิ่งกว่าก็คือเลือกเพศ เลือกอายุ เลือกถิ่นที่อยู่ของผู้มองเห็นแบรนด์ เห็นโฆษณา ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง

สร้างคลังความรู้เพื่อการศึกษาและการตลาด

ธิติ ธาราสุข อาจารย์หนุ่มผู้ใช้เว็บไซต์สร้างชุมชนนักลงทุนหุ้น investasiaonline.com บอกว่า ในสังคม Social Network นั้นแทบทุกคนมีความรู้ระดับไม่ต่างกันนัก และต่างก็แบ่งปันกันในสาขาที่ตัวเองสนใจ ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ของคนอื่นได้ง่าย และก็สามารถเผยแพร่ผลักดันความรู้ของตัวเองออกไปได้ง่าย รวมถึงรสนิยมและความชอบไม่ชอบต่างๆ ด้วย

รูปธรรมสังคม Social Networking ยุคนี้ จึงมีทั้งที่ใช้เผยแพร่ความรู้ ความคิด และตัวตนเพื่อหากลุ่มและสร้างความเป็นเพื่อนออนไลน์ต่อกัน ซึ่งทั้งสองรูปแบบนี้เติบโตไปด้วยกันและมีความเกี่ยวข้องกันอยู่บ้าง

ความสัมพันธ์ของแต่ละคนในโมเดล Social Networking นั้นเท่าเทียมกัน แต่ละคนจึงมีโอกาสเท่าเทียมกันในการแสวงหาประโยชน์และข้อมูลข่าวสาร ต่างจากโมเดลความสัมพันธ์เก่าๆ เช่น MLM หรือ Multi-Level Marketing ที่ผู้อยู่ระดับบนๆ จะได้เปรียบ และได้รับมากกว่าระดับล่างเสมอ

การประยุกต์ใช้ Social Networking กับความสัมพันธ์ทางการตลาดจึงเป็นการกระจายข้อมูลข่าวสารและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ดีที่สุดทุกวันนี้ และที่เหมาะสมที่สุดก็คือใช้ในการเรียนการสอนการศึกษาสมัยใหม่ ให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้ง่าย แลกเปลี่ยนกันได้จากทุกที่ เกิดเป็นคลังความรู้สาธารณะที่ต่างจาก e-Learning ทางเดียวแบบเดิมๆ

สังคมบน Social Networking เสมือนพรมแดนใหม่ที่กว้างใหญ่ แต่ละคนที่เข้าไปต่างต้องบุกเบิกหนทางกันอย่างไม่หยุดยั้ง และสิ่งสำคัญคือต้องศึกษาบทเรียนของผู้มาก่อนอยู่เสมอ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อลอกแบบ แต่เพื่อเข้าใจ และปรับใช้ให้เข้ากับตัวเองและกับการแข่งขันที่เปลี่ยนไปทุกวัน